19thApril

19thApril

19thApril

 

June 25,2016

ก.พลังงานยกสุรนารีโมเดล แก้วิกฤติขยะล้นเมือง กลั่นน้ำมัน-พลังความร้อน


รมว.พลังงาน นำคณะเยี่ยมชมการกำจัดขยะของ “ศูนย์สาธิตผลิตพลังงานจากกากของเสียและขยะชุมชน” ของ มทส.


          ‘รมว.พลังงาน’ นำคณะเยี่ยมชม “ศูนย์สาธิตผลิตพลังงานจากกากของเสียและขยะชุมชน” หลังจัดสรรงบ ๕๗๐ ล้าน ให้ ‘มทส.’ นำร่อง ๔ เทศบาลก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิง RDF ด้วยเทคโนโลยี SUT-MBT และผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก คาดสามารถกำจัดขยะได้ถึง ๑.๑ ล้านตัน และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงนำไปใช้แทนถ่านหิน เพื่อผลิตพลังงานความร้อนในกระบวนการอุตสาหกรรมได้ถึง 155 ktoe คิดเป็นมูลค่า ๗๘๐ ล้าน

          เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่โรงกำจัดขยะแบบครบวงจร ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง “ศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานจากกากของเสียและขยะชุมชนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มทส. ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น ๕๗๐ ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ภายใต้โครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร (แบบกระจายศูนย์) ให้กับ ๔ เทศบาลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้แก่ เทศบาลเมืองสีคิ้ว เทศบาลเมืองปัก เทศบาลตำบลพิมาย และเทศบาลตำบลด่านขุนทด ที่ประสบปัญหาวิกฤติด้านการจัดการขยะ และมีความพร้อมรับเทคโนโลยีการบริหารจัดการระบบอย่างยั่งยืน โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, รศ.ดร.สิทธิชัย แสงอาทิตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน รักษาการอธิการบดี มทส. และ ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล และผู้อำนวยการเทคโนธานี มทส. ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวรายงานสรุป รวมทั้งผู้บริหาร ๔ เทศบาลนำร่องที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมเยี่ยมชมด้วย

ขยะสะสมสูง ๗๖๐,๘๒๕ ตัน

          นายณรงค์ วุ่นซิ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานว่า จังหวัดนครราชสีมามีปริมาณขยะมูลฝอยปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยสะสมสูงถึง ๗๖๐,๘๒๕ ตัน อีกทั้งประชาชนยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ปัญหาขยะจึงวิกฤติรุนแรง ด้วยเหตุนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ นครราชสีมาจึงผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจาก มทส. ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร แบบกระจายศูนย์ (Decentralized – ISWMS) เพื่อสร้างต้นแบบนำร่องในจังหวัดนครราชสีมา ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยการนำเข้าสู่ระบบจัดการขยะด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-MBT) เพื่อแปรรูปขยะเป็นวัสดุปรับปรุงดิน และเชื้อเพลิงขยะ RDF โดยเชื้อเพลิงขยะ RDF ที่ได้นั้นจะถูกส่งไปยัง มทส. เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกให้นำร่อง ได้แก่ เทศบาลเมืองสีคิ้ว เทศบาลเมืองปัก เทศบาลตำบลพิมาย และเทศบาลตำบลด่านขุนทด โดยวางเป้าหมายในการจัดการขยะอย่างมียุทธศาสตร์ เน้นให้เกิดต้นแบบของการ บูรณาการจัดการขยะแบบครบวงจรและการใช้ประโยชน์จากขยะแบบบูรณาการในรูปแบบพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาโรงงานต้นแบบและการบริหารจัดการเพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป

