23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

July 18,2017

ยกระดับรางทางคู่มีปัญหา ‘ดีเซล’ไม่ง่ายเหมือนคิด ผู้ว่าฯจะยกคณะพบรมช.

                ผู้ว่าฯ หวั่นสถานการณ์เรียกร้อง “ยกระดับรางรถไฟทางคู่” บานปลาย ทำหนังสือแจ้งผู้บังคับบัญชา พยายามทำความเข้าใจแล้ว แม้เมื่อ ๓ ปีที่แล้วทำประชาพิจารณ์แต่ประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียด เตรียมยกคณะเข้าชี้แจงต่อรมช.คมนาคม ด้านเวทีเสวนา ผอ.เดินรถเขต ๒ ย้ำ อาจยกระดับได้หากชาวโคราชจ่ายเงินเอง “สุรวุฒิ” อ้างหากยกระดับจะสามารถตัดถนนเพิ่มได้ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัด หน.กองเทคนิค รฟท.ชี้แจง หัวรถจักรดีเซลไม่เหมาะสมยกระดับ

                ตามที่มีกลุ่มการเมืองนำโดยนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครราชสีมา ร่วมกับภาคเอกชนนำโดยหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-สถานีขอนแก่น และเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยเฉพาะเส้นทางช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา มีจุดตัดเป็นถนนข้ามทางรถไฟเชื่อมต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และชุมชนขนาดใหญ่ จำนวน ๔ แห่ง ปัจจุบันใช้ เจ้าหน้าที่การรถไฟควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องกั้น แต่รูปแบบในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่มีการยกเลิกจุดตัดทางข้ามถาวร ให้ใช้ถนนเลียบทางรถไฟและทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟที่กำหนดไว้แทน ดังนั้น หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เกิดความตระหนักกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงขอให้มีการแก้ไขออกแบบ โดยให้มีการยกระดับรางในช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีการเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อพลโทวิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ ๒ และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แล้วนั้น

ผู้ว่าฯ ทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชา

                ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ทำหนังสือราชการรายงานต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต ๓, ผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทย เขต ๑๔, แม่ทัพภาคที่ ๒ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ โดยเนื้อหาระบุว่า

                “ด้วยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย แก้ไขแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านเขตชุมชนในพื้นที่จังหวัด ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความเห็นว่า ควรก่อสร้างโดยการยกระดับ เนื่องจากหากดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระดับผิวดินในเขตชุมชนเมือง จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย จังหวัดได้พยายามเจรจาพูดคุยกับทุกกลุ่ม โดยชี้แจงให้เห็นว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความเจริญขึ้นในพื้นที่ และขอให้แสดงออกด้วยความเรียบร้อย และได้เป็นตัวกลางประสานผู้นำในเรื่องดังกล่าว เพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ดร.อาทิตย์ อัคราทิตย์) ได้อนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำคณะจำนวน ๑๒ คน เข้าพบเพื่อชี้แจงเหตุผลความจำเป็น ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ กระทรวงคมนาคม” ซึ่ง “โคราชคนอีสาน” จะติดตามผลการเจรจานี้มานำเสนอต่อไป

เปิดเวทีเสวนา “ยกระดับ”

                วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่หอประชุมมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “รถไฟทางคู่ยกระดับ” โดยหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และนายศักดิ์ชัย ทรัพย์ใจเที่ยง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค ๒ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยมีนายผดุง จตุรภักดิ์ ดำเนินรายการ ส่วนผู้เข้าร่วมรับฟังได้แก่ นักธุรกิจ นักการเมือง และประธานชุมขนในเขตเทศบาลนครฯ ประมาณ ๑๕๐ คน เช่น นายควง วงศ์เบญจรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด, นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหารกลุ่มคิงส์ยนต์, นายโกศล สมจินดา อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายไพรัตน์ มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เป็นต้น

ควรมีการทบทวนแก้ไข

                นายชัชวาล วงศ์จร กล่าวถึงเหตุผลในการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องว่า ตนมองว่าเจ้าของประเทศทุกคนมองดูแล้วมีข้อดีข้อเสียอะไรที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ รัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศต้องมาทบทวนดูว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบอะไรบ้าง ถ้าเป็นผลในเชิงลบ น่าจะมีการทบทวนและแก้ไขได้ โครงการรถไฟทางคู่ยังไม่มีการประมูลเป็นที่เรียบร้อยจึงคิดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

