4thMay

4thMay

4thMay

 

March 31,2016

ม้าเหล็กสนั่นอีสาน ‘กทม.-นม.’ ๑ ชม. นม.-อบ. ๓.๑๕ ชม.

          ‘ประยุทธ์’ ไม่ง้อจีน ลุยสร้างรถไฟความเร็วสูง นำร่องเส้นทางสายกรุงเทพฯ-โคราชเพียงชั่วโมง และรฟท.สรุปผลศึกษารถไฟทางคู่ ‘ชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ’ ระยะทาง ๓๐๗.๗ กม. ร่นเวลาเดินทาง ๓ ชั่วโมงเศษ เล็งเชื่อมเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว เลือก ‘สถานีแหนงแวง’ จ.ศรีสะเกษ ตั้งย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ในอีสานใต้ รองรับข้าวและสินค้าเกษตรที่สำคัญ รวมถึงกลุ่มซีเมนต์ ประเมินค่าก่อสร้าง ๔๘,๔๘๐.๙๓ ล้านบาท คาดแล้วเสร็จปี ๒๕๖๕

          เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังการพบหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า นอกเหนือจากเรื่องการประชุมกรอบความร่วมมือผู้นำแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ แล้ว ยังได้มีการพูดคุยในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตนได้ข้อยุติในหลักการแล้วว่า ประเทศไทยจะลงทุนดำเนินการเองทุกขั้นตอน แต่จะจ้างจีนให้มาสร้างรถไฟให้กับไทยแทน โดยไม่มีการให้สัมปทานหรือร่วมทุนใดกับประเทศจีน เนื่องจากไทยได้พิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถให้เอกสิทธิ์จีนได้ระหว่างสองข้างทางรถไฟที่ผ่าน เพราะเป็นการเสียบูรณภาพของประเทศ อีกทั้งเชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพที่สามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงในระยะทาง ๒๕๐ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาได้ ทั้งนี้ ไม่ต้องการนำเรื่องของความเร็วไปเปรียบเทียบกับประเทศใด หรือไม่ได้คิดว่าการสร้างรถไฟดังกล่าวจะต้องไปเชื่อมโยงกับประเทศใดบ้าง แต่ต้องการให้รถไฟความเร็วสูงบริการประชาชนให้สามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

          นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ความตั้งใจของตน ต้องการสร้างประวัติศาสตร์การกำเนิดของรถไฟความเร็วสูงให้แก่ประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากเส้นทางสายอีสาน ก่อนที่ในอนาคตจะขยายเส้นทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งวันนี้ถึงเวลาที่ไทยจะต้องริเริ่มสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว ไม่เช่นนั้นจะตามประเทศอื่นไม่ทัน และมั่นใจว่าหากตนไม่ดำเนินการในช่วงเวลานี้ รถไฟความเร็วสูงก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกนาน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าตนดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ และไม่ให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ รวมทั้งตนไม่ได้มีผลประโยชน์จากเรื่องนี้แต่อย่างใด

          และเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องซิตี้พาร์ค โรงแรมซิตี้พาร์ค  นครราชสีมา ว่าที่ ร.ต. นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๓ งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี” โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาในวงเงิน ๒๐๐ กว่าล้านบาท ประกอบด้วย บจก.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์, บจก.ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด และบจก.ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ ให้ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๘ – เมษายน ๒๕๕๙ รวมระยะเวลา ๑๒ เดือน ซึ่งการประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุมกว่า ๒๐๐ คน

รฟท.สรุปผลศึกษาเวทีใหญ่

          นายธงชัย อุ้ยเจริญ หัวหน้ากองจัดการที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และสำรวจออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี โดยขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมตั้งแต่ชุมทางถนนจิระถึงจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยขอบเขตของงานจะครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยขอบเขตงานหลักๆ ประกอบด้วยงาน ๓ ส่วน ได้แก่ งานส่วนที่ ๑ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน งานส่วนที่ ๒ การสำรวจออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม การจัดทำแบบรายละเอียด ประมาณราคาค่าก่อสร้าง และเอกสารประกวดราคา และงานส่วนที่ ๓ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

