28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 29,2017

เสิร์ฟความสะดวกแก่ลูกค้า“คลังสเตชั่น” ๗๕๐ ล้าน พร้อมบริการกลางปี’๖๑

          “เสี่ยเหลียง” สั่งลุย “คลังสเตชั่น” หลังจากวางเสาเอก-เสาโทเรียบร้อยแล้ว จุดประสงค์หลักเพื่อเสิร์ฟความสะดวกแก่ชุมชนหนองไผ่ล้อมและใกล้เคียง หลังประสบความสำเร็จด้วยดีกับ “คลังวิลล่า” 

          เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นายไพรัตน์ มานะศิลป์ หรือ “เสี่ยเหลียง” รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้าง “คลังสเตชั่น (Klang Station)” หรือ “คลัง ๔” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานฐานรากและชั้นใต้ดิน และมีพิธีวางเสาเอกเสาโทไปแล้วเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดเปิดบริการประมาณกลางปี ๒๕๖๑ โดยตั้งใจจะสร้างให้เป็นห้างสรรพสินค้าที่เป็นทางเลือกของคนโคราช ไม่คิดจะแข่งขันกับห้างใหญ่ๆ เพราะเป็นมวยคนละรุ่น เราทำเพื่อกลุ่มลูกค้าคนเมือง มีเวลาน้อย เพราะถ้ามีเวลามากลูกค้าก็ต้องไปห้างใหญ่ แต่ลูกค้าของคลังพลาซ่าคือ คนที่เจาะจงมาใช้บริการ ฉะนั้น คลังพลาซ่าทุกแห่งจะไม่มีคนมาเดินเล่น แต่เป็นการมาซื้อสิ่งของ 

          “จุดประสงค์หลักของเราคือ นำความสะดวกเข้าไปใกล้ลูกค้ามากขึ้น เพราะลูกค้าที่เป็นคนโคราชรู้จักคลังฯ อยู่แล้วว่าเราขายอะไร ฉะนั้น เราจึงนำความสะดวกไปให้ลุกค้าถึงบ้าน เพราะย่านหนองไผ่ล้อมมีครัวเรือนจำนวนมาก เมื่อครั้งผมเด็กๆ ยังไม่เจริญ แต่ปัจจุบันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีทั้งสถานที่ราชการ การไฟฟ้า วิทยุการบิน บ้านพักทหาร เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเปิดบริการ “คลังวิลล่า” ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี คนก็แฮปปี้ เพราะไม่ต้องเข้ามาซื้อของถึงในเมือง” นายไพรัตน์ กล่าว

          สำหรับงบประมาณในการลงทุนก่อสร้างคลังสเตชั่นนั้น นายไพรัตน์ เปิดเผยว่า “ตั้งไว้ที่ประมาณ ๗๕๐ ล้านบาท ไม่ให้เกินจากนี้มาก ส่วนรูปแบบการก่อสร้างนั้น เมื่อครั้งที่สร้าง “คลังวิลล่า” จะมีสีสันสดใสเพราะส่วนใหญ่บริเวณนั้นเป็นที่พักอาศัยของนักศึกษา แต่ในส่วนของคลังสเตชั่นไม่ใช่ เพราะลูกค้าจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่หรือกลุ่มคนทำงาน จึงออกมาในแนวที่ดูอบอุ่น ร่มรื่น รวมทั้งบ้านเรือนไทยโบราณทั้ง ๕ หลังที่อนุรักษ์ไว้ ก็จะมีการปรับปรุงซ่อมแซมให้แข็งแรง เพื่อทำเป็นร้านค้าเช่า ซึ่งร้านที่จะมาเช่าบ้าน ๕ หลังนี้ก็ต้องมาตกแต่งให้เข้ากับบรรยากาศที่เราสร้างด้วย เพราะบ้านเรือนไทยนี้อายุก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว จึงต้องรื้อออกมาแล้วประกอบเข้าไปใหม่ ผู้ที่มาทำให้ก็คืออาจารย์ยุทธผู้ที่เคยซ่อมพระราชวังไกลกังวล และพระราชวังต่างๆ ของในหลวง ซึ่งมีความละเอียดประณีต การอนุรักษ์ของเก่าไว้เพื่อให้ได้กลิ่นอายของเดิม คนที่จะทำได้ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นพิเศษ ไม้เก่าจะวางสลับกันไม่ได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดการโก่งตัว ดัด ไม่ลงล็อก จึงต้องจดบันทึกไว้โดยละเอียดทุกชิ้นว่า ชิ้นไหนอยู่ในตำแหน่งใด”

