26thApril

26thApril

26thApril

 

October 27,2016

ขนส่งมวลชนสาธารณะโคราช จบลงที่รถไฟฟ้ารางเบา ลงทุนไม่ต่ำกว่า ๒ หมื่นล้าน

          มทส.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “โครงการระบบขนส่งสาธารณะ” ครบแล้ว เหลือเวทีสัมมนาใหญ่อีก ๒ ครั้ง ประชาชนเห็นดีกับ “รถไฟฟ้ารางเบา” หรือ LRT เหมาะกับโคราชมากสุด ลงทุนเบื้องต้น ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท คาดบรรเทาปัญหาจราจรในเขตเมืองได้มาก

          ตามที่สำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดำเนินงานในโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา วงเงิน ๔๓,๗๐๐,๐๐๐ บาท เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙ สิ้นสุดวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐ ระยะเวลารวมทั้งสิ้น ๑๔ เดือน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และหัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นผู้จัดการโครงการฯ ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ทาง สนข. มอบหมายให้มทส.ดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเคยได้รับว่าจ้างจากเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อจัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้ง มทส. ยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมขนส่ง ซึ่งการดำเนินงานศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมาครั้งนี้ ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก ได้แก่ ๑. จัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง เช่น ท่าอากาศยานนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่กว้างประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ๒. จัดทำแผนแม่บทการจัดระบบการจราจรในเขตเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนแม่บททั้งระบบการขนส่งสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น รถโดยสารทุกประเภท อาจจะเป็นรถเมล์ รถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ BRT (รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ) เป็นต้น ขณะเดียวกันระบบการจราจรจำเป็นต้องวางแผนป้องกันเรื่องการจราจรติดขัด และป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นด้วย หลังจากที่ได้จัดทำแผนแม่บทระบบการขนส่งสาธารณะและการจราจรแล้วเสร็จ สุดท้าย ๓. ศึกษาจัดทำรูปแบบเบื้องต้น (Conceptual Design) โดยคัดเลือกเส้นทางเป็นโครงการนำร่องระบบขนส่งสาธารณะ ๑ เส้นทาง ซึ่งจะใช้เกณฑ์การพิจารณาจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (Transit oriented development : TOD) หรือจุดจอดของระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะพยายามทำให้เหมือนกับต่างประเทศหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะพื้นที่โดยรอบสถานีจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีราคาสูง ที่สำคัญคือต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เช่น มีร้านค้าเชิงพาณิชย์ หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
 



ศาสตราจารย์  ดร.สุขสันติ์   หอพิบูลสุข 

          อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ในฉบับที่ ๒๓๕๑ วันที่ ๑๖-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๙ ว่า การจัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา เมื่อปี ๒๕๕๕ กับการจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ที่ได้เริ่มดำเนินการศึกษาตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา จะต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เนื่องจากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของชาวโคราช จากช่วงที่ผ่านมานิยมมีที่ดินเป็นของตัวเอง และปลูกบ้านอยู่อาศัยเอง แต่ปัจจุบันอยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรกันมากขึ้น และเริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับอยู่อาศัยเกิดขึ้น อีกทั้งแหล่งช้อปปิ้ง นอกเหนือจากเดอะมอลล์ นครราชสีมา ในเร็วๆ นี้ จะมี Terminal 21 มาเปิดให้บริการ รวมถึงเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ก็กำลังก่อสร้าง นี่เป็นบริบทที่ไม่ได้ถูกคิดไว้ในการจัดทำแผนแม่บทฯ เมื่อปี ๒๕๕๕ ปัจจัยต่อมาที่อาจจะต้องมาผนวกเข้ามาด้วย คือ นโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟไทย-จีน ที่จะรองรับรถไฟความเร็วสูงได้ในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ในงานศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งในเขตเมืองนครราชสีมา เมื่อปี ๒๕๕๕ จะมี ๕ เส้นทาง ได้แก่ ราชสีมา-บ้านเกาะ, โคกกรวด-ราชสีมา, ประตูน้ำ-หัวทะเล, บ้านเกาะ-จอหอ และแยกขอนแก่น-จอหอ โดยจะนำร่องดำเนินการในเส้นทางสีน้ำเงิน “ราชสีมา-บ้านเกาะ” แต่ทั้งนี้ ในเส้นทางแยกขอนแก่น-จอหอ ศูนย์การค้า Terminal 21 กำลังจะเปิดให้บริการ ทำให้บริบทได้เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาและต่อยอดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยจะใช้แผนแม่บทฯ เมื่อปี ๒๕๕๕ เป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดการพัฒนาสำหรับการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้ 

          ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๙ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงที่ ๒ จากประชาชน ได้แก่ เวทีที่ ๑ (โซนทิศตะวันตก) วันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ ช่วงเช้าที่เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด เวทีที่ ๒ (โซนทิศเหนือ) ในบ่ายวันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ ณ สำนักงานพัฒนาที่ดิน เวทีที่ ๓ (โซนทิศตะวันออก) ช่วงเช้าวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ ณ สำนักงานสหกรณ์ เวทีที่ ๔ (โซนทิศใต้) ช่วงบ่ายวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่โรงแรมโคราชรีสอร์ท และเวทีที่ ๕ (โซนเทศบาลเมือง) วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ โรงแรมวีวัน 

          สำหรับเวทีที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคมนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้จัดการโครงการ ศึกษาแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.รัชพลภู่ บุปผาพันธ์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรฯ ร่วมจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นช่วงที่ ๒ โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายประชาชน และผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) กว่า ๒๐๐ คน ร่วมรับฟังการนำเสนอแนวคิดในการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรและการพัฒนาแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนำเสนอการบูรณาการจัดการจราจร และความต้องการการเดินทาง รวมทั้งระดมความคิดเห็น จากผู้เข้าร่วม สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากการเข้าพื้นที่ช่วงที่ ๑ นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรตามแผนแม่บทจราจรแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะและโครงการนำร่อง ๑ เส้นทางที่คำนึงถึงข้อกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความเห็นการเข้าพื้นที่รับฟังความคิดเห็นช่วงที่ ๑ รวมทั้งรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม เสนอสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม นำไปปรับปรุงแก้ไขให้สนองความต้องการของประชาชน และส่วนรวมมากที่สุด

          ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรฯ เปิดเผยว่า นครราชสีมามีจำนวนประชากรมากที่สุดในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางของการเดินทางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง จึงมีปัญหาการกระจุกตัวของปริมาณความต้องการด้านการขนส่งและการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญหรือวันหยุดยาว แต่โครงสร้างพื้นฐานที่จำกัดทำให้ความสามารถในการกระจายสินค้าและบริการ การขนส่งสาธารณะไม่คล่องตัว รวมทั้งปัญหาการจราจรภายในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามารับรู้ มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษา การวางแผนโครงการ และให้การตัดสินใจดำเนินโครงการฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ชอบธรรม เป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ให้สามารถแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ให้เกิดการเชื่อมต่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของจังหวัด และลดการใช้พลังงานจากต่างประเทศและนำเข้า ซึ่งแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะ กำหนดเป็นเส้นทางรถไฟฟ้า ๓ เส้นทาง คือสายสีเขียว จากสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ ๓ (บ้านห้วยยาง) ไปตามถนนมิตรภาพ ถนนสุรนารายณ์ ถึงสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ ๒ สายสีม่วง จากตลาดเซฟวัน ถึงสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ และสายสีส้มจากดูโฮม หัวทะเล ผ่านเมืองชั้นใน

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงที่ ๒ จากประชาชน ทั้ง ๕ เวที สรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบตามแผนแม่บทเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะทั้ง ๓ เส้นทาง โดยเห็นว่าสายสีเขียว ควรสร้างก่อน ตามด้วยสายสีส้ม และสายสีม่วง โดยใช้ระบบ LRT ล้อเหล็ก บนดิน รวมทั้งมีข้อเสนอให้ปรับเส้นทางบางส่วน โดยคณะที่ปรึกษาจะนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นจากเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกเวที นำไปปรับแผนแม่บทโดยเฉพาะแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะ แล้วนำกลับมาเสนอในเวทีสัมมนาครั้งที่ ๒ (ระหว่างกาล) ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ก่อนสรุปเป็นแผนแม่บทที่สมบูรณ์เสนอต่อประชาคมโคราช ในการสัมมนาครั้งที่ ๓ (ปัจฉิมนิเทศ) 