                ในขณะที่นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมแน่นอน เพราะประชาชนในภาคอุตสาหกรรมยังต้องเข้ามาในตัวเมือง ยังต้องข้ามไปมา ตามที่เห็นในกรุงเทพฯ หากเมืองมีการพัฒนามากขึ้น การที่จะยกระดับทางรถไฟก็เป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่า เมืองใดที่มีรถไฟผ่าน อีกด้านหนึ่งของเมืองจะไม่มีความเจริญ ทางรถไฟเกือบจะเหมือนเป็นแม่น้ำที่กั้นระหว่างเมือง เช่นกัน โคราชมีความเจริญขึ้นทางตัดข้ามทางรถไฟก็มีมากขึ้นเหมือนสะพานข้ามแม่น้ำมีมากขึ้น อีกฝั่งหนึ่งของเมืองก็จะเจริญขึ้นด้วย

 

ห่วงความเจริญของเมือง

                การมีรถไฟทางคู่ที่วิ่งด้วยความเร็ว ๑๒๐-๑๕๐ กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องกั้นทางรถไฟ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากสัตว์และคนที่อยู่บริเวณรอบๆ ทางรถไฟ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุทำให้รถไฟตกรางได้ ซึ่งรั้วกั้นทางรถไฟน่าจะกั้นมาตั้งแต่กรุงเทพฯ และน่าจะกั้นไปถึงหนองคายด้วย ส่วนกรณีการยกระดับทางรถไฟในเมืองจะช่วยทำให้สะดวกสบาย ถ้าจะให้ดีด้านล่างน่าจะทำเป็นถนนด้วย จะทำให้มีคนมาใช้บริการรถไฟเพิ่มมากขึ้น เพราะสะดวกในการเข้าสถานี ปัญหาของสถานีรถไฟในโคราช คือไม่มีถนนเข้ามาสถานี เมื่อครั้งสร้างทางรถไฟใหม่ๆ ถนนเลีียบทางรถไฟมีขนาดใหญ่มาก แต่ปัจจุบันถนนเหลือนิดเดียว ดังนั้น หากทางรถไฟมีการยกระดับขึ้นไป พร้อมทำถนนด้านล่างด้วย จะทำให้มีความสะดวกเกิดขึ้นมาก การที่เราจะเข้าไปใช้บริการสถานีรถไฟ จะเกิดประโยชน์กับสถานีรถไฟด้วย เพราะร้านค้าจะขายของได้ดีขึ้น เมื่อขายของได้มากขึ้นก็จะจ่ายค่าเช่าได้มากขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมตนเห็นด้วยที่จะมีการยกระดับทางรถไฟ” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว

เทศบาลเตรียมพัฒนาต่อยอด

                นายสุรวุฒิ เชิดชัย กล่าวว่า ต้องขอบคุณที่มีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จากกรุงเทพฯ มาโคราช มั่นใจอย่างยิ่งว่าจะมีความเจริญเข้ามาด้วย และต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ส่งทีมงานเข้าไปทำการตรวจนับปริมาณยานพาหนะที่วิ่งผ่านจุดตัดข้ามทางรถไฟทั้ง ๑๕ แห่งในเขตเทศบาลนครฯ ซึ่งปรากฏว่า ช่วงกลางวันมีพาหนะวิ่งผ่านประมาณ ๔๐,๐๐๐ กว่าคัน ช่วงกลางคืนประมาณ ๕๐,๐๐๐ คัน และระยะทางรถที่ไม่สามารถจะข้ามทางตรงได้จะวิ่งวนไปมา คำนวณระยะทางได้ประมาณ ๓๐,๐๐๐ กิโลเมตร

                หากมีการยกระดับเกิดขึ้น เทศบาลมีแผนจะนำงบมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างไรนั้น นายสุรวุฒิ กล่าวว่า “เทศบาลจะนำงบประมาณมาพัฒนาในส่วนนี้คือ ถ้ามีการยกระดับขึ้น พื้นที่ด้านล่างจะเป็นถนนเลียบทางรถไฟ ไปทะลุข้างจวนผู้ว่าฯ หรือเส้นจากโรงแรมสีมาธานีทำคู่ขนานย้อนไปโรงเรียนราชสีมา ๒ อีกเส้นหนึ่ง หรือรางระบายน้ำหน้าจวนผู้ว่าฯ ทะลุถนนจิระไปเชื่อมหน้านครชัยขนส่ง ถึงโรงแรมปัญจดาราก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะรางรถไฟมีการวางตัวในทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก ส่วนตัวเมืองโคราชด้านที่เป็นที่สูงอยู่ด้านทิศใต้ น้ำจะไหลจากทิศใต้ลงมาทิศเหนือ ผ่านถนนมิตรภาพ ซึ่งหากทำการยกระดับทางรถไฟแล้ว เราสามารถจะใช้ด้านล่างเป็นรางระบายน้ำได้”

