20thApril

20thApril

20thApril

 

March 24,2017

อนุมัติลงทุนอีก ๒.๕ พันล้าน มิตรผล’ผลิตไฟฟ้ากากอ้อย

                “บีโอไอ” สรุปผลการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนภาคอีสานเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อนุมัติ ๗ โครงการ มูลค่าเงินกว่า ๒,๕๑๑ ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านพลังงานทดแทน “มิตรผล” ทุ่มอีกกว่า ๑,๖๐๐ ล้านตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนบีโอไอโคราชชวนนักลงทุนเดินทาง “เชื่อมโยงอุตสาหกรรมภาคอีสาน : ภาคเหนือ” เยี่ยมชมกิจการอุตสาหกรรมต่างๆ

นางสาวบังอร ฐิตะไพศาลผล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอ นครราชสีมา) เปิดเผยถึงภาวะการส่งเสริมการลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๗ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๒,๕๑๑ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๒๕๐ คน ซึ่งเป็นการลงทุนโดยหุ้นไทย ๖ โครงการ หุ้นต่างชาติ(เยอรมนี) ๑ โครงการ โดยเป็นโครงการขนาดใหญ่ ๒ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของเครื่องจักร เช่น HYBRID TOWER BASE เป็นต้น ๑ โครงการ ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ๑ โครงการ ที่ตั้งจังหวัดเลย นอกจากนี้เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดย่อม ๕ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส ๑ โครงการ ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา, กิจการผลิตไบโอแก๊ส ๑ โครงการ ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา, กิจการซอฟต์แวร์ ๑ กิจการ ที่ตั้งจังหวัดขอนแก่น, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส ๑ โครงการ ที่ตั้งจังหวัดเลย และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแก๊ส ๑ โครงการ ที่ตั้งจังหวัดสกลนคร 

                อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดของโครงการที่ได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนอยู่ในพื้นที่กำกับดูแลของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ ประกอบด้วย ๑.กิจการไบโอแก๊ส ในนามบริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด หุ้นไทยทั้งสิ้น เงินลงทุน ๒๗ ล้านบาท ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๒.กิจการผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของเครื่องจักร เช่น HYBRID TOWER BASE เป็นต้น ในนามบริษัท แม็กซ์ เบอกล์ (ประเทศไทย) จำกัด หุ้นเยอรมนี เงินลงทุน ๕๑๕ ล้านบาท ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา และ  ๓.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส ในนามบริษัท เชาวน์ดีสตาร์ช จำกัด หุ้นไทยทั้งสิ้น เงินลงทุน ๔๐ ล้านบาท ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา

                สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๓ (บีโอไอขอนแก่น) ประกอบด้วย ๑.กิจการผลิตซอร์ฟแวร์ ในนามนางสาวอิสรีย์ วงศ์เมืองแสน หุ้นไทย เงินลงทุน ๒ ล้านบาท ที่ตั้งโครงการจังหวัดขอนแก่น ๒.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส ในนามบริษัท จ.เจริญเอ็นเนอร์จี จำกัด หุ้นไทย เงินลงทุน ๑๕๐ ล้านบาท ที่ตั้งโครงการจังหวัดเลย ๓.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในนามบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(ภูหลวง) จำกัด หุ้นไทย เงินลงทุน ๑,๖๔๒ ล้านบาท ที่ตั้งโครงการจังหวัดเลย และ ๔.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส ในนามบริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช(๒๐๑๒) จำกัด หุ้นไทย เงินลงทุน ๑๓๕ ล้านบาท ที่ตั้งโครงการจังหวัดสกลนคร

                ทั้งนี้ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอนครราชสีมา) ได้จัดโครงการ “เชื่อมโยงอุตสาหกรรมภาคอีสาน : ภาคเหนือ” เส้นทางนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน โดยพาเยี่ยมชมกิจการจากกลุ่มบริษัทต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนี้ หจก.อเมซิ่ง ที ผู้ผลิตคอมบูชะ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มชาหมักที่ให้ความสดชื่น รสหวานเล็กน้อยอมเปรี้ยว เกิดจากกระบวนการหมักคล้ายกับเครื่องดื่มไซเดอร์ (Cider) เนื่องจากมีส่วนผสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแอลกอฮอล์ปนอยู่ด้วย ในนาม Madi Kombucha เว็บไซต์ http://www.madikombucha.com, ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมหรือศูนย์หัตถกรรม บริษัท อาร์ต อิน พาราไดซ์ (เชียงใหม่) จำกัด โดย “พิพิธภัณฑ์อาร์ต อิน พาราไดซ์” ที่เชียงใหม่ เน้นรูปแบบของภาพวาดเพื่อให้มีความแตกต่างจากพัทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งที่นี่จะสร้างจินตนาการและสีสันให้กับชีวิตของผู้มาชม หรืออาจเรียกได้ว่า “พิพิธภัณฑ์ภาพลวงตา” (Illusion Art Museum) โดยพิพิธภัณฑ์ภาพวาด ๓ มิติ เชียงใหม่ รวบรวมภาพ ๓ มิติเหมือนจริงกว่า ๑๓๐ ผลงาน, บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกวาซาบิ “วาซาบิแท้” และ “วาซาบิเทียม” ป้อนให้กับตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ปัจจุบันส่งออกไปต่างประเทศ ร้อยละ ๙๕ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่เหลือร้อยละ ๕ ขายในประเทศ, บริษัท แม่ทา วี.พี. จำกัด กิจการเลี้ยงสุกรอนุบาลและสุกรขุน รวมทั้งกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากมูลสุกร โดยนำมูลสุกรมาหมักในบ่อเกิดก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นเชื้อเพลิงปั่นไฟ ซึ่งมีกำลังผลิต ๑.๔๓๒ เมกะวัตต์ และสุดท้ายเยี่ยมชมศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในส่วนงานส่งเสริมการเกษตร งานศึกษาและการพัฒนาการปลูกพืช ซึ่งโครงการนี้มีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสมและเผยแพร่ให้ประชาชนนำไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ผสมกับการศึกษาด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม รวมทั้งด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย

                อนึ่ง โครงการ “เชื่อมโยงอุตสาหกรรมภาคอีสาน : ภาคเหนือ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘-๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ ๐๔๔-๓๘๔๒๐๐ ต่อ ๔๒๐๘, ๔๒๑๑, ๔๒๑๐ โทรสาร ๐๔๔-๓๘๔๒๙๙ รับจำนวนเพียง ๒๕ คนเท่านั้น

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๒๓ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


686 1347