SUT’วิถีเมืองอัจฉริยะพอเพียง

          รศ.ดร.สิทธิชัย แสงอาทิตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน และรักษาการแทนอธิการบดี มทส. กล่าวว่า มทส.เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานวิจัยถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความรู้ และมีคุณธรรม มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ โดยมีแนวคิดการพัฒนางานวิจัย คือ “SUT@LIFE” วิถีเมืองอัจฉริยะอย่างพอเพียง Smart-sufficient Utility Town@LIFE เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาคน พัฒนาชาติ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกฝ่ายนำไปใช้ขับเคลื่อนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อผลักดันให้เห็นผลออกมาเป็นรูปธรรม จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้มีเกียรติทุกท่านจะประทับใจและได้รับประโยชน์จากการเยี่ยมชมผลงานวิจัยของ มทส. ด้านระบบการจัดการขยะเป็นพลังงานครบวงจร และผลงานวิจัยระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) ตลอดทั้งผลงานวิจัยต่างๆ ภายใต้แนวคิด SUT@LIFE

คาดกำจัดขยะ ๑.๑ ล้านตัน

          ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล และผู้อำนวยการเทคโนธานี มทส. กล่าวถึงความเป็นมาของ “ศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานจากกากของเสียและขยะชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ มทส. ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการขยะเพื่อแปรรูปเป็นพลังงานแบบครบวงจร โดยผ่านกระบวนการวิจัยมาตามลำดับ และได้รับการผลักดันให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.๒๕๕๘ โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานจากกากของเสียและขยะชุมชน มทส. เพื่อเป็นต้นแบบระบบผลิตพลังงานจากขยะแบบครบวงจร รองรับการจัดการขยะ ๑๐๐ ตัน/วัน ที่ จ.นครราชสีมา ในลักษณะการกระจายศูนย์ผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF (ศูนย์รองรับขยะมูลฝอย ๒๕ ตัน/วัน จำนวน ๔ แห่ง) และนำเชื้อเพลิงขยะ RDF มารวมศูนย์เพื่อผลิตพลังงานในรูปแบบไฟฟ้าขนาด 1 MW และน้ำมันสำเร็จรูปขนาด ๒๐,๐๐๐ ลิตร/วัน ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันรองรับการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) ในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากระบบการจัดการขยะของเทศบาลนครนครราชสีมาไม่สามารถจัดการขยะได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งตลอดอายุโครงการฯ จะสามารถกำจัดขยะได้ถึง ๑.๑ ล้านตัน และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่นำไปใช้แทนถ่านหิน เพื่อผลิตพลังงานความร้อนในกระบวนการอุตสาหกรรมได้ถึง 155 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) คิดเป็นมูลค่า ๗๘๐ ล้านบาท

เศรษฐกิจสีเขียวพัฒนาประเทศ

          ผศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันขยะที่เข้าสู่ระบบการจัดการขยะของมทส. (SUT-MBT) นั้นจะถูกแปรสภาพเป็น RDF โดยสามารถผลิตจำหน่าย และพัฒนาเป็นข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิง RDF ที่ผลิตด้วยระบบการจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-MBT) อย่างยั่งยืน” ระหว่าง มทส. และบริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SCG โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนตามแนวทางประชารัฐ ในการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงานด้วยระบบกิจการเพื่อสังคม ที่สร้างประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียวในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่าย RDF ให้กับโรงปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ที่ราคา ๑,๐๐๐ บาท/ตัน ภายใต้การขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ราคาของเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF จะสามารถทำราคาได้สูงขึ้นถึง ๓,๐๐๐ บาท/ตัน หากจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จำหน่ายไฟฟ้าในอัตราพิเศษรูปแบบ FIT

          “นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาออกแบบระบบ SUT-MBT ให้เหมาะกับพื้นที่จริงของ อทป.อีก ๒๑ แห่ง ที่ผ่านการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๙ ภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ดังนั้น ปัจจุบัน มทส.มีผลงานทั้งหมดในการออกแบบระบบ SUT-MBT ให้กับ อปท. และหน่วยงานต่างๆ จำนวน ๓๕ แห่ง คิดเป็นขนาดรองรับขยะมูลฝอยทั่วประเทศ จำนวน ๑,๘๘๐ ตัน/วัน ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพลังงาน ทำให้ มทส.สามารถรองรับการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย และอปท.ในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดทั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองและได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม” ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ กล่าว

นำร่อง ๔ เทศบาล ๕๗๐ ล.

