20thApril

20thApril

20thApril

 

November 06,2015

หนึ่งเสียงเต็มสิทธิ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงแนวคิดของระบบเลือกตั้ง ส.ส.แบบที่ร่างขึ้นมาใหม่ว่า การนำระบบเลือกตั้งที่คำนวณคะแนน ส.ส.เขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เป็นความต้องการของ กรธ.ที่อยากให้ทุกคะแนนที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมีความหมาย โดยเฉพาะการให้คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตที่แพ้เลือกตั้งไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีนี้ทุกคะแนนจะมีความหมายหมด

“มีคนพูดว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้ จะทำให้พรรคทั้งพรรคอ่อนแอ แต่ผมคิดว่าพรรคการเมืองจะยิ่งเข้มแข็งขึ้น  เพราะพรรคทั้งและคนที่ไปลงสมัคร จะต้องไปด้วยกัน ที่สำคัญ คือ เสียงที่เคยพูดกันว่าพรรคเราได้รับความนิยมมาก ส่งคนขับรถหรือเสาโทรเลขไปลงสมัครก็ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งถ้าใช้ระบบการเลือกตั้งนี้เราก็จะไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้อีก เพราะพรรคต้องพิจารณาส่งคนสมัครเลือกตั้งด้วยความรอบคอบ นอกจากนี้ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เคยนั่งอยู่เฉยๆ ต้องลงมาช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส.เขตด้วย เนื่องจากทุกคะแนนที่ได้มาจะมีผลต่อการได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหนืออื่นใดจะไม่เกิดสภาพที่ภาคแต่ละภาคของประเทศไทยเป็นของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะในที่สุดคะแนนของพรรคอันดับสองลงมาจะได้มีโอกาสได้ ส.ส.เหมือนกัน”

๑) ผมเห็นด้วยว่า เราควรจะแก้ไขปัญหาของการเลือกตั้งแบบเดิม

ปัญหาใหญ่ของการเลือกตั้งแบบเดิม คือ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนความจริง เป็นระบบแพ้คัดออก winner take all และทำให้คะแนนเสียงของ
ประชาชนที่เลือกผู้สมัครของพรรคอื่นๆ เสียทิ้งน้ำไปหมด

ยกตัวอย่าง

ในเขตเลือกตั้ง มีผู้สมัครจาก ๓ พรรค หากผลการลงคะแนนเลือกตั้งปรากฏว่า

มีผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด ๑๒๐,๐๐๐ คน

พรรค ก. ได้คะแนนเลือกตั้ง ๕๐,๐๐๐ คะแนน

พรรค ข. ได้คะแนนเลือกตั้ง ๔๐,๐๐๐ คะแนน

พรรค ค. ได้คะแนนเลือกตั้ง ๓๐,๐๐๐ คะแนน

ระบบเดิม พรรค ก.จะชนะเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. เพราะได้คะแนนเสียงสูงสุดในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด แม้ว่าในความเป็นจริง ปรากฏว่า คนที่ลงคะแนนเลือกพรรค ก. ๕๐,๐๐๐ คนนั้น ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ๑๒๐,๐๐๐ คนก็ตาม กลายเป็นว่า คะแนนเสียงของคนส่วนใหญ่ในเขตเลือกตั้งที่เหลืออีก ๗๐,๐๐๐ คะแนน (ที่เลือกพรรค ข. และพรรค ค.) กลับสูญเปล่า ถูกทิ้งน้ำไปเสียเฉยๆ
ระบบเดิมที่นับคะแนนเช่นนี้ จึงไม่สะท้อนความจริง ไม่สะท้อนเจตนาที่แท้จริงของประชาชนผู้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง และทำให้บางครั้ง พรรค ก. ได้จำนวน ส.ส.มากกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภา ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีประชาชนลงคะแนนให้จริงในแต่ละเขตทั่วประเทศ แต่กลับถูกโยนทิ้งน้ำไปเสียเฉยๆ

๒) แม้จะสนับสนุนแนวคิดของ กรธ. ที่จะให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งน้ำ แต่ก็ยังเห็นว่า แนวทางที่ กรธ.นำเสนอเป็นแบบร่างวิธีคิดออกมานั้น น่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง

เพราะการเอาแต่คะแนนของผู้สมัครเลือกตั้งที่แพ้ในแต่ละเขตไปรวมกัน แล้วไปคำนวณสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เฉพาะพรรคที่แพ้ในระบบเขตนั้น ก็นับว่าเป็นการตัดสิทธิคะแนนของผู้ชนะ โดยที่ไม่มีเหตุผลว่า ทำไมถึงเอาคะแนนของผู้ชนะในระบบเขตไปทิ้งน้ำ ไม่ถูกใช้คำนวณหาส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

