19thApril

19thApril

19thApril

 

July 21,2017

‘อธิการบดี มทส.’หลั่งน้ำตา ตื้นตันเสริมสร้างมหาวิทยาลัย

           มทส.ฉลอง ๒๗ ปี จัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมยิ่งใหญ่ตลอดเดือน ยืนหยัดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรม เคียงคู่สังคม ‘ศ.ดร.ประสาท’ อธิการบดี ตื้นตันใจ ช่วยพัฒนา มทส.ให้ก้าวหน้า เผยเสียงสั่นปลายเดือนนี้สิ้นสุดวาระ 

 

           เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๑.๐๐ น. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงานแถลงข่าวเนื่องในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยฯ ครบ ๒๗ ปี พร้อมจัดงาน “สานสัมพันธ์ มทส.สื่อมวลชน” ประจำปี ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นประธานในพิธี ท่ามกลางสื่อมวลชนในจังหวัดนครราชสีมาที่เข้าร่วมจำนวนมาก 

           ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. กล่าวว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่มาร่วมงาน โดยทุกปีประมาณต้นเดือนกรกฎาคมจะจัดงานลักษณะนี้ ปีนี้มีความพิเศษหลายอย่าง แรกสุดคือครั้งนี้เป็นการจัดงานสถาปนาครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทางมหาวิทยาลัยถือว่าเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนเกิดของมหาวิทยาลัย ถือเป็นมงคลเนื่องจากครบรอบ ๒๗ ปี วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒ บวก ๗ เป็น ๙ เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงจัดงานเฉลิมฉลองตลอดเดือนกรกฎาคม เริ่มตั้งแต่ก่อนสถาปนาวันที่ ๒๗ กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมไปแล้ว ๙ กิจกรรม ได้แก่ การประชุมสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย, การประชุมสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย, สัมมนาเครือข่ายองค์กรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา, ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเปิดให้สื่อมวลชนเข้าชมเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อสังคม, มหาวิทยาลัยพร้อมด้วยคณะกรรมการระดมทุนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้สร้างเททองหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตัก ๘๙ นิ้ว เป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเสด็จสวรรคาลัยเมื่อพระชนมายุ ๘๙ พรรษา และมีพระขนาดเช่าบูชา ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เช่าบูชา, มหาวิทยาลัยต้องการนำเสนอให้เห็นเด่นชัดคือเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้มาตรฐานของประเทศอังกฤษเป็นตัวตั้ง, กิจกรรมของนักศึกษาวิศวกรรมและนักศึกษาอื่นๆ ช่วยกันประดิษฐ์ดอกดารารัตน์เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ๒๗,๙๙๙ ดอก, กิจกรรมที่ถือเป็นวัฒนธรรมที่ทำมา ๒๕ ปี คือเรื่องไปลามาไหว้ โดยนำนักศึกษาใหม่ไปสักการะคุณย่าโม ไปไหว้ฝากตัวเจ้าบ้านนายเมือง ทั้งแม่ทัพภาคที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ ผู้บังคับการกองบิน ๑ ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม นายกเทศมนตรี และหน่วยงานอื่นๆ ให้รับนักศึกษามาเป็นหลานเมืองย่า ทำให้เกิดความอบอุ่นมากว่ามีการต้อนรับตามประเพณีไทยแท้แต่โบราณ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะไปกราบสักการะคุณย่าโมเช่นกัน และในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้ จะมีกิจกรรมการทำบุญตักบาตร และรับบริจาคโลหิต โดยตั้งไว้จำนวน ๖๖๐,๐๐๐ ซีซี.เป็นอย่างน้อย เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ณ ลานศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

           ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนมาอยู่ที่โคราช มหาวิทยาลัยบ้านเกิด ๒๔ ปี ๔ เดือน ได้ร่วมกันคิดกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีการตั้งจุดยืนของมหาวิทยาลัยไว้ ๕ ประการ ดังนี้ ประการแรก มหาวิทยาลัยคู่เคียงสังคมไทย คือไม่ว่าน้ำท่วม ไฟไหม้ ค่ายอาสาต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยเข้าร่วมหมด รวมถึงโครงการ ๓๒ ดอกเตอร์ ๓๒ อำเภอ ประการที่ ๒ มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลในปี ซึ่งเมื่อพ.ศ.๒๕๓๓ มีแห่งเดียว ปีนี้มี ๒๒ มหาวิทยาลัยที่เอาอย่าง มทส.จึงเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยรุ่นปู่รุ่นอารุ่นน้า เป็นมหาวิทยาลัยที่นำสหกิจศึกษามาใช้เป็นแห่งแรก ทำให้อัตราการได้งานของบัณฑิตที่จบการศึกษาเป็นอันดับ ๑ ของประเทศ เมื่อปี ๒๕๓๘ มีการส่งนักศึกษาไปร่วมสหกิจศึกษาเพียง ๑๒๓ คน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีประมาณ ๑๒๗ แห่ง ส่งนักศึกษาไปสหกิจศึกษามากกว่า ๓๐,๐๐๐ คนต่อปี จะเห็นได้ว่า มีผลต่อการศึกษาอย่างมาก 