โคราชจ่ายเองก็น่าจะยกระดับได้

                ผู้ดำเนินการเสวนาถามอีกว่า ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในปัญหาที่เกี่ยวกับการรถไฟ ซึ่งประชาชนไม่พอใจ นายศักดิ์ชัย ตอบว่า ตนไม่กล้าก้าวล่วงสิ่งที่เกิดไปแล้ว เพราะอาจจะถูกผูกมัดโดยสัญญาหรือ TOR แต่เรื่องที่ยังไม่เกิดอย่างนี้ตนถามว่าเราเคยมาคุยกันไหม ตอนนี้ถ้ามีการเสนออย่างที่นายกเทศมนตรีบอกว่า ถ้าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทางจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและระดมประชาชนทั้งจังหวัดมาปรับยกระดับในส่วนตรงนี้ การปรับทางยกระดับก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะวิธีการปฏิบัติไม่ได้มีทางเดียว เมื่อพ.ศ.๒๕๕๔ บริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาและเป็นวิธีที่ดีที่สุดในวันนั้น เพราะบริษัทที่ปรึกษาได้โจทย์มาและมีข้อจำกัด ก่อนนั้นชาวโคราชอาจไม่ให้ความสำคัญ แต่ ณ วันนี้ชาวโคราชได้มองเห็นแล้วว่า รูปแบบเดิมไม่เหมาะกับอนาคตของชาวโคราชต่อไป ดังนั้น เป็นความชอบธรรมที่ชาวโคราชจะต้องมาคุยกัน และตนเห็นด้วยกับการที่จะยกระดับทางรถไฟ แต่ก็ต้องแจ้งให้การรถไฟทราบชัดๆ ว่า จะเอารถไฟระบบไหนระหว่างดีเซลกับระบบไฟฟ้า ถ้าเป็นระบบไฟฟ้าสามารถวิ่งด้านบนได้ แต่ถ้าดีเซลคงวิ่งไม่ได้ เพราะมีน้ำหนักมาก ถ้าเป็นระบบไฟฟ้า พื้นที่ด้านล่าง

อ้างตัดถนนใหม่ช่วยศก.ดีขึ้น

                ในกรณีหากไม่สามารถทำการยกระดับทางรถไฟได้นั้น จะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายสุรวุฒิ เชิดชัย กล่าวว่า สิ่งที่ทำมานั้นดีแล้ว แต่เหลือแค่นิดเดียว ถ้าการยกระดับต้องใช้เงิน แต่เศรษฐกิจของโคราชที่ขยายตัวมากขึ้น เงินที่รัฐสามารถจัดเก็บได้ก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย ตามที่ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค ๒ บอก ถ้ามีการสร้างทางยกระดับและมีค่าใช้จ่าย เทศบาลจะออกค่าใช้จ่ายนั้นได้ไหม ตนในฐานะเทศบาล หากการรถไฟให้เทศบาลเช่ารางและจัดตั้งสถานีเพิ่ม ทำเป็นขนส่งมวลชน เก็บค่าโดยสาร สถานีละ ๕ บาท ๑๐ บาท นี่เป็นสิ่งที่เรามองต่อ อย่างที่เรียนให้ทราบว่าการที่เทศบาลตัดถนนใหม่ใต้ทางรถไฟ จาก ๑๕ จุด เป็น ๒๑ จุด ตนเชื่อว่า      ที่ดินที่เกิดใหม่ราคาก็จะดีขึ้น เมืองโคราชก็จะมีการสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม สร้างการค้า และธุรกิจอื่น จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย ตนคิดว่าหากนำตัวเลขค่าใช้จ่ายในการยกระดับรางรถไฟ มาหามูลค่าจากการที่คนโคราชเกิดการสร้างงานสร้างรายได้และนำคืนในรูปแบบภาษี ตนเชื่อว่าไม่นานชาวโคราชคืนทุนทางยกระดับทางรถไฟนี้ได้แน่นอน

