20thApril

20thApril

20thApril

 

November 18,2015

‘โคราชโมเดล’ลดละเลิกบุหรี่ นักสูบเลิกสำเร็จ ๑,๙๓๙ คน

สรุปผลดำเนินงาน “โคราชโมเดล ปลอดบุหรี่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” นำร่อง ๕ อำเภอ เลิกสำเร็จ ๑,๙๓๙ คน “ชุมชนคลองไผ่ฯ” สามารถเลิกบุหรี่ได้มากที่สุด และยังสร้างเครือข่ายแกนนำระดับชุมชนเพื่อรณรงค์ได้ถึง ๕,๐๕๒ คน 

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ โคราชโฮเต็ล ถนนอัษฎางค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “ลด ละ เลิก บุหรี่ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จังหวัดนครราชสีมา” พร้อมด้วยนายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช และรศ.ธราดล เก่งการพานิช อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นางณิชาณี พันธุ์งาม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สสจ.นม., นางสาวปรีดารัตน์ ศรัทธานนท์กุล ผู้ประสานงาน สสส., นายสุริยา ค้าสบาย สสอ.สีคิ้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนปลอดบุหรี่โคราช, นายกุศล เชื่อกลาง สาธารณสุขอำเภอโนนสูง, นายกวี ชิ้นจอหอ สาธารณสุขอำเภอจักราช, นายประสิทธิ์ จอมกระโทก สาธารณสุขอำเภอครบุรี และนายยงยุทธ ยิ้มกระโทก สาธารณสุขอำเภอเสิงสาง  ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช นักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มโครงการฯ กล่าวถึงที่มาของโครงการ ลด ละ เลิก บุหรี่ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จังหวัดนครราชสีมาว่า ได้พัฒนาขึ้นเพื่อหานวัตกรรมในการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะเน้นการช่วยผู้สูบบุหรี่ในชนบทให้เลิกบุหรี่ เปลี่ยนจากการทำงานเชิงรับที่เจ้าหน้าที่ให้บริการอยู่ในสถานพยาบาลเป็นการทำงานเชิงรุก คือออกไปค้นหาผู้สูบและทำการช่วยเลิกบุหรี่ในพื้นที่ เพราะเห็นว่าผู้สูบบุหรี่ไม่ใช่ผู้ป่วย เขาจะไม่มาหาหมอ ดังนั้น เราต้องเข้าไปหาเขา ให้เขาเห็นปัญหาของการสูบบุหรี่และกระตุ้นให้เขาเลิก หัวใจของโครงการนี้ คือช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกได้ ซึ่งได้นำร่องมาแล้วในหลายพื้นที่ และในปี ๒๕๕๗ ได้ขยายโครงการมายังจังหวัดนครราชสีมา โดยมีจุดจัดการอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสีคิ้ว โครงการนี้ถือเป็นบทบาทหนึ่งของนักวิชาการติดดินที่ต้องการชูประเด็น “คำตอบอยู่ที่ชุมชน” นั่นคือให้ชุมชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

นายสุริยา ค้าสบาย สาธารณสุขอำเภอสีคิ้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนปลอดบุหรี่จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงผลสำเร็จของโครงการนี้ว่า การทำงานเชิงรุกสามารถชักชวนผู้สูบบุหรี่เข้าร่วมโครงการได้ ๑๙,๓๖๖ คน จากประชากรในพื้นที่ดำเนินโครงการ ๒๒๕,๕๙๒ คน แบ่งเป็น เยาวชนนักสูบหน้าใหม่ ๔,๘๕๑ คน เป็นผู้ใหญ่ ๑๔,๕๑๕ คน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้เลิกสำเร็จ ๑,๙๓๙ คน ลดละบุหรี่ได้ ๖,๐๕๔ คน นอกจากนี้ยังพัฒนาศักยภาพบุคลากรเป็นแกนนำในชุมชนเพื่อรณรงค์เลิกบุหรี่ได้ถึง ๕,๐๕๒ คน การติดป้ายสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ๑,๔๔๒ แห่ง และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้ว ๑,๘๐๐ แห่ง

ขณะที่ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า ผลสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ และการสนับสนุนวิชาการจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล แต่โครงการได้ใช้ความรู้เรื่องมาตรการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิผล รวมถึงแนวทางชุมชนเป็นฐาน จึงสามารถดึงชุมชนเข้ามาทำงานกระทั่งเห็นผลสำเร็จ

