26thApril

26thApril

26thApril

 

July 18,2017

ชัยภูมิปลูกอินทผาลัมได้ผลดี ลูกค้าแห่จองส่งแทบไม่ทัน

           เกษตรกรอำเภอหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ปรับพื้นที่จากการทำเกษตรแบบเดิมมาปลูกพืชไม่เหมือนใคร และไม่มีคนปลูกในพื้นที่มาก่อน คืออินทผาลัม ลงทุนสั่งซื้อต้นพันธุ์จากต่างประเทศ ใช้เวลา ๓ ปี เก็บผลผลิตขายได้แล้ว ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ ๗๐๐-๑,๕๐๐ บาท 

           ที่บ้านสวนรังศิยา ตั้งอยู่บ้านหนองนกออก ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ หลังทราบว่าสวนแห่งนี้ปลูกอินทผาลัม ได้ผลดี เป็นอาชีพใหม่ ที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรได้อย่างมั่นคง เริ่มเก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว ปัจจุบันมีลูกค้าเริ่มรู้จัก และสั่งซื้อจนเก็บขายแทบไม่ทัน ราคาอยู่ที่ ๗๐๐ -๑,๕๐๐ บาทต่อกิโลกรัม 

           “สวนรังศิยา” มีพื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ โดยมีนายวิโรจน์ ทองงาม อายุ ๔๗ ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาเจริญ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดงฯ และครอบครัว ได้ปลูกพืชแบบผสมผสานยึดแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ ๙ มาเป็นแนวทาง ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก ขุดบ่อเลี้ยงปลา และทำนาข้าว แต่ที่สร้างความภาคภูมิใจแก่เกษตรกรรายนี้ คือ การปลูกอินทผาลัม ซึ่งเป็นพืชในตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง มีหลากหลายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแบบทะเลทราย มีมากในประเทศ ซาอุดีอาระเบีย แอลจีเรีย และประเทศในแถบอาหรับ ส่วนในประเทศไทยอินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีปลูกเป็นจำนวนน้อย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าอินทผาลัมควบคู่ไปด้วย ซึ่งอินทผาลัมส่วนใหญ่ที่นำเข้ามักอยู่ในรูปทั้งผลไม้สดและแปรรูป ปลูกมา ๕ ปี ตอนนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว มีลูกค้าสั่งจอง มารับถึงสวนในราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ ๗๐๐ บาท อินผาลัมบางต้นให้ผลผลิตที่แตกต่างไปจากต้นอื่นมีผลสีม่วงแดง ตลาดมีความต้องการสูง ราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ ๑,๕๐๐ บาท รวมถึงผู้ที่ทราบข่าว ต่างสนใจเดินทางมาศึกษาดูงานและสั่งซื้อต้นพันธุ์ไปปลูก ราคาต้นละ ๑,๒๕๐ บาท  

           นายวิโรจน์ ทองงาม เจ้าของสวน เปิดเผยว่า เริ่มต้นสนใจหันมาปลูกอินทผาลัม อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เมื่อปี ๒๕๕๕ ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก ทั้งพ่อตา แม่ยาย ลูกๆ ช่วยการปลูกและดูแล จ้างแรงงานมาช่วยเป็นบางครั้ง  หลังศึกษาพบว่าเป็นพืชที่ราคาสูง คนปลูกน้อย อายุยืนยาว จึงตัดสินใจลงทุนสั่งชื้อพันธุ์เนื้อเยื่อมาจากประเทศอังกฤษจำนวน ๘๔ ต้นๆ ละ ๑,๒๐๐ บาท ติดตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติ บำรุงรักษา ผ่านปีที่ ๓ เริ่มเก็บผลผลิตได้เป็นปีแรก ปีแรกได้ไม่มากประมาณ ๔๐๐ กิโลกรัม ขายให้พ่อค้าจากอำเภอวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ มารับที่สวนในราคากิโลกรัมละ ๕๕๐ บาท มาปีนี้ต้นเริ่มสมบูรณ์ ออกผลผลิตประมาณ ๓๐๐ จั่น, ๑ จั่น น้ำหนักประมาณ ๑๐ กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว คาดว่าจะสามารถเก็บขายได้ประมาณ  ๓ ตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ ๒ ล้านบาท 

