29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 25,2016

ตั้ง ‘รศ.เชิดชัย’ นั่งปธ.สภา แก้ปัญหา ‘มรภ.ชัยภูมิ’ หลังคสช.มีคำสั่งใช้ม.๔๔

          คสช.สุดทนทั้งราชภัฏสุรินทร์และชัยภูมิ หลังมีความขัดแย้งและเรื้อรังมานานเรื่องแต่งตั้งอธิการบดี ต้องใช้มาตรา ๔๔ ออกคำสั่งจัดการปัญหา พร้อมทั้งรมว.ศธ.ยังออกคำสั่งให้ผู้บริหารชุดเก่าพ้นตำแหน่ง ตั้งชุดใหม่เข้าไปจัดการปัญหา มี ‘รศ.เชิดชัย โชครัตนชัย’ อดีตอธิการบดีราชภัฏนครราชสีมา นั่งประธานกรรมการสภา มรภ.ชัยภูมิ ส่วนสุรินทร์สุดงง อดีตอธิการบดีตั้งตัวเองนั่งเก้าอี้ผู้บริหารศูนย์

          ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓๙/๒๕๕๙ เรื่อง “การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา” โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ความว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเปิดการสอนและจัดการศึกษาทั้งในและนอกสถานที่ตั้งโดยใช้หลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผลิตบัณฑิตที่มีปัญหาด้านคุณภาพ และไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สภาสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งอาศัยอำนาจและช่องว่างทางกฎหมายดำเนินการในลักษณะที่ส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป มีการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งเกิดปัญหาร้องเรียนและฟ้องร้องทางคดีเป็นจำนวนมากทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา แม้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พยายามใช้กลไก ทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวแก้ไข ทบทวน หรือดำเนินการใหม่ในเรื่องต่างๆ แล้ว แต่ไม่อาจทำให้ปัญหาคลี่คลายได้โดยเร็ว การดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้จึงไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยตรง ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลและธำรงไว้ซึ่งความเป็นสถาบันทางวิชาการชั้นสูงของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ความไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมของการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้แก่สังคมโดยรวมต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ฯลฯ โดยในข้อ ๑๒ ของประกาศฉบับนี้ ระบุว่า “เมื่อคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามคำสั่งนี้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิโดยทันที” นั้น

          สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ นายนิตย์ คำธนนันทิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เปิดเผยว่า ล่าสุดหลังมีคำสั่งใช้มาตรา ๔๔ ของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้มีการดำเนินการควบคุมการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และจะมีผลทำให้คณะผู้บริหารในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ สิ้นสุดอำนาจลงทันที ทั้งนี้ เพื่อที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดโดยตรงเร่งลงมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยฯ เนื่องจากมีความขัดแย้งมายาวนาน และเกิดปัญหาทั้งในการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติจะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ทั้งที่ตำแหน่งอธิการบดีว่างมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ มาถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้งได้ รวมทั้งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ นายกสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่หมดวาระลงตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ มาปัจจุบันก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน มีความขัดแย้งและมีการร้องเรียนกันไม่จบสิ้น ส่งผลกระทบต่อนักศึกษา ที่ปัจจุบันมีประมาณ ๖,๘๑๐ คน ซึ่งหากปล่อยไว้นานต่อไปไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน

          “เมื่อมีคำสั่งนี้ออกมา น่าจะเป็นผลดีต่อสถาบัน และต่อการจัดการเรียนการสอนด้วย เพราะจะทำให้เกิดความคล่องตัวและเกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาโดยรวมด้วย เพราะจากนี้ไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้ลงมาดำเนินการโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการบริหารมหาวิทยาลัยฯ เพื่อนำไปสู่การสรรหา แต่งตั้ง คณะผู้บริหารทั้งหมดให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งด้านปัญหาการส่งเสริมการเรียนการสอน ด้านงบประมาณต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยฯ ควรจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาด้วย” นายนิตย์ คำธนนันทิกุล กล่าว

          ขณะที่นางสาวการะเกด อุ่นอุรา นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ กล่าวว่า อยากให้ คสช.เร่งลงมาดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งในการบริหารงานของผู้บริหารกันเองให้จบโดยเร็วด้วย เพราะขณะนี้ก็ยังไม่มีอธิการบดี มีเพียงผู้รักษาการเท่านั้น รวมทั้งคณะกรรมการบริหารสภามหาวิทยาลัยฯ ก็ยังไม่มี ตนได้ยินว่ามีความขัดแย้งภายในมานาน หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อก็จะไม่ส่งผลดีต่อนักศึกษาอย่างแน่นอน