แม้จะอ้างว่า ก็ผู้ชนะได้เป็น ส.ส.แล้ว แต่สัดส่วนของบัญชีรายชื่อที่จะออกมาตามวิธีของ กรธ.นี้ ก็จะเพี้ยนๆ แปลกๆ เพราะไม่มีสัดส่วนที่บวกกันแล้วได้จำนวนทั้งหมดเป็นฐาน

๓) เพื่อตอบโจทย์ที่ต้องการออกแบบวิธีเลือกตั้งที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย ไม่โยนคะแนนทิ้งน้ำ ตามเจตนารมณ์ของ กรธ. ผมมีข้อเสนอ ๓ ทางเลือก

๓.๑ คิดสัดส่วน ส.ส.ทั้งประเทศ

วิธีนี้ ประชาชนในลงคะแนนกาบัตรใบเดียว เหมือนที่ กรธ.เสนอ ไม่มีความยุ่งยากในขั้นตอนการลงคะแนน

แต่ในการนับคะแนนและคำนวณหาจำนวน ส.ส. จะแตกต่างจากเดิม

ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย เมื่อเอาคะแนนรวมของแต่ละพรรค ทุกเขต ทั่วประเทศ นำมาคำนวณหาสัดส่วนของ ส.ส.แต่ละพรรคเพื่อหาว่าประชาชนทั่วประเทศได้ลงคะแนนให้แต่ละพรรคคิดเป็นสัดส่วนเท่าใด

สมมติว่า ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนทั่วประเทศจำนวน ๒๓ ล้านคน

พรรค ก. ได้ ๑๐ ล้านคะแนน (รวมทุกเขต ทั่วประเทศ)
พรรค ข. ได้ ๘ ล้านคะแนน
พรรค ค. ได้ ๕ ล้านคะแนน

สามารถคำนวณได้อย่างชัดเจน เป็นธรรม ว่า ประชาชนทั้งประเทศเลือกพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นสัดส่วนเท่าใด จากตัวอย่างนี้ เท่ากับว่า พรรค ก. ได้จำนวน ส.ส. ๔๓% ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร
หากกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน ส.ส.ได้ทั้งหมดประมาณ ๔๐๐ คน หมายความว่า พรรค ก. จะมี ส.ส. ๔๓% ของสภา เท่ากับ ๑๗๒ คน

พรรค ข. ก็คำนวณแบบเดียวกัน เท่ากับ ๑๔๐ คน
พรรค ค. ก็คำนวณแบบเดียวกัน เท่ากับ ๘๘ คน

นี่คือจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค ตามสัดส่วนที่ประชาชนลงคะแนนให้จริงทั่วประเทศ โดยไม่มีคะแนนเสียงตกทิ้งน้ำเลย จากนั้น แต่ละพรรคก็ไปดูว่าได้ ส.ส.เขตมาเท่าใดแล้ว ซึ่งใครได้เสียงข้างมากในเขตใด ก็ให้เป็น ส.ส.ของพรรคนั้นไปก่อนเลย
จากตัวอย่างข้างต้น พรรค ก. คะแนนทั้งประเทศกำหนดให้มี ส.ส.ได้ ๑๗๒ คน สมมติว่า ได้ ส.ส.จากระบบเขตมาแล้ว ๑๐๐ คน ก็ให้มี ส.ส.จากบัญชีรายชื่อเติมให้อีก ๑๗๒-๑๐๐ = ๗๒ คน เพื่อให้มี ส.ส. ๑๗๒ คน คิดเป็นสัดส่วน ๔๓% สะท้อนความต้องการแท้จริงของประชาชนทั้งประเทศ

พรรค ข. พรรค ค. ก็ทำเช่นเดียวกัน

หากพรรค ข.ได้ ส.ส.เขต ๘๐ คน ก็ให้มี ส.ส.จากบัญชีรายชื่อเติมให้อีก ๑๔๐ – ๘๐ = ๖๐ คน เพื่อให้พรรค ข.มี ส.ส.ครบ ๓๕% หรือ ๑๔๐ คนตามที่ประชาชนทั้งประเทศลงคะแนนให้

แต่ถ้าพรรค ข. ได้ ส.ส.เขตมากถึง ๑๔๐ คนแล้ว ก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเติมให้อีก เพราะถือว่าได้มี ส.ส.ครบตามสัดส่วนที่ประชาชนลงคะแนนไว้แล้วนั่นเอง

