4thMay

4thMay

4thMay

 

February 24,2016

บอร์ด กฟภ.ไฟเขียวจัดระเบียบ สายไฟฟ้า ‘นครโคราช’ พัฒนาสู่เคเบิลใต้ดิน ๑,๙๒๗ ล.

          แผนพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่เทศบาลนครโคราช โดยจัดระเบียบเป็นระบบเคเบิลใต้ดิน ล่าสุดบอร์ด กฟภ.เห็นชอบเฟสแรกครอบคลุมเขตคูเมืองถึงลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และสถานีรถไฟนครราชสีมา พร้อมสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าเพิ่มอีก ๑ แห่ง คาดปลายปีนี้ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการ ๑,๙๒๗ ล้านบาท ด้าน ‘สุรวุฒิ’ นายกเทศมนตรี ระบุยังไม่รู้รายละเอียด ขอเวลาตรวจสอบข้อมูลก่อน

          ตามที่มีรายงานว่า เทศบาลนครนคร ราชสีมา ภายใต้การบริหารของนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน มีแผนดำเนินโครงการจัดระเบียบนำสายไฟฟ้าเหนือดินและสายเคเบิลลงสู่ใต้ดิน ในเส้นทางหลักเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อปรับภูมิทัศน์ของจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชให้สวยงาม จากปัจจุบันการขยายตัวของเมืองทำให้มีการติดตั้งสายไฟฟ้าและสายเคเบิลจำนวนมากนั้น โดยได้รับงบประมาณกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการนำสายไฟฟ้าและสายเคเบิลลงใต้ดิน ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ช่วงถนนชุมพล และถนนราชดำเนิน จากนั้นจะทยอยดำเนินการไปยังถนนสายหลัก รวมไปถึงย่านการค้าและพาณิชยกรรมด้วย หากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นอีกหนึ่งเมืองต้นแบบที่ไร้สายไฟฟ้าและสายเคเบิล ดังเช่นที่จังหวัดลพบุรี โดยเทศบาลเมืองลพบุรีได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น   

          ต่อเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ นายพงษ์ประเสริฐ อนุตรกุล รองผู้จัดการด้านเทคนิค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดนครราชสีมา ได้มอบหมายให้นายอำนวย ลักษณะ หัวหน้าแผนกปฏิบัติการและบำรุงรักษา เปิดเผยรายละเอียดกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีแผนการดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ โดยปรับปรุงระบบเคเบิลใต้ดินของเทศบาลนครนครราชสีมา ได้กำหนดพื้นที่ตามความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม ซึ่งประกอบด้วยมีความหนาแน่นของโหลดสูง โหลดอิ่มตัว ต้องการความมั่นคงด้านการจ่ายไฟสูง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ต้องการความปลอดภัยสูง โดยแบ่งออกเป็น ๓ พื้นที่ (Zones) ซึ่งในการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดิน ได้แก่ แบ่งการพัฒนาเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะที่ ๑, ๒ และ ๓ ตามลำดับความสำคัญ โดยการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดินระยะที่ ๑ ได้แก่ พื้นที่บริเวณถนนประจักษ์ ถนนมิตรภาพ ถนนบุรินทร์ ถนนสุรนารี ห้าแยกหัวรถไฟ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนราชดำเนิน ถนนราชนิกูล และแยกถนนไชยณรงค์ พบว่า บริเวณดังกล่าวซึ่งครอบคลุมเขตคูเมืองถึงลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และสถานีหัวรถไฟนครราชสีมา มีปริมาณโหลดหนาแน่นอยู่ระหว่าง 12.117-23.465 MW/km2 และมีอัตราการเติบโตของโหลดในแต่ละปีต่ำ จึงเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นระบบเคเบิลใต้ดิน โดยพิจารณาให้อยู่ในระยะที่ ๑

          “องค์ประกอบการดำเนินโครงการในระยะที่ ๑ คือ การตั้งสถานีจ่ายไฟฟ้าเพิ่มอีก ๑ สถานี ณ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าจากสาย ส่งไฟฟ้าเหนือดินเป็นสายส่งไฟฟ้าใต้ดินทั้งระบบ เป็นต้น โดยจะใช้งบประมาณรวมในการออกแบบก่อสร้างและพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา ระยะที่ ๑ แบ่งเป็น ๑. สถานีไฟฟ้า จำนวน ๓๖๓,๙๘๗,๗๒๓ บาท ๒. สายส่ง จำนวน ๑๗๔,๔๔๙,๐๕๐ บาท ๓. ระบบเคเบิลใต้ดิน โดยติดตั้งอุปกรณ์เคเบิลใต้ดิน 22 kv จำนวน ๒๗๙,๘๖๔,๙๓๙.๓๘ บาท, งานก่อสร้างแบบ Semi-Direct Buried ระบบแรงต่ำ จำนวน ๕๕๓,๐๖๕,๓๔๙.๒๙ บาท, งานก่อสร้าง Semi Direct Buried จำนวน ๒๘,๘๒๒,๒๑๖.๕๐ บาท, งานก่อสร้าง Duct Bank จำนวน ๒๙,๗๓๐,๘๙๗ บาท และงานก่อสร้างแบบ Horizontal Directional Drilling จำนวน ๒๖๕,๖๕๑,๗๘๕ บาท ๔. ระบบสายเหนือดิน จำนวน ๑๘๐,๖๔๙,๕๕๒.๑๓ บาท ๕. ระบบสื่อสารระบบเคเบิลใต้ดิน จำนวน ๒๗,๗๑๗,๒๙๗ บาท และ ๖. ค่าสำรวจและออกแบบระบบ จำนวน ๒๓,๒๓๒,๙๔๓ บาท รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น ๑,๙๒๗,๑๗๑,๗๕๒.๓๐ บาท” นายอำนวย กล่าว