นางณิชาณี พันธุ์งาม หัวหน้ากลุ่มงานสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสนับสนุนว่า โครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐานนี้เป็นโครงการที่สร้างคุณูปการให้แก่งานสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างมาก เป็นที่น่ายินดีที่ สสส.ให้โอกาสเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเห็นศักยภาพของชุมชน สนับสนุนให้เกิดงานเชิงรุกที่ให้ประสบการณ์และส่งผลลัพธ์ที่มีค่ายิ่งกับประชาชน การช่วยให้ประชาชนเลิกบุหรี่ได้มากเกือบ ๒,๐๐๐ คน รวมถึงการช่วยเด็กและเยาวชนให้เลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ถือเป็นงานที่ท้าทายและได้ให้บทเรียนการทำงานซึ่งจะเป็นแนวทางการทำงานควบคุมปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน หัวใจ ฯลฯ ล้วนมีบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต้นเหตุทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ภายใต้ “โคราชโมเดล ปลอดบุหรี่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” ดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสูง อำเภอครบุรีอำเภอจักราช อำเภอสีคิ้ว และอำเภอเสิงสาง ซึ่งมีโครงการที่เขียนแผนงานส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจำนวน ๔๕ โครงการ มีโครงการที่ผ่านการพิจารณา จำนวน ๔๓ โครงการ กระจายในพื้นที่อำเภอโนนสูง ๑๑ โครงการ, อำเภอสีคิ้ว ๑๐ โครงการ, อำเภอครบุรี ๙ โครงการ, อำเภอจักราช ๘ โครงการ และอำเภอเสิงสาง ๕ โครงการ ใช้งบประมาณทั้งหมดตลอดโครงการประมาณ ๗.๙ ล้านบาท เป็นงบประมาณจากโครงการประมาณ ๖.๙ ล้านบาท ค่าบริหารจัดการประมาณ ๑ ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗ – พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ประชากรที่สำรวจจำนวน ๒๒๕,๕๙๒ คน เป็นผู้สูบบุหรี่จำนวน ๓๕,๓๐๘ คน

จากนั้นนายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับโครงการที่ได้รับรางวัล แบ่งเป็น ๔ ประเภท ดังนี้ ๑. โครงการดีเด่น ที่มีจำนวนผู้เลิกบุหรี่ได้มากที่สุด คือ โครงการ “ชุมชนคลองไผ่ร่วมใจต้านภัยบุหรี่” ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๕๐๐ คน สามารถเลิกบุหรี่ได้ จำนวน ๘๓ คน ๒. นวัตกรรมดีเด่น (โครงการที่มีนวัตกรรมช่วยเลิกได้มากที่สุด) คือ “นวัตกรรมคู่หูคู่สุข” เครือข่ายชาวตำบลหนองพลวงร่วมใจ สร้างเสริมสุขภาพเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ปี ๒๕๕๗ โรงพยาบาลสุขภาพตำบลบ้านบุ ต.หนองพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา ๓. โครงการต้นแบบ คือ โครงการตำบลดอนชมพูไร้ควันบุหรี่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โรงพยาบาลสุขภาพตำบลดอนชุมพู ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา และ๔. บุคคลต้นแบบ ลด ละ เลิก บุหรี่ อำเภอละ ๒ คน จำนวน ๑๐ คน

นายสมเด็จ ยุดกระโทก อายุ ๔๗ ปี หนึ่งในบุคคลคนต้นแบบ ลด ละ เลิก บุหรี่ อำเภอครบุรี ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว กล่าวว่า “ตนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี และตั้งใจเลิกเพราะว่าลูกนำสติกเกอร์ที่  โรงพยาบาลแจกไปติดตามบ้าน ตนเห็นแล้วก็นึกขึ้นได้เพราะลูกก็โตแล้ว อีกอย่างภรรยาก็พูดเชิงจะอนุญาตเพราะพ่อสูบได้ลูกก็สูบได้ ตนจึงตัดสินใจเลิกเพราะกลัวลูกจะสูบตาม ขณะนี้ก็เลิกสูบบุหรี่มาได้ ๓ เดือนแล้ว ซึ่งทางโรงพยาบาลก็แจกดอกหญ้าขาวชงมาให้กิน เพื่อให้ลดอาการอยากบุหรี่ลงได้”

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๗ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘


706 1347