27thApril

27thApril

27thApril

 

June 25,2016

ติวเกษตรกรกรีดยางคุณภาพ สกย.มุ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต สวนกระแสภาวะราคาตกต่ำ

          สกย.อบรมเข้มเกษตรกรสวนยาง แนะเทคนิคกรีดยางให้ได้คุณภาพ ลดการสูญเสียหน้ายาง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบสองได้ ด้านเกษตรกรเห็นใจรัฐบาลที่พยายามแก้ไขปัญหาราคายาง เชื่อสักวันราคาต้องดีขึ้น

          เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่อาคารอเนกประสงค์ อบต.แนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดสุรินทร์ (สกย.จ.สุรินทร์) จัดโครงการฝึกอบรมเกษตรกร เจ้าของสวนยาง หลักสูตรการกรีดยาง โดยจัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสวนยาง ในเรื่องทักษะของการ กรีดยาง ซึ่งใช้เวลาการฝึกอบรม ๗ วัน โดยมีเกษตรกรเจ้าของสวนยางในพื้นที่ตำบลแนงมุด และตำบลใกล้เคียงของอำเภอกาบเชิง ให้ความสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน ๓๐ คน

          นายชัยพันธุ์ สารภี หัวหน้าแผนกพัฒนานิเทศเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า หลักสูตรของการยางแห่งประเทศไทยที่ได้ดำเนินการทุกปีงบประมาณ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสวนยาง ในเรื่องทักษะของการกรีดยาง ซึ่งการกรีดยางถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของคนกรีดยาง เพราะว่าการกรีดยางนั้นจะเป็นผลกระทบโดยตรงในเรื่องของการเจริญงอกงามของต้นยาง โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างเปลือกยาง ที่เป็นแหล่งสะสมของน้ำยางในต้นยาง ถ้าเกษตรกรชาวสวนยางมีการกรีดยางที่ถูกต้อง มีการลับมีดที่ถูกต้อง ทักษะของการกรีดที่ดี เกษตรกรก็มีโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบสองได้อีก หลังจากที่ต้นยางมีการสร้างเปลือกยางขึ้นมาใหม่ ถือว่าเป็นนโยบายหลักของการยางแห่งประเทศไทย ในการที่จะพัฒนาในอาชีพของชาวสวนยาง เพราะต้นยางปลูกครั้งเดียวแต่อยู่กับชาวสวนยางอย่างน้อย ๒๕ ปี

          “เพราะฉะนั้นทักษะในการกรีดยางจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้แกลเปลี่ยนทักษะที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสร้างอาชีพให้เกิดความสมบูรณ์และเกิดรายได้ให้มากที่สุด ส่วนหลักสูตรของการอบรมนั้น จะอบรมครั้งละ ๓๐ คน เป็นเวลา ๗ วัน โดยให้ความรู้ในเรื่องของการลับมีด การกรีด การสลับเท้าในการกรีด ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องมีความสัมพันธ์กัน โดยบุคลากรแผนกพัฒนานิเทศเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ของสำนักงานในแต่ละจังหวัด เป็นผู้ที่ออกมาให้ความรู้ให้กับพี่น้องชาวสวนยางในการกรีดยางที่ถูกต้อง ซึ่งเราจะเน้นเกษตรกรรายใหม่ที่มีตันยางได้ขนาดใกล้จะเปิดกรีดหน้ายางได้ คือขนาดรอบต้นยางวัดได้ไม่น้อยกว่า ๕๐  เซนติเมตร ส่วนสถานการณ์เรื่องของราคายางที่ยังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ตามนโยบายของการยางแห่งประเทศไทย โดยหลักแล้วคือจะต้องให้ชาวสวนยางเข้าสู่กระบวนการลดต้นทุนการผลิตให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัจจัยในการผลิต ในเรื่องของปุ๋ยที่ใส่ในสวนยาง ในเรื่องของการจัดการดูแลสวนยางให้ถูกต้องตามหลักระบบวิธีการ ปุ๋ยที่ใช้ต้องเป็นปุ๋ยที่ตรงสูตรที่ยางต้องการ ตามขนาดของอายุยาง และต้องมีการวิเคราะห์ดินร่วมด้วย ซึ่งเป็นหลักสูตรของกระบวนการลดต้นทุนในการผลิต” นายชัยพันธุ์ กล่าว

           นายพิษณุ สุขพินิจ อายุ ๔๗ ปี เกษตรกรชาวสวนยาง อยู่บ้านเลขที่ ๒๒ ม.๔ บ.ประคำ ต.แนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า ตนกรีดยางมา ๓ ปีแล้ว มั่นใจมาโดยตลอดว่าทำได้ แต่เมื่อมาอบรมครั้งนี้ปรากฏว่า ที่กรีดมา ๓ ปีนั้นแย่มาก หน้ายางเสียหมด เป็นเชื้อรา ไม่รู้วิธีการแก้ไข การอบรมครั้งนี้ได้ความรู้มาก เริ่มตั้งแต่การให้ปุ๋ย การปรับปรุงดินให้ดีขึ้น และจากนี้ไปก็จะเริ่มต้นใหม่ตามที่ครูยางสอนมา ส่วนหน้ายางที่เสียแล้วนั้นคงต้องเริ่มใหม่ โดยการกรีดอีกข้างหนึ่งและต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ต้นยางมีอายุอยู่กับเราให้ได้นานที่สุด จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าอบรม ถ้ามีโอกาสก็เสียสละเวลามาอบรมเอาความรู้ ถึงแม้ ๗ วันที่มาอบรมนั้นยังไม่ค่อยรู้เรื่องนัก แต่ก็ยังพอที่จะมีความรู้อย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อนำมาพัฒนาตนเองต่อได้ และอยากให้เกษตรกรสวนยางเชื่อมั่น ถึงแม้เศรษฐกิจราคายางตกต่ำ โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ายางจะมีราคาสูงถึง ๑๒๐ บาท และไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ยางจะมีราคาตกต่ำถึงกิโลกรัมละ ๑๐ กว่าบาท ปัจจุบันยังอยู่ที่ราคา ๒๐ บาท แต่พวกเรายังเชื่อมั่นอยู่ว่า วันหนึ่งราคายางจะต้องดีขึ้นกว่านี้ และจะไม่มีการโละต้นยางทิ้งอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้รัฐบาลช่วยดูแลราคายาง ไม่เฉพาะที่ภาคใต้เท่านั้น แต่อยากให้ดูแลทั้งภาคเหนือ และภาคอีสาน แต่ก็เห็นใจรัฐบาลที่กำลังพยายามแก้ไขในเรื่องของราคายางในขณะนี้ ก็อยากจะให้กำลังใจรัฐบาล และช่วยทำราคายางให้สูงกว่านี้อีกสักนิดหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เพียงเท่านี้พวกเราก็ดีใจแล้ว

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๒๓๖๙ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙


 


682 1343