20thApril

20thApril

20thApril

 

March 22,2017

บุกค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก หวั่นมลพิษระยะยาว นายทุนยันพลังงานสะอาด

                ชาวสีคิ้วคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก หลังนายทุนเปิดประชาคมหวังสร้างโรงงานที่บ้านหนองไม้ตาย หวั่นก่อมลพิษระยะยาว ด้านนายทุนยืนยันต้องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด หวังเป็นโรงงานต้นแบบ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ไม่ก่อมลภาวะ ควบคุมได้ทั้งเสียง กลิ่น และน้ำเสีย การันตีเคยได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้ว

                เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐ กลุ่มราษฎรบ้านหนองไม้ตายจำนวนกว่า ๔๐ คน นำโดยนายสุพิศ เฝือกสูงเนิน ราษฎรบ้านหนองไม้ตาย หมู่ ๙ ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คัดค้านการทำประชาคมหมู่บ้านและการทำประชาพิจารณ์การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่บริเวณบ้านหนองไม้ตาย ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ขนาด ๖ เมกะวัตต์ ของบริษัท นครราชสีมาเพาเวอร์กรีน จำกัด ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เชิญราษฎรกลุ่มดังกล่าว ร่วมหารือกัน พร้อมด้วยนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ มทบ.๒๑ เข้าร่วมด้วย

ชาวหนองไม้ตาย’ค้าน

                โดยนายสุพิศ เฝือสูงเนิน อายุ ๗๑ ปี แกนนำราษฎรหนองไม้ตาย เปิดเผยว่า ทำเลที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้า อยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง ๘๐๐ เมตร และตั้งอยู่ใกล้เคียงแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน จึงไม่มีความเหมาะสม หากมีการปล่อยน้ำที่มีการปนเปื้อนสารเคมี สิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งมลภาวะทางอากาศจากควันไฟ และขี้เถ้า ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาขยะ ที่ผ่านมา ราษฎรหนองไม้ตายได้แสดงสิทธิ์คัดค้านไม่เห็นชอบการทำประชาคมหมู่บ้าน เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ และทำประชาพิจารณ์ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หากในอนาคตจะดำเนินการจัดทำประชาคม หรือประชาพิจารณ์อีก ประชาชนในพื้นที่จะคัดค้านทุกครั้ง จึงขอให้ผู้มีอำนาจสั่งห้ามการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และผลกระทบด้านมลพิษที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพ และการดำรงชีวิตของประชาชนตามมาในภายหลัง

                นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้รับฟังและสอบถามข้อชี้แจงจากกลุ่มราษฏรบ้านหนองไม้ตายที่ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟ้ฟ้าชีวมวล โดยมีสาเหตุหลักคือ จะเกิดปัญหาทางด้านมลพิษในชุมชนระยะยาว โดยจะถือเอาความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการคืนความสุขให้ประชาชน พร้อมกับสั่งการผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้ทราบถึงความเห็นของประชาชนดังกล่าว

                ด้านกลุ่มราษฎรบ้านหนองไม้ตายเมื่อได้รับความมั่นใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ แล้ว จึงเดินทางไปด้านหน้าหอประชุมเปรม ติณสูลานนท์ หลังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกับพ.อ.พิเชษฐ์ อาจฤทธิรงค์ รอง ผบ.มทบ.๒๑ ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต ๖ (นครราชสีมา) ในลำดับต่อไป เพื่อคัดค้านการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างเด็ดขาด

ยังไม่ขออนุญาตก่อสร้าง

                “โคราชคนอีสาน” ได้สอบถามไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ถึงกรณีการคัดค้านดังกล่าว โดยนายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ทางอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ยังไม่ได้รับการเสนอขออนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าดังกล่าว ขณะนี้เป็นเรื่องของกระบวนการทำความเข้าใจ กล่าวคือ ตัวบริษัทผู้ลงทุนนั้นมีความคิดเห็นว่าจะลงทุนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว จึงมีการสอบถามประชาชนเพียงเท่านั้น เป็นการดำเนินการของเอกชนเอง ในส่วนของทางราชการยังไม่ได้รับเรื่องใดๆ โดยบริษัทที่มีความต้องการที่จะลงทุนในส่วนนี้คือ บริษัท นครราชสีมาเพาเวอร์กรีน จำกัด ซึ่งยังไม่ได้ยื่นเรื่องมายังหน่วยงานราชการ ในการจะลงทุนนั้นไม่ใช่ว่านึกจะยื่นขออนุญาตจัดตั้งก็สามารถยื่นได้เลย ต้องเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน

