17thApril

17thApril

17thApril

 

June 25,2016

ผวจ.วิเชียร’ลุยจัดการขยะ หารือ ‘ทีพีไอ’ ขนไปกำจัด


นายวิเชียร จันทรโณทัย


          “ผู้ว่าฯ วิเชียร” ยกคณะดูงานและหารือโรงปูนทีพีไอเรื่องจัดการขยะ และหาแนวทางตั้งโรงงานคัดแยกเพิ่มเติม พร้อมขอให้ใช้รถไฟขากลับจากการบรรทุกปูนขนขยะไปกำจัด

          เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางอัจจิมา จันทร์สุวานิช ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต ๑๔ เดินทางมาเยี่ยมชมและหารือแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดนครราชสีมา ณ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมีนายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา, นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ (นครราชสีมา), นายอัศนีย์ เชาว์วาทิน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา, นายสัมพันธ์ กรัชกายพันธ์ ผู้แทนท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา, นางบุญสิตา ขันธะวินะหุ ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และนางกนกวรรณ วรรณสุข ผู้แทนนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ร่วมเยี่ยมชมด้วย

          นายวิเชียร จันทรโณทัย เปิดเผยว่า ผลจากการเยี่ยมชมและร่วมประชุมหารือแนวทางกับผู้บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) โดยมีนายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ให้ข้อมูลและนำเสนอแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยนั้น ประเด็นข้อสรุปที่ได้จากการประชุมหารือมีดังนี้ ๑. บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ยินดีรับขยะ (ขยะสด/ขยะเก่า) โดยไม่ต้องผ่านการคัดแยก จากจังหวัดนครราชสีมา ที่ปริมาณ ๒,๐๐๐ ตัน/วัน โดยบริษัทฯ เพิ่มข้อเสนอพิเศษคือ จะล้างรถให้ฟรี และสามารถบรรทุกปูนซีเมนต์กลับไปด้วยได้ ซึ่งตนแจ้งผู้บริหารบริษัท ทีพีไอฯ ว่า จะมีหนังสือสอบถามและให้ทางบริษัทดังกล่าวแจ้งยืนยันปริมาณขยะและกรอบเวลาอีกครั้งหนึ่ง

          ๒. แนวทางการจัดตั้งโรงงานคัดแยกและรื้อร่อนขยะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว ที่บ้านหนองบัวศาลา อำเภอเมืองนครราชสีมา ดำเนินการจัดการขยะเก่าของเทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน ๒๐๐ ตัน/วัน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเสนอให้บริษัทฯ พิจารณาเพิ่มอีกหนึ่งจุดบริเวณอำเภอบัวใหญ่ (บริษัทฯ ได้สั่งซื้อเครื่องคัดแยกขยะ จำนวน ๔ ชุด)

          ๓. แนวทางการขนส่งขยะ โดยใช้รถไฟเที่ยวขากลับจากการบรรทุกปูนซีเมนต์ในเส้นทางอำเภอบัวใหญ่

          ๔. ปัจจุบันจังหวัดชลบุรี ขนขยะส่งมาที่ทีพีไอ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ระยะทางไป-กลับ ประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร

          ๕.  กรณีของเทศบาลเมืองนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ติดต่อมาว่าจะขนขยะมาส่งกำจัดที่ทีพีไอ ๓๐ ตัน/วัน โดยจะเริ่มในปีงบประมาณ ๒๕๖๐

          ๖. จังหวัดอุบลราชธานี ติดต่อขอขนขยะมาที่ทีพีไอ พิจารณาอาจจะใช้วิธีการขนส่งโดยรถไฟ ซึ่งหากสำเร็จจังหวัดเชียงใหม่ก็จะนำแนวทางไปดำเนินการเช่นกัน

          ๗. ตัวอย่างของจังหวัดปทุมธานี เรื่องให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ได้รับอนุญาตให้ทำสัญญากับรัฐ

          ๘. ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ขอให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต ๑๔ (นางอัจจิมา จันทร์สุวานิช) ช่วยหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาการของบประมาณมาดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยตกค้างสะสมของจังหวัดนครราชสีมา จากกรณีงบประมาณโครงการจัดการขยะสะสมให้ถูกหลักวิชาการ ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) งบประมาณ ๒๑๒ ล้านบาท ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามมติ ครม.

          นอกจากนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ยังมีข้อสั่งการให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารท้องถิ่นประชุมร่วมกัน เพื่อพิจาณาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนางอัจจิมา จันทร์สุวานิช ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต ๑๔ ร่วมประชุมด้วย ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น.

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๒๓๖๙ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙


698 1342