          “ทั้งนี้ รฟท. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษาถึงปัจจุบัน และในวันนี้ได้ดำเนินการจัดเวทีการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๓ โดยเชิญตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรอิสระ ผู้มีส่วนได้เสียในโครงการฯ ตลอดทั้งสื่อมวลชน เพื่อรับทราบผลสรุปการศึกษาโครงการในด้านต่างๆ เช่น แนวเส้นทาง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน รฟท. จึงนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาพิจารณาการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น” นายธงชัย กล่าว
สอดรับยุทธศาสตร์‘ประตูสู่อีสาน’

          ว่าที่ ร.ต.นิรันดร์  ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการประชุมว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งระบบราง โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เป็นการเพิ่มโอกาสของจังหวัดนครราชสีมาให้สามารถพัฒนาได้ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่กำหนดไว้คือ “ประตูสู่อีสาน ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไหม และการท่องเที่ยว” สอดคล้องกับเป้าหมายรวมของจังหวัด เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของการพัฒนาจังหวัดสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการของภูมิภาคต่อไป

รถไฟทางคู่ผ่าน ๕ จว.

          ต่อมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยนายสาธิต มาลัยธรรม วิศวกรโครงการ, นางสาวจิตรลดา ดำรงสุกิจ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และดร.เสถียร รุจิรวนิช ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ ร่วมกันนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี” โดยสรุปว่า แนวเส้นทางโครงการฯ เริ่มต้นจากสถานีชุมทางถนนจิระ บริเวณ กม. ๒๗๐+๐๐๐ (เมื่อพ้นจากสถานีชุมทางถนนจิระ อ.เมืองนครราชสีมา) และไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟอุบลราชธานี บริเวณ กม. ๕๗๗+๗๐๐ ระยะทางรวมประมาณ ๓๐๗.๗ กิโลเมตร ตลอดแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ ๑๖ อำเภอ ใน ๕ จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา, เฉลิมพระเกียรติ, จักราช และห้วยแถลง, จ.บุรีรัมย์ อ.ลำปลายมาศ, เมืองบุรีรัมย์, ห้วยราช และกระสัง, จ.สุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์ ศีขรภูมิ และสำโรงทาบ, จ.ศรีสะเกษ อ.ห้วยทับทัน, อุทุมพรพิสัย, เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์, จ.อุบลราชธานี อ.วารินชำราบ โดยแนวเส้นทางรถไฟจะก่อสร้างขนานกับทางรถไฟเดิมปัจจุบัน โดยจะอยู่ทางทิศใต้ของทางรถไฟเดิม ซึ่งจะมีการปรับรัศมีโค้งบางช่วง เพื่อให้สามารถรองรับความเร็วสูงสุดที่ ๑๖๐ กม./ชม. (ระบบรถไฟด่วน โดยใช้ราง Meter Gauge ขนาด ๑ เมตร) ประกอบด้วย ๓๔ สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) ๔ แห่ง ได้แก่ ป้ายหยุดรถบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์, สถานีบุฤาษี จ.สุรินทร์, สถานีหนองแวง จ.ศรีสะเกษ และสถานีบุ่งหวาย จ.อุบลราชธานี โดย CY ทั้ง ๔ แห่งจะก่อสร้างในพื้นที่ของ รฟท.ทั้งหมด แต่จะมีการเวนคืนพื้นที่บริเวณสถานีหนองแวง จากถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (สายหัวทะเล-วารินชำราบ) เข้าสู่สถานี เพื่อสร้างถนนกว้าง ๑๒ เมตร ระยะทางประมาณ ๖๕๐ เมตร ส่วนปัญหาจุดตัดทางรถไฟ จำนวน ๑๓๑ จุด มีแนวทางแก้ ๔ รูปแบบ ได้แก่ ๑. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง ๒. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในรูปตัวยู ๓. ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ และ ๔. ยกระดับทางรถไฟ และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของคนหรือสัตว์ในการข้ามทางรถไฟและความปลอดภัยของการเดินรถไฟ

มูลค่าลงทุน ๔๘,๔๘๐.๙๓ ล.

          สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ พบว่า มีความเหมาะสมในการลงทุนอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) ร้อยละ ๑๔.๒๕ มูลค่าลงทุนโครงการ ๔๘,๔๘๐.๙๓ ล้านบาท โดยในปี ๒๕๖๕ มูลค่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ๖,๑๒๒.๘ ล้านบาท/ปี สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ยานพาหนะ ๓,๔๙๐.๔ ล้านบาท/ปี ประหยัดเวลาเดินทาง ๑,๒๒๔.๗ ล้านบาท/ปี และลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม ๑,๔๐๗.๗ ล้านบาท/ปี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ได้ในปี ๒๕๖๑ แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๕ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ ๗.๒๒ ล้านคน-เที่ยว /ปี มีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ ๘๖๐,๒๐๐ ตัน/ปี อีกทั้งลดระยะเวลาเดินทางจาก จ.นครราชสีมา-จ.อุบลราชธานี จากเดิม ๕ ชั่วโมง ๓๐ นาที เป็น ๓ ชั่วโมง ๑๕ นาที นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษายังได้นำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน อาทิ การสร้างแนวคันป้องกันดิน เพื่อป้องกันการชะล้างดินจากการเปิดหน้าดินในการก่อสร้างลงสู่แหล่งน้ำ การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวและทำการขุด เจาะ ในช่วงเวลากลางวัน เพื่อลดผลกระทบด้านการสั่นสะเทือน เป็นต้น ซึ่งตรงตามมาตรการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนดไว้

‘ศรีสะเกษ’จุดรวมสินค้าเกษตร

          ด้านนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกร ๘ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๓ ซึ่งนับเป็นครั้งสุดท้าย จากการจัดประชุมทั้งหมด ๕ ครั้ง แบ่งเป็น การประชุมใหญ่ ๓ ครั้ง และการประชุมกลุ่มย่อย ๒ ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี โดยเฉพาะย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) สถานีหนองแวง จ.ศรีสะเกษ จะมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับ ๓ ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้าในเส้นทางนี้ โดยเตรียมจะเวนคืนประมาณ ๕.๗ ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร เหตุผลที่เลือกสถานีหนองแวง เนื่องจากเป็นจุดรวบรวมสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าว ซึ่งที่ผ่านมามีการขนส่งทางถนน ทำให้สินค้าที่ไปสู่ปลายทางแล้วมีต้นทุนการขนส่งที่สูงมากขึ้น แต่ถ้าขนส่งด้วยระบบรางจะมีต้นทุนในการขนส่งที่ถูกลง

          “หลังจากนี้ต้องสรุปและรวบรวมข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ทั้ง ๕ จังหวัด  เพื่อประกอบเป็นรายงานส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจพิจารณา แล้วนำเสนอเข้าสู่บอร์ด รฟท. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการฯ แล้วส่งให้ ครม. อนุมัติเดินหน้าก่อสร้าง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นขั้นตอนเข้าสู่ EIA แต่ขณะนี้ไปสู่การคัดเลือกหาผู้รับจ้าง นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ไปต้องทำคู่ขนานกันไป ในการหาผู้รับจ้างคาดจะใช้เวลาประมาณ ๔-๖ เดือน และทาง รฟท. ต้องส่งรายงานการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าวทั้งหมดไปสู่การประเมิน EIA ถ้าผ่านถึงจะลงนามก่อสร้างได้ ซึ่งคาดว่าราวปลายเดือนตุลาคมปีนี้ ส่วนการก่อสร้างรางรถไฟทางคู่สายนี้จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๔ ปี” นายปัฐตพงษ์ กล่าว

ส่งเสริมการค้า/ลงทุนขยายตัว

          ทั้งนี้ การพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ จ.นครราชสีมา ให้เป็นศูนย์กลางด้านขนส่งโลจิสติกส์ ที่ช่วยขนส่งถ่ายเทสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล รวมถึงสินค้าในกลุ่มซีเมนต์ อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ส่งเสริมการค้าและการลงทุนของจังหวัดให้มีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่ต้องการให้จังหวัดเป็นประตูเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และกระจายสินค้าสำคัญในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งในอนาคตจะเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน สปป.ลาว บริเวณช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

          นอกจากนี้ รฟท. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษายังได้จัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ ๓ อีก ๔ จังหวัด โดยกลุ่มที่ ๒ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องโนนสุวรรณ โรงแรมเทพนคร จังหวัดบุรีรัมย์ โดยจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ และกลุ่มที่ ๓ วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องสุขวิชรังสิตพล มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งภายหลังการจัดประชุมใหญ่ดังกล่าวเสร็จสิ้น รฟท. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมประชุมไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี และเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๕๓ วันเสาร์ที่ ๒๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


726 1,346