          นายอำนวย เผยต่อไปว่า โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ในพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา ได้ปรับราคารวมทั้งสิ้น ๑,๙๒๗ ล้านบาท เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณดำเนินการในระยะที่ ๑ ขณะนี้ผ่านบอร์ด กฟภ.พิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาตามที่ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการฯ หากให้ความเห็นชอบก็จะนำเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาต่อไป เพื่อนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดสรรงบประมาณดำเนินการจัดระเบียบนำสายไฟฟ้าเหนือดินพัฒนาเป็นระบบใต้ดินต่อไป คาดว่าจะผ่านมติครม.อนุมัติจัดสรรงบประมาณดำเนินการโครงการฯ ในระยะที่ ๑ ราวปลายปี ๒๕๕๙ ซึ่งทางเทศบาลนครนครราชสีมาก็ต้องมีส่วนร่วมบูรณาการทำงานในการส่งมอบพื้นที่หรือเปิดหน้าถนนเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าดังกล่าว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่นได้รับทราบ ซึ่งต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย

          นายอำนวย กล่าวอีกว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือกฟภ. มีแผนที่จะดำเนินการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่อยู่แล้ว โดยเปลี่ยนจากระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือดินลงสู่ใต้ดิน ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดภูเก็ต ลพบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็เริ่มดำเนินโครงการลักษณะดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลพยากรณ์การเติบโตของโหลดในพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมาในระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๖๔ พบว่า ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมามีโหลดโดยรวมเพิ่มขึ้นทุกปี มีปริมาณโหลดหนาแน่นสูงสุดระหว่าง 23.465-45.889 MW/km2 โดยบริเวณที่มีความหนาแน่นโหลดสูงสุด ได้แก่ บริเวณโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงแรมดิไอยรา และโรงพยาบาล ป.แพทย์ ดังนั้น เพื่อรองรับการเติบโตของโหลดในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว บริเวณคูเมือง อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ไปถึงบริเวณห้าแยกหัวรถไฟ และบริเวณโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จึงควรมีสถานีไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาจำนวน ๒ สถานี โดยการพิจารณาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเพิ่มเติมในเขตเทศบาลนครนครราชสีมานั้น จำเป็นต้องออกแบบให้เป็นสถานีไฟฟ้าที่ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อย มีความมั่นคงในการจ่ายไฟสูง อีกทั้งยังสามารถรองรับต่อการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดินดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงกำหนดให้ก่อสร้างเป็นสถานีไฟฟ้าที่อยู่ภายในอาคารแบบ GIS จำนวน ๒ สถานี ดังนี้ สถานีไฟฟ้า ๑ พิกัดหม้อแปลงไฟฟ้า 2x50 MVA, 115/22 kv, 12 Feeder และสถานีไฟฟ้า ๒ พิกัดหม้อแปลงไฟฟ้า 1x50 MVA, 115/22 kv, 6 Feeder

          “นอกจากนี้ ภายหลังการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดินระยะที่ ๑ แล้วเสร็จ กฟภ. ยังมีแผนพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดินระยะที่ ๒ ซึ่งจะต่อเนื่องกับระยะที่ ๑ ได้แก่ พื้นที่บริเวณถนนมิตรภาพถึงแยกถนนมุขมนตรี จนถึงห้าแยกหัวรถไฟ ส่วนการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดินระยะที่ ๓ นั้น จะต่อเนื่องจากระยะที่ ๑ ได้แก่ พื้นที่บริเวณถนนมิตรภาพ ถนนราชสีมา-โชคชัย และถนนกำแหงสงคราม เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา” นายอำนวย กล่าวในท้ายสุด

          ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา วันเดียวกันนี้ (๑๙ ก.พ. ๕๙) ‘โคราชคนอีสาน’ ติดต่อขอสัมภาษณ์เพื่อให้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อโครงการดังกล่าว และการมีส่วนร่วมดำเนินการของเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินนั้น แต่นายสุรวุฒิ ตอบเพียงว่า “ยังไม่รู้รายละเอียด ผมขอทราบรายละเอียดก่อนว่าโครงการนี้เป็นอย่างไร ใช้ระยะเวลาดำเนินการนานเท่าไหร่ ขออนุญาตตรวจสอบข้อมูลและดูรายละเอียดโครงการก่อน”  

          หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนอต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๔๖ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙


683 1,342