29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 17,2016

ขอคสช.ใช้ม.๔๔ ฟันอบจ. ขุดคลอง-ทำถนน ๓๔๖ ล. ‘วิเชียร’ สั่งแจ้งความเอาผิด


นายอดิศักดิ์ ชนสูงเนิน, นายอานนท์ มฤคศิรมาส และนายสมชาย ลิขิตวรสิริ ยื่นหนังสือที่กลุ่มงานร้องทุกข์
สำนักงานรัฐมนตรี ก.มหาดไทย เพื่อให้มท.๑ ตรวจสอบอบจ.

          ‘ผู้ว่าฯ วิเชียร’ กระตุ้นกรณีสภาอบจ.นครราชสีมา อนุมัติ ๓๔๖ ล้านขุดคลองและทำถนน ซอยเหลือโครงการละ ๕ แสน ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบจริงจัง ล่าสุดแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่อบจ.แล้ว พร้อมรายงานให้ มท.๑ ทราบ รอสตง.ฟันธงเอาผิดผู้บริหาร กลุ่มประชาชนต่อต้านทุจริตดาหน้ากระทุ้งผู้ว่าฯ พร้อมบุกร้องมท.๑ ที่กระทรวง ขอให้คสช.ใช้ม.๔๔ ปราบทุจริตก่อนลุกลาม

ย้อนเหตุการณ์

          ตามที่ “โคราชคนอีสาน” ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก “เครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น” เกี่ยวกับการเปิดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สมัยวิสามัญ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๙ จำนวน ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อดำเนินการขุดลอกคลองจำนวน ๒๔๐ โครงการ โดยแยกย่อยมูลค่าโครงการละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ใช้วิธีตกลงราคา) ทั้งที่ตามนโยบายของรัฐบาล คสช. ให้จ่ายขาดเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยการนำเงินสะสมไปดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น และช่วยเหลือภัยแล้งแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่กันดารที่ประสบภัยแล้ง แต่ปรากฏว่า อบจ.นม.ได้จ่ายขาดเงินสะสมจำนวน ๑๒๐ ล้านบาทไปขุดคลองทั้งหมด ๒๔๐ โครงการ มีมูลค่าโครงการละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท เท่ากันทุกโครงการ หลังข่าวแพร่สะพัดอย่างกว้างขวางและมีการเคลื่อนไหวจากประชาชนผู้ต่อต้านการทุจริต และเรียกร้องให้ป.ป.จ.นครราชสีมา ดำเนินการ ซึ่งนางนรา วงศ์สวรรค์ ประธานป.ป.จ.นครราชสีมา แจ้งว่า ป.ป.จ.ทำหน้าที่ด้านป้องกันทุจริต ส่วนในเรื่องนี้ต้องสอบถามนายมงคล สาริสุต ผู้อำนวยการสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต่อมานายมงคลเปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนนี้เช่นกันและเตรียมหารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบความจริงที่เกิดขึ้น ในขณะที่ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ทุกโครงการทำด้วยความโปร่งใส

          แต่แล้วในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ มีการพิจารณาญัตติขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๙ จำนวน ๒๒๖,๕๗๖,๖๘๐ บาท เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ จำนวน ๔๔๔ โครงการ แต่แบ่งงบประมาณจำนวน ๒๑๙,๗๙๙,๐๐๐ บาทจัดสรรให้กับสำนักการช่าง เพื่อดำเนินโครงการขุดลอกคลอง ก่อสร้างถนน และปรับปรุงถนน รวม ๔๒๘ โครงการ รวมงบประมาณที่ผ่านสภาฯ ทั้งสองครั้งเป็นเงิน ๓๔๖,๕๗๖,๖๘๐ บาท

