26thApril

26thApril

26thApril

 

November 17,2015

ขุดเจาะปิโตรเลียมบ้านร้าว ขอเยียวยา ๖๐,๐๐๐ บาท แต่ได้รับจริงแค่ ๒,๗๐๐ บ.

หลังร้องเรียนมากว่า ๑ ปี เรียกตัวแทนบริษัทย่านฉาง ปิโตรเลียมเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยชดใช้ค่าเสียหายให้ประชาชนที่บ้านทรุดร้าว จากการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมปี ๒๕๕๗ หลังผู้เสียหาย ๘ รายบุกร้องหลายหน่วยงานมากว่า ๑ ปี

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ศูนย์ดำรงธรรม ที่ว่าการอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสตึก และคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระดับจังหวัด ที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้แต่งตั้งขึ้น ได้เรียกตัวแทนบริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการสำรวจคลื่นไหวแบบ ๓ มิติ ในโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจที่ L31/50 เมื่อปี ๒๕๕๗ เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนทรุดแตกร้าว จากแรงจุดระเบิดในการสำรวจคลื่นไหว ๓ มิติ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ หลังจากก่อนหน้านี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบบ้านทรุดร้าวจำนวน ๘ ราย ในพื้นที่ ต.ดอนมนต์ และ ต.ร่อนทอง อ.สตึก ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ศูนย์ดำรงธรรม และมณฑลทหารบกที่ ๒๖ พร้อมทั้งได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สตึก ด้วย โดยการเจรจาไกล่เกลี่ยในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการไกล่เกลี่ยเป็นรายคน เนื่องจากความเสียหายแต่ละหลังคาเรือนไม่เท่ากัน

 
จากการไกล่เกลี่ยชาวบ้านรายแรก คือ นายวันสิน การรัมย์ อายุ ๕๔ ปี ราษฎรบ้านกระทุ่มเหนือ ต.ดอนมนต์ หนึ่งใน ๘ ราย ปรากฏว่าทางบริษัท ยอมจ่ายเงินเยียวยาให้กับนายวันสิน จำนวน ๒,๗๐๐ บาท ตามการประเมินความเสียหายของโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด จากที่นายวันสิน ได้เรียกค่าเสียหายไปจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท แต่หลังจากเจรจาไกล่เกลี่ยหลายชั่วโมง สุดท้ายนายวันสิน ก็ต้องยอมรับเงินจำนวน ๒,๗๐๐ บาทตามที่บริษัทเสนอ ถึงแม้จะไม่พอใจกับค่าเสียหายที่ได้รับก็ตาม พร้อมระบุด้วยความน้อยใจว่า “ที่ผ่านมาเดินเรื่องร้องเรียนมากว่า ๑ ปี แต่กลับไม่มีผลอะไรสุดท้ายก็ต้องจำใจยอมรับค่าเยียวยาเพียง ๒,๗๐๐ บาท เพราะหากจะให้ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอง คงไม่มีปัญญาและไม่มีเงินที่จะไปจ้างทนายมาสู้คดี เพราะเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา แต่ก็อยากฝากให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบริษัทที่สัมปทาน ได้คำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดกับชาวบ้านด้วย”
 
ทั้งนี้ บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับสัมปทานในการเจาะสำรวจคลื่นไหว ๓ มิติ ในโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม แปลงที่ L31/50 ปี ๒๕๕๗ ทั้งหมด ๘ หลุม ในพื้นที่ อ.แคนดง สตึก และ อ.คูเมือง ที่ผ่านมามีชาวบ้าน และเกษตรกร ได้รับผลกระทบทั้งบ้านเรือนทรุดร้าว พื้นที่การเกษตรทั้งนาข้าว ไร่อ้อย ได้รับความเสียหาย มีการแจ้งความและร้องเรียนหลายราย บางรายก็ได้รับเงินค่าเสียหายโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร แต่บ้านเรือนยังไม่รับเงินชดเชยเยียวยา ถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า ๑ ปีแล้ว

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๖ วันพุธที่ ๑๑ -  วันอาทิตย์ที่ ๑๕  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


699 1343