25thApril

25thApril

25thApril

 

February 22,2017

นักลงทุนไทย-จีนใจกล้า ทุ่มหลายหมื่นล้าน ผลิตไฟฟ้าขยะขาย

                นักลงทุนไทย-จีนมั่นใจจับมือลงทุนผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนขาย กฟภ. ตั้งเป้าเปิดโรงงาน ๘๕ แห่งใน ๔๒ จังหวัดทั่วประเทศ มูลค่าลงทุนกว่า ๔๘,๐๐๐ ล้าน ส่วนที่โคราชเล็งตั้ง ๔ แห่ง ใน ๓ ตำบล มูลค่า ๒,๔๐๐ ล้านบาท หวังจะเป็นโครงการนำร่องแก้ขยะล้นเมือง ด้วย “ระบบแก๊สซิฟิเคชั่น” ยืนยันเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ไร้ควัน ไร้ฝุ่น ไร้กลิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

                ตามที่เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่โรงแรมลีโอซอ เมืองนครราชสีมา กลุ่มบริษัทพลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักลงทุนชาวไทยกับนักลงทุนจากประเทศจีน แถลงข่าวโครงการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชนขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รวมทั้ง สำนักงานพลังงานจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วม

                นายสุระ วีระเกียรติคุณ ผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มบริษัท พลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท พลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ประกอบด้วย ๕ บริษัทหลัก คือ บริษัท โคราช พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท สระบุรีพาวเวอร์ จำกัด, บริษัท อรัญญบุรีพาวเวอร์ จำกัด, บริษัท แกลงพาวเวอร์ จำกัด และบริษัท พลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด มีเป้าหมายหลักช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ แก้ไขปัญหาการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวนโยบาย ๔ ประการ คือ ๑. ต้องมีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การรับขยะเข้าสู่โรงงานที่เป็นอาคารระบบปิด ป้องกันกลิ่นฟุ้งกระจาย การชะล้างขยะ และน้ำเสียออกนอกบริเวณโรงงาน ตามมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ ๒. ใช้ระบบทันสมัยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยรับขยะชุมชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการมาดำเนินการผลิตเป็น กระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศจีน ที่เรียกว่า “ระบบแก๊สซิฟิเคชั่น” ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมปริมาณอากาศออกซิเจนในห้องแปรสภาพขยะในปริมาณจำกัด ทำให้ไม่เกิดการลุกไหม้เป็นเปลวเพลิง หมดปัญหาเรื่องควัน ฝุ่นละออง และกลิ่นได้เป็นอย่างดี ด้วยขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เกิน ๓ เมกะวัตต์ ใช้ขยะชุมชน เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต วันละประมาณ ๑๐๐ ตัน/วัน ๓. การแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองให้แก่ท้องถิ่นและประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่ดีที่สุดคือ การทำให้ขยะนั้นหมดสิ้นไป ไม่มีขยะตกค้าง และไม่สร้างผลกระทบตามมาในอนาคต และ ๔. เป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับประชาชนและชุมชน ที่ตั้งโรงงาน โดยบริษัทกำหนดการแบ่งปันผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจ จำนวน ๒% หรือ ประมาณ ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท/ปี ของรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตลอดระยะสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ๒๐ ปี ประชาชนในชุมชนสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ในพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ตามความประสงค์

                โดยทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเงินกองทุนพลังงานที่ทางรัฐบาลจะสนับสนุนให้ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท/ปี รวมแล้วท้องถิ่นจะมีรายได้จากโรงงานกำจัดขยะเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เป็นเงินประมาณ ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท/ปี ตลอดระยะสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ๒๐ ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท

                นายสุระกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกว่า ๔๒ จังหวัด รวม ๘๕ แห่ง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า ๘๐๐ แห่งทั่วประเทศ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า ๔๘,๐๐๐ ล้านบาท โดยจังหวัดนครราชสีมา มี ๔ โครงการ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต.หนองไข่น้ำ ๒ แห่ง, ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา ๑ แห่ง และ ต.กลางดง อ.ปากช่อง ๑ แห่ง ซึ่งฝ่ายเอกชนรับผิดชอบเงินลงทุนทั้งหมด โครงการละประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท รวมกว่า ๒,๔๐๐ ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโครงการตามเป้าหมายข้างต้นนั้น ทางบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้ทันทีที่รัฐบาลประกาศรับซื้อกระแสไฟฟ้าโรงงานกำจัดขยะ และงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน ๒ ปี หลังจากนั้นเพราะตอนนี้ทางบริษัทได้เตรียมการไว้หมดแล้ว ทั้งแหล่งเงินทุน ที่ดินก่อสร้างโครงการ การรับฟังความคิดเห็นและประชามติจากประชาชน และลงนามสัญญาส่งมอบขยะชุมชน ให้แก่โครงการแล้ว กว่า ๖๐๐ สัญญา เป็นต้น