ปชช.ท้วงเรียกร้องช้าเกินไป

                นางพรเพชร เหล่าอมต ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า ตนเคยอยู่ในเวทีประชาพิจารณ์ของโครงการที่มาจัดที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช ต้องขอบอกว่า คณะทำงานที่มาทำประชาพิจารณ์ เขาได้เสนอเรื่องการแก้ปัญหาให้ เหมือนที่เราเรียกร้อง แต่การเรียกร้องครั้งนี้ เป็นการเรียกร้องแบบชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่อง ส่วนตัวเห็นด้วยกับการยกระดับรางรถไฟ แต่มาตื่นตัวตอนที่ช้าเกินไป ตนฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองโคราชว่า ต่อไปอย่าละเลยกับเรื่องที่สำคัญอย่างนี้ เพราะถ้าช้าเกินไปจะเหมือนกับเด็กที่ไม่ได้ของดังใจ แล้วเราก็ไปเรียกร้องเอาทีหลัง ตนก็เห็นด้วยกับการยกระดับรางรถไฟ เพราะการยกระดับเราสามารถใช้พื้นที่ด้านล่างทำประโยชน์ได้หลายอย่าง

                นางอมรรัตน์ ทุดาดิษฐ์ หรือผู้ใหญ่ไข่ ชุมชนสถานีชุมทางจิระ กล่าวว่า ชุมทางจิระเป็นสถานีหลักซึ่งได้รับผลกระทบชัดเจน ตนเห็นด้วยกับรถไฟทางคู่ที่ต้องมีการยกระดับ และขอฝากถึง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค ๒ ว่า วันนี้ถ้าเปลี่ยนแปลงหรือมีการยกระดับรางรถไฟ เพื่อที่จะไม่ให้คนโคราชเดือดร้อน ตนยินดีจะทำศิลาจารึกชื่อและนามสกุลท่านไว้กลางหมู่บ้าน พร้อมย้ำว่า “เราคนไทยใจบุญวิสุทธิ์ศรี ด้วย  คุณความดีงามนานัปไม่สับสน มุ่งส่งเสริม กิจนิยมชุมชน ขอให้เราทุกคนจงรวมกัน เพื่อแผ่นดินแม่ย่าโม”


 นางอมรรัตน์ ทุดาดิษฐ์ หรือผู้ใหญ่ไข่ ชุมชนสถานีชุมทางจิระ

ลำบากทั้งม้าทั้งคน

                นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ นายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม กล่าวว่า ประชาชนเขตเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม มีความเดือดร้อนทั้งคนและม้า โดยเฉพาะบริเวณชุมชนวัดสุทธจินดา ที่มีการเลี้ยงม้าแข่งอยู่ประมาณ ๒๐๐ ตัว ซึ่งคนเลี้ยงม้าจะต้องพาม้าเดินออกกำลังกาย และนำมาซ้อมที่สนามแข่งค่ายสุรนารี ต้องข้ามทางรถไฟวันละ ๒-๓ รอบ ถ้ามีการใช้รั้วกั้นทางรถไฟ มากั้นจุดทางข้าม ก็ต้องพาม้าวนไปข้ามที่สะพานเกือกม้าของจริงแน่นอน

                จากนั้น นายสุรวุฒิ เชิดชัย กล่าวปิดท้ายว่า เมื่อมีข้อมูลที่กระจ่างชัดแล้ว และพี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ ส่วนการตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนชาวโคราชนั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะนำความต้องการของพี่น้องไปพิจารณาอย่างไรนั้น ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคมนี้น่าจะมีความคืบหน้า หลังจากนั้นจะมาพูดคุยกันอีกครั้ง

ยืนยันใช้ระบบดีเซล

                ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” สอบถามเรื่องระบบรถไฟที่จะนำมาใช้ในโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางมาบกะเบา-ถนนจิระ และเส้นทางถนนจิระ-สถานีขอนแก่น จากนายราเชนทร์ ศรีพา หัวหน้ากองเทคนิค การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเปิดเผยว่า โครงการนี้ใช้ระบบหัวรถจักรดีเซลรางในการเดินรถ ซึ่งหากจะมีการยกระดับรางในเขตเมืองนั้น ระบบไฟฟ้ามีความเหมาะสมที่สุด เพราะหัวรถจักรระบบดีเซลมีน้ำหนักมากกว่า ต้องใช้ระยะทางมากกว่าในการไต่ระดับขึ้นไปที่สูง จึงต้องมีการสร้างทางในการไต่ระดับจากระยะที่ไกลกว่าระบบรถไฟฟ้า ซึ่งในขณะนี้การรถไฟฯ ให้ใช้หัวรถจักรระบบดีเซล แต่อนาคตอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับการตัดสินใจของทางการรถไฟฯ

                สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


690 1344