17thApril

17thApril

17thApril

 

November 18,2015

ชวนหลานย่าโม‘นุ่งผ้าไทยใส่ผ้าซิ่น’ กระตุ้นเศรษฐกิจผู้ผลิตผ้าพื้นเมือง

รณรงค์ “หลานย่าโม นุ่งผ้าไทย ใส่ผ้าซิ่น” ทุกวันศุกร์ ทุกภาคส่วนกว่า ๑,๐๐๐ คนพร้อมใจสวมใส่ผ้าไทย นัดเดินรณรงค์หน้าอนุสาวรีย์ย่าโม ๒๗ พฤศจิกายนนี้ ‘วิเชียร’ พ่อเมืองโคราช หวังยกระดับผ้าไทยและอนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองโคราชไม่ให้สูญหาย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผู้ผลิตผ้าพื้นเมือง ๑๑๙ กลุ่ม 


เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ บริเวณด้านหน้า เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ “หลานย่าโม นุ่งผ้าไทย ใส่ผ้าซิ่น” ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ พร้อมด้วยนายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายสมพงษ์ วิริยะจารุ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และนางอัจฉรา เคียงวิมลรัตน์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมค่านิยมด้านการรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงาม ตามค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ โดยการแต่งกายด้วยผ้าไทยให้พร้อมเพรียงกัน และแพร่หลายในหมู่ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าพื้นเมืองของจังหวัดนครราชสีมา และเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตผ้าพื้นเมืองของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการสาธิตการทอผ้าพื้นเมืองโคราชจากกลุ่มทอผ้า อำเภอปักธงชัย การจำหน่ายผ้าไทย รวมทั้งการเดินแบบแฟชั่นโชว์ การแต่งกายผ้าไทยจากส่วนราชการ และประชาชนที่มาร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้ ซึ่งพร้อมใจกันแต่งกายด้วยผ้าไทยมาร่วมงานกว่า ๒๐๐ คน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช มีผ้าพื้นเมืองซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่หลากหลายตามภูมิถิ่นชาติพันธุ์ดั้งเดิมของชาวโคราช เช่น ผ้าซิ่นไทยญวน อำเภอสีคิ้ว, ผ้าเงี่ยงนางดำ อำเภอสูงเนิน, ผ้าทอภูไทย อำเภอปากช่อง, ผ้าฝ้ายมัดหมี่ อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง, ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมหางกระรอก และผ้าทอลายต่างๆ ของอำเภอบัวลาย, อำเภอปักธงชัย, อำเภอลำทะเมนชัย, อำเภอสีดา และอำเภอห้วยแถลง เป็นต้น ทั้งนี้ จากข้อมูลกลุ่มทอผ้าในจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวน ๑๑๙ กลุ่ม สมาชิก ๓,๒๓๙ จาก ๒๑ อำเภอ ที่สำคัญคือ ผ้าไทยเหล่านี้มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สามารถยกระดับมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดนครราชสีมาได้ ด้วยการเพิ่มมูลค่าจากเรื่องราวผลิตภัณฑ์ของผ้าพื้นเมือง จากวิวัฒนาการของสังคมในปัจจุบันส่งผลให้ผ้าพื้นเมืองในบางพื้นที่ได้สูญหายไป ไม่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ยังคงพบเห็นการสวมใส่และใช้งานเฉพาะคนรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งหากจังหวัดนครราชสีมายังขาดการส่งเสริมและรณรงค์ผ้าทอพื้นเมืองก็จะทำให้ภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดนครราชสีมาสูญหายไป

 

“อย่างไรก็ดี เพื่อรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมหลักของคนไทย และยกระดับการพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองให้ผู้ผลิตชุมชนของจังหวัดนครราชสีมา จึงได้กำหนดจัดโครงการ “หลานย่าโม นุ่งผ้าไทย ใส่ผ้าซิ่น” ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ เพื่อให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่นโคราชด้วยความภูมิใจ โดยการรณรงค์ปลูกฝัง ค่านิยมหลักของคนไทย และยกระดับการพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองไทยให้ผู้ผลิตชุมชนของจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ส่วนราชการและประชาชนชาวโคราชได้มีส่วนร่วมการแต่งกายด้วยผ้าไทย เพื่อเสริมสร้างการอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวโคราช อันจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ผลิตผ้าพื้นเมืองอีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาการทอผ้าไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถจำหน่ายในพื้นที่ของอำเภอต่างๆ ได้มากขึ้น เป็นการสร้างงานให้กับสมาชิกกลุ่มทอผ้าในพื้นที่อีกด้วย

ด้านนายสมพงษ์ วิริยะจารุ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เชิญชวนพี่น้องทุกภาคส่วนได้สวมใส่ชุดผ้าไทย เพื่อส่งเสริมการทอผ้าในท้องถิ่น ทั้งยังสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย โดยในวันศุกร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายนนี้ จะมีการเดินรณรงค์โดยสวมใส่ชุดผ้าไทย ที่บริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา จึงขอเชิญชวนให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน และประชาชนทั่วไป ได้มาร่วมกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงกัน

นางอัจฉรา เคียงวิมลรัตน์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนให้สวมใส่ผ้าไทยนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมานั้น มีทั้งผู้ผลิตที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กระบวนการทอผ้ามัดหมี่ย้อมลาย รวมถึงกระบวนการแปรรูปและจัดจำหน่าย ซึ่งสามารถส่งเสริมรายได้ให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น การสวมใส่ผ้าไทยก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนตั้งแต่ผู้ผลิตไปถึงผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีกำลังใจผลิตเมื่อมีผู้สนับสนุนซื้อผ้าไทย หรือผ้าฝ้าย ที่ผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. จะมีกิจกรรม Kick off การเดินรณรงค์ “นุ่งผ้าไทย ใส่ผ้าซิ่น” ของประชาชนทุกภาคส่วน จำนวนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน บนถนนราชดำเนิน หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) โดยผู้มาร่วมงานจะต้องสวมใส่ชุดผ้าไทย ในการนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ขอชวนเชิญประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมแต่งกายด้วย ผ้าไทยทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ โดยสุภาพบุรุษสวมผ้าไทย และสุภาพสตรีนุ่งซิ่น เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เป็นต้นไป  

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๗ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘


730 1345