26thApril

26thApril

26thApril

 

November 04,2015

ถึงเวลาล้างบาง พวก “แอบอ้างเบื้องสูง”

การจับกุม “หมอหยอง” สุริยัน สุจริตพลวงศ์ พร้อมเลขาส่วนตัว และ “สารวัตรเอี๊ยด” พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ในข้อหาแอบอ้างเบื้องสูงแสวงหาผลประโยชน์ สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีบางพวกบางกลุ่มที่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือในการทุจริต

โดยเฉพาะการที่บุคคลหรือส่วนราชการต่างๆ ใช้ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยนำหน้า จัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แต่ลับหลังกลับมีการแสวงหาผลประโยชน์

หนำซ้ำ หากเป็นส่วนราชการ ก็ยังเป็นเงินที่ได้มาจากภาษีประชาชน หรือหากเป็นภาคเอกชนก็เป็นเงินที่มอบให้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม ไม่ได้คาดคิดว่าเงินเหล่านี้จะถูกพวกเหลือบไรคว้าไปเข้ากระเป๋าตัวเอง
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรวจพบว่ามีกลุ่มบุคคลร่วมกันกระทำความผิด โดยแอบอ้าง หรือแสดงออกในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปมีความเข้าใจว่าตนเองมีความใกล้ชิดกับสถาบันเบื้องสูง

และได้เรียกหรือรับผลประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว รวมทั้งได้กระทำความผิดตามกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฐานความผิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบัน และความเสียหายอื่นๆ ในวงกว้าง

คดีหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยดนั้น ที่ตำรวจนำมาแถลงข่าวเบื้องต้นมีอยู่ ๑๓ คดี ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ทั้ง Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ และที่กำลังจะมาถึงกับ Bike For Dad ปั่นเพื่อพ่อ

ไม่ว่าจะเป็น ร่วมกันแอบอ้างเป็นผู้แทนพระองค์ นำการ์ดขอบคุณมอบให้ภาคเอกชน ซึ่งจากการตรวจสอบภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ต้องหาก็คือคฤหาสน์หรูของ “ธนินท์ เจียรวนนนท์” ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ย่านบางนา-ตราด

หรือจะเป็นกรณีสารวัตรเอี๊ยด แอบอ้างเบื้องสูงร้องขอบริษัทสามารถ เทเลคอม ย้ายอุปกรณ์ระบบวิทยุ DTRS ของกองตำรวจสื่อสาร จาก สน.บึงกุ่ม มาติดตั้งบนชั้น ๘๔ อาคารใบหยกทาวเวอร์ ๒ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมปั่นเพื่อแม่

หนำซ้ำ สารวัตรเอี๊ยดกับพวกแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง ขอรับการสนับสนุนหมายเลขโทรศัพท์เลขสวยจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

แต่ที่น่าตกใจที่สุด ก็คงจะเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาทั้งสาม ผู้ต้องหากับพวกแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงขอรับการสนับสนุนจัดทำสิ่งของ และได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการ กับบริษัทเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยา

โดยสปอนเซอร์ให้เงินผ่านกระเป๋าสตางค์หมอหยอง มีตั้งแต่ ๑ แสนบาทบ้าง, ๒ แสนบาทบ้าง, ๓ แสนบาทบ้าง หนักที่สุดก็คือบริษัทเอกชนบางรายสูญเงินไปให้กับหมอหยองสูงถึง ๔.๗ ล้านบาท

รายละเอียดที่ตำรวจไม่ได้แถลงข่าว แต่เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนก็คือ การแสวงหาผลประโยชน์ของหมอหยอง และเลขาส่วนตัว จากการสั่งทำเข็มกลัดในงานปั่นเพื่อแม่ และปั่นเพื่อพ่อ เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

