29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 17,2015

ล่าตัวปลอมลายมือเชิดเงิน ๓ ล. ประธานกองทุนวอนขอเงินคืน เรียกธนาคารเค้นความจริง

ออกหมายเรียก ๒ ผัวเมียปลอมลายมือชื่อยักยอกเงินกองทุนสวัสดิการตำบล ๕ แห่งร่วม ๓ ล้านบาทแล้ว หากไม่มาจ่อออกหมายจับ เรียกเจ้าหน้าที่ธนาคารและผู้เกี่ยวข้องสอบปากคำเพิ่ม ประธานกองทุน

ตามที่เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นายไกวัล เดือนจำรูญ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย น.ส.เฉลิมศรี ดารากุล ผู้จัดการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และเจ้าหน้าที่ ได้ประชุมร่วมกับประธานกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ห้องประชุมพนมรุ้ง ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หลังมีการตรวจสอบพบว่า น.ส.สุภานัน ศรีพนม หรือต่าย อายุ ๒๖ ปี ลูกจ้างของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องเอกสารและติดต่อประสานงานระหว่างทางกองทุนกับสถาบันฯ และนายพงศธร ศรีพนม สามี ได้ร่วมกันปลอมแปลงลายมือชื่อ เพื่อไปเบิกยักยอกเงินฝากและเงินออมในบัญชีของกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบล ๔ แห่งที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลพระครู อ.เมือง ถูกเบิกถอนไปจำนวน ๑,๑๐๐,๕๐๐ บาท, กองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลสองห้อง อ.เมือง ถูกเบิกถอนไปจำนวน ๖๗๔,๐๐๐ บาท, กองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลบัวทอง อ.เมือง ถูกเบิกถอนไปจำนวน ๔๒๓,๐๐๐ บาท และกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลปราสาท อ.บ้านด่าน ถูกเบิกถอนไปจำนวน ๒๐๖,๐๐๐ บาท นอกจากนี้พบว่ามีกองทุนยักยอกเงินเพิ่มอีก ๑ แห่ง ได้แก่ กองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลสะแกโพรง อ.เมือง ถูกเบิกถอนไป จำนวน ๔๗๕,๕๑๑ บาท รวมเป็นเงินถูกเบิกถอนไปทั้งสิ้นจำนวน ๒,๘๗๙,๐๑๑ บาท

โดยประธานกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลทั้ง ๕ แห่ง ที่ถูกเบิกถอนเงินไป ได้นำเอกสารหลักฐานการเบิกถอนจากธนาคารมาแสดงต่อที่ประชุม เพื่อยืนยันว่าเงินกองทุนได้ถูกน.ส.สุภานัน และนายพงศธร ศรีพนม สองสามี-ภรรยา เบิกถอนเงินออกไปจริง เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจเห็นว่า น.ส.สุภานัน เป็นพนักงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยอ้างว่าจะนำไปปรับเช็คยอดเงินและนำไปประกอบการทำเรื่องเสนอของบประมาณสนับสนุนจาก พอช. แต่กลับไม่ได้นำไปดำเนินการตามที่กล่าวอ้างจริง ในที่ประชุมได้แนะนำให้ประธานกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบล ที่ถูกยักยอกเบิกเงินไป ให้ดำเนินการแจ้งความเพื่อเอาผิดกับ น.ส.สุภานัน และนายพงศธร ศรีพนม สองสามี-ภรรยาไว้ก่อน ส่วนทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า มีใครร่วมในการเบิกเงินของกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลทั้ง ๕ แห่งไป พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดทางธนาคารจึงยอมให้บุคคลเหล่านี้เบิกเงินจากธนาคารแทนประธาน และคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลออกไปได้ ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้ไปด้วย

ด้านพระครูปทุมธรรมานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองบัวทอง ต.บัวทอง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ประธานกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลบัวทอง กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการตำบลเป็นความต้องการของชุมชนเพื่อดูแลสวัสดิการชุมชนด้านเกิด แก่ เจ็บตาย ซึ่งในตำบลบัวทองมีสมาชิกกว่า ๒๐๐ คน ปัญหาที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจาก น.ส.สุภานัน ศรีพนม ลูกจ้างของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้มาอ้างว่า ทางหน่วยงานจะมีการสมทบทุนและสวัสดิการที่จะร่วมสมทบด้วย จึงมาขอสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลบัวทองไปเพื่อไปปรับ แต่เมื่อได้บัญชีไปก็ได้ปลอมลายเซ็นประธานและคณะกรรมการกองทุนฯ เบิกเงินจากธนาคารไปทั้งหมด ๔๒๓,๐๐๐ บาท ทำให้ขณะนี้กองทุนฯ ไม่มีเงินที่จะดำเนินการต่อไป จึงอาจทำให้กองทุนหยุดชะงักหรือปิดตัวลงก็ยังไม่ทราบได้ยืนยันไม่ได้มีการมอบอำนาจให้ทำการแทนแต่อย่างใด จึงอยากวิงวอนไปยังบุคคลที่กระทำดังกล่าว ขอให้ได้มารับผิดชอบหรือนำเงินดังกล่าวมาคืนให้แก่กองทุนฯ ทางกองทุนก็จะไม่ดำเนินการทางกฎหมาย แต่หากไม่นำเงินมาส่งคืนกองทุน ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

“โดยได้มาขอบัญชีธนาคารของกองทุนไปเมื่อปี ๒๕๕๗ เพราะด้วยความไว้วางใจกันจึงไม่ได้คิดว่าจะมีการเบิกเงินกองทุนไปหลายครั้งจนกระทั่งหมดเงินบัญชีกองทุนเลย กระทั่งมาทราบเรื่องเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายนที่ผ่านมา จึงพยายามติดต่อเอาสมุดบัญชีธนาคารกองทุนคืน แต่ก็ไม่ได้ โดยอ้างว่าเดี๋ยวจะนำไปส่ง กระทั่งปัจจุบันติดต่อไม่ได้เลย” เจ้าอาวาสวัดดังบุรีรัมย์ กล่าว

ต่อมาวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ความคืบหน้ากรณีประธานกองทุน ๕ แห่งที่จ.บุรีรัมย์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า น.ส.สุภานัน ศรีพนม หรือต่าย อายุ ๒๖ ปี ลูกจ้างของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องเอกสารและติดต่อประสานงานระหว่างทางกองทุนกับสถาบันฯ และนายพงศธร ศรีพนม สามี ได้ร่วมกันปลอมแปลงลายมือชื่อเจ้าของบัญชีในใบถอนเงินของธนาคาร และปลอมลายมือชื่อในใบมอบฉันทะ ไปหลอกธนาคารเพื่อเบิกเงินของกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลพระครู สองห้อง บัวทอง สะแกซำ อ.เมือง และ ต.ปราสาท อ.บ้านด่าน ทั้ง ๕ แห่ง รวมเป็นทั้งสิ้นจำนวน ๒,๘๗๙,๐๑๑ บาท

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียก ๒ สามี-ภรรยาที่ถูกกล่าวหาเพื่อมาสอบปากคำและรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่หากออกหมายเรียกครบ ๓ ครั้ง ทั้ง ๒ ยังไม่มาตามหมายเรียก ก็จะออกหมายจับตามขั้นตอน พร้อมกันนี้ยังได้ประสานขอเอกสารตัวจริงจากทางธนาคารที่ทั้งสองไปเบิกเงิน เพื่อส่งไปตรวจเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้เสียหาย ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง กรุงเทพมหานคร คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ ๓๐ วันจึงจะทราบผลตรวจ อีกทั้งยังได้ประสานให้ทางธนาคารในฐานะผู้เสียหายที่ถูกนำลายมือชื่อปลอมไปเบิกเงิน ให้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์มอบคดี ในข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากข้อหาฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัว จากที่เบื้องต้นได้แจ้งข้อหา “ปลอมแปลงลายมือชื่ออันเป็นเท็จเท่านั้น” นอกจากนั้นยังจะได้เรียกเจ้าหน้าที่ธนาคาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมา สอบปากคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งจะได้เร่งรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม หากผลการสอบสวน หรือข้อมูลหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย ก็จะถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป

พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวได้กำชับให้พนักงานสอบสวนทุก สภ.ที่ได้รับแจ้งความ ให้เร่งรัดดำเนินการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนอย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความกระจ่างโดยเร็ว เนื่องจากเป็นคดีที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ชุมชน หากข้อมูลหลักฐานเชื่อมโยงชี้ชัดไปถึงบุคคลใดว่าทุจริตหรือยักยอกเงินของกองทุนดังกล่าวจริง ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายทุกราย ทั้งกำชับให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ล่าสุดวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พระครูปทุมธรรมานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองบัวทอง ต.บัวทอง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ในฐานะประธานกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลบัวทอง พร้อมกรรมการและสมาชิกกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาส ได้นำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองบุรีรัมย์ ให้ดำเนินคดีกับน.ส.สุภานัน ศรีพนม หรือต่าย อายุ ๒๖ ปี ลูกจ้างของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องเอกสารและติดต่อประสานงานระหว่างทางกองทุนกับสถาบันฯ และนายพงศธร ศรีพนม สามี ที่ได้ร่วมกันปลอมแปลงลายมือชื่อเจ้าของบัญชีในใบถอนเงินของธนาคาร และปลอมลายมือชื่อในใบมอบฉันทะ ไปหลอกลวงธนาคารเพื่อเบิกเงินของกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาส ที่ชาวบ้านร่วมกันออมวันละบาท มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงิน ๔๒๓,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นกองทุนที่ไว้ช่วยเหลือคนในชุมชนตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีประธานและกรรมการกองทุนเข้ามาแจ้งความที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์แล้วรวม ๔ กองทุน

ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ประสานขอเอกสารตัวจริงจากทางธนาคารที่ทั้งสองไปเบิกเงิน เพื่อส่งไปตรวจเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้เสียหาย ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๑ เดือนจึงจะทราบผล พร้อมกันนี้ยังจะได้ออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมาสอบปากคำและรับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอน หากพบผลตรวจยืนยันว่าทั้งสองได้ปลอมแปลกเอกสารและลายมือชื่อเพื่อเงินกองทุนจริง เจ้าหน้าที่ก็จะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสองในข้อหา “หลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน เข้าข่ายการฉ้อโกงทรัพย์” ต่อไป
 
พระครูปทุมธรรมานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองบัวทอง ในฐานะประธานกองทุนสวัสดิการผู้ด้อยโอกาสตำบลบัวทอง และนายวิจิตร ปลื้มกมล กรรมการกองทุน ที่ถูกปลอมแปลงลายมือชื่อ ยังได้เร่งรัดให้ทางเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตัวทั้ง ๒ สามี-ภรรยา มาดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมให้นำมาคืนกองทุนโดยเร็ว เพราะขณะนี้กองทุนได้เกิดการชะงักไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ เนื่องจากไม่มีเงินเหลือในบัญชีแล้ว พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้ทางธนาคารออกมาแสดงความรับผิดชอบ ฐานหละหลวมในการทำหน้าที่ปล่อยให้มีการเบิกเงินในบัญชีไปโดยไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ เนื่องจากทั้งสองสามี-ภรรยาที่ไปเบิกเงินจะใช้ใบมอบฉันทะในการเบิกหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ผ่านมาทางกรรมการกองทุน ๒ ใน ๓ จะไปเบิกเงินด้วยตัวเอง ไม่เคยมอบฉันทะให้ใครไปเบิกแทนเลย พร้อมทั้งอยากฝากให้ทางธนาคารได้ตรวจสอบให้รอบคอบรัดกุมมากกว่านี้ เพราะถือเป็นสถาบันการเงินที่มีความปลอดภัยสูง แต่กลับปล่อยให้ปลอมลายมือชื่อไปหลอกลวงเบิกเงินได้อย่างง่ายดาย สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่กองทุน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๖ วันพุธที่ ๑๑ -  วันอาทิตย์ที่ ๑๕  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


695 1348