          การควบคุมงานนั้น ผมลงไปตรวจสอบทุกสัปดาห์ และประชุมทีมทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามความคืบหน้าโดยละเอียดว่าถึงขั้นตอนใดแล้ว งานสร้างห้างฯ ค่อนข้างจุกจิก จึงต้องติดตามเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ต้องดูแลใส่ใจโดยละเอียด ส่วนบริษัทที่ออกแบบก็เป็นบริษัทที่ออกแบบห้างเมกะบางนา ดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานจึงสอดรับกันอย่างดี จึงอยากจะฝากบอกชาวโคราชว่า คลังพลาซ่า ห้างหนึ่งเดียวของโคราช ซึ่งขณะนี้เรากำลังจะมี “คลังสเตชั่น” หรือคลัง ๔ แล้ว ขอให้คนโคราชมาอุดหนุนกันมากๆ 

          สำหรับในส่วนของ “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” ภายหลังจากทุ่มทุนปรับปรุง (renovate) กว่าพันล้านบาทนั้น ขณะนี้มีร้านค้าเช่ามาเปิดบริการมากขึ้น โดยนายไพรัตน์ กล่าวถึงการเลือกร้านค้าที่จะมาเปิดบริการว่า “เราไม่ได้เป็นห้างใหญ่ที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้ากันในระยะยาว แต่เราจะพิจารณาตามความเหมาะสม สิ่งใดที่เหมาะกับห้างเราก็นำเข้ามา ค่อยๆ เลือก แบบช้าแต่ชัวร์ รวมทั้งห้องชั้นล่างฝั่งซ้ายมือ (หันหน้าเข้าห้าง) ถือเป็นทำเลที่สุดยอดมาก แต่ก็ยังไม่ปล่อยให้ใครเช่า ขอเก็บไว้ก่อน เรียกว่ายังไม่เจอเนื้อคู่ที่ถูกใจ และยังไม่เหมาะสม ขอแบบช้าๆ แต่ชัวร์”

          นายไพรัตน์ กล่าวอีกว่า “ส่วน “คลังพลาซ่าอัษฎางค์” หรือ “คลังเก่า” มีปัญหาเรื่องที่จอดรถซึ่งไม่เพียงพอกับการมาใช้บริการของลูกค้า เพราะด้วยความเจริญของบ้านเมือง เราก็รู้ว่าลูกค้าเหนียวแน่นกับคลังเก่า โดยมีแผนจะสร้างอาคารที่จอดรถเพิ่ม เพิ่มจำนวนร้านอาหาร ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตแน่ๆ แต่ขณะนี้ขอลุยสร้างคลังสเตชั่นให้แล้วเสร็จก่อน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ได้เพิ่มทางออกจากห้าง โดยออกด้านล่างของโรงแรมศรีจอมพลซึ่งเราซื้อโรงแรมนี้ไว้แล้ว โดยลูกค้าสามารถทะลุออกมาถนนจอมพลได้เลย เป็นการเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าอีกทางหนึ่ง”