                ทางด้านนายประพันธ์ มนทการติวงศ์ กรรมการบริหารบริษัท พลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด กล่าวว่า ความจริงเรื่องนี้ทางกลุ่มบริษัทของพลังงานยั่งยืนสยาม พร้อมด้วย ๕ บริษัท ได้ศึกษาปัญหาเรื่องขยะมาเกือบ ๓ ปีเต็ม ใช้ระยะเวลาค่อนข้างมากพอสมควร เพื่อที่จะดูว่าปัญหาขยะจริงๆ กระบวนการต่างๆ เป็นอย่างไร หลังจากดูแล้วก็พบว่าขยะจะเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่มีลดลง ด้วยเหตุผลอย่างนี้ จึงตั้งเป้าหมายหลักไว้ว่าเราจะพยายามมีส่วนร่วม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องขยะล้นเมือง และพลังงานขาดแคลน เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ตามแนวประชารัฐ เพราะฉะนั้นกลุ่มบริษัทจึงเลือกระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เรียกว่าตอบโจทย์ประชาชนได้ คือระบบแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) เป็นระบบที่จะหมดปัญหาเรื่องควัน กลิ่น เสียง และฝุ่นละอองต่างๆ จะไม่มี เป็นการสร้างความสบายใจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราต้องเดินทางกว่า ๒ แสนกิโลเมตรทั่วประเทศ เปิดเวทีรับฟังความเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่เราจะจัดตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดการยอมรับเห็นชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ การที่จะดำเนินการเรื่องขยะให้ถูกต้อง คือต้องขจัดให้หมดไป ไม่ใช่ย้ายขยะจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง คือเป็นการขจัดให้หมดไป ไม่มีผลตกค้าง ไม่ใช่ตกค้างและให้เกิดผลต่อสิ่งแวดล้อมตามมาในอนาคต ซึ่งหากรัฐบาลให้ความกรุณา เห็นว่าบริษัทเราสามารถทำได้แน่ และเราก็มีความมั่นใจ และคิดว่าต่อไปนี้กระบวนการจัดการขยะ จะต้องเป็นรูปธรรมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ขณะนี้บริษัทก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ที่เราได้ไปสัมผัสมาที่ว่าเดินทางสองแสนกิโลเมตร ก็น่าจะ ๘๐ แห่ง ใน ๔๓ จังหวัด ตอบรับผ่านความเห็นชอบตามระเบียบทางราชการเรียบร้อย เพราะฉะนั้นทางผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ก็ติดต่อหากลุ่มบริษัทของเราเกือบทุกวันเพื่อสอบถามว่า เมื่อไหร่จะพร้อม เมื่อไหร่จะเริ่ม เราก็ยังตอบไม่ได้ ก็ต้องรอ เราต้องแสดงให้รัฐบาลมีความมั่นใจในตัวกลุ่มบริษัทเราว่าเราสามารถทำได้ และทำให้ดีมีประสิทธิภาพ ผมก็เชื่อมั่นว่าเรียบร้อย

                นายสัญญาปกรณ์ สมใจ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัท พลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด กล่าวว่า ในทุกวันนี้เทคโนโลยีที่นำมากำจัดขยะนั้น ข้ามมิติคำว่าเผาและฝังไปแล้ว แต่จะเป็นระบบแก๊สซิฟิเคชั่น เป็นการอบขยะให้แห้ง ๑๐๐% คือเป็นแก๊ส ๙๓% และจะออกมาเป็นขี้เถ้าเพียงแค่ ๗% เท่านั้น เพราะฉะนั้นมิติเรียกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือความรู้สึกของชาวบ้านที่ผ่านมา ที่เขาคิดว่าขยะต้องเหม็น นั่นคือความรู้สึกแบบเดิมๆ ไม่เข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการ เมื่อเราไปพบกับประชาชน เขาเกิดความยอมรับ แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านกังวลอยู่คือระบบขนส่ง รถไม่ได้มาตรฐาน น้ำจากขยะไหลออกมา แต่สำหรับกลุ่มบริษัทของเรานั้นให้มั่นใจในระบบการขนส่ง ต่อไปจะสู่กระบวนการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน รถขนขยะต้องปิดมิดชิด ไม่มีกลิ่น ซึ่งในด้านนวัตกรรมการกำจัดขยะของบริษัทจะสามารถกำจัดได้วันละ ๑๐๐ ตัน ขยะจะหมดไปแบบวันต่อวัน ไม่มีตกค้าง

 

                 

 

 

               
โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๗ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐


702 1344