20thApril

20thApril

20thApril

 

December 02,2016

ธพว.ปล่อยกู้เอสเอ็มอีกว่า ๙,๒๐๐ ราย เร่งพัฒนาขายออนไลน์ผ่านอาบีบาบา

 

          ๑๐ เดือน “ธพว.” มีกำไรสุทธิ ๑,๕๖๐ ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คงเหลือ ๑๙,๐๓๕ ล้านบาท ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย เดินเครื่องเร่งช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า ทั้งเจาะตลาดต่างประเทศและตลาดออนไลน์ผ่าน Alibaba.com สนับสนุนกลุ่ม Startup ในโครงการ The Angel Biz Challenge ก้าวสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ ตามนโยบายรัฐบาล

          นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) แถลงผลการดำเนินงานของ ธพว. ๑๐ เดือน (มกราคม–ตุลาคม) ปี ๒๕๕๙ ดีกว่าเป้าหมายตามแผนฟื้นฟูทั้งด้านกำไรสุทธิ และการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPLs ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยกู้เงินมากถึงจำนวน ๙,๒๐๔ ราย ซึ่งผลการดำเนินงานสิ้นสุดเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ ธพว.มีกำไรสุทธิ ๑,๕๖๐ ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามแผนฟื้นฟูที่ ๑,๒๘๐ ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ๑๙,๐๓๕ ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๑๙,๒๐๙ ล้านบาท เงินให้สินเชื่อใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน ๒๗,๘๒๔ ล้านบาท น่าจะเป็นไปตามเป้าสินเชื่อรวมทั้งปีที่ ๓๕,๐๐๐ ล้านบาท เนื่องจากมีลูกค้าอยู่ระหว่างการรอเบิกจ่ายอีกประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท และยังมีงานระหว่างพิจารณาสินเชื่ออีกกว่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท โดยโครงการค้ำประกัน PGS ๕ ของ บสย. วงเงินหมด ขณะนี้ลูกค้ารอการค้ำประกันตามโครงการ  PGS๖ ที่คาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี ต้นเดือนธันวาคมนี้  ทั้งนี้ ณ ตุลาคม ๒๕๕๙ ธพว. สินเชื่อคงค้างรวมเท่ากับ ๙๑,๕๗๖ ล้านบาท

          ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวอีกว่า ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการยังคงเดินหน้ามุ่งเน้นสนับสนุนกลุ่ม Startup อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ The Angel Biz Challenge โดยต้องการปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียธุรกิจ มาบ่มเพาะ สร้างแคมป์การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรระดับภูมิภาคของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT Regional Acceleration Entrepreneurship Program: MIT REAP) ซึ่งขณะนี้ได้ทีมสุดยอดนวัตกรรมจำนวน ๖ ทีม คัดจาก ๑๖๔ ทีม ที่คิดค้นแอปพลิเคชั่นใหม่ หรือการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อตอบสนองกระแสสังคมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดย ธพว.จะพิจารณาสนับสนุนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งด้านสินเชื่อ ร่วมลงทุน สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือก ธพว.จะส่งเสริมบ่มเพาะให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อสร้างสังคมกลุ่ม Startup ที่เข้มแข็งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ก้าวสู่           ไทยแลนด์ ๔.๐ ต่อไป

          “ธพว.สนับสนุนลูกค้าและผู้ประกอบการพร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดค้าขาย E-Commerce สู่สากล ผ่าน Alibaba.com โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดอบรมให้ความรู้ในการค้าขาย เทคนิคต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าได้สมัครทำธุรกิจผ่าน Alibaba.com อย่างจริงจังแล้วจำนวน ๕ ราย ประกอบด้วย ธุรกิจผลไม้แปรรูปอบกรอบ ธุรกิจลูกตาลเชื่อมบรรจุกระป๋อง กระเป๋าเครื่องหนัง แปรรูปเหล็ก และยางล้อรถยนต์ และส่วนที่เหลืออีกประมาณ ๑๕ ราย ดำเนินการอบรมแล้วเสร็จอยู่ระหว่างขั้นตอนสมัครทำธุรกิจ”

          ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การพัฒนาทั้ง ๒ โครงการเป็นการดำเนินงานผ่านบทบาทภารกิจการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SME Development Bank เพื่อช่วยเหลือให้เกิดสังคมผู้ประกอบการใหม่ และสนับสนุนให้เกิดการส่งออก พร้อมสร้างผู้ประกอบการที่แข็งแรงมีการต่อยอดเพิ่มช่องทางการตลาดสู่สากล สามารถทำรายได้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้าน CLMV ร่วมกับ Exim Bank และสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา นำร่องพาคณะลูกค้า ธพว. ไปเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา  และร่วมกับสมาคมการค้าส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน และเอเชียอาคเนย์ พาผู้ประกอบการลูกค้าไปเจรจาธุรกิจการค้า พร้อมออกบูธจำหน่ายสินค้าที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางการขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ  นอกจากตลาดต่างประเทศแล้ว ในเดือนธันวาคม ธพว. ร่วมกับกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพงาน “คลังของขวัญปีใหม่” ช่วงสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือน (๑๗–๒๓ ธันตวาคม ๒๕๕๙) โดยนำผู้ประกอบการและลูกค้าร่วมจำหน่ายสินค้ากว่า ๔๐ ราย ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล

นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๐๑ วันพฤหัสบดีที่ ๑ - วันจันทร์ที่ ๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


694 1342