           ประการที่ ๓ เลิศล้ำวิชาการ เมื่อ ๑๒ ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้มี ๕ สำนักวิชา ขณะนี้เปิดรับแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น ๘ สำนักวิชา มีหน่วยงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ในปี ๒๕๔๘ มีนักศึกษาประมาณ ๕,๗๐๐ คน ได้รับงบฯ จากรัฐบาลประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันมีนักศึกษา ๑๖,๐๐๐ คน ได้รับงบประมาณ ๒,๒๘๕ ล้านต่อปี มีนักศึกษาต่างประเทศ ๓๐๐ คน มีอาจารย์ต่างประเทศ ๓๕ คน นี่คือความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย สถาบันที่จัดลำดับมหาวิทยาลัย จัดให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ในระดับ Top 10 มาตลอด ขณะนี้อาจจะบอกได้ว่า อยู่ใน ๕ อันดับต้นของประเทศ เป็นรองเฉพาะมหาวิทยาลัยดั้งเดิม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) และหลังจากนั้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประการที่ ๔ เชื่อมประสานสู่สากล จะเห็นว่าภายในมหาวิทยาลัยมีสถาบันวิจัยแห่งชาติอยู่ ๒ แห่ง คือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทำให้นักวิจัยสามารถค้นคว้าทดลองงานวิจัยได้อย่างเต็มที่ และจากการตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปลงนามความร่วมมือต่างๆ ในประเทศจีน พระองค์ท่านตรัสถามผู้นำเขาว่า ใน ๓๖๕ วัน ถ้าใช้เครื่องมือเต็มที่ ๓๖๔ วัน ส่วน ๑ วันที่ว่างขอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมาร่วมใช้ได้หรือไม่ ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เขาจึงตอบตกลง เพียงให้ลงนามสมัครเป็นสมาชิก ในที่สุดนักวิจัยจากประเทศไทยก็ได้ใช้เครื่องมือระดับสูงที่เรายังไม่มี และในปี ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรอินเตอร์ทั้งหมด ๕ หลักสูตร โดยเป็นวิศวกรรมศาสตร์ ๔ หลักสูตร เกษตรกรรม ๑ หลักสูตร และประการที่ ๕ ผลิตกำลังคนเป็นผู้ประกอบการ จากนโยบายจากหิ้งสู่ห้าง คือการที่นักศึกษาคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ จะมีการนำดูว่าเรื่องไหนที่สามารถต่อยอดได้ก็จะทำการผลักดันต่อไป ทั้งนี้หวังอย่างยิ่งว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์กลาง ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา (Education Hub) ด้านสุขภาพ (Medical Hub) ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and Logistics Hub) ด้านอาหาร (Food Hub)  ด้านกีฬาและการท่องเที่ยว (Sports & Tourism Hub) อย่างต่อเนื่อง


นายสุนทร จันทร์รังสี ในฐานะสื่อมวลชนอาวุโส โอบกอดให้กำลังใจ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า หลังจากหลั่งน้ำตาลงจากเวที และมอบของที่ระลึก

 

           จากนั้นทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เชิญนายสุนทร จันทร์รังสี ผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน เป็นตัวแทนของสื่อมวลชน ขึ้นกล่าวว่า เมื่อประมาณ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว เป็นความใฝ่ฝันของชาวโคราช และดิ้นรนที่จะให้เกิดมหาวิทยาลัยของโคราช ในขณะนั้นเกิดน้อยอกน้อยใจ เพราะที่เชียงใหม่และขอนแก่นมีมหาวิทยาลัยแล้ว ทำความเข้าใจกันว่าคือนโยบายทางการเงินและทางเศรษฐกิจ เพราะขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง แต่โคราชไม่ได้นิ่งนอนใจและดิ้นรนจนสำเร็จ และสุขใจทุกครั้งเมื่อได้ฟังอธิการบดีบรรยายถึงพัฒนาการและสิ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้สร้างประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะในโคราชเท่านั้น แต่เป็นระดับประเทศ ก็ยิ่งภูมิใจมากขึ้น