          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย โชติษฐยางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า สิ่งที่คณะผู้ศึกษาเสนอไปในเวทีที่ผ่านไป ผู้เข้าร่วมประชุมก็เห็นด้วยกับ LRT แบบล้อเหล็ก เมื่อเทียบกับปริมาณการเดินทางของคนโคราชก็อยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คนต่อทาง หากเป็นรถบัสจะมีอายุสั้น การใช้งานประมาณ ๗-๑๐ ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ในขณะที่ LRT จะมีอายุประมาณ ๓๐ ปี ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย เป็นการลงทุนครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้นาน แม้การลงทุนในเบื้องต้นจะสูงกว่าแต่การบำรุงรักษาในระยะยาวแล้วจะคุ้มค่าและถูกกว่า ซึ่งมีการนำเสนอต่อที่ประชุมไปแล้วว่ามี ๓ เส้นทาง กระจายอยู่ทั่วเมือง แต่ทั้งนี้ ต้องมีการปรับหรือขยายเส้นทางเพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

          “กระบวนการศึกษาครั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ขณะนั้นจะมีแผนชัดเจนแล้วว่าจะมีกี่เส้นทาง ใช้ระบบไหน แต่งบประมาณในการลงทุนยังไม่มีความชัดเจนว่าเท่าไหร่แน่ เพราะเฉพาะการจัดทำระบบ LRT ก็จะอยู่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ในส่วนอื่นๆ ยังไม่มีรายละเอียด บางจุดอาจจะต้องมีการลงใต้ดิน เพื่อลดปัญหาการจราจร ซึ่งหากระบบนี้เกิดขึ้นแล้วก็จะช่วยลดปัญหาการขับรถส่วนตัวเข้ามาในเมือง โดยนั่ง LRT เข้ามาแทน ก็จะช่วยลดปริมาณการจราจรในเขตเมืองได้มาก เมื่อมีการเข้ามาลงทุนในเมืองโคราชมากขึ้น การจราจรก็จะคับคั่งมากขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็จะทำให้รถมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องสร้างระบบขึ้นมารองรับเพราะทุกวันนี้รถติดมากขึ้น สักวันก็ต้องเหมือนกรุงเทพฯ ส่วนจะเริ่มเส้นทางไหนก่อน-หลัง จะต้องมาหาข้อสรุปอีกครั้ง” รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย กล่าว

          อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ระบบ LRT แบบใหม่ ที่จะนำมาใช้พัฒนาขนส่งมวลชนเมืองโคราชนั้น ที่ตัวรถจะไม่มีเสาเพื่อยื่นขึ้นไปแตะกับสายไฟด้านเหนือตัวรถ แต่ตัวรถจะใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่ประจุไว้ในตัวรถเอง และทุกๆ การจอดรับผู้โดยสารที่สถานีจะมีการชาร์จไฟฟ้าเข้ามาเก็บยังตัวรถ ซึ่งข้อดีคือไม่ต้องสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าที่จะบดบังทัศนียภาพของเมือง ใช้ระบบประจุไฟฟ้าเข้ามาเก็บยังตัวรถทุกๆ การจอดที่สถานีแทน รองรับการใช้งานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องหยุดรถชาร์จไฟเป็นเวลานาน สำหรับกระบวนการต่อไปจะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านวิศวกรรมและการลงทุน ศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (TOD) และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หลังจากนั้นจะสรุปผลส่งไปยังสนข. และยื่นเสนออนุมัติงบประมาณกับกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเริ่มตอกเข็มการก่อสร้างได้เร็วที่สุดภายในปี ๒๕๖๒

          ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๙๔ วันพุธที่ ๒๖ - วันจันทร์ที่ ๓๑ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


743 1350