24thApril

24thApril

24thApril

 

November 07,2015

ธปท.มั่นใจไตรมาสสุดท้ายสดใส ค้าชายแดนทะลุ ๒๐๙,๙๕๕ ล. บีโอไอเผยลงทุนชะลอตัว

ธปท.มั่นใจเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายสดใส หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลบังคับใช้  การค้าชายแดน ๓ ไตรมาสแรกทะลุ ๒๐๙,๙๕๕ ล้านบาท ด้านบีโอไอสรุปส่งเสริมการลงทุนกรกฎาคม-กันยายน จำนวน ๔๙ โครงการ มูลค่า ๑๓,๑๕๕ ล้าน เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาถือว่าลดลง แต่พลังงานทดแทนยังได้รับความสนใจต่อเนื่อง

เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ห้องประชุมใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายชาญชัย บุรถาวร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แถลงข่าวภาพรวมทางเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ ๓-๔ ประจำปี ๒๕๕๘ ท่ามกลางความสนใจจากนักธุรกิจ นักการเงินและการบัญชี รวมไปถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายชาญชัย บุรถาวร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจของภาคอีสานในไตรมาสที่ ๓ ของปี ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ ๒ ที่ผ่านมา ดูได้จากการอุปโภคและบริโภคของภาคเอกชนที่ดีขึ้นจากการใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะยอดขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวดีขึ้น ควบคู่ไปกับการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่ให้ความสนใจลงทุนในภาคอีสาน โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบด้านการเกษตร ขณะเดียวกันสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งในประเภทสินเชื่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในระดับที่ติดลบที่ร้อยละ ๑.๔๕ เท่ากับช่วงไตรมาสที่สอง สำหรับอัตราการว่างงานของภาคอีสานยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำคือร้อยละ ๐.๘

“ด้านการค้าระหว่างประเทศยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งไตรมาสที่สามของปีนั้นภาคอีสานมีมูลค่าทางการค้ามากถึง ๒๐๙,๙๕๕ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมามากถึงร้อยละ ๑๘.๔ โดยมีเกณฑ์การส่งออกไปในประเทศต่างๆ ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง และสินค้าทุนทั้งเหล็กและเมล็ดพลาสติก อย่างไรก็ดี ยังมีกิจการขนาดใหญ่ที่สนใจลงทุนในภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะกลุ่มกิจการผลิตเยื่อกระดาษที่จังหวัดมหาสารคาม มูลค่าการลงทุนกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท และกิจการผลิตอาหารสัตว์ อบพืชและไซโล ที่จังหวัดร้อยเอ็ด มูลค่าการลงทุน ๒,๐๙๓ ล้านบาท สำหรับด้านเงินคงค้างและสินเชื่อยังคงขยายตัวที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนเช่นกัน” ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.ฯ กล่าว

นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของภาคอีสานในไตรมาสที่ ๔ ซึ่งถือเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่เด่นชัดคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นและมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป ขณะเดียวกันในเรื่องของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐจะยังคงอยู่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เช่นกัน ขณะเดียวกันในเรื่องของการดำเนินโครงการในด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐว่าด้วยการคมนาคมเริ่มมีผลเด่นชัดและมีการดำเนินการครอบคลุมหลายพื้นที่ แต่ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงในระยะนี้ โดยเฉพาะกับการที่ประเทศคู่ค้ามีการเติบโตที่ชะลอตัวลงในภาวะเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าภาคการเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำและผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจจะกระทบผลผลิตของเกษตรกร นอกจากนี้แล้วในเรื่องของหนี้สินภาคครัวเรือนถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงด้วยเช่นกัน

ทางด้านศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ นครราชสีมา (บีโอไอ นครราชสีมา) เปิดเผยภาวะการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๘ โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๔๙ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๑๓,๑๕๕ ล้านบาท การจ้างงาน ๒,๕๒๓ คน เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนโครงการ รวมทั้งมูลค่าเงินลงทุนและการจ้างงานลดลง โดยเป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๔๐ โครงการ หุ้นต่างชาติทั้งสิ้น (ญี่ปุ่นและเกาหลี) ๔ โครงการ ร่วมหุ้นไทยและต่างชาติ (เกาหลี ญี่ปุ่น และเยอรมนี) ๕ โครงการ สำหรับการกระจายขนาดการลงทุน โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่เพียง ๔ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิต Native Starch, กิจการผลิต Forging Parts, กิจการผลิตอาหารสัตว์ อบพืช&ไซโล และกิจการผลิตเยื่อกระดาษ สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมมีถึง ๔๕ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตยางแผ่นรมควัน กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลังแปรรูป กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง กิจการผลิตเม็ดสาคู  กิจการผลิตข้าวสารคัดคุณภาพ กิจการผลิต Jewelry  กิจการผลิต Socket CP กิจการผลิต Metal Parts ศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอก๊าซ กิจการผลิต LLDPE STRETCH FILM

