23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

November 18,2015

จับมือพัฒนาอ้อย-น้ำตาล มุ่งผู้ส่งออกอันดับ ๑ ของโลก ตอกย้ำอีสานแหล่งผลิตใหญ่

สอน. จับมือ มข. เดินหน้า ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อแข่งขันในระดับสากล และก้าวสู่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตอกย้ำศักยภาพภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตอ้อยใหญ่ที่สุดของไทย เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตยั่งยืน

ตามที่เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเจตจำนงร่วมกันที่จะขยายขอบข่ายความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ณ ห้องสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีสักขีพยานร่วมลงนาม ได้แก่ ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี รองศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และนายสมพล โนดไธสง อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น

สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในการขยายขอบข่ายความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในระบบ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะจัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน  และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ในการพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้การดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวบรรลุตามเป้าประสงค์ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในภาพรวมของประเทศให้ดีขึ้นต่อไป

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากบราซิล โดยสามารถส่งออกน้ำตาลได้ปีละกว่า ๗ ล้านตัน สร้างรายได้จากเงินตราต่างประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท และเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย อีกทั้งผลผลิตจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ยังเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและขนมหวาน เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ และอื่นๆ รวมถึงสามารถผลิตเอทานอล พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนอีกด้วย เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบ รวมทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมต่อไป

“สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างรวดเร็ว จากการส่งเสริมและสนับสนุนของภาครัฐ ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชทดแทนที่ใช้น้ำน้อยอย่างอ้อยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่จำนวน ๑๙ โรงงาน และยื่นขอตั้ง ขยายโรงงานเพื่อรองรับประมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปีการผลิต ๒๕๕๗/๕๘ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ ๔.๕๖ ล้านไร่ คิดเป็น ๔๓ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และสามารถผลิตอ้อยเข้าหีบได้ถึง ๔๗.๖ ล้านตัน คิดเป็น ๔๔ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตอ้อยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เนื่องจากสมาคมชาวไร่อ้อย เกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล มีความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน ดังนั้น การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอ้อยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และปริมาณการส่งออกโดยรวมของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้บริโภค พร้อมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การสร้างมูลค่า และสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการชี้นำ เตือนภัย ในการบริหารจัดการให้แก่อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าว

 

รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีกล่าวถึงการร่วมมือดังกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ใจกลางแหล่งผลิตอ้อยและโรงงานน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงให้สำคัญในการสนับสนุนการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศ โดยการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต การสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์ การสร้างงานวิจัยที่มีคุณค่าสามารถพัฒนาระบบการผลิตอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีผลผลิตและประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๗ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘


703 1342