สตง.ชี้เข้าข่ายพ.ร.บ.ฮั้ว

          การผ่านงบประมาณ ๒ ครั้งในเดือนพฤษภาคมมียอดสูงเกือบ ๓๕๐ ล้านบาท และนำไปขุดคลองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่งบประมาณก้อนแรก ๑๒๐ ล้านบาทก็จ้างขุดคลองทั้งสิ้น ๒๔๐ โครงการ ก็เป็นที่วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านจากภาคประชาชน ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครราชสีมา จึงทำหนังสือด่วน (ลับ) ถึงร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกอบจ.นครราชสีมา เพื่อขอให้พิจารณา ระงับ ยับยั้ง หรือทบทวนการดำเนินโครงการขุดลอกคลองและถนน ที่ใช้การจ่ายขาดเงินสะสม และการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๙ มาดำเนินการ ซึ่งมีการตั้งราคางานโครงการไว้ ๕ แสนบาท เท่ากันทุกโครงการ การที่ อบจ.นครราชสีมา อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสม และโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณโครงการในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการจัดทำโครงการเพื่อให้การจัดหาเป็นวิธีตกลงราคา ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๖๐๔๖ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ เรื่อง การยกเว้นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ราคาอย่างเป็นธรรม อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๒ และเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๑๔๓๘ ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ เรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำหนดว่า โครงการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดำเนินการ จะต้องเป็นโครงการที่เป็นภาพรวมของจังหวัด ที่มุ้งเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม มีผู้รับประโยชน์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าหนึ่งแห่ง และเป็นโครงการที่เกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยถือปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๖ จึงเห็นควรให้ อบจ.นครราชสีมาพิจารณา ระงับ ยับยั้ง หรือทบทวนการดำเนินการโครงการในลักษณะดังกล่าว และตรวจสอบว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ราชการ และให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวไปแล้วอย่างต่อเนื่อง

‘หมาเฝ้าบ้าน’ ให้ปลดนายกฯ

          ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ นายอานนท์ มฤคศิรมาส กรรมการโครงการหมาเฝ้าบ้านนครราชสีมา รุ่น ๑ ได้ยื่นหนังสือถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา เรื่องขอให้ปลดนายกอบจ.นครราชสีมา เพราะเห็นว่างบประมาณ ๓๔๖ ล้านบาท ที่ผ่านสภาฯ มีข้อพิรุธ มีเพียงการจุดคลองแทบทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ทำกันมาหลายปีแล้ว ไม่น่าจะมีพื้นที่ให้ดำเนินการขุดลอกอีก ซึ่งพบว่าในพื้นที่ตำบลหนองกระทุ่ม และอีกหลายตำบลในอำเภอเมืองไม่มีการขุดลอกคลองแต่กลับมีการเบิกจ่ายเงินแล้ว ซึ่งความผิดนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ได้ไปเป็นข้อมูลในการบรรยายที่จังหวัดลำพูน ดังนั้น เพื่อไม่ให้จังหวัดนครราชสีมาเกิดความเสียหายมากกว่านี้ ขอให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจการปกครองปลดนายกอบจ.นครราชสีมาทันที เพื่อป้องกันการทุจริตซ้ำซ้อน เพราะเป็นความผิดร้ายแรงเสียหายอย่างสูง ซ้ำยังกระทบต่อชื่อเสียงของจังหวัดด้วย หากท่านมิได้ดำเนินการ กลุ่มหมาเฝ้าบ้านมีความจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของท่านไปยังหัวหน้าคณะคสช. เพื่อให้ใช้ม.๔๔ กับพฤติกรรมการทุจริตในครั้งนี้โดยด่วน

ขีดเส้นตายผวจ.

          ต่อมาวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ นายอดิศักดิ์ ชนสูงเนิน ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์รักษ์บ้านเกิด (พรก.) ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ โดยเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นระบุว่า “กรณีนี้สื่อต่างๆ ได้นำเสนอประเด็นความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการดังกล่าวของอบจ.นครราชสีมา เช่น การทำโครงการซ้ำซ้อนกับโครงการเดิมที่ได้ทำไปแล้ว หรือมีการเบิกจ่ายเงินทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เป็นเหตุให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ และขอให้ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกอบจ.นครราชสีมา พิจารณายับยั้งหรือทบทวนโครงการ โดยกลุ่มพิทักษ์รักษ์บ้านเกิด มีความเห็นว่า ในฐานะผู้ว่าฯ นครราชสีมา ควรเร่งตรวจสอบทำความจริงให้ปรากฏ แล้วเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อเรียกเอาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของคนนครราชสีมากลับคืนมา ตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ขณะขอบคุณพี่น้องโคราช (ภายหลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ) ว่า ‘…ต่อไปเรามีภารกิจในการที่จะร่วมสร้างเมืองโคราชให้เป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะร่วมกัน จะทุ่มเทในการทำงานร่วมกัน ในการผลักดันให้โคราช ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ เพื่อลูกหลานและชาวโคราชในอนาคตต่อไป...’ ดังนั้น กลุ่มพิทักษ์รักษ์บ้านเกิด จึงสนับสนุนแนวคิด และยินดีร่วมมือในการสร้างเมืองโคราช ซึ่งการตรวจสอบความไม่โปร่งใสของ อบจ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในโจทย์ที่จะพิสูจน์ปณิธานของท่าน และขอให้กำลังใจท่านในการทำหน้าที่”