          “ขอฝากห้างของคนโคราช “คลังพลาซ่า” ซึ่งปีนี้มีอายุครบ ๖๐ ปีแล้ว โดยเริ่มจากคลังวิทยา มาเป็นคลังวิทยา ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ คลังพลาซ่า คลังวิลล่า และกำลังจะมีคลังสเตชั่นในเร็วๆ นี้” นายไพรัตน์ กล่าวในท้ายสุด  

          อนึ่ง บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบครั้งแรกในนาม “คลังวิทยา” ก่อตั้งโดยนายไพศาล มานะศิลป์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) เมื่อปี ๒๕๑๙ บริเวณถนนอัษฎางค์ ด้วยพื้นที่เริ่มแรกเพียง ๒,๐๐๐ ตารางเมตร หลังจากได้ผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างล้นหลาม จึงทำการขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ ตารางเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๙ เปลี่ยนชื่อเป็น “คลังพลาซ่า” จากนั้นขยายสาขาและเปิดให้บริการสาขาที่ ๒ ในนาม “คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์” ในปี ๒๕๓๔ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประมาณ ๑๐๐ เมตร ในรูปแบบห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ด้วยเนื้อที่ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร ให้บริการด้วยความทันสมัยและครบวงจรที่สุดในขณะนั้น ต่อมาในปี ๒๕๕๓ คลังพลาซ่าได้เปิดตัว Community Mall (ศูนย์การค้าชุมชนแบบเปิด) ภายใต้ชื่อ “คลังวิลล่า” เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ ๕ ไร่เศษ บนถนนสุรนารายณ์ มีความทันสมัยและสวยงาม เน้นการให้บริการกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษา เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ซึ่งผลตอบรับออกมาดีเช่นเคย จึงทำการ Renovate (ปรับปรุง) คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ กลางปี ๒๕๕๖ ปรับเปลี่ยนทั้งโลโก้ ภาพลักษณ์และรูปโฉม โดยขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร เป็น ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตร 

          ต่อมาในปลายปี ๒๕๕๙ มีการเปิดตัวว่าจะมีการก่อสร้าง Klang Station บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ ถนนพิบูลละเอียด บนที่ดินประมาณ ๑๗ ไร่เศษ โดยเป็นที่ดินส่วนตัวของตระกูลมานะศิลป์ประมาณ ๒.๕ ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นการเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะเวลาเข่า ๓๐ ปี ซึ่งภายในโครงการ Klang Station แบ่งออกเป็น ๔ โซนได้แก่ Klang Station, Klang Plearn, Klang Market, Backyard เน้นให้บริการแบบ Daily Use Dining & Lunch พื้นที่จอดรถบริเวณชั้นใต้ดินเชื่อมต่อกับถนน สามารถเข้า-ออกได้ทั้ง ๓ เส้นทางจราจร มีความกว้างขวางสะดวกสบายรองรับการให้บริการกว่า ๕๕๐ คัน โซน Klang Market เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า ๒,๐๐๐ ตารางเมตร พรั่งพร้อมด้วยสินค้าและบริการที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการ ในการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า อย่างครบครัน โซน Klang Plearn (ร้านหนังสือและร้านเครื่องเขียน) มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่าง เพียบพร้อมไปด้วยสินค้าระดับพรีเมี่ยม ออกแบบให้มีต้นแบบที่ชัดเจน เพื่อที่จะขยายธุรกิจโมเดลนี้ไปยังที่ต่างๆ อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งคลังพลาซ่า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพียงการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่จะมีพื้นที่ให้ลูกค้าได้เข้ามาพักผ่อนอิริยาบถ ตกแต่งด้วยบรรยากาศของสถานีรถไฟเก่า โดยนำบ้านพักพนักงานการรถไฟ ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าแก่ มาตกแต่งด้วยแนวคิดสมัยใหม่ มีความเป็นเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นให้มีความร่มรื่นทางธรรมชาติด้วย โดยว่าจ้างให้บริษัท คอนทัวร์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบ 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๔๗ วันพุธที่ ๒๖ - วันจันทร์ที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


699 1349