29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

February 13,2016

เปิดเออีซีส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ชายแดนไทย-เขมรเงินสะพัด เชื่อมั่นคสช.แก้ปัญหาถูกจุด


นายเกรียงศักดิ์ ปาลีคุปต์ (ซ้าย) •|• นายสุพจน์ ภัทรไพศาลสิน (ขวา)


          ผู้นำองค์กรธุรกิจสุรินทร์เผยหลังเปิด AEC เศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชาเงินสะพัด ยืนยันพล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. แก้ปัญหาถูกจุด พร้อมหนุนรัฐบาลผลักดันให้อำเภอกาบเชิงเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์กลางตลาดแรงงานครบวงจร เชื่อผู้ประกอบการแห่ลงทุนเพียบ

          หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asean Economic Community) ประมาณ ๑ เดือน ส่งผลดีต่อพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์ ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากส่วนแบ่งของตลาดสินค้าส่งออกของไทย อาทิ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ สถานพยาบาลของรัฐและเอกชน และห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ ทั้งทำให้ประชาชนในจ.สุรินทร์มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศกัมพูชา เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มมากขึ้นหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน

          นายเกรียงศักดิ์ ปาลีคุปต์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ๑ เดือนหลังเปิด AEC สภาพเศรษฐกิจก็เริ่มมีเงินหมุนเวียนดีขึ้น ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางต่างได้รับผลประโยชน์ ได้กำไรจากการซื้อขาย อีกทั้งประชาชนในประเทศกัมพูชาได้เข้ามาจับจ่ายใช้สอย อาทิ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้า ยานยนต์ ซึ่งถือว่าได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มนี้มาก ทำให้จังหวัดสุรินทร์ได้รับอานิสงส์จากประเทศกัมพูชา เช่น การเข้ามารักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ด้านการท่องเที่ยว การค้าปลีก และค้าส่งของกลุ่มห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี แม็คโคร และโรบินสัน ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนมีอนาคตที่ดี คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนที่ดีขึ้น และเกิดการแก้ปัญหาแรงงานที่กำลังขาดแคลนบางกลุ่ม

          “นับว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นที่ยอมรับของประชาชน จากผลงานการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นที่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาจำหน่ายลอตเตอรี่ การแก้ปัญหาเกษตรกร เป็นต้น สำหรับไฮไลท์ของรัฐบาลและคสช. คือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะโครงการตำบลละ ๕ ล้านบาท ถือว่าเป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างถูกต้อง หลังมีการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินตามโครงการดังกล่าว เม็ดเงินภายใต้ระเบียบมีการเบิกจ่ายภายในเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ เงินจะสะพัดทั้งประเทศ ยิงถูกเป้า ถือว่าแก้ปัญหาถูกจุด ตนจึงอยากขอบคุณผ่านสื่อมวลชนไปถึง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล คสช. ที่ทำให้ภาคอีสานหรือจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ได้รับประโยชน์ และอานิสงส์ตรงนี้อย่างมาก”

          นายเกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบ้านจัดสรร เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๘ ถือว่าช่วงนี้ยังทรงตัว เพราะในปี ๒๕๕๗ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ต่อเนื่องมาถึงปี ๒๕๕๘ รัฐบาลยังกำหนดนโยบายไม่แน่ชัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยภาพรวมของประเทศนั้นส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในปี ๒๕๕๙ ซึ่งในไตรมาสแรกนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะทรงตัว แต่จะมีโอกาสโตกว่าปี ๒๕๕๘ แน่นอน เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาถูกจุดในหลายโครงการ ทำให้นักลงทุนมีความกล้าที่จะลงทุนมากพอสมควร

          นายสุพจน์ ภัทรไพศาลสิน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ AEC ได้เปิดไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ผ่านมาได้ประมาณเดือนเศษ ปัญหาแรงงานกัมพูชาที่เคยเกิดขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะเวลา ๓ เดือน ตนเห็นว่ารัฐบาล คสช.มาถูกทาง และไม่เกิดปัญหากับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ก่อให้เกิดผลประโยชน์กับผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ตนอยากให้ผู้ประกอบการเรียนรู้กฎหมายแรงงาน จะได้รู้ว่ารัฐบาล คสช.อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้โดยที่ไม่ผิดเงื่อนไข และไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ทำให้ถูกต้อง ตนจึงขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้ประกอบการในจังหวัดข้างเคียง โดยใช้พื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์สร้างฐานการผลิต และเชื่อว่าจังหวัดสุรินทร์จะมีฐานการผลิตที่ใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ประชาชนในจังหวัดสุรินทร์และกัมพูชาสามารถสื่อสารกันได้ ทั้งความเชื่อ ประเพณี และรสนิยมก็ตรงกัน ตนจึงอยากให้พื้นที่ในอำเภอกาบเชิงเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และเชื่อว่าถ้ามีการปรับปรุงการบริหารจัดการที่ดี ผู้ประกอบการจะสามารถใช้พื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์เป็นฐานประกอบการเป็นอย่างดี

          “สำหรับธุรกิจโรงงานผลิตตุ๊กตาของเล่นจากไม้ยางพาราของตนเมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาเรื่องยางพาราขึ้นราคา อัตราการแลกเปลี่ยนจาก ๔๐ บาท ตกมาอยู่ที่ ๒๙-๓๐ บาท และปัญหาค่าแรงงานขั้นต่ำ ๓๐๐ บาท เจอปัญหาหลายเรื่องแต่ก็พยายามประคองธุรกิจให้อยู่ได้ สำหรับปีที่ผ่านมาอัตราการแลกเปลี่ยนดีขึ้น จาก ๓๒ บาท เป็น ๓๕-๓๖ บาท เชื่อว่าสิ้นปีนี้เงินบาทจะอยู่ที่ ๓๗-๓๘ บาท ในส่วนนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออก และแข่งขันกับประเทศข้างเคียงได้ โดยเฉพาะคู่แข่งที่ทำของเล่นประเภทเดียวกัน เช่น ประเทศจีน และเวียดนาม ถึงแม้จะเจอวิกฤติยางพารา น้ำมันลดราคา และเจอพิษเศรษฐกิจทางประเทศยุโรปบ้าง แต่ธุรกิจจากไม้ยางพาราก็ดำเนินไปได้เรื่อยๆ โดยการปรับตัว ปัจจุบันไม้ยางพารามีคนตัดเยอะ ราคาจึงไม่ค่อยลง แต่ทางประเทศจีนยังใช้ไม้ยางพาราจากประเทศไทยเยอะมาก ปัจจุบันปลูกยางพารา ๕๐๐-๖๐๐ ไร่ คิดว่าประมาณอีกปีสองปีคงได้ตัดมาใช้ และจะผลิตของเล่นจากไม้ยางพาราให้ครบวงจร เพราะชาวต่างชาติจะต้องเข้ามาตรวจสอบวัตถุดิบจากไม้ยางพาราว่านำมาจากเขตหวงห้ามและผิดกฎหมายหรือไม่” นายสุพจน์ กล่าวในที่สุด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๔๔ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙


686 1336