29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 18,2015

‘ศรีตรัง’ยึดอีก ๔ จังหวัดอีสาน ร่วมหุ้นออสเตรเลีย-สิงคโปร์ ตั้งรง.ผลิตยาง ๒,๔๗๗ ล้าน

บีโอไอสรุปผลส่งเสริมการลงทุนในภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด อนุมัติ ๑๐ โครงการกว่า ๓,๓๙๐ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑,๒๒๐ คน ในขณะที่ “บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี” ร่วมหุ้นกับออสเตรเลียและสิงคโปร์ ลงทุนตั้งโรงงานผลิตยางแท่ง/ยางผสมเพิ่มอีกใน ๔ จังหวัด มูลค่ารวม ๒,๔๗๗ ล้านบาท หวังครองผู้นำกิจการยางพารา


เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายวีรพงษ์ ศิริวัน ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอ นครราชสีมา) เปิดเผยภาวะการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ทั้ง ๒๐ จังหวัด ซึ่งมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๑๐ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๓,๓๙๐ ล้านบาท การจ้างงาน ๑,๒๒๐ คน เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนโครงการ รวมทั้งมูลค่าเงินลงทุนและการจ้างงานลดลง โดยทั้ง ๑๐ โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในเดือนนี้แยกเป็นหุ้นไทย ๔ โครงการ การร่วมหุ้นของคนไทยและต่างชาติ (ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ และจีน) อีก ๖ โครงการ

สำหรับการกระจายขนาดการลงทุน โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ถึง ๕ โครงการ คือ กิจการผลิตยางแท่ง และหรือยางผสม สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมมี ๕ โครงการเช่นกัน ได้แก่ กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด กิจการผลิตข้าวสารคัดคุณภาพ กิจการผลิตแป้งดัดแปลงโครงสร้าง เช่น กลูโคสไซรัปและมอลโตเดกซ์ตริน เป็นต้น กิจการผลิตไบโอก๊าซ และกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอ นครราชสีมา) ได้แก่ ๑. กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด (Biomass Pellet) ในนามบริษัท เอสอาร์ที เพาเวอร์ เพลเลท จำกัด เงินลงทุน ๑๔๘ ล้านบาท หุ้นไทย-เกาหลีใต้ ที่ตั้งจังหวัดอุบลราชธานี ๒. กิจการผลิตข้าวสารคัดคุณภาพ (Rice Grading) ในนามบริษัท โรงสีข้าวยิ่งไพบูลย์ (๒๐๐๗) จำกัด เงินลงทุน ๑๑๙ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งจังหวัดอุบลราชธานี ๓. กิจการผลิตแป้งดัดแปลงโครงสร้าง เช่น กลูโคสไซรัปและมอลโตเดกซ์ตริน เป็นต้น (Modified Starch) ในนาม บริษัท เอี่ยมธงชัยอุตสาหกรรม จำกัด เงินลงทุน ๒๐๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา ๔. กิจการผลิตยางแท่ง และหรือยางผสม (Blocked Rubber/Commpounded Rubber) ในนาม บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน ๖๑๖ ล้านบาท หุ้นไทย-ออสเตรเลีย-สิงคโปร์ ที่ตั้งจังหวัดชัยภูมิ

ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๓ (บีโอไอ ขอนแก่น) ได้แก่ ๑. กิจการผลิตไบโอก๊าซ (Bio Gas) ในนาม บริษัท มุกดาหารไบโอแก๊ส จำกัด เงินลงทุน ๔๔ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งจังหวัดมุกดาหาร ๒. กิจการผลิตยางแท่ง และหรือยางผสม (Blocked Rubber/Commpounded Rubber) ในนาม บริษัท เกษตรทิพย์ รับเบอร์ จำกัด เงินลงทุน ๓๔๐ ล้านบาท หุ้นไทย-จีน ที่ตั้งจังหวัดเลย ๓. กิจการผลิตยางแท่ง และหรือยางผสม (Blocked Rubber/Commpounded Rubber) ในนาม บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) เงินลงทุน ๖๑๖ ล้านบาท หุ้นไทย-ออสเตรเลีย-สิงคโปร์ ที่ตั้งจังหวัดนครพนม ๔. กิจการผลิตยางแท่ง และหรือยางผสม (Blocked Rubber/Commpounded Rubber) ในนาม บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน ๖๑๖ ล้านบาท หุ้นไทย-ออสเตรเลีย-สิงคโปร์ ที่ตั้งจังหวัดสกลนคร ๕. กิจการผลิตยางแท่ง และหรือยางผสม (Blocked Rubber/Commpounded Rubber) ในนาม บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) เงินลงทุน ๖๒๙ ล้านบาท หุ้นไทย-ออสเตรเลีย-สิงคโปร์ ที่ตั้งจังหวัดเลย และ ๖. กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Electricity Power from Bio Gas) ในนาม บริษัท เอส ดี ไบโอ ซัพพลาย จำกัด เงินลงทุน ๖๒ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์

