18thApril

18thApril

18thApril

 

November 07,2015

รถไฟทางคู่‘โคราช - อุบลฯ’ คาดใช้เวลาสร้าง ๔ ปี พัฒนาโลจิสติกส์อีสานล่าง

รฟท.เปิดเวทีรอบสองฟังเสียงประชาชน ๕ จังหวัด รถไฟทางคู่ “ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี” กว่า ๓๐๕ กม. เผยต้องใช้งบก่อสร้างกว่า ๑๑๐ ล้าน/กม. ยืนยันไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะใช้แนวเส้นทางรถไฟเดิม สามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ ๑๖๐ กม./ชม. ระยะเวลาเดินทาง ๓ ชั่วโมงเศษ พร้อมผุดย่านกองเก็บ/ขนถ่ายตู้สินค้าพื้นที่ ๔ จังหวัด รองรับขนส่งสินค้าเกษตรแปรรูป-กลุ่มซิเมนต์

เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ โรงแรมซิตี้พาร์ค จังหวัดนครราช สีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๒ งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี” โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาวงเงิน ๒๐๐ กว่าล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ให้ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๘ – เมษายน ๒๕๕๙ รวมระยะเวลา ๑๒ เดือน ซึ่งการประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการศึกษาโครงการในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมการสัมมนากว่า ๒๐๐ คน

พัฒนาโลจิสติกส์อีสานล่าง

นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เป็นเส้นทางหนึ่งตามแผนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ระยะที่ ๒ ของกระทรวงคมนาคม ที่จะก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ถึงสถานีอุบลราชธานี ระยะทาง ๓๐๕ กิโลเมตร จากทางเดี่ยวให้เป็นทางคู่ รฟท. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าว ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ในแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรฟท. ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายอีสาน และแผนดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.๒๕๕๘ โดยมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางดังกล่าวรวมอยู่ในแผนดำเนินการระยะที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) ด้วย อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่จังหวัดสุรินทร์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ตอนล่าง ๑ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ (นครชัยบุรินทร์) และตอนล่าง ๒ (ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) เพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางรางและระบบโลจิสติกส์รองรับพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง 

“ทั้งนี้ รฟท. ได้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการ ตลอดทั้งส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อโครงการงานบริการที่ปรึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จึงกำหนดให้มีการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๒ ดังนี้ กลุ่มที่ ๑ เป้าหมายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในวันนี้ (๒ พ.ย. ๕๘), กลุ่มที่ ๒ ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ และกลุ่มที่ ๓ ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี โดยจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการศึกษาโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ที่ปรึกษาสามารถนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น” นายวรรณนพ กล่าว

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

‘วิเชียร’ ๒ จว.ยังไม่เทียบเท่า

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการประชุมว่า ถือเป็นโอกาสอันดีของประชาชนชาวโคราช ซึ่งขณะนี้มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบรางทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ แต่ทั้งสองจังหวัดยังไม่ได้รับโอกาสเท่ากับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดดังกล่าวเคยมีการผลักดันเรื่องนี้ โดยตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยก็เคยมาจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นชาวจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเสนอทางเลือกต่อรัฐบาลพิจารณาศึกษาความเหมาะสมเปิดเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ในภาคอีสาน (สายจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย และสายลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู) ดังนั้น การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดนครราชสีมา ที่จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี แต่ทั้งนี้ ส่วนราชการในพื้นที่ก็ต้องร่วมกันที่จะมีการวางยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ไว้ด้วย เพื่อรองรับความเจริญเติบโตของจังหวัดนครราชสีมาในระยะยาวต่อไป