หากยังจำกันได้ กิจกรรมปั่นเพื่อแม่ มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อรับเสื้อและเข็มกลัดที่ระลึก ผ่านหน้าเว็บไซต์และสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร โดยแจกลอตแรก ๑ แสนชิ้น ก่อนที่จะแจกลอตที่สองอีก ๑ แสนชิ้น

เข็มกลัดนี้ ฝ่ายจัดซื้อของ “เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เป็นคนแนะนำให้หมอหยอง ไปสั่งทำกับบริษัทที่ชื่อว่า “แมค บารา” กระทั่งหมอหยองไปเรียกฝ่ายขายบริษัทนี้มาคุย เพื่อสั่งผลิตเข็มกลัด ทั้งหมด ๓ แสนชิ้น

กระทั่งทั้งสองฝ่ายนัดพบที่ร้านไอศกรีมแห่งหนึ่ง ฝ่ายขายบริษัทนี้ เสนอราคาเข็มกลัดชิ้นละ ๓.๗๐ บาท แต่หมอหยอง สั่งให้เพิ่มราคาเป็นชิ้นละ ๕.๗๐ บาท แล้วให้เอาเงินค่าส่วนต่างที่เกิน โอนคืนให้ตัวเองและเลขาส่วนตัว

เท่ากับว่า หมอหยองกินส่วนต่างไปแล้วอย่างต่ำๆ ชิ้นละ ๒ บาท ๓ แสนชิ้นก็เป็น ๖ แสนบาท

หลังจากนั้น ฝ่ายขายบริษัทที่ผลิตเข็มกลัด ส่งใบเสนอราคามาให้บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แบ่งเป็น ๕ บริษัท รวมราคา ๓ ล้านกว่าบาท ก่อนที่ซีพีจะจ่ายค่ามัดจำ ๕๐% เป็นเงิน ๑.๔ ล้านบาท

ฝ่ายขายบริษัทที่ผลิตเข็มกลัด ก็นำเงิน ๑ ล้านบาท ส่วนหนึ่งโอนเข้าบัญชีน้องสาวสามีของน้องสาวหมอหยองอีกที แล้วให้ไปซื้อกองทุนสะสมรายวันธนาคารกรุงไทย (KAD) ใช้ชื่อบัญชีหมอหยอง

ส่วนอีก ๒ แสนบาทโอนให้เลขาส่วนตัวของหมอหยอง แล้วเจ้าตัวก็ทยอยถอนเงินมาใช้จนหมด

มาถึงกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ หมอหยองก็หาวิธีการหาผลประโยชน์แบบเดิมอีก โดยสั่งทำเข็มกลัดที่ระลึกเพิ่มจากเดิม ๑๐ เท่าเป็น ๓ ล้านชิ้น คราวนี้ใช้สโมสรทหารบก นัดพบฝ่ายจัดซื้อคนเดิม เสนอราคาเข็มกลัดชิ้นละ ๒.๗๕ บาท

ก่อนที่ต่อมา ฝ่ายขายบริษัทที่ผลิตเข็มกลัด ส่งใบเสนอราคามาให้บริษัทเอกชน คราวนี้เป็นของ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ เจ้าของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และเมืองไทยประกันภัย รวมราคา ๑๐.๗ ล้านบาท

ทั้งสองบริษัท จ่ายค่ามัดจำ ๕๐% เป็นเงิน ๕.๓๕ ล้านบาท ฝ่ายขายบริษัทที่ผลิตเข็มกลัด ก็นำเงิน ๔.๗๗ ล้านบาท ส่วนหนึ่งโอนให้น้องสาวสามีของน้องสาวหมอหยอง ไปซื้อคอนโดมิเนียม ๓.๒ ล้านบาท อีก ๘ แสนบาทโอนเข้าบัญชีหมอหยอง