                “ในเรื่องของการทำประชาคมหมู่บ้านและการทำประชาพิจารณ์ตามที่ราษฎรบ้านหนองไม้ตายได้ร้องเรียนนั้น เป็นเรื่องที่ทางบริษัทเอกชนเป็นผู้จัดทำ ยังไม่เกี่ยวกับทางราชการ เพราะทางราชการยังไม่ได้รับรู้ในประเด็นนี้ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของบริษัทเอกชนที่จะต้องดำเนินการ แต่ในขณะนี้ไม่ได้เอามาเป็นสาระประกอบการพิจารณา เพราะกระบวนการพิจารณาก็เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย โดยการร้องเรียนของประชาชนในครั้งนี้ ก็รับไว้เป็นความคิดเห็นประกอบการพิจารณา ซึ่งในขณะนี้เอกสารยังอยู่ที่จังหวัด ต้องตรวจสอบตามขั้นตอน” นายประชา กล่าว

แสดงสัญลักษณ์ไม่เอาโรงไฟฟ้า

                ล่าสุด “โคราชคนอีสาน” ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ซึ่งเป็นทนายความผู้ให้คำปรึกษากับราษฎรบ้านหนองไม้ตาย และแกนนำ “ชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า” เนื่องจากก่อนหน้านี้ในกรณีการคัดค้านตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท ยูนิ เพาเวอร์ เทค จำกัด เมื่อปี ๒๕๕๙ นางสาวสุรีรัตน์ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นทนายความในคดี ดังกล่าว โดยเปิดเผยว่า การคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าที่หนองไม้ตาย บริเวณบ้านหนองไม้ตาย ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กับกรณีที่มีการฟ้องร้องบริษัท ยูนิ เพาเวอร์ เทค กันไปก่อนหน้านี้ เป็นคนละกรณีกัน ที่ตั้งอยู่คนละแห่ง ในส่วนของบริษัท ยูนิ เพาเวอร์ เทค อยู่ใกล้เขตเทศบาลเมืองสีคิ้ว ส่วนหนองไม้ตายอยู่ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว ห่างกันประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ในวันที่ราษฎรบ้านหนองไม้ตายเข้ามายื่นเรื่องคัดค้านที่ศาลากลางจังหวัดฯ นั้น ตนก็ทราบ เพราะเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาและแนะนำราษฎรให้ไปวันนั้น เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และทหารอยู่ เพราะมีการประชุม ป.ย.ป. ซึ่งตนก็เข้าร่วมประชุมด้วย

                “จากที่ทราบคือ ผู้ว่าฯ รับเรื่องไว้ให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล แต่จะได้ผลประการใดยังไม่ทราบ ในวันนั้นเป็นการให้ราษฎรไปแสดงออกว่า ไม่ยอมรับโรงงาน หรือคัดค้านโรงงานตั้งแต่ขั้นตอนการทำประชาคม ประชาพิจารณ์แล้ว เพราะต่อไปถ้ายังดื้อดึงทำต่อ หรือส่วนราชการอนุญาตให้ดำเนินการ เรื่องก็จะต้องไปจบที่ศาลปกครองเหมือนกัน เพราะประชาชนก็แสดงออกว่าคัดค้านอยู่แล้ว ยังจะอนุมัติกันอีกหรือไม่ ก็พยายามให้จังหวัดดำเนินการให้เป็นแบบที่ประชาชนต้องการ แต่ไม่ทราบว่าจะรับปากไปอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะเกรงว่า ความจริงใจของเจ้าหน้าที่รัฐจะยังมีอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ ยังทราบวงในว่า บริษัทไปสอบถามทางอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเท่านั้น เพราะว่ามีกฎหมายใหม่บังคับใช้ว่า ก่อนที่จะขออนุญาตต้องไปทำประชาคมก่อน เมื่อมีการทำประชาคม มีราษฎรคัดค้าน แต่ผู้นำชุมชนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. ก็ดูเหมือนว่า จะเห็นชอบไปทางฝั่งบริษัทนายทุนหมดแล้ว แล้วกำนันกับนายกอบต.เป็นผู้พาบริษัทไปทำประชาพิจารณ์ แล้วได้บอกกับประชาชนไหมว่าจะสรุปอย่างไร ราษฎรจะรู้หรือไม่ว่า เขาจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ราษฎรก็ต้องไปยื่นหนังสือกับผู้บังคับบัญชาเขาไว้ก่อน ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เพื่อแสดงเจตนาให้รู้ว่า ประชาชนคัดค้าน ไม่ใช่ไปหมกเม็ดทำเรื่องอะไรกัน นี่คือจุดประสงค์ของราษฎรที่ออกไปคัดค้าน” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว

ประชาชนรู้ถึงพิษภัยโรงไฟฟ้า

                นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในเขตอำเภอสีคิ้วมีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลอยู่ก่อนแล้ว มีแบบประเภท ๑-๓ เมกะวัตต์ ถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ แต่พวกนี้สร้างมานานและอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายว่า ทำไม่กี่เมกะวัตต์ ไม่ต้องขออนุญาต ราษฎรรู้รสของความเสียหายแล้ว จึงไม่อยากได้ ในเขตอำเภอสีคิ้วมีโรงงานไฟฟ้ารวมๆ กัน ที่ผลิตอยู่แล้วทั้งเป็น ทางการและไม่เป็นทางการ ไม่ต่ำว่า ๕-๖ โรง โรงละ ๒ เมกะวัตต์ บางบริษัททำแบบประเภทที่ราษฎรยังรู้เลยว่า มีราษฎรก็รอดูว่ารัฐจะทำอะไรต่อไป เพราะถือว่าคัดค้านแล้ว ยื่นหนังสือแล้ว ต้องรอดูว่า ขั้นตอนต่อไปโรงงานจะทำอย่างไร

 รอศาลปกครองชี้ขาด

                ด้านคดีที่มีการฟ้องร้องกันไปแล้วระหว่างกลุ่มผู้คัดค้านกับบริษัท ยูนิ เพาเวอร์ เทค จำกัด นางสาวสุรีรัตน์ชี้แจงว่า อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก็คือให้ทุเลาการบังคับใช้ใบอนุญาตทั้ง ๒ ใบ ของโรงงานไฟฟ้า คือห้ามไม่ให้ก่อสร้างต่อ ทาง บริษัทฯ ใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเพิ่งส่งสำเนาอุทธรณ์คำสั่งมาให้ตน ซึ่งกำลังทำเรื่องแก้อยู่ ส่วนเรื่องของตัวคดีที่ฟ้องกันที่ศาลปกครองนครราชสีมา ก็อยู่ในขั้นตอนที่ว่า บริษัทฯ ทำคำให้การยังไม่แล้วเสร็จ ขอขยายกันอยู่เรื่อยๆ ถึงทุกวันนี้ตนยังไม่ได้รับคำให้การของจำเลย เพราะเมื่อสอบถามความคืบหน้าของคดี เจ้าหน้าที่ศาลก็บอกว่ากำลังขอขยายคำให้การอยู่ คือรวมๆ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล

               

บริษัทแจงตั้งใจทำโรงไฟฟ้าสะอาด

                ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อไปยังนางพรหมพร หรือฟ้า เจ้าของบริษัท นครราชสีมาเพาเวอร์กรีน จำกัด เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งเปิดเผยว่า บริเวณที่เลือกคือบริเวณตำบลหนองบัวน้อย เพราะใบอนุญาตในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ได้รับมาจากทางการไฟฟ้าฯ ระบุว่า บริเวณนี้เหมาะแก่การสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องด้วยบริเวณดังกล่าวมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าตกบ่อย ทั้งยังเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้มารับรองในกรณีนี้ โดยต้องมีคู่สัญญากับทางการไฟฟ้าฯ เสียก่อน แล้วจึงแยกออกมาตั้งได้ ซึ่งทางการไฟฟ้าฯ ได้ทำการสำรวจมาแล้วว่า บริเวณไหนที่ควรจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อมารองรับในกรณีเรื่องของสายส่งไฟฟ้า เรื่องของไฟฟ้าที่มีปริมาณเพียงพอ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะบ้านหนองไม้ตายเท่านั้น

                “ขั้นแรกต้องทำความเข้าใจกับชุมชนก่อน โดยทางบริษัทนำประชาชนเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับรางวัลจากกระทรวงพลังงาน เพราะภาพลักษณ์ในอดีตของโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีภาพลักษณ์ของการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเรื่องน้ำ อากาศและเสียง แต่ปัจจุบันในเรื่องระบบและเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกล ตั้งแต่เข้ามาทำธุรกิจนี้ในฐานะเจ้าของ ต้องมีจิตสำนึก จึงพยายามศึกษาปัญหามวลชนในประเทศไทย เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีประท้วง สาเหตุมาจากอะไร ทั้งๆ ที่ภาครัฐพยายามจะส่งเสริมเรื่องของพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในเรื่องของชีวมวล เพราะปัจจุบันราษฎรที่ห่างไกลมักจะเผาป่า เผาไม้ ทำให้เกิดหมอกควัน มลพิษทางอากาศ ทางรัฐบาลจึงสนับสนุนการใช้สิ่งที่เหลือใช้ กิ่งใบ ใบหญ้า หรือมันสำปะหลัง มาปรับเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า” นางพรหมพร กล่าว