สำหรับแนวโน้มการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส ๔/๒๕๕๘ คาดการณ์ว่า การลงทุนยังคงชะลอตัว ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น รอดูสถานการณ์จากทางภาครัฐ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกมาตรการเร่งรัดการลงทุนในปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ และกำหนดให้มีผลครอบคลุมโครงการลงทุนที่ยี่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ถึงภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ และต้องเริ่มดำเนินการจริงทั้งการผลิตหรือการให้บริการภายในสิ้นปี ๒๕๖๐ ตามเงื่อนไข พร้อมออกนโยบายส่งเสริมการพัฒนา คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจและขอคำปรึกษาการขอรับการส่งเสริม ได้แก่ พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกันยายน ๒๕๕๘ จำนวน ๑๔ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๔,๓๐๑ ล้านบาท การจ้างงาน ๙๘๐ คน ได้แก่ ๑. กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลังแปรรูป (Modified Starch) ในนาม บริษัท สงวนวงษ์สตาร์ช โค้ตติ้ง จำกัด เงินลงทุน ๑๓ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา ๒. กิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กทุบ (Forging Parts) ในนาม บริษัท พี.ซี.เอส.ฟอร์จจิ้ง จำกัด เงินลงทุน ๖๐๑ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งนครราชสีมา ๓. กิจการผลิตอัญมณี และเครื่องประดับหรือชิ้นส่วน รวมถึงวัตถุดิบและต้นแบบ (Jewelry) ในนาม บริษัท โกลด์ แอนด์ เจมส์ จำกัด เงินลงทุน ๒๕ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการนครราชสีมา ๔. กิจการผลิตการเคลือบผิว (Surface Treatment) ในนาม บริษัท ทีนา เซอร์วิส เทคโนโลยี จำกัด เงินลงทุน ๓๕ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๕. กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ (Plastic Parts for Automotive) ในนาม นางสาวอัญมณี รอดประจง เงินลงทุน ๑๘ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๖. กิจการผลิต Socket CP ในนาม นางสุนทรี รอดประจง เงินลงทุน ๗๘ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งนครราชสีมา ๗. กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ (Metal Parts) ในนามนางสุนทรี รอดประจง  เงินลงทุน ๒๐๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งนครราชสีมา ๘. กิจการผลิต Mould&Die Parts ในนาม บริษัท เจ เอส อาร์ เทคโนโลยี จำกัด  เงินลงทุน ๑๑๐ ล้านบาท หุ้นไทย-เยอรมนี ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๙. กิจการผลิต Aluminium Die Casting Parts ในนาม บริษัท พี.ซี.เอส. ได คาสติ้ง จำกัด เงินลงทุน ๕๓๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา

๑๐. กิจการผลิต Drive Recorder ในนาม บริษัท เจวีซี ออพติคัล คอมโพเน้นท์ส (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน ๘ ล้านบาท  ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา ๑๑. กิจการผลิตเชือกฟาง (Plastic Rope) ในนาม นางสาวอิงกมล ทองตันวรภัทร เงินลงทุน ๕ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งจังหวัดศรีสะเกษ ๑๒. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอก๊าซ ในนาม บริษัท ซีพีพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เงินลงทุน ๑๕๕ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา ๑๓. กิจการเชื้อเพลิงชีวมวลอัด (Biomass Pellet) ในนาม บริษัท รุ่งเจริญรีนิวอาเบิล เอนเนอร์ยี จำกัด เงินลงทุน ๔๓๐ ล้านบาท หุ้นไทย-เกาหลี ที่ตั้งจังหวัดร้อยเอ็ด และ ๑๔. กิจการผลิตอาหารสัตว์ อบพืช&ไซโล ในนาม บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน ๒,๐๙๓ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งร้อยเอ็ด

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๕ วันศุกร์ที่ ๖ -  วันอังคารที่ ๑๐  เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘


694 1345