          ทางด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ หลังมีประกาศของคสช.ฉบับนี้ออกมาก็ยังมีการเรียนการสอนตามปกติ ซึ่งอาจารย์รัชดา  ธนูศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย (ผู้แทนคณาจารย์) มหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่า ประกาศฉบับนี้ ไม่มีผลกระทบกับคณาจารย์ จะกระทบเฉพาะฝ่ายผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนการที่จะอยู่หรือจะไป จะยุติบทบาทหน้าที่หรือจะยังคงอยู่ก็ขึ้นอยู่กับคำสั่งของกรรมการที่จะมีคำสั่งออกมา

          ดร.อัครเดช สุพรรณฝ่าย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภาฯ เปิดเผยว่า มูลเหตุสำคัญที่ คสช.ใช้มาตรา ๔๔ นั้น มาจากความคิดเห็นต่างกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยสภามหาวิทยาลัย กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ใน ๓ เรื่อง คือ การเสนอชื่ออธิการบดี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งสภาฯ ส่งไปแล้วนานกว่า ๗ ปี แต่สกอ.ยังไม่ดำเนินการ ด้วยเหตุผลว่า มีผู้ร้องเรียน มีความเห็นในข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ้นสุดที่ศาลปกครองแล้ว ส่วนเรื่องที่ ๒ การสอบวินัยร้ายแรง หลังคณะกรรมการสอบสวนและมีผลออกมาแล้วว่า ไม่ได้ผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งเป็นที่ยุติแล้ว และเรื่องการฟ้องร้องนายสุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการ สกอ. ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๗ กระทั่งศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกนายสุเมธ แย้มนุ่น ๑ ปี (รอลงอาญา) ไปแล้ว เมื่อคำสั่งตามมาตรา ๔๔ ออกมา คณะผู้บริหารคงต้องทำหน้าที่ดูแลมหาวิทยาลัยจนถึงที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย นักศึกษา บุคลากร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ให้ดีที่สุด การใช้อำนาจก็เป็นส่วนของผู้มีอำนาจที่จะใช้ ซึ่งต่อจากนี้ไป จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสภาฯ และ ผู้บริหารชุดใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อตั้งแล้วต้องแสดงให้เห็นว่าทำดี และรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย ตนพร้อมปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ออกมา หวังว่าการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจทุกส่วนคงจะทำให้ปัญหาที่ผ่านมาคลี่คลายลง นำไปสู่ทางออกที่ดี เพื่อประโยชน์ของนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสังคมไทยต่อไป

          แหล่งข่าวรายหนึ่งในแวดวงการศึกษาของมรภ.สุรินทร์ ระบุว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช.ใช้ม.๔๔ เพื่อคลี่คลายปัญหาที่แก้ไม่ได้มานาน แต่คณะกรรมการสภา และผู้บริหารชุดใหม่ คสช.และกกอ. ไม่ควรนำบุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ แต่ควรเป็นคนกลางอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะไม่จบ เสมือนว่าฝ่ายหนึ่งล้มอีกฝ่าย เพื่อต้องการเข้ามามีอำนาจเสียเอง คสช.ต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก เพราะอาจถูกมองจากสังคมว่า ใช้อำนาจเพื่อเปิดทางเอื้อให้คู่ขัดแย้ง จะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมเสียเอง

          ต่อมาพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีคำสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภา กรรมการสภา อธิการบดีหรือรักษาการอธิการบดี และรองอธิการบดีในปัจจุบัน ทั้ง ๒ มหาวิทยาลัย พ้นจากตำแหน่ง และได้แต่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนทั้ง ๒ แห่ง พร้อมทั้งให้โอนบัญชีและทรัพย์สินให้อธิการบดีคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ วันหลังคำสั่งมีผลบังคับใช้ แต่ปรากฏมีข่าวออกมาว่านางอัจฉรา ภาณุรัตน์ อดีตรักษาการอธิการบดี มรภ.สุรินทร์ ออกคำสั่งแต่งตั้งตนเองและพวกเป็นผู้บริหารด้านต่างๆ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์มาตรฐานการศึกษา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์กร ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาเขตบนพื้นที่นอกมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษาส่วนกายภาพและสิ่งแวดล้อม และแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา โดยนางอัจฉราออกคำสั่งในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม หลังมีคำสั่ง คสช.ที่ ๓๙/๒๕๕๙ แก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล ๒ มหาวิทยาลัยดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ สร้างความฮือฮาอย่างมาก ทั้งๆ ที่ คำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสภา อธิการบดี และให้นายกสภา กรรมการสภา อธิการบดีหรือรักษาการอธิการบดีและรองอธิการบดีคนปัจจุบัน ทั้ง มรภ.สุรินทร์ และมรภ.ชัยภูมิ พ้นจากตำแหน่งนั้นมีผลในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ดังนั้นผู้บริหารชุดปัจจุบันจะต้องดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินให้กับอธิการบดีคนใหม่ของทั้ง ๒ แห่งภายใน ๓ วัน หรือภายในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙

          สำหรับคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคล ปฏิบัติหน้าที่แทนสภา มรภ.สุรินทร์ ประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้ นายถนอม อินทรกำเนิด เป็น ประธานกรรมการ สำหรับกรรมการ ประกอบด้วย รศ.อานนท์ เที่ยงตรง, รศ.ศศิวิมล มีอำพล, ผศ.จรูญ ถาวรจักร, นายชวลิต หมื่นนุช และนายอภิมุข สุขประสิทธิ์, รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ, เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ, เจ้าหน้าที่สกอ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะบุคคลเหล่านี้มีอำนาจและหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่สภามรภ.สุรินทร์ ตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.๒๕๔๗ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จัด ระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมรภ.สุรินทร์ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๓๙/๒๕๕๙ เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา และแต่งตั้ง ผศ.จรูญ ถาวรจักร ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มรภ.สุรินทร์

          ในส่วนของมรภ.ชัยภูมิ ได้แก่ รศ.เชิดชัย โชครัตนชัย เป็น ประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์, รศ.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล, รศ.สุภาว์ จุลนาพันธุ์ และนายสว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์, รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็น กรรมการและเลขานุการ, เจ้าหน้าที่ สกอ. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ สกอ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะบุคคลดังกล่าวมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้ ปฏิบัติหน้าที่สภามรภ.ชัยภูมิ ตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.๒๕๔๗ และออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมรภ.ชัยภูมิ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๓๙/๒๕๕๙ เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาและแต่งตั้ง ผศ.เฉลย ภูมิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มรภ.ชัยภูมิ

          สำหรับรศ.เชิดชัย โชครัตนชัย เกิดเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๘๖ ที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จบการศึกษา กศ.บ. (ประวัติศาสตร์-ภาษาไทย) วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน, M.S. in Ed. (Educational Administration) Jackson State University,Miss,USA  และกศ.ด.(พัฒนศึกษาศาสตร์)มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สำหรับประสบการณ์ด้านการศึกษานั้น ระหว่างปี ๒๕๐๙-๒๕๑๘ อาจารย์โรงเรียนสุรนารีวิทยา, ปี ๒๕๑๘-๒๕๓๖ อาจารย์สถาบันราชภัฎนครราชสีมา, ปี ๒๕๓๖-๒๕๔๑ อธิการบดีสถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์, ปี ๒๕๔๒-๒๕๔๖ อธิการบดีสถาบันราชภัฏนครราชสีมา จากนั้นในปี ๒๕๔๘ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และล่าสุดได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสภา มรภ.ชัยภูมิ

          อนึ่ง มรภ.สุรินทร์มีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งอธิการบดีและธรรมาภิบาลของสภาฯ โดยสภาฯ ชุดนี้ดำรงตำแหน่งมานานถึง ๗ ปี ทั้งที่ตามกฎหมายควรสรรหาและแต่งตั้งชุดใหม่มาบริหารมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ดำเนินการ อีกทั้ง สภาฯ ชุดนี้แต่งตั้งรักษาการอธิการบดีมาหลายคนจนมาถึงคนล่าสุด ซึ่งสกอ.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีประเด็นในข้อกฎหมาย โดยส่งเรื่องกลับไปให้สภาฯ พิจารณาใหม่ แต่ไม่ดำเนินการ แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ๓ คนสั่งการให้แก้ไข ก็ไม่ยอมดำเนินการ จึงต้องมีการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ส่วนมรภ.ชัยภูมิ มีปัญหาเรื่องการสรรหาสภาฯ และอธิการบดียืดเยื้อมานานถึง ๔ ปี ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เช่นกัน ส่งผลให้หัวหน้า คสช.มีคำสั่งนี้ออกมา

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

 


696 1340