          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และเทศบาล ๔ แห่งในพื้นที่นครราชสีมา ประกอบด้วย เทศบาลเมืองสีคิ้ว เทศบาลเมืองปัก เทศบาลตำบลพิมาย และเทศบาลตำบลด่านขุนทด ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร (แบบกระจายศูนย์) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๕๘ เป็นเงินทั้งสิ้น ๕๗๐ ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณก่อสร้างระบบ ๑. โรงงานผลิตเชื้อเพลิง RDF ด้วยเทคโนโลยี MBT หรือการบำบัดขยะเชิงกลชีวภาพ จำนวน ๒๕๐ ล้านบาท เทศบาลละ ๖๒.๕ ล้านบาท สามารถรองรับขยะได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตัน/วัน ๒. โรงงานผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก จำนวน ๑๐๐ ล้านบาท เทศบาลละ ๒๕ ล้านบาท สามารถรองรับขยะพลาสติกได้ไม่ต่ำกว่า ๒๕ ตัน/วัน ๓. โรงกลั่นน้ำมัน ที่สร้างขึ้นภายใน มทส. จำนวน ๗๐ ล้านบาท สามารถผลิตน้ำมันได้ไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ ลิตร/วัน และ ๔. โรงไฟฟ้าพลาสมาแก๊สซิฟิเคชั่นขนาด ๑ เมกะวัตต์ ที่สร้างขึ้นภายใน มทส. จำนวน ๑๕๐ ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณในการดำเนินงาน (งบบริหาร) อีกจำนวน ๑๘,๔๒๕,๐๐๐ บาท

รมว.พลังงานขอบคุณมทส.

          พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้การสนับสนุน มทส. มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ กระทั่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดขยะมูลฝอย SUT-MUT ให้มีมาตรฐานและได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สามารถแปรรูปขยะมูลฝอยให้เป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF ที่นำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน โดยเชื้อเพลิงขยะ RDF ที่ได้จากเทคโนโลยี SUT-MUT นั้นมีคุณภาพสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทดแทนถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมีโรงปูนซีเมนต์ที่พร้อมจะรองรับเชื้อเพลิงขยะ RDF จากเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีพื้นที่นำร่องที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF (SUT-MUT) จากกระทรวงพลังงานถึง ๔ แห่งในจังหวัดนครราชสีมา และอีก ๓๕ แห่งทั่วประเทศ

          “ขอขอบคุณ มทส. ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมไปถึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคน พัฒนาชาติ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้แนวคิด SUT@LIFE ตามวิสัยทัศน์ของท่านนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ขอขอบคุณทุกๆ ฝ่าย ที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือกันในการขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐด้วย” พลเอกอนันตพร กล่าวในท้ายสุด

          จากนั้นพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเชื้อเพลิง RDF ด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-MBT) โดยชมระบบการกำจัดขยะของ มทส. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานจากกากของเสียและขยะชุมชน มทส. พร้อมชมงานวิจัยต้นแบบระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุศาสตร์หน้าที่พิเศษขั้นสูง และเข้าเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มทส. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานขั้นสูง พร้อมชมผลงานวิจัยระดับต้นแบบ โรงงานต้นแบบโรงไฟฟ้าพลาสมาแก๊สซิฟิเคชั่น โดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะขนาด ๑ กิโลวัตต์ โรงงานต้นแบบระบบผลิตน้ำมันด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก ขนาด ๕,๐๐๐ ลิตร/วัน และโรงงานต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ขนาดกำลังการผลิต ๒ ตัน/ชม. ก่อนออกเดินทางต่อไปยังโรงงานปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อเข้าเยี่ยมชมโรงงานเตรียมเชื้อเพลิง RDF ของบริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทในเครือ SCG  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๒๓๖๙ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙


703 1343