ขอให้สภาอบจ.ยุติการทำงาน

          จากนั้นในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ นายประสิทธิ์ พรหมนอก ผู้ประสานงานกลุ่มลูกหลานย่าโม ได้ทำหนังสือยื่นถึงผวจ.นครราชสีมา ในกรณีนี้อีก โดยกล่าวอ้างว่า การอนุมัติงบฯ ดังกล่าวเป็นการแจกจ่ายงานในกลุ่มอบจ. โดยไม่มีผู้รับเหมาภายนอกได้งานนี้ เหมือนเป็นการปิดประตูตีแมว ท้องถิ่นจังหวัดก็นิ่งเฉยและไม่ท้วงติง ปล่อยให้ใช้งบกันอย่างสนุกมือ สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน เหมือนเป็นการปล้นประเทศ ซึ่ง “กลุ่มลูกหลานย่าโม” เฝ้าดูท่านมาระยะหนึ่งแล้วเห็นว่ายังไม่ทำอะไรที่ชัดเจนในเรื่องทุจริตของอบจ.โคราชที่เป็นข่าวโด่งดัง จึงขอให้ท่านในฐานะพ่อเมืองและคนโคราชรีบเร่งให้นายกอบจ.และคณะทั้งสภายุติการทำงานโดยด่วน

ให้ใช้ม.๔๔ จัดการนายกฯ

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๙ นายอดิศักดิ์ (ชายน้อย) ชนสูงเนิน พร้อมด้วยนายอานนท์ มฤคศิรมาส นายประสิทธิ์ พรหมนอก และนายสมชาย ลิขิตวรสิริ (ชัย กองเมือง) เดินทางไปยื่นหนังสือที่กลุ่มงานร้องทุกข์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ถึงพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายอนุชา สังประกุล หัวหน้ากลุ่มงานร้องทุกข์ฯ เป็นผู้รับเรื่อง โดยรายละเอียดหนังสือที่นำไปยื่นนั้นเป็นเรื่องการทุจริตที่อบจ.งบประมาณ ๘๕๘ ล้านบาท ความว่า “อบจ.นครราชสีมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีงบประมาณปีละเกือบ ๔,๐๐๐ ล้านบาท มีจำนวนสมาชิกสภาถึง ๔๘ คน เมื่อปี ๒๕๕๖ สภาอบจ.นครราชสีมาได้นำงบประมาณ ๔๙๔ ล้านบาท มาทำโครงการเพื่อเลี่ยงระบบ e-Auction โดยซอยโครงการเป็นโครงการละ ๑.๙ ล้านบาท รวม ๒๖๕ โครงการ เป็นโครงการขุดลอกคลองเป็นส่วนใหญ่ งบประมาณชุดนี้มีบริษัทที่รับงานเป็นกลุ่มบริษัทของผู้บริหารอบจ.นครราชสีมา เป็นส่วนใหญ่

          ในปี ๒๕๕๙ สภาอบจ.นครราชสีมาได้นำงบประมาณสะสม จำนวน ๑๒๐ ล้านบาท และนำงบปกติแต่มาปรับโอนไปอีก ๒๒๖ ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณทั้งหมด ๓๔๖ ล้านบาท โดยนำงบมาแบ่งซอยเป็นโครงการละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๖๘๓ โครงการ และอ้างความจำเป็นที่มีการร้องขอ และได้ทำตามนโยบายคสช.ที่เร่งจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สตง.และป.ป.ช.ได้ตรวจสอบพบว่า จาก ๖๘๓ โครงการ มี ๓๓ โครงการที่เบิกเงินไปแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในฐานะผู้แทนของชาวนครราชสีมา ที่รักชาติบ้านเมืองไม่มีอะไรแอบแฝงและไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่มีความปรารถนาดีต่อคสช.ในการร่วมกันปราบปรามการทุจริต ที่ถือเป็นมะเร็งร้ายของแผ่นดิน จึงขอให้ท่านดำเนินการดังนี้เพื่อยุติความเสียหายโดยด่วน