           นายวิโรจน์ ทองงาม เปิดเผยอีกว่า ในสวนตอนนี้ปลูกอินทผาลัมไว้ ๒ สายพันธุ์ คือพันธุ์บาฮี ผลสีเหลือง สำหรับกินสดๆ รสชาติคล้ายๆแอปเปิ้ล แต่หวาน กรอบ ปลูก ๘๐ ต้น ให้ผลแล้ว ๕๐ ต้น  นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ แฟมิลี่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่รับประทานได้ทั้งผลสดและผลสุก แต่ที่สวนขณะนี้พันธุ์บาฮี ให้ผลผลิตมากที่สุด วันนี้ตัดขายไป ๕๐ กิโลกรัมๆ ละ ๗๐๐ บาท มีลูกค้ามารับถึงสวน

           นายวิโรจน์ ทองงาม ยังพาชมอินทผาลัมอีก ๒ ต้น ที่ขยายพันธุ์จากเมล็ด ปรากฏว่าให้ผลผลิตดี มีผลใหญ่ สีม่วงอมแดง ออกผลพร้อมขายได้แล้วต้นละ ๔ จั่น ตอนนี้ตั้งราคาไว้ที่กิโลกรัมละ ๑,๕๐๐ บาท พร้อมเปิดเผยสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกปลูกพืชชนิดนี้เป็นอาชีพเสริมว่า “จากการทำงานรับราชการประจำ ก็เพราะอยากให้เกิดแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ ทางการเกษตรในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นครู อยากให้คนอื่นได้มาเรียนรู้ จึงน้อมนำหลักการทรงงานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในเรื่องการระเบิดออกจากข้างใน คือการทำงานให้ตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนเองก่อน ให้คนในครอบครัว ในชุมชน มีความเข้มแข็ง ในอาชีพทำเกษตร จึงเลือกพืชตัวนี้เป็นอาชีพเสริม ที่สำคัญคือเป็นพืชที่ปลอดสาร ไม่ต้องใช้สารเคมี พืชตัวนี้ก็ให้ผลผลิตได้ หากท่านใดสนใจอยากศึกษาเรียนรู้ ก็ยินดีให้ความรู้โดยไม่ปิดบัง”

           ด้านนางทองเยี่ยม วงษ์อำนวย ๕๕ ปี ครูโรงเรียนบ้านโนนถาวร ต.ถ้ำวัวแดง อ.หนองบัวแดง หนึ่งในกลุ่มคนที่สนใจและเลือกที่จะปลูกอินทผาลัมเป็นอาชีพเสริม เปิดเผยว่า ครอบครัวมีลูกชายเรียนจบมาแต่ยังไม่มีอาชีพ จึงอยากสร้างอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนให้กับลูก ที่สนใจคือ ราคาขายสูงมาก กิโลละ ๗๐๐ บาท จึงลงทุนซื้อต้นพันธุ์จากสวนแห่งนี้ในราคา ๓๐ ต้นๆ ละ ๑,๒๕๐ บาท เป็นเงิน ๓ หมื่นกว่าบาท เป็นการทดลองปลูกไปก่อน หากได้ผล จึงจะขยายพื้นที่ตอนนี้กะลังอนุบาลไว้ยังไม่ปลูกลงดิน ถือเป็นพืชที่ต้องลงทุนสูง ยังจะต้องปรับพื้นที่ วางระบบน้ำอีก คงต้องใช้เงินทุนอีกมาก แต่เมื่อนึกถึงอนาคตแล้ว คิดว่าคุ้มค่ากับการลงทุน หลังเกษียณอายุไปแล้ว ก็หวังมีรายได้จากพืชตัวนี้ไปได้อีกหลายปี

 

 

 


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


701 1409