26thApril

26thApril

26thApril

 

November 29,2016

เอสซีจีเคมิคอลส์ลงทุน ๒๐ ล้าน ใช้แสงซินโครตรอนเพื่อธุรกิจ

            เอสซีจี เคมิคอลส์ จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทุ่มงบ ๒๐ ล้านบาท เปิด SCG Chemicals Research Unit พร้อมพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดพอลิเมอร์ด้วยแสงซินโครตรอนแห่งเดียวในอาเซียน เชื่อมั่นร่วมกันขับเคลื่อน คิดค้น และพัฒนาวิจัย ผลักดันนวัตกรรมสู่สากล

            เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๔๐ น. มีพิธีลงนามความร่วมมือเปิด SCG Chemicals Research Unit หรือ หน่วยวิจัยของเอสซีจี เคมิคอลส์ ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ระหว่าง ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ–เทคโนโลยี เอสซีจี เคมิคอลส์ และ ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดยมี คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ร่วมเป็นพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ด้วย

            ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา กล่าวว่า “แสงซินโครตรอน เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ที่ตอบโจทย์งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท ที่ผ่านมา เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้เข้ามาทำวิจัยกับทางสถาบันฯ โดยใช้แสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติกเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ และมีการพัฒนางานวิจัยด้วยแสงซินโครตรอนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ด้วยงบประมาณ ๒๐ ล้านบาท เพื่อพัฒนาสถานีทดลอง รวมถึงการจัดตั้ง SCG Chemical Research Unit หรือหน่วยงานเอสซีจี เคมิคอลส์ ภายในสถาบันขึ้น เพื่อให้นักวิจัยของเราเข้าถึงอุปกรณ์ตรวจวัดขนาดพิเศษ และได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยให้เราพัฒนานวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรด้านการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเปิด SCG Chemicals Research Unit ยังเป็นการดำเนินการตามกลยุทธ์การผลักดันงานด้านวิจัยและพัฒนาของเอสซีจี เคมิคอลส์ด้วย เราเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการพัฒนางานวิจัยพอลิเมอร์ของไทยให้ทัดเทียมประเทศชั้นนำ เพื่อให้บริษัทคนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมและแข่งขันในระดับโลก”

            ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร เปิดเผยว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีความยินดียิ่งที่เอสซีจีเคมิคอลส์ ตัดสินใจร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการลงนามสัญญาวิจัยโครงสร้างพอลิเมอร์โดยใช้แสงซินโครตรอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทั้งต่องานวิจัยของบริษัท และสถานีทดลองของสถาบันฯ โดยจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดพิเศษซึ่งสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดเดิมของสถาบันฯ ทำให้วัดตัวอย่างในเทคนิคการกระเจิงรังสีเอ็กซ์มุมแคบ และการกระเจิงรังสีเอ็กซ์มุมกว้างไปพร้อมกันได้ ช่วยให้ทำการทดลองได้เร็วกว่าเดิมถึง ๒ เท่า ทั้งยังให้ผลการทดลองที่ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งยืนยันการใช้ประโยชน์เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของชาติ ให้ประเทศไปสู่การเป็น Thailand 4.0 อย่างมั่นคงเข้มแข็ง”

            “ทางบริษัทเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาประเมิน ทั้งก่อนและหลังใช้เครื่องมือใหม่ ตรวจสอบคุณภาพของแสงซินโครตรอนของประเทศไทย ตลอดจนคุณภาพของผลการทดลองที่ได้มาเป็นที่น่าพึงพอใจขนาดไหน เทียบเคียงกับที่ได้ใช้ในต่างประเทศได้หรือไม่” ศาสตราจารย์ น.ท.ดร.สราวุฒิ กล่าวเพิ่มเติม

            อนึ่ง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หน่วยงานในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างขึ้นเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีการให้บริการ วิเคราะห์ วิจัยด้วยแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหากระบวนการผลิต การคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเพิ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน


 ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา และศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร 


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๐๐ วันเสาร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙


699 1342