นอกจากนี้ นายวีรพงษ์ ศิริวัน ผู้อำนวยการบีโอไอ นครราชสีมา ยังเชิญชวนนักลงทุนและผู้สนใจว่า เนื่องจากศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ กำหนดจัดอบรมสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่รับผิดชอบ ๘ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ๑. เรื่อง “การเปิดดำเนินการสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมทราบระเบียบและวิธีปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการเปิดดำเนินการที่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ของสำนักงานและให้การปฏิบัติงานของศูนย์ฯ เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๑๕๐ คน ในวันพุธที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ ห้องอรพิม โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา และ ๒. เรื่อง “การบัญชีและภาษีอากรสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบ   หลักภาษีเงินได้นิติบุคคล หลักภาษีอากรเกี่ยวกับกฎหมายสรรพากรสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงเข้าใจถึงหลักเกณฑ์การคำนวณผลประกอบการที่จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลการเข้าใจการวางระบบบัญชี จำนวน ๑๕๐ คน ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ ห้องอรพิม โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา โดยผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ โทรศัพท์ ๐๔๔-๓๘๔๒๐๐ หรือ e-mail : Korat@boi.go.th

  

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท ศรีตรังแอโกร อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มต้นธุรกิจบริษัทเมื่อปี ๒๕๓๐ มาถึงปัจจุบัน โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ ๑๐ ของความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลก และมีผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมทุกประเภท ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น ด้วยกำลังการผลิตประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี จากโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศ ผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุด สองอันดับแรกของโลก ได้แก่ ประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย รวมกว่า ๒๗ โรง นอกเหนือจากธุรกิจผลิตภัณฑ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างรายได้หลักให้กับศรีตรังอย่างมั่นคงมาโดยตลอดแล้ว ศรีตรังยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติในธุรกิจผลิตสินค้าสำเร็จรูป โดยมีโรงงานผลิตถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่ติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของโลก และมีโรงงานผลิตท่อไฮดรอลิกแรงดันสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำสถานะผู้นำตลาดยางพาราโลกที่ครบวงจรอย่างแท้จริง ศรีตรังได้ขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนในสวนยางพาราขนาดใหญ่ในประเทศไทยอีกด้วย

โดยคณะกรรมการของบริษัทฯ ประกอบ ด้วย ๑. นายไวยวุฒิ สินเจริญกุล  ๒. นายไชยยศ สินเจริญกุล ๓. นายกิติชัย สินเจริญกุล ๔. นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ๕. นายลี พอล สุเมธ ๖. นายภัทราวุธ พาณิชย์กุล ๗. นายเฉลิมภพ แก่นจัน ๘. นายประกอบ วิศิษฐ์กิจการ ๙. นายเกรียง ยรรยงดิลก ๑๐. นายสมัชชา โพธิ์ถาวร ๑๑. นายเนียว อา แชบ และ ๑๒. นายหลี่ ซื่อเฉียง

ในปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวน ๒๖ โรงงาน ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช, ตรัง (๔ โรง), ปัตตานี, สุราษฎร์ธานี (๒ โรง), ชุมพร (๒ โรง), สงขลา (๖ โรง), พิษณุโลก, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, มุกดาหาร, อุดรธานี, อุบลราชธานี (๒ โรง), ศรีสะเกฺษ และอินโดนีเซีย (๒ โรง) ส่วนกิจการสวนยางพาราครอบคลุม ๑๗ จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร สระแก้ว แพร่ พะเยา สกลนคร สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา บึงกาฬ และชุมพร ในขณะที่พื้นที่สำหรับการทำสวนยางพารารวมกว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่ ใน ๑๙ จังหวัดของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้โครงการปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนจะขยายธุรกิจสวนยางพาราโดยการซื้อที่ดินที่เหมาะสมในประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมอีกด้วย

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๗ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘


708 1366