ส่วนอีก ๗.๗ แสนบาท โอนให้เลขาส่วนตัวของหมอหยอง ถอนเงินสดออกมา ๕.๙ แสนบาท

ก่อนถูกจับกุม เลขาส่วนตัวหมอหยองมีเงินในบัญชี ๓.๕ แสนบาท

ส่วนหมอหยอง มีเงินคงเหลือในบัญชีมากถึง ๑.๒๕ ล้านบาท

ไม่นับรวมคอนโดมิเนียม และเงินในบัญชีกองทุนที่ยังเก็งกำไรต่ออีก หากยังลอยนวลไม่ถูกจับกุม ก็อาจเรียกได้ว่ายังมีเงินไว้กินไว้ใช้มากกว่ามนุษย์เงินเดือนเก็บเงินมาทั้งชีวิต

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ระบุว่า ที่ผ่านมามีคนแอบอ้างเบื้องสูงเรียกรับผลประโยชน์มาตลอด อยากจะให้เป็นอุทาหรณ์ คดีที่แล้วกับคดีนี้คล้ายคลึงกัน

ใครก็แล้วแต่ที่ไปแอบอ้าง เชื่อว่าไม่รอดพ้นกฎหมาย!

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สถาบันเบื้องสูงถูกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใช้ความศรัทธาและความจงรักภักดีแสวงหาผลประโยชน์มาโดยตลอด ทั้งในรูปของการแอบอ้างว่าใกล้ชิดกับสถาบันเบื้องสูงเรียกรับผลประโยชน์

รวมทั้งบรรดาส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรต่างๆ จัดทำโครงการหรือกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ หรือถวายเป็นพระราชกุศล แต่เบื้องหลังกลับแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณของโครงการเหล่านั้น ก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าตามมา

ครั้งหนึ่ง คณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ตรวจพบการทุจริตโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยใช้วิธีหักเงินที่รับจากส่วนกลาง เมื่อถึงพื้นที่เหลือเพียงแค่ร้อยละ ๓๐

ครั้งหนึ่ง เทศบาลตำบลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ก่อสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ใช้งบประมาณสูงถึง ๘.๕ แสนบาท แต่กลับพบพังทรุดจากพายุฝน อีกทั้งการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ฐานรากไม่มีการลงเสาเข็ม และมีราคาที่สูงกว่าราคาต้นทุน

หรือจะเป็น ครั้งหนึ่งกระทรวงพาณิชย์จัดโครงการแจกข้าวเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ ล้านถุงให้ประชาชนทั่วประเทศ พบว่าเกิดส่วนต่างราคาสูงถึง ๒๔๐ ล้านบาท และถูกอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

โครงการเฉลิมพระเกียรติ หรือกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศล เป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ควรที่จะเปิดช่องให้คนบางคน หรือกลุ่มคนบางกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ และไม่ควรที่จะปล่อยให้ผ่านไปง่ายๆ โดยไม่มีการตรวจสอบว่ามีความโปร่งใสหรือไม่

ขอฝากไปถึงรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ก่อตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบถึงเรื่องนี้ แม้ความก้าวหน้าและสถานการณ์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่เป็นที่พอใจในทุกเรื่องก็ตาม

โดยเฉพาะโครงการเฉลิมพระเกียรติต่างๆ ที่จัดทำโดยส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่างๆ ต้องเข้าไปช่วยกันตรวจสอบ

เพื่อไม่ให้เงินภาษีของประชาชนที่นำไปทำโครงการเพื่อสังคมถวายเป็นพระราชกุศล กลายเป็นการสร้างรายได้โดยมิชอบแก่คนบางกลุ่ม และทำให้สถาบันเบื้องสูงเสื่อมเสีย โดยที่สถาบันเบื้องสูงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

งานที่ทำเพื่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ต้องทำอย่างขาวสะอาด อย่าให้กลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือทำเพื่อให้คนบางกลุ่มหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองอีกต่อไป.

• กิตตินันท์ นาคทอง

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๔ วันอาทิตย์ที่ ๑ -  วันพฤหัสบดีที่ ๕  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


703 1343