           “ในวันนี้ แรกก็คิดว่าจะทำธุระที่อื่น แต่เมื่อได้ทราบถึงวาระที่น่าตกใจ คือเป็นปีสุดท้ายแห่งการบริหารของศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า ที่จะบริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เราอยู่ภายใต้การบริหารโดยการนำของท่าน ๓ สมัยรวม ๑๒ ปีเต็ม ยิ่งกว่าคนที่เป็นญาติกัน เพราะคนที่เป็นญาติบางที ๑๐ ปีก็ไม่มาเจอกัน แต่นี่แทบจะได้พบได้เห็นท่านทุกเดือน ท่านมีกิจกรรมออกมาพบปะกับสังคม บ้านเมือง นำความเจริญมาสู่โคราช ตนมีความตกใจที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ความเข้าใจของตัวเองและทราบมาว่า ท่านสามารถที่จะเป็นอธิการบดีได้ตลอดชีวิต ถ้าถูกเลือกต่อเนื่อง ทั้งนี้พยายามทำใจ เนื่องจากผลงานของท่านอธิการบดี ซึ่งเปรียบเสมือนน้องรักคนหนึ่ง ถือเป็นเด็กพิมายที่โดดเด่นตลอดมา เพราะมีความสามารถมาก แต่ก็เปรียบเสมือนได้ทานแกงมัสมั่น ซึ่งเป็นแกงที่ดีเลิศของไทยมา ๓ สมัย ๑๒ ปีแล้ว ปีหน้าลองเปลี่ยนมาทานบะหมี่ทรงเครื่องบ้าง ตนเข้าใจเช่นนี้ จึงทำใจได้ว่า การจากไปของท่านในตำแหน่งใหม่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมใหม่แห่งการบริหารใหม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี ใครจะเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เชื่อมั่นว่าพี่น้องสื่อมวลชนทุกคนพร้อมที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยเดินหน้าต่อไป ให้คงความยิ่งใหญ่และมีศักยภาพต่อไป” นายสุนทร กล่าวด้วยเสียงหดหายเป็นระยะๆ และยอมรับว่า ตื้นตันใจ พูดอะไรไม่ออกแล้ว

           ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า เผยความในใจในช่วงท้าย โดยย้ำว่า “ตลอดระยะเวลา ๒๔ ปี ๔ เดือน ผมหายใจเข้าเป็น มทส. หายใจออกเป็น SUT และอยากมีลมหายใจ มทส. SUT ไปอย่างคงเส้นคงวาจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม หากถึงวันที่ ๑ สิงหาคม คงคิดว่าควรจะทำอะไร สำหรับชีวิต ด้วยความที่รักและผูกพัน ตนเป็นเด็กพิมายซึ่งเป็นเด็กบ้านนอก แต่ได้รับการต้อนรับจากพี่น้องสื่อมวลชน จากผู้บริหารระดับสูง ฯพณฯ นายกฯชาติชาย ชุณหะวัณ เข้าใจพลเอกชาติชายมาก อย่างน้อยมีลูกโคราชเลือดโคราชมาร่วมทีมบริหาร หลังจากนั้นได้ทุ่มเทสติปัญญาความสามารถ ยกตัวอย่าง เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ มีอุทกภัยใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลสวนหม่อน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอยู่ภายใต้น้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมราชบพิตร เท่าที่ทราบอย่างเป็นทางการ ทรงมีรับสั่งให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักจากโรงพยาบาลมหาราชที่เกิดอุทกภัยไปที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่เป็นลูกโคราช ได้คิดเสมอว่า ถ้ามีสถานที่รองรับผู้ป่วย จะต้องทำให้ได้ แล้วศาสตราจารย์ ดร.ประสาทก็น้ำตาไหลพรากคว้ากระดาษเช็ดหน้า ๓-๔ แผ่นมาซับน้ำตา ไม่อาจกล่าวต่อไปได้ ฝ่ายพิธีการจึงปิดการปราศรัย และนำเข้าสู่การแจกเป้สะพายหลังเป็นที่ระลึกแก่สื่อมวลชน ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ประสาทลงจากเวทีมาแจกให้ทุกคนด้วยตนเอง และเชิญร่วมรับประทานอาหารกลางวัน 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๖ วันศุกร์ที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


688 1343