๓๐๕ กม.เดินทาง ๓ ชั่วโมง

ต่อมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษานำเสนอความคืบหน้าการศึกษาและออกแบบรายละเอียด “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี” โดยระบุว่า มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ บริเวณ กม.๒๗๐+๐๐๐ เมื่อพ้นจากสถานีชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และไปสิ้นสุดที่สถานีอุบลราชธานี บริเวณ กม.๕๗๕+๐๕๖.๑๙๙ ระยะทางรวมประมาณ ๓๐๕ กิโลเมตร ตลอดแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ ๑๖ อำเภอ ใน ๕ จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา, เฉลิมพระเกียรติ, จักราช และห้วยแถลง, จ.บุรีรัมย์ อ.ลำปลายมาศ, เมืองบุรีรัมย์, ห้วยราช และกระสัง, จ.สุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์ ศีขรภูมิ และสำโรงทาบ, จ.ศรีสะเกษ อ.ห้วยทับทัน, อุทุมพรพิสัย, เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์, จ.อุบลราชธานี อ.วารินชำราบ โดยใช้แนวเส้นทางรถไฟเดิม เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมทั้งแนวทางราบและทางดิ่ง สามารถปรับองค์ประกอบให้รองรับกับความเร็วสูงสุด ๑๖๐ กม./ชม. (ระบบรถไฟด่วนความเร็ว ๑๖๐ กม./ชม. โดยใช้ราง Meter Gauge ขนาด ๑ เมตร) โดยไม่ต้องมีการกันเขตทางรถไฟเพิ่มเติม และใช้ตำแหน่งสถานีที่ตั้งตามสถานีเดิม จำนวนทั้งหมด ๓๔ สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) แบ่งเป็นสถานีชั้น ๑ จำนวน ๗ สถานี, สถานีชั้น ๒ จำนวน ๗ สถานี และสถานีชั้น ๓ จำนวน ๒๐ สถานี ทั้งนี้ เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่เข้าถึงและสะดวกสบายในการเดินทางทั้งสองฝั่งของระบบราง และการพัฒนาระบบทางคู่ในเส้นทางรถไฟ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จะทำให้ลดระยะเวลาเดินทางจากเดิม ๕ ชั่วโมง ๓๐ นาที เป็น ๓ ชั่วโมง ๑๕ นาที

นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

วาง ๔ รูปแบบแก้ปัญหาจุดตัด

สำหรับปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน  โดยในแนวเส้นทางช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี สรุปมีจุดตัดทางรถไฟทั้งสิ้น ๑๓๑ จุด จากเดิม ๑๖๙ จุดตัด ในการศึกษาจึงได้ออกแบบให้แก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟเพื่อความปลอดภัยในการสัญจรข้ามทางรถไฟ ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น โดยขณะนี้มีแนวทางแก้ปัญหาจุดตัดทั้งหมด ๔ รูปแบบ ได้แก่ ๑. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง (Overpass) มี ๑ แห่ง ๒. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในลักษณะรูปตัวยู (U-Shape Overpass) มี ๑๕ แห่ง ๓. ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ (Box Culvert) มี ๑๐๐ แห่ง และ ๔. ยกระดับทางรถไฟ (Elevated Railway) มี ๑๑ แห่ง ส่วนจุดตัดทางรถไฟที่เหลืออีก ๔ แห่งนั้นจะปิดจุดตัด โดยให้ไปใช้โครงสร้างการแก้ไขปัญหาจุดตัดบริเวณใกล้เคียงแทน ทั้งนี้ กรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนสายสำคัญ และแนวเส้นทางรถไฟผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่นหรือเขตเมือง อาจก่อสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ โดยการออกแบบรถไฟในโครงการช่วงบริเวณสถานีบุรีรัมย์ สถานีสุรินทร์ และสถานีศรีสะเกษ จะเป็นทางรถไฟและสถานียกระดับ พร้อมกันนี้ได้ออกแบบก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟด้วย เพื่อป้องกันคนหรือสัตว์ข้ามทางรถไฟตัดหน้าขบวนรถ ช่วยลดอุบัติเหตุทางรถไฟ ช่วยให้รถไฟทำความเร็วได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางได้อย่างเต็มที่

๔ จว.ย่านกองเก็บ/ขนถ่ายสินค้า

นอกจากนี้ ได้พิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard: CY) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งผลิตสินค้า เข้าถึงได้ง่าย มีการเชื่อมต่อการเดินทางระบบอื่นได้ดีโดยเฉพาะระบบถนน ขนาดพื้นที่เหมาะสมเพียงพอที่รองรับปริมาณสินค้า พื้นที่ควรขนานกับเส้นทางรถไฟสายหลัก ค่าก่อสร้างต่ำ ค่าที่ดินไม่สูง และมีพื้นที่ไว้เผื่อขยายตัวในอนาคต ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดตำแหน่งที่ตั้งย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า ๔ แห่ง ได้แก่ ๑. บริเวณบ้านตะโก จังหวัดบุรีรัมย์ ๒. สถานีบุฤาษี จังหวัดสุรินทร์ ๓. สถานีหนองแวง จังหวัดศรีสะเกษ และ ๔. สถานีบุ่งหวาย จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล ฯลฯ ที่สำคัญของภาคอีสาน อีกทั้งในอนาคตถ้ามีการต่อขยายแนวเส้นทางจากสถานีอุบลราชธานี ในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ไปยังบริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว จะทำให้แนวเส้นทางนี้ช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศและการค้าระหว่างประเทศ  รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของไทยในภูมิภาคอาเซียนด้วย

