26thApril

26thApril

26thApril

 

February 25,2017

ระงับกังหันลม‘ลำตะคอง’ หวั่นกระทบน้ำใต้ดิน อ้างอีไอเอไม่ชอบด้วยกฎหมาย


กังหันลมที่กฟผ.ติดตั้งบนเขายายเที่ยง

                แกนนำเขายายเที่ยงบุกยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ขอให้ระงับสร้างกังหันลม เพื่อตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแหล่งน้ำใต้ดิน พร้อมขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน “วิเชียร” รับปากจะนัดประชุมทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหา ผู้ร้องทุกข์อ้างไม่คิดคัดค้าน แค่อยากอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน หัวหน้าโรงไฟฟ้าลำตะคองฯ ยินดีชี้แจงเพื่อความเข้าใจ

                เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. นางสาวจิระนันท์ ฟุ้งสุข กลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม และนายมุดตอฟาร์ ศรีธานี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองไผ่ ได้ยื่นหนังสือต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ระงับการก่อสร้างกังหันลม หวั่นกระทบแหล่งน้ำใต้ดิน ทั้งนี้ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อนายประสิทธิ์ อุปชิตร หัวหน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าลำตะคองด้วย โดยทางตัวแทนกลุ่มได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้บริหาร กฟผ. ในเบื้องต้น โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ได้นัดประชุมเจรจาปรึกษาแก้ไขปัญหาระหว่างกฟผ.กับทางกลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมโครงการโรงไฟฟ้าชลภาวัฒนา

 


ยื่นหนังสือต่อผวจ.นครราชสีมาเพื่อให้ระงับกังหันลม และให้ตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ยื่นหนังสือต่อพ่อเมือง

                จากนั้นเวลา ๑๑.๓๐ น. นายบุญไล สวัสดี อายุ ๕๘ ปี ตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการพัฒนารอบโรงไฟฟ้าประจำหมู่บ้าน ซึ่งอยู่บ้านเลขที่ ๖๐ หมู่ ๖ บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นตัวแทนราษฎรยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง “ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข, หลักเกณฑ์ การทำประโยชน์ที่ดินทำกินพื้นที่จัดสรรของโครงการโรงไฟฟ้าลำตะคองแบบสูบกลับ” มีใจความว่า

                “ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย(กฟผ.) ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเขายายเที่ยงเหนือ หมู่ที่ ๖ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓  จำนวน ๖๓ แปลง แปลงละ ๓ ไร่ ๒ งาน ผู้ได้รับการช่วยเหลือการจัดที่ดินทำกินให้ทำเฉพาะการเกษตรเท่านั้น ปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ โดยมีโรงไฟฟ้าลำตะคองแบบสูบกลับ (ชื่อเดิม) เป็นผู้จ่ายค่าดูแลแปลงให้กับเจ้าของที่ เดือนละ ๑,๔๐๐ บาท เป็นเวลา ๒ ปี โดยมีเงื่อนไข ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ต้องเข้าทำประโยชน์ด้วยตนเอง และห้ามทำการก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างถาวรใดๆ ในพื้นที่ที่จัดสรร ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ให้เช่า จำนอง และชาวบ้านไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลยนอกจากเป็นมรดกตกทอด แต่ด้วยสภาพพื้นที่ของบริเวณที่ดินทำกินในปัจจุบันไม่เหมาะกับการเกษตร ซึ่งในขณะนี้ที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่สามารถทำเกษตรได้เลย ที่ดินบางส่วนก็เป็นดินลูกรัง ปลูกอะไรไม่ขึ้น ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบไม่สามารถทำอะไรได้ ในเวลานี้แปลงที่ดินทำกิน ก็ได้ปล่อยว่างเปล่า เป็นป่ารกก็มี และหมู่บ้านเขายายเที่ยง หมู่ที่ ๖ ได้ขึ้นชื่อในแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับของโคราชด้วย ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจึงอยากขอความช่วยเหลือมายังท่าน ขอให้ท่านนายอำเภอช่วยวิเคราะห์ พิจารณา ขอให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินทำกิน แก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข การทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน ให้สามารถปลูกสร้างหรือทำประโยชน์ได้

