29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 21,2016

งุนงงเสาไฟฟ้าล้ม ผอ.เขต ๓ ยันมาตรฐาน แต่มิอาจต้านแรงพายุ

          งงนักหนาเสาไฟฟ้าล้มแทบทุกวัน เมื่อมีพายุฝนต้องโครมคราม ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนหนาต้านแรงลม ล้มครืนไม่ว่าแถมหักกลาง ‘ผอ.กฟภ.เขต ๓’ ยืนยันสร้างและใช้วัสดุมีมาตรฐานผ่านการตรวจสอบ อ้างพายุปีนี้รุนแรง แต่พร้อมแก้ไขไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

          ตามที่เกิดพายุฤดูร้อนขึ้นในประเทศไทยในช่วงปลายเดือนเมษายนมาถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ทำให้หลายภูมิภาคได้รับผลกระทบ รวมทั้งจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีบ้านเรือนราษฎร และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่พังเสียหาย นอกจากนี้ยังมีเสาไฟฟ้าที่ล้มพังเสียหายจำนวนมาก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคมที่ผ่านมา มีฝนตกและลมกระโชกแรงนานกว่า ๓๐ นาที ทำให้เสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ล้มกว่า ๑๑ ต้น บริเวณริมทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตอนดอนขวาง-โพธิ์กลาง ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๒๗๗–๒๗๘ เขตตำบลธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ล้มหักขวางถนน ทำให้ยานพาหนะที่จะเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา ไม่สามารถผ่านไปได้ รวมไปถึงเสาไฟฟ้าริมถนนมิตรภาพขอนแก่น ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๑๗๐-๑๗๑ ถูกลมพายุพัดหักโค่น ๖ ต้น เอนเอียง ๓ ต้น โดยเฉพาะบริเวณทางแยกเข้าบ้านด่านทองหลาง ต.โตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งเสาไฟฟ้าล้มทับหลังคาศาลาจอดรถจักรยานยนต์ กระทั่งพังลงมาทับรถจักรยานยนต์เสียหายนับสิบคัน

          กรณีการโค่นล้มของเสาไฟฟ้า “โคราชคนอีสาน” ได้รับร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากเสาไฟฟ้าไม่น่าจะโค่นล้มได้ เพราะไม่ใช่สิ่งก่อสร้างที่ต้านแรงลม รวมทั้งเสาไฟฟ้าบางต้นยังหักเหลือเพียง ๑ ส่วน ๔ ของตัวเสา จึงเป็นที่สังเกต และเกิดข้อกังขาว่า เสาที่ติดตั้งอยู่นั้น สร้างได้มาตรฐานหรือไม่?

          “โคราชคนอีสาน” จึงสอบถามเรื่องนี้ไปยังนายกิตติ จริยมานะ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ.นครราชสีมา ได้รับการเปิดเผยว่า “จากกรณีเสาไฟฟ้าล้มนั้น ทางเขตฯ ได้รับรายงาน และรับทราบมาโดยตลอด ในภาพรวมการล้มของเสาไฟฟ้าในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ล้มไปร่วมร้อยต้นแล้ว จำนวนเสาที่ล้มนี้ครอบคลุมไปถึงในต่างอำเภอด้วย คือที่อำเภอด่านขุนทด และปักธงชัย ซึ่งขอยืนยันว่า การใช้วัสดุในการทำเสาไฟฟ้านั้นผ่านขั้นตอนการทดสอบ และตรวจสอบคุณภาพอยู่เสมอ สำหรับปัจจัยที่ทำให้เสาไฟฟ้าล้มนั้น เป็นเพราะพายุฤดูร้อนในช่วงที่ผ่านมามีกำลังแรงมาก สังเกตได้จากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ซี่งมีโครงสร้างที่แข็งแรงก็ยังล้มลงมาได้”