เคยรับรางวัลดีเด่น ๒ ปีซ้อน

                นางพรหมพร ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจ เพราะบริษัทฯ เคยได้รับรางวัลดีเด่นจากรัฐบาล ๒ ปีซ้อน และได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย ยืนยันว่ารางวัลที่ได้รับไม่มีเรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อได้รับใบอนุญาตจึงลงมือศึกษาและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ และเข้าเยี่ยมชมตามโรงไฟฟ้าต่างๆ เช่น ที่บริษัท ตั้งแซเยี้ยง กรีนเพาเวอร์ จำกัด จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่นำเศษแกลบ เศษข้าวมาทำ ซึ่งเมื่อก่อนควันฟุ้ง และได้พูดคุยกับนายชาตรี ไชยะเดชะ เจ้าของโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รางวัลดีเด่นจากกระทรวงพลังงาน บริเวณโรงงานเหมาะสมกับที่ได้รางวัล เพราะรอบๆ โรงงานยังมีประชาชนอาศัยอยู่ ขายอาหารรอบๆ โรงงาน ในด้านระบบน้ำที่ปล่อยออกมาก็เป็นน้ำสะอาด สามารถเลี้ยงปลาได้ จึงนำมาปรับใช้กับโรงงานของตัวเอง โดยใช้ระบบน้ำแอร์คูลลิ่ง ใช้น้ำน้อยคล้ายกับระบบแอร์ นำน้ำหมุนเวียนมาใช้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้แย่งน้ำจากราษฎร การปล่อยน้ำเสียก็ทำเป็นระบบปิด ซึ่งเป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ระบบนี้สามารถใช้งานได้ถึง ๒๐ ปี และยังไม่ก่อปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อม ตนจึงเลือกทำระบบนี้ ส่วนในเรื่องควันไฟ ก็ใช้ระบบของต่างประเทศ นำเทคโนโลยีของประเทศเยอรมนีเข้ามาแก้ปัญหา จึงวางใจได้ว่าจะไม่ก่อปัญหาอย่างแน่นอน สุดท้ายเรื่องเสียงดังรบกวน จะมีตัวเซ็นเซอร์คอยควบคุมไม่ให้เสียงดังเกินไป เสียงก็จะไม่เกิน ๗๐ เดซิเบล

หากประชาชนต้องการก็จะเดินหน้าต่อ

                นางพรหมพร กล่าวถึงกรณีที่ราษฎรไปยื่นหนังสือคัดค้านอีกต้องดูเหตุผลที่แท้จริง ถ้าตนเป็นภาครัฐ หากมีประชาชนไปร้องเรียน ก็ต้องเปิดเวทีเฉพาะกลุ่มคนที่ไปร้องเรียน เช่น วันนี้ ๖๐ คนลงชื่อไว้ ก็ต้องเป็นกลุ่มปิด ต้องมีโอกาสให้เจ้าของกิจการได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น โดยที่มีส่วนราชการอยู่ด้วย แล้วเราจะได้รู้ว่า นั่นเป็นปัญหาที่แท้จริงของการร้องเรียน หรือเป็นปัญหาของการสูญเสียผลประโยชน์ ตราบใดที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่เห็นควรด้วย ทางบริษัทฯ ก็คงไม่ดำเนินการเพื่อให้เกิดปัญหากับชุมชน ในวันแรกที่ลงพื้นที่ทำประชาพิจารณ์ ทั้งหมด ๑๒ หมู่ แต่ที่หนองไม้ตายเป็นหมู่เดียวที่ไม่ลงความคิดเห็น ซึ่งวันแรกยังไม่มีอะไร แต่วันที่สองมีการปล่อยคลิปออกมา แต่ก็ไม่รู้ว่าสรุปแล้วปัญหาที่แท้จริงคืออะไร แต่หากยังไม่เห็นด้วยก็คงไม่ไปทำ จะเลือกทำกับหมู่บ้านที่อยากจะให้ทำจริงๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับชุมชน หากเป็นปัญหาที่แท้จริงจากชุมชน คือไม่ต้องการบริษัทฯ จริงๆ แต่ความฝันของตนคืออยากสร้างเป็นโรงไฟฟ้าสะอาด ซึ่งทางนั้นก็จะได้อานิสงส์ ได้ทั้งภาษีคืนท้องถิ่น แต่หากคิดว่าทำแล้วสกปรก  กลัวโรงไฟฟ้าระเบิด นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่ออดีต เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเป็นคอมพิวเตอร์หมด หากมีโอกาสก็อยากพาเข้าเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อให้เห็นในแง่ของผู้ประกอบการบ้าง

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๒๓ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


730 1354