วิธีการเช่นนี้ บางกรณี อาจจะทำให้มีจำนวน ส.ส.ในสภาเกิน ๔๐๐ คนไปบ้างเล็กน้อย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นเพราะบางพรรคการเมืองอาจได้จำนวน ส.ส.เขต มากกว่าจำนวนสัดส่วนที่ประชาชนทั้งประเทศลงคะแนนให้พรรคนั้น แบบนี้ก็ต้องให้ผู้ชนะในระบบเขตได้เป็น ส.ส.ไปเลย จะไปปรับลดลงไม่ได้

ข้อดีของวิธีเลือกตั้งและคิดคำนวณคะแนนแบบนี้  คือ คะแนนเสียงของประชาชนไม่ทิ้งน้ำ ทุกเสียงเต็มสิทธิ และจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภา สะท้อนความต้องการของประชาชนผู้ลงคะแนนทั้งประเทศ ไม่เหมือนแนวทางของ กรธ.ที่เอาคะแนนของผู้ชนะในระบบเขตทิ้งทั้งหมด

พรรคการเมืองจะเข้มแข็งขึ้น เพราะผู้สมัครจะต้องสังกัดพรรค และพรรคจะต้องพยายามส่งผู้สมัครให้มากที่สุด เพื่อจะมีโอกาสได้คะแนนมากที่สุด ทุกเขต

๓.๒ ส.ส.เขตต้องได้เสียงเกินครึ่งผู้มาลงคะแนน

วิธีนี้ เลือกตั้งเหมือนเดิม แต่ถ้าไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน ดังเช่นตัวอย่างที่ยกข้างต้น ในเขตเลือกตั้งใด หากพรรค ก.ชนะผู้สมัครคนอื่นๆ แต่ได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนทั้งหมด ก็ยังไม่ถือว่าพรรค ก.เป็นผู้ชนะเลือกตั้ง แต่ให้พรรค ก. กับพรรคลำดับที่สอง มาแข่งกันอีกรอบ โดยในการโหวตรอบที่สอง จะมีตัวเลือกแค่ พรรค ก. กับ พรรค ข. ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่เคยเลือกพรรค ค.ได้มีโอกาสคิดใหม่ว่า ถ้าไม่ใช่พรรค ค.แล้ว ตนจะเลือก ก.หรือ ข. เป็นความชอบลำดับที่สอง แล้วการโหวตรองสองนี้ หากใครได้คะแนนมากกว่า ถือว่าชนะไปเลย

วิธีนี้ ข้อดี คือ ทุกเสียงจะเต็มสิทธิ แต่มีปัญหาว่าจะต้องมีวิธีการสำหรับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต่อไปอีก  และจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น สำหรับการเลือกรอบสอง แม้จะไม่ใช่ทุกเขต แต่คาดเดาได้ว่า น่าจะตกอยู่ที่ประมาณ ๑,๕๐๐ – ๒,๐๐๐ ล้านบาท หรือเกือบๆ ครึ่งของงบเลือกตั้งรอบแรก

ประเทศที่ใช้วิธีการนี้แล้ว เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น

๓.๓ เลือกเรียงลำดับความชอบ

วิธีการนี้ ใช้หลักการเดียวกับทางเลือกที่ ๒ คือ หากผู้ได้คะแนนสูงสุดไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด ก็จะยังไม่ถือเป็นผู้ชนะเลือกตั้งทันที

แต่วิธีการนี้ แก้ไขเพื่อลดขั้นตอน ไม่ต้องออกกาบัตรหลายรอบ

วิธีการแก้ คือ ตอนกาบัตรลงคะแนน ให้มีช่องให้ประชาชนสามารถเลือกโดยจัดลำดับความพึงพอใจว่าชอบพรรคใดเป็นอันดับ ๑ ๒ ๓ ไปในการเดินเข้าคูหาครั้งเดียวเลย

โดยการนับคะแนนรอบแรก ก็เอาเฉพาะคะแนนที่ประชาชนลงอันดับหนึ่งมานับก่อน

ถ้านับออกมาแล้ว พรรค ก.ที่มีคะแนนสูงสุดได้คะแนนไม่เกินครึ่งตามตัวอย่างข้างต้น โดยพรรคที่มีคะแนนมากเป็นลำดับที่สอง คือ พรรค ข. ก็ให้เอาบัตรเลือกตั้งที่เลือกพรรค ค. เป็นอันดับที่หนึ่ง ออกมาดูว่า แต่ละบัตร เขาพอใจพรรคไหนไว้เป็นอันดับ ๒ แล้วก็นับเอาคะแนนไปเติม ไม่ว่าจะเป็น พรรค ก. หรือพรรค ข.

