29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 23,2015

เป้า ๒๐๐ เชือกนำช้างคืนถิ่น เชื่อแก้ปัญหาเร่ร่อนได้

ชาวช้างให้ความสนใจร่วมนำช้างคืนถิ่นของโครงการคชอาณาจักรต่อเนื่อง อีก ๒๒ เชือกครบ ๒๐๐ ตามเป้าหมาย ชาวช้างมั่นใจช่วยสร้างชีวิตและความเป็นอยู่ของคนและช้างดีขึ้น

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ โครงการคชอาณาจักร บ้านภูดิน ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ชาวช้างในพื้นที่และใกล้เคียง ต่างให้ความสนใจพากันเดินทางมายื่นหลักฐาน เพื่อแจ้งความจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่นของโครงการคชอาณาจักร องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีนายวันชัย สวาสุ ผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ได้อำนวยความสะดวกและรับลงทะเบียน พร้อมตรวจสอบหลักฐาน

ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์ ได้มีนโยบายในการเข้ามาแก้ไขปัญหาการนำช้างออกไปเร่ร่อนหากินตามที่ต่างๆ และเกิดปัญหาตามมามากมาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และช้างได้รับอันตรายจากการนำช้างไปเร่ร่อนหากินในเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้น องค์การสวนสัตว์จึงได้จัดตั้งโครงการคชอาณาจักรขึ้นมาที่ตำบลกระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดของประเทศไทย โดยหวังที่จะแก้ไขปัญหาการนำช้างออกไปเร่ร่อน ซึ่งรัฐบาลได้ให้เงินสนับสนุนเป็นเงินเดือนให้กับควาญช้างจำนวน ๑๐,๘๐๐ บาทต่อเดือน/เชือก พร้อมทั้งมีการจัดหาอาหารให้ช้าง และดูแลช้างให้มีความปลอดภัย สำหรับในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ องค์การสวนสัตว์ได้รับสมัครช้างเข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่นได้จำนวน ๑๗๐ เชือก และในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ จะเปิดรับสมัครควาญช้าง และช้างเข้าร่วมโครงการให้ได้ ๒๐๐ เชือก ซึ่งใช้งบประมาณในการดูแลช้างถึง ๒๕ ล้านบาทในเวลาหนึ่งปี โดยเปิดรับสมัครมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้บรรดาควาญช้างที่นำช้างไปรับจ้างในสถานที่ท่องเที่ยว หรือนำช้างออกไปเร่ร่อนตามต่างจังหวัดได้นำช้างคืนถิ่น และถึงขณะนี้มีเจ้าของช้างที่สนใจเข้าร่วมโครงการเข้ามายื่นหลักฐานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีมียอดเพิ่มเป็น ๑๗๘ เชือกแล้ว เหลือเพียง ๒๒ เชือก ก็จะครบตามเป้าหมายที่กำหนดในปีนี้คือ ๒๐๐ เชือก โดยชาวช้างมั่นใจว่าโครงการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนได้ถูกทางและสร้างชีวิตทั้งคนและช้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

นายวันชัย สวาสุ ผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการแจ้งและประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครชาวช้างเข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่น ในปี ๒๕๕๘ มีชาวช้างที่ยังคงอยู่ร่วมโครงการจำนวน ๑๕๙ เชือก และปี ๒๕๕๙ มีสมัครเข้ามาอีก ๑๙ เชือก ถึงขณะนี้มียอดผู้เข้าร่วมโครงการ ๑๗๘ เชือก คงเหลือเพียง ๒๒ เชือกเท่านั้น ที่จะครบตามเป้าที่กำหนดไว้ ๒๐๐ เชือก ซึ่งก็เหลืออีกประมาณ ๑๐ กว่าวัน ก็จะสิ้นสุดการรับสมัคร ดังนั้นก็ขอเชิญชาวช้างได้เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากสมัครที่โครงการคชอาณาจักรแล้ว ในช่วงนี้ก็ตรงกับงานช้างประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้เปิดจุดรับสมัครภายในงานช้างด้วย โดยเปิดให้ชาวช้างที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ และหากมีชาวช้างให้ความสนใจเข้ามาสมัครเกินจำนวนที่เรากำหนดคือ ๒๐๐ เชือก ทางโครงการคชอาณาจักร ก็จะรับไว้พิจารณา และจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดเสนอไปยังองค์การสวนสัตว์ เพื่อหางบมาสนับสนุนต่อไป การดำเนินโครงการนำช้างคืนถิ่น ในภาพรวมถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนได้ถูกจุด ที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

ทางด้านชาวช้างที่เข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่น ต่างเห็นด้วยและพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องจากทำให้ชาวช้างไม่ต้องนำช้างออกไปเร่ร่อนอีก ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนรายได้ต่อเดือนๆ ละ ๑๐,๘๐๐ บาท ก็พออยู่ได้ หากใช้จ่ายอย่างประหยัด อยู่แบบชีวิตที่พอเพียง ประกอบกับสามารถนำช้างไปรับงานเช่นงานในจังหวัด งานชุมชน ก็พอมีรายได้เพิ่มเติม นับว่าเป็นโครงการที่ดีมาก

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๘ วันเสาร์ที่ ๒๑ -  วันพุธที่ ๒๕  เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘


695 1346