          ๑.ขอให้ใช้ม.๔๔ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร(อย่างที่เคยใช้กับเทศบาลตำบลบ้านใหม่ จังหวัดนครราชสีม ซึ่งมีเรื่องการทุจริตเพียง ๔.๒ ล้านบาท) เพราะหากปล่อยให้ผู้บริหารชุดนี้ยังทำหน้าที่ต่อไปอาจเป็นช่องทางให้ทำการทุจริตซ้ำอีก และข้าราชการเองไม่กล้าขัดคำสั่งผู้มีอำนาจและเอกสารสำคัญต่างๆ ถูกแก้ไขและยากต่อการตรวจสอบ

          ๒.ให้นำทหารลงตรวจทุกโครงการ ทั้งของปี ๒๕๕๖ และของปี ๒๕๕๙ รวม ๙๔๘ โครงการ ใช้วิธีจัดจ้างพิเศษ เพราะมีหลายโครงการที่ไม่ได้ดำเนินการจริง ข้อสังเกตคือไม่มีป้ายประกาศว่า ใครเป็นผู้มาดำเนินการ เรื่องนี้ประชาชนในพื้นที่ยืนยันกันได้เพราะเป็นชุมชนเล็กๆ ที่รู้ว่าใครจะมาทำอะไรในพื้นที่ของตน

          ๓.ขอให้ตรวจสอบความสัมพันธ์ของข้าราชการกับนักการเมือง ที่อาจทำให้การตรวจสอบการทุจริตครั้งนี้ไม่มีความเที่ยงธรรม เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของกระทรวงมหาดไทยให้ประชาชนมั่นใจได้ในความเป็นกลาง

          ๔.สิ่งที่ท่านจะได้ทำนี้เป็นการเสริมภาพลักษณ์และทำให้แนวนโยบายของคสช.มีความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้เพราะเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นภาษีอากรที่ประชาชนได้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศ “เงินของแผ่นดินต้องตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” ตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี”

          หลังจากยื่นหนังสือที่กระทรวงมหาดไทย ทั้ง ๔ ผู้ร้องเรียนได้ไปออกโทรทัศน์ช่องนิวส์วัน โดยเปิดโปงการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

แจ้งความเอาผิดจนท.แล้ว

          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายนที่ผ่านมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ทำโครงการขุดลอกคลอง และถนน ตามที่ทางสตง.ตรวจพบความไม่ชอบพามากลนั้น ทางจังหวัดทราบเรื่องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ทางท้องถิ่นจังหวัด ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เนื่องจากงบประมาณของอบจ.นครราชสีมา ตามที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจ่ายขาดเงินสะสมแบ่งซื้อแบ่งจ้าง เป็นโครงการเล็กน้อย ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อจะหลีกเลี่ยงการดำเนินการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง ทางจังหวัดโดยท้องถิ่นจังหวัดร่วมกับ สตง. และสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมามีการประชุมการทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา จากการไปตรวจสอบฎีกากว่า ๒๔๐ โครงการ พบว่า มี ๓๓ โครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว ซึ่งในจำนวน ๓๓ โครงการนี้ก็ไปตรวจพบอีกว่ามี ๑๑ โครงการโครงการละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท ที่เบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการทำงาน ทั้งนี้ การที่กล่าวหาว่า ไม่มีการทำงานก็ต้องลงไปพิสูจน์ในแต่ละพื้นที่ และเรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่มา แล้วมีการบันทึกถ้อยคำ ภาพถ่าย การเบิกจ่ายไปตรงกับภาพถ่ายที่เป็นพื้นที่จริง ซึ่งทั้ง ๑๑ โครงการ มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญา ในข้อหาทุจริตกับเจ้าหน้าที่อบจ.นครราชสีมาทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้บังคับบัญชาของ อบจ.นครราชสีมาไปดำเนินการแจ้งความเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตั้งกรรมการสอบวินัย และยังแจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างที่ร่วมในการเบิกจ่าย ตรงนี้เป็นส่วนที่หนึ่งที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และแจ้งความดำเนินคดีแล้ว และรายงาน พร้อมทั้งติดตามคดีแล้ว

นำผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบ

          ผวจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า ในส่วนที่เหลืออีก ๒๒ โครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว ซึ่งสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบนั้น ก็ได้ลงไปในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องมีร่องรอยในการทำงาน และแต่ละพื้นที่ต้องนำช่างที่เชี่ยวชาญไปวัดกันจริงๆ เป็นรายโครงการว่า มีการดำเนินการทำจริงหรือไม่ ได้ตามคุณสมบัติ (specification) ที่กำหนดหรือไม่ มีความซ้ำซ้อนหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คิดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะแล้วเสร็จ

          “ในส่วนที่สาม นอกเหนือจาก ๓๓ โครงการ เป็นเรื่องของการใช้อำนาจในการโอนงบประมาณที่ตั้งปกติมาตั้งเป็นโครงการใหม่ แล้วโครงการใหม่นี้มีเงินจัดซื้อจัดจ้างโครงการไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท และโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างบางโครงการอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของ อบจ.นครราชสีมา เช่น โครงการเล็กอยู่ในพื้นที่ของอบต.ใดอบต.หนึ่งอยู่แล้ว หรือบางโครงการเป็นพื้นที่ใกล้กัน ลักษณะเหมือนกับซอยงานอีกประมาณกว่า ๑๐๐ โครงการ ซึ่งตรงนี้ทางสตง.รับผิดชอบไปตรวจสอบในรายละเอียด เรื่องทั้งหมดนี้จะสรุปผลแล้วส่งไปให้ป.ป.ช. โดยป.ป.ช.จะเชื่อมโยงว่า การทำอย่างนี้มีผู้เกี่ยวข้องระดับไหนบ้าง โดย ณ วันนี้ที่จังหวัดจะต้องตรวจให้แล้วเสร็จคือ ๓๓ โครงการที่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีการเบิกเงินไปเรียบร้อย ซึ่งพบว่ามี ๒๒ โครงการไม่ได้ทำจริง แต่มีการเบิกเงินไปแล้ว” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

รอสตง.ฟันธงเชื่อมโยงผู้บริหาร

          นายวิเชียร เปิดเผยในท้ายสุดว่า สำหรับปัญหาหลักคือพื้นที่ที่อ้างว่าดำเนินการแล้วนั้นเป็นพื้นที่ที่มีน้ำ จะต้องใช้ช่างของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนำกล้องไปส่องตรวจสอบดินเดิม และมูลดินใหม่ เนื่องจากไม่สามารถวัดระดับท้องน้ำได้ ส่วนจำนวนที่เหลืออีกกว่า ๑๐๐ โครงการถ้ามีการซ้ำซ้อนกับงานของอบต. อย่างไรนั้น จะต้องดูที่เจตนาว่า ทำไมจึงยกเลิกโครงการเดิมมาทำโครงการใหม่ แล้วโครงการใหม่ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ถึงแม้ว่ายังไม่ได้ลงมือดำเนินการ ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงการที่ถือเป็นความผิดระดับหนึ่งแล้ว เนื่องจากอบจ.ต้องทำโครงการที่มีลักษณะเป็นโครงการใหญ่กว่าโครงการของ อบต. ฉะนั้นต้องเป็นโครงการระหว่างตำบลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้รายงานเข้าไปยังกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแล้ว และขณะนี้กำลังทำรายงานเพื่อนำเสนอไปอีก โดยทาง กรมฯ น่าจะนำเรียน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นทางจังหวัดฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และลงไปตรวจพร้อมกับสตง.ตั้งแต่แรก ส่วนจะสาวหรือโยงไปถึงข้าราชการหรือผู้บริหารระดับสูงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หรือไม่นั้น ทางสตง.รับเป็นผู้ดำเนินการเพื่อดูความเชื่อมโยง แต่ยืนยันว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักฐาน โดยเฉพาะเรื่องนี้เข้าใจว่า สังคมกำลังจับตามอง

          หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๘๖ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๙


696 1353