25thApril

25thApril

25thApril

 

May 21,2016

‘ทอง’ ยกทีมตามคาด คุมสหกรณ์ครูสมัยที่ ๔ ลุ้นคดีเงินฝากคลองจั่น

          เลือกตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูโคราชไม่เปลี่ยนแปลง ทีม ‘ทอง วิริยะจารุ’ กวาดเก้าอี้ยกทีมตามคาด ยืนยันพร้อมสานต่องาน พร้อมให้สัญญาสมาชิกกู้ได้มากกว่า ๓ แสนบาท ยืนยันสถานภาพการเงินของสหกรณ์ฯ มีความคล่องตัว แต่ยังต้องลุ้นคดีที่สมาชิกฟ้องฐานนำเงินไปฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เกี่ยวพันธรรมกาย

          เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ อาคารสุรพัฒน์ ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ น. มีการเลือกตั้งประธานและกรรมการดำเนินการปี ๒๕๕๙ ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครราชสีมา จำกัด ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งนั้น โดยเป็นการแข่งขันระหว่างรศ.รัตนาภรณ์ โชครัตนชัย หัวหน้ากลุ่มปฏิรูปสหกรณ์ หมายเลข ๑ กรรมการดำเนินการฯ หมายเลข ๑-๗ กับกลุ่มรักษ์สหกรณ์ นำโดยนายทอง วิริยะจารุ อดีตประธานสหกรณ์ฯ ๓ สมัย หมายเลข ๒ กรรมการดำเนินการฯ หมายเลข ๘-๑๔ ซึ่งบรรยากาศทั่วไปเป็นไปด้วยความคึกคัก มีบรรดาครูที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จากทั้ง ๓๒ อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาลงคะแนนเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการเลือกตั้งนั้น ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ จะจ่ายเงินให้กับผู้มาลงคะแนนเพื่อเป็นค่าเดินทาง โดยเมื่อถึงเวลานับคะแนนปรากฏว่า กลุ่มรักษ์สหกรณ์ของนายทอง วิริยะจารุ ชนะแบบยกทีม โดยถือว่านายทองสามารถเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครราชสีมา จำกัด ได้เป็นสมัยที่ ๔

ทอง’ชนะยกทีม

          สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนายทอง วิริยะจารุ จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานฯ แล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการ ปี ๒๕๕๙ ยังประกอบด้วย นางสาวประมวล แทนขุนทด สพป.นครราชสีมา เขต ๑, นายสมโภชน์ ฉ่ำธงชัย สพป.นครราชสีมา เขต ๒, นายเกษม มารครบุรี สพป.นครราชสีมา เขต ๓, นายสุรชัย แย้มกาญจนวัฒน์ สพป.นครราชสีมา เขต ๔, นายวีระ โรจน์หิรัญ สพป.นครราชสีมา เขต ๕, นายปริญญา ประจง สพป.นครราชสีมา เขต ๖ และนายพงษ์พันธ์ มาแสวง สพป.นครราชสีมา เขต ๗ ส่วนผู้สมัครรับเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง กรณีนายสุพนธ์ สินนา ที่เสียชีวิตนั้น ได้ส่งนายบุญธรรม เดชบุญ (ครูโจ) สพป.นครราชสีมา เขต ๒

          นายทอง วิริยะจารุ เปิดเผยว่า ตนและทีมงานจะสานงานต่อที่เคยวางนโยบายไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้จาก ๖ บาทให้ลดลงไปกว่านี้อีก และจะประสานสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาเพิ่มเพื่อการหมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ที่ทุกวันนี้การปล่อยกู้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบการทำงานของตนและคณะกรรมการได้ตลอดเวลา ส่วนโครงการกู้ฉุกเฉินนั้นมีนโยบายที่จะให้สมาชิกได้กู้เพิ่มขึ้นมากกว่า ๓ แสนบาท ตนรับประกันได้ว่าสถาบันการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา มีความคล่องตัวและไม่มีผลกระทบกับปัญหาสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นอย่างแน่นอน ตนให้ความมั่นใจกับสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่มีกว่า ๒.๕ หมื่นคนให้มีความเชื่อมั่นการบริการงานของคณะกรรมการชุดนี้

สมาชิกยื่นฟ้อง ‘ทอง’ ยักยอก!

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด นำโดยนางสาวณิชาภา แสงพิศุทธิ์, นายประชัน ขยันงาน อดีตกรรมการสหกรณ์ฯ, นายวีรวงศ์ เบ็ญจมาศ และนางสาวจารุจิตต์ ชูตระกูล ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทอง วิริยะจารุ ประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด ชุดที่ ๕๘ และอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมาต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๐๒/๒๕๕๙ ความอาญา ในข้อหาหรือฐานความผิด “ยักยอกทรัพย์ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น และทำผิดหน้าที่ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓ และ ๓๕๔ ประกอบด้วยมาตรา ๙๐ และ ๙๑

          สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องคดีนี้ ระบุว่า “ในสมัยนายทอง วิริยะจารุ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด ชุดที่ ๕๔ โจทก์ทั้งสี่ในฐานะสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้ทราบข่าวว่า เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๘ มีกรณีการทุจริตในกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยบุคคลที่ตกเป็นข่าวในการทุจริต ได้แก่ ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ดังกล่าว (นายศุภชัย ศรีศุภอักษร) ในการทุจริตนั้น มีข้อเท็จจริงด้วยว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด มีส่วนในการนำเงินของสหกรณ์ฯ ไปฝาก หรือลงทุนไว้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยมิชอบ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด โจทก์จึงได้สืบเสาะ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแห่งการกระทำดังกล่าว แต่ไม่สามารถตรวจสอบใดๆ ได้ เนื่องจากจำเลย และคณะกรรมการฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ ต่างปกปิด และปฏิเสธที่จะให้ทำการตรวจสอบข้อมูล และข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ กระทั่งเมื่อประมาณวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙ ได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด จึงได้ทราบจากรายงานการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ฯ ประจำปี ๒๕๕๙ ของคณะผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ฯ จึงได้พบการกระทำความผิด และทราบว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๘-๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จำเลยนี้ และคณะกรรมการฯ อื่นที่โจทก์ยังมิได้ยื่นฟ้อง ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการฯ อันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินที่สหกรณ์ฯ เป็นเจ้าของ และซึ่งโจทก์ทั้งสี่ และผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้น ได้กระทำผิดหน้าที่ โดยโอนเงินของสหกรณ์ฯ ไปให้เป็นประโยชน์แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำนวน ๒๐๐ ล้านบาท โดยออกตั๋วสัญญาให้เงินธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน ๒ ฉบับ มูลค่าฉบับละ ๑๐๐ ล้านบาท โอนเข้าบัญชีของสหกรณ์ดังกล่าว ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาการเคหะแห่งชาติ โดยอ้างว่าเพื่อลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์ดังกล่าว ซึ่งจะได้รับประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๕.๔ ต่อปี ชำระดอกเบี้ยประจำทุกเดือน และมีกำหนดอายุตั๋วสัญญาใช้เงินไม่เกิน ๑ ปี

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๘-๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จำเลยนี้ และคณะกรรมการอื่นฯ กระทำผิดหน้าที่ โดยโอนเงินของสหกรณ์ฯ เข้าบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำนวน ๓๐๐ ล้านบาท ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาคลองจั่น โดยอ้างว่าเพื่อลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์ดังกล่าว จำนวน ๒ ฉบับ มูลค่าฉบับละ ๑๕๐ ล้านบาท มีอายุตั๋วสัญญาใช้เงิน ๑ ปี ๑ วัน ได้ประโยชน์เป็นค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๖.๗๕ ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก ๓ เดือน จากนั้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จำเลยนี้ และคณะกรรมการอื่นฯ ได้โอนเงินของสหกรณ์ฯ จำนวน ๑๕๐ ล้านบาท เข้าบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยการเคหะแห่งชาติ โดยอ้างว่าเพื่อลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์ดังกล่าว กำหนดอายุตั๋วสัญญาใช้เงิน ๒ เดือน ได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๖.๗๕ ต่อปี

          ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ เรื่อง ข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๕๒ อันเป็นประกาศที่ออกโดยอำนาจกฎหมาย ในข้อ ๓ แห่งประกาศดังกล่าว ความดังนี้ ข้อ ๓. เงินของสหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ ดังต่อไปนี้ (๑) บัตรเงินฝากที่ธนาคารเป็นผู้ออก (๒) ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้รับรอง สลักหลังหรือรับอาวัล หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้สลักหลัง หรือรับอาวัล โดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิด... (๗) ฝากหรือลงทุนอื่นใด นอกจากที่กำหนดไว้ตาม (๑) ถึง (๖) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติก่อน แต่ปรากฏว่า การลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ตามฟ้องข้างต้นนั้น สหกรณ์ดังกล่าวมิได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อกำหนดของประกาศคณะกรรมการฯ ดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ บรรดาตั๋วสัญญาใช้เงินที่สหกรณ์ดังกล่าว ออกให้ในนามสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด เพื่อแสดงเป็นหลักฐานในการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด นั้น ไม่ใช่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้สลักหลังหรือรับอาวัล โดยไม่จำกัดความรับผิดแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการลงทุนที่มิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ตามประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด ก็ยังไม่รับการชำระหนี้ทั้งเงินต้น และเงินดอกเบี้ยโดยถูกต้องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เนื่องจากขณะนี้สหกรณ์ดังกล่าวได้ตกเป็นผู้มีหนีสิ้นล้นพ้นตัว และอยู่ระหว่างการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด เป็นเจ้าหนี้ในลำดับที่ ๔,๐๐๐ ในจำนวนเจ้าหนี้ทั้งสิ้นกว่า ๑๗,๐๐๐ ราย และไม่มีแนวโน้มว่าสหกรณ์ฯ จะได้รับเงินและผลประโยชน์คืนแต่อย่างใด ส่งผลให้โจทก์ทั้งสี่ และสมาชิกอื่นๆ ขาดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากสหกรณ์ฯ เช่น เงินปันผล สิทธิในการกู้ยืมเพิ่มเติม และอื่นๆ ตามข้อบังคับ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย”

          ส่วนความคืบหน้าในการยื่นฟ้องนายทอง วิริยะจารุ ขณะนี้ศาลจังหวัดนครราชสีมาได้ประทับรับฟ้องคดีนี้แล้ว โดยนัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๓๐ น. หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนอต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๖๒ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


718 1346