คาดใช้เวลาสร้างทางคู่ ๔ ปี

ต่อเรื่องนี้นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รฟท. ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๒ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๒-๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เพื่อมายืนยันว่าการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดดังกล่าว จะไม่ทำให้ประชาชนที่อยู่สองข้างรถไฟได้รับความเดือดร้อน หรือถ้าได้รับผลกระทบก็จะรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ที่ปรึกษาดำเนินการพิจารณาและแก้ไขต่อไป หลังจากนั้นจะมีการประชุมกลุ่มย่อย และจัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ ๓ เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาของโครงการฯ ในช่วงประมาณต้นปี ๒๕๕๙ โดยภายหลัง รฟท. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมประชุมไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการฯ เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ส่วนงบประมาณการก่อสร้างในเส้นทางดังกล่าวคาดว่าไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท เฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ ๑๑๐ ล้านบาท หากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านคาดว่าจะก่อสร้างได้ประมาณต้นปี ๒๕๖๐ ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ ๔ ปี ส่วนรูปแบบการให้บริการแบ่งเป็น ๑. บริการรถโดยสารทางไกลด้วยขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วนขบวนรถเร็ว ๒. บริการรถโดยสารทางใกล้ด้วยขบวนรถไฟท้องถิ่นและขบวนรถธรรมดา ซึ่งแนวเส้นทางเดิมส่วนใหญ่ไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว เช่น พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

‘โคราช’เมืองเศรษฐกิจอีสาน

นายวรรณนพ กล่าวด้วยว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ ๑ ของภาคอีสาน ในอนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้าของภูมิภาคที่สำคัญ จากที่คาดการณ์ปริมาณจำนวนผู้โดยสารเดินทางโดยรถไฟจากจังหวัดนครราชสีมา-อุบลราชธานี ปัจจุบันเฉลี่ยปีละ ๓.๕๓ ล้านคน/ปี เมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๙ คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มเป็น ๗.๘๓๘ ล้านคน/ปี, ในปี ๒๕๗๙ เพิ่มเป็น ๙.๓๖๐ ล้านคน/ปี และในปี ๒๕๙๘ เพิ่มเป็น ๑๒.๖๒๐ ล้านคน/ปี อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากเดิมเป็นทางเดี่ยว ๕ ชั่วโมง ๓๐ นาที เมื่อเป็นเส้นทางคู่ ๓ ชั่วโมง ๑๕ นาที และจากผลคาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้าตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ ปัจจุบันเฉลี่ยปีละ ๑๐๘,๐๐๐ ตัน/ปี เมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๙ จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น ๙๔๑,๘๐๐ ตัน/ปี, ในปี ๒๕๗๙ เพิ่มเป็น ๑,๑๕๘,๐๐๐ ตัน/ปี และในปี ๒๕๙๘ เพิ่มเป็น ๑,๕๕๓,๒๐๐ ตัน/ปี โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ข้าวสาร  มันสำปะหลังแปรรูป น้ำตาล รวมถึงสินค้าในกลุ่มซิเมนต์

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๒ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๒-๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยเริ่มจากจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และอุบลราชธานี ตามลำดับนั้น ประชาชนในพื้นที่โครงการฯ ทั้ง ๑๖ อำเภอ ใน ๕ จังหวัด ส่วนใหญ่เห็นดีด้วยกับการพัฒนาระบบรางในเส้นทางดังกล่าวให้เป็นรถไฟทางคู่ แต่ประชาชนบางส่วนยังมีความกังวลเรื่องการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เทศบาล และอบต.

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๕ วันศุกร์ที่ ๖ -  วันอังคารที่ ๑๐  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


721 1345