                นายบุญไล สวัสดี กล่าวต่อว่า ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะว่ามีหนังสือจากผู้ว่าการฝ่ายสั่งให้ราษฎรรื้อกระท่อม รื้อบ้าน ตนก็ทนไม่ไหวแล้ว จึงมาเรียกร้องในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้ชาวบ้านอยู่กับพื้นที่ได้ และสร้างสิ่งปลูกสร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร หรือเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปศุสัตว์ก็แล้วแต่ เพราะเมื่อก่อนเงื่อนไขของเดิมคือ ไม่ให้สร้างสิ่งปลูกสร้าง ให้ปลูกต้นไม้ได้อย่างเดียว

‘วิเชียร’ลงนามรับหนังสือ

                ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้รับหนังสือร้องเรียน พร้อมลงลายมือชื่อรับทราบข้อร้องเรียน และกล่าวว่าจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ในขณะที่นายบุญไลกล่าวว่า “ที่ดินทำกินซึ่งการไฟฟ้าได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ทางการไฟฟ้ามาจัดสรรให้กับชาวบ้านมาทำกิน ครอบครัวละสามไร่ สองงาน แต่เงื่อนไขสมัยนั้นวางไว้ ชาวบ้านไม่ได้รู้เรื่องเพราะว่า ไม่รู้ว่าจะได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ตอนนี้ก็เลยมาขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขคือ ของเดิมห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้าง จึงอยากขอให้ผู้ว่าฯ เชิญคณะกรรมการรุ่นเก่าๆ ที่เคยรู้เรื่องกัน มาประชุมและขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ซึ่งให้ชาวบ้านสามารถได้สร้างบ้าน สร้างกระท่อมและจัดสรรเป็นแปลงเกษตรเชิงนิเวศตามพระราชดำรัสต่อไป เขายายเที่ยงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุด ซึ่งกังหันอีก ๑๒ ต้นกำลังจะเกิดขึ้น ตอนนี้มีอยู่แล้ว ๒ ต้น ที่เหลือชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้านอะไรก็พยายามที่จะช่วยเหลือและดูแลตลอด แต่ผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ ตั้งแต่การสร้างอ่างพักน้ำตอนบนมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ การไฟฟ้าก็ยังไม่ได้ช่วยเหลืออะไรพวกเรา พวกเราก็เลยต้องลุกขึ้นมายื่นหนังสือให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้ท่านมาดูแลผู้ที่เสียสละพื้นที่ ก็อยากให้การไฟฟ้าหันกลับมาดูแลชุมชน ไม่ใช่เอาธรรมชาติไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าแล้วปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อน ความเดือดร้อนของพวกเรานี้ เราได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด แต่ก็ได้รับหนังสือจากการไฟฟ้า ผู้ว่าการฝ่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ชาวบ้านรื้อสิ่งปลูกสร้าง ตรงนี้พวกตนก็อยู่กันไม่ได้ เพราะกลัวว่า ถ้าสร้างอะไรไปวันหนึ่งจะโดนรื้อออก เราเลยป้องกันตัวไว้ก่อน พวกเราความรู้น้อย ก็อยากให้ท่านผู้ว่าฯ ช่วยเหลือด้วย” นายบุญไล กล่าว

 

 

 