เท่ากับว่า เป็นการเลือกรอบสอง โดยสมมติว่าคนที่เลือกพรรค ก. และ ข. ไม่เปลี่ยนใจ ไม่ต้องเอามาลงคะแนนใหม่ แต่เอาคะแนนที่ลงไว้ก่อนแล้วมานับเลยนั่นเอง

ข้อดี คือ เหมือนทางเลือกที่ ๒ แต่ลงคะแนนครั้งเดียว

ทุกเสียงเต็มสิทธิ แต่ไม่ต้องเลือกตั้ง ๒ ครั้ง คะแนนไม่ทิ้งน้ำ ประหยัดไป ๑.๕ พันล้าน

ข้อเสีย เป็นของที่ไทยยังไม่คุ้นเคย เพราะเวลาไปลงคะแนนจะไม่ใช่เพียงกาช่องเดียว เลือกพรรคเดียว ไม่ต้องจัดอันดับพรรคที่ตัวเองชอบ ลำดับที่หนึ่ง ลำดับที่สอง ซึ่งอาจจะมีบัตรเสียในการเลือกตั้งครั้งแรกๆ

ประเทศที่ใช้วิธีการนี้แล้ว คือ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งในครั้งแรกก็มีบัตรเสียมาก ครั้งหลังๆ บัตรเสียน้อยลงตามลำดับ

หนึ่งเสียงเต็มสิทธิ

ข้อเสนอทั้ง ๓ ทางเลือก ยึดหลัก “หนึ่งเสียงเต็มสิทธิ” คะแนนเสียงของประชาชนไม่ทิ้งน้ำ

ความเห็นส่วนตัว ชอบทางเลือก ๓.๑ มากกว่า เพราะดูจะประหยัด รวดเร็ว และไม่ต้องกังวลบัตรเสีย เป็นวิธีการลงคะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้ว ประชาชนไปลงคะแนนเหมือนเดิม กาบัตรใบเดียว เลือกรอบเดียว รัฐไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม  แค่วิธีนับคะแนนเปลี่ยนวิธีคิดให้สะท้อนคะแนนเสียงของประชาชน เจ้าหน้าที่นับคะแนนก็ทำงานได้ไม่ยาก เพราะวิธีคำนวณชัดเจน เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย น่าจะเหมาะสมกว่าแนวทางที่ กรธ.แย้มพรายออกมาในขณะนี้

อันที่จริง ทางเลือกนี้ ก็เกือบจะนำมาใช้ในร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

ส่วนแนวคิดที่จะให้เสียงของประชาชนที่งดออกเสียงลงคะแนนให้ใคร หรือโหวตโน มีความหมายขึ้นมาด้วยนั้น เห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการ

ถ้าผู้สมัครได้คะแนนแพ้โหวตโน ก็ควรจะโหวตใหม่ ลงคะแนนใหม่ เป็นหลักการที่ถูกต้อง เป็นธรรม

เป็นการให้ข้อมูลกับพรรคการเมือง ผู้สมัครเลือกตั้ง ตลอดจนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งใหม่อาจจะมีคนลงสมัครเพิ่ม มีการเปลี่ยนตัวผู้สมัคร เปลี่ยนนโยบาย รวมถึงประชาชนอาจเปลี่ยนการตัดสินใจ

แต่หากจะถึงขั้นให้ผู้สมัครที่ได้เสียงน้อยกว่าโหวตโน ถูกตัดสิทธิสมัครในครั้งต่อไปเลยนั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะผู้ที่ไปโหวตโน ตัดสินใจด้วยหลายเหตุผล อาจจะไม่ชอบใครเลย หรืออาจจะโหวตโดยยุทธศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็ได้ หรือถูกยุยงส่งเสริมให้ไปโหวตโนด้วยเหตุผลหนึ่งใดที่มีการรณรงค์ก็ได้ หรือรับเงินมาก็ได้ หรือไม่ต้องการให้เสือสิงกระทิงแรดเข้าสภา ฯลฯ การจะเอาคะแนนโหวตโนทั้งหมดที่มีหลายสาเหตุมาเหมารวมตัดสิทธิผู้สมัครเลย จึงดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลในเชิงตรรกะ

• ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๕ วันศุกร์ที่ ๖ -  วันอังคารที่ ๑๐  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


688 1342