          ‘โคราชคนอีสาน’ ย้ำว่า ถ้าเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ไม่น่าสงสัย เพราะมีขนาดต้านลมมาก แต่ว่า คุณภาพของเสาไฟฟ้าเป็นที่สงสัยสำหรับประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะส่วนใหญ่เสาที่ล้ม ไม่ได้มีต้นไม้หรือสิ่งใดล้มใส่แต่เป็นการหักของเสาอย่างเดียว อีกทั้งลักษณะของเสาไฟฟ้าไม่ได้มีรูปร่าง หรือลักษณะที่ก่อให้เกิดการต้านลมเหมือนป้ายโฆษณา แต่เหตุใดจึงล้มหักได้ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ กล่าวยืนยันว่า “เป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ เพราะพายุในปีนี้แรงมาก และเกิดเป็นพายุหมุนที่ค่อนข้างจะรุนแรงด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องขอยืนยันว่า วัสดุที่เราซื้อนั้น เราทดสอบทั้งหมดในแต่ละช่วงการสั่งซื้อ แม้กระทั่งมาตรฐานในการฝังเสาไฟฟ้าก็มีระบุไว้ชัดเจนว่า เสาจะต้องฝังลึก ๒ เมตร และตรงเสาจะมีขีดให้พนักงานเห็นชัดเจนเพื่อที่จะได้รู้ว่าระดับอยู่ที่ส่วนใด สำหรับการตรวจสอบด้านการจัดซื้อก็มีหลายวิธี ซึ่งจะมีการประกวดราคา สุ่มตัวอย่าง และมีการไปตรวจการผลิตที่โรงงานด้วยว่าในแต่ละเสาทนรับแรงลมได้เพียงใด”

          สำหรับในส่วนของการแก้ไขซ่อมแซมเสาไฟฟ้าที่ล้มได้รับความเสียหายนั้น นายกิตติ จริยมานะ เปิดเผยว่า “ได้ดำเนินการซ่อมแซมไปแล้ว โดยมีการเสริมความแข็งแรงของเสา และลดระยะห่างระหว่างเสาลง จากเดิม ๑๐๐ เมตร ลดลงเหลือ ๘๐ เมตร หรือในจุดที่ล่อแหลม ทาง กฟภ.ก็จะไปเสริมความแข็งแรงให้มากขึ้นกว่าเดิม”

          ผู้อำนวยการฯ กล่าวในท้ายสุดว่า “การไฟฟ้าเขตฯ ดูแลระบบการจ่ายไฟอย่างเต็มที่ ที่ใดที่มีความเสียหายหรือขัดข้อง เราจะรีบไปดำเนินการซ่อมให้ทันที เพื่อที่จะให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้โดยเร็ว ในส่วนของการซ่อมแซมเรามีการเสริมความแข็งแรงอย่างที่กล่าวไป ยกตัวอย่างพรุ่งนี้เรามีการประชุม ชี้แจงพนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งในเขต จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ ดูแล เพื่อที่เราจะทำการดูแลเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม”

          อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ.นครราชสีมา นายกมลชนก วิชัยสืบ รองผู้ว่าการสายงานการไฟฟ้า ภาค ๒ พร้อมด้วยนายกิตติ จริยมานะ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ นำคณะผู้บริหาร และพนักงาน จำนวนกว่า ๒๐๐ คน ร่วมกันกดแตร และโบกธงปล่อยขบวนรถปฏิบัติงาน ในกิจกรรม “ตรวจสอบระบบไฟฟ้าครั้งใหญ่” หรือ Big Patrolling and Cleansing for Strong Grid พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อออกตรวจสอบ และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ที่เกิดปัญหาขัดข้องในพื้นที่อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา โดยระดมพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด ซึ่งใช้เครื่องมือทันสมัยเข้าตรวจสอบระบบจำหน่าย และสายส่งแบบ X–Ray ทั้งไฟฟ้าแรงสูงขนาด ๑๑๕,๐๐๐ โวลต์ และ ๒๒,๐๐๐ โวลต์ รวมทั้งระบบไฟฟ้าแรงต่ำ ตรวจหาจุดร้อนตามจุดต่อของสายไฟแรงสูง จากนั้นนำข้อมูลที่ตรวจพบมาแก้ไข และหาวิธีป้องกันโดยด่วน เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุด ให้เสร็จสิ้นในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อลดสถิติปัญหาการเกิดไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าขัดข้องในระยะยาวให้น้อยลง ป้องกันไม่เกิดปัญหาไฟตก ไฟดับ ไฟกะพริบ เตรียมความพร้อมป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุฤดูร้อนในห้วงเวลานี้ รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้า สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๖๒ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙



683 1339