วอนระงับตั้งกังหันเพื่อตรวจสอบ EIA
                ต่อมาวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสอบถามนางสาวจิระนันท์ ฟุ้งสุข ตัวแทนจากกลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับกรณีนี้ ได้รับการเปิดเผยว่า สำหรับการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ นั้น มีการร้องเรียน ๓ ประเด็นคือ ประเด็นแรก เรื่องแหล่งน้ำใต้ดิน โดยแหล่งน้ำใต้ดินที่ใช้ เป็นน้ำประปาภูเขา ซึ่งเป็นบ่อขุดธรรมชาติ ใช้หล่อเลี้ยงชุมชน หมู่ ๑ หมู่ ๖ และหมู่ ๑๐ เขตคลองไผ่ เขายายเที่ยง แล้วก็ดึงน้ำจากภูเขามาใช้ในการทำประปาภูเขา เมื่อเกิดโครงการกังหันลมขึ้นมา ในครั้งแรกที่มีการก่อสร้างกังหันลม ๒ ต้น ก็ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดินอยู่แล้ว และในครั้งที่ ๒ ก็เป็นการดำเนินโครงการระยะ ๒ ของโครงการกังหันลมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในครั้งนี้ ตัวกังหันลมไม่ใช่ปัญหา ไม่ได้เกิดปัญหาเมื่อสร้างเสร็จ แต่ในกระบวนการของการก่อสร้าง มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดินทั้งหมด ที่สำคัญที่สุดคือ แหล่งน้ำใต้ดินแหล่งนี้ไม่ได้ถูกนำเข้าไประบุไว้ในบทวิจัยการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดทำ กลุ่มฯ จึงถือว่า EIA ฉบับสมบูรณ์ของกฟผ.ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีแหล่งน้ำใต้ดินนี้อยู่ด้วย ที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ ประเด็นที่สองคือ นายบุญไล สวัสดี ยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งที่ดินตรงนี้ไฟฟ้าขออนุญาตจากกรมป่าไม้ เพื่อจัดสรรให้กับราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ได้ใช้สอยในการทำการเกษตร ต่อมามีกรณีว่า ไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้ ราษฎรจึงได้มีการให้เอกชนรายอื่น เข้ามาเช่าและสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไป เช่น อาคารต่างๆ ซึ่งผิดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กฟผ.กำหนด จึงสั่งให้รื้อถอน ราษฎรในพื้นที่จึงยื่นคำร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เพื่อขอความเห็นใจ โดยต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อช่วยเหลือราษฎรด้วย และประเด็นที่สาม คือ เรื่องสหกรณ์เงินฟื้นฟูราษฎรบ้านเขายายเที่ยง โดยท่าทีของนายวิเชียร จันทรโณทัย มีการสั่งการให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมกันหาทางแก้ไข เพื่อทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะแก้ได้อย่างไรนั้น ก็ต้องเข้ามาคุยกันก่อน 

                นางสาวจีระนันท์ ฟุ้งสุข กล่าวอีกว่า ทางกลุ่มคลองไผ่รักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น หลังจากยื่นเรื่องให้ทบทวน EIA ไปแล้ว ทางโรงไฟฟ้าลำตะคองต้องมีคำสั่งให้หยุดการก่อสร้างกังหันลมชั่วคราวก่อน ถ้าผิดเงื่อนไขที่ทางกลุ่มเรียกร้องไป ก็จะดำเนินการเคลื่อนไหวต่อไป เพราะถือว่าขณะนี้ EIA ที่มีอยู่นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตกหล่นในเรื่องแหล่งน้ำใต้ดินแห่งนี้ไป ทางกลุ่มไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโครงการกังหันลม และพร้อมสนับสนุนโครงการกังหันลมซึ่งเป็นโครงการพลังงานทดแทน แต่เมื่อ EIA ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องหยุดไว้ก่อน ซึ่งก็คือข้อเรียกร้อง ณ เวลานี้ โดยเป็นไปเพื่อต้องการที่จะพัฒนาร่วมกับกฟผ. และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน รวมถึงราษฎรต้องมีน้ำใช้เหมือนเดิม  ซึ่งทางผู้ว่าฯ ได้โทรศัพท์มาแจ้งเลื่อนการประชุมหารือในกรณีที่ยื่นเรื่องไปทั้งหมด จากวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ แทน

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๘ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

 


703 1352