26thApril

26thApril

26thApril

 

August 14,2017

อ้าง‘โคราชไม่เอารางเบา’ หากต้านเยอะ‘พับโครงการ’

                ให้ข้อมูลบิดเบือน สื่อบางสำนักเสนอข่าว ทำให้ชาวโคราชเห็นผิดไม่เอา LRT ถึงขั้นบอกไม่จำเป็นต้องมีระบบใดในเขตเมือง “มทส.” ผู้ศึกษาย้ำ หากต่อต้านเยอะ คมนาคมอาจพับโครงการ ยอมรับเสียดาย เพราะแก้ปัญหารถติดในเมืองได้

                สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ น. สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๓ (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง ณ ห้องสุรนารี เอ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช โดยมว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สนข. เป็นประธานเปิดการสัมมนาร่วมกัน และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมสัมมนาประมาณ ๒๔๐ คน เช่น นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ เสนอข่าวโดยละเอียดไปแล้ว ในฉบับที่ ๒๔๔๘ วันที่ ๑-๕ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ นั้น

                ‘โคราชคนอีสาน’ สัมภาษณ์  เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเปิดเผยว่า ในการสัมมนาครั้งที่ ๓ นั้น เป็นการสรุปผลการศึกษาของสนข. ซึ่งว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ทำการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมือง ซึ่งในการปัจฉิมนิเทศ ครั้งนีเป็นการสรุปมาให้ฟังว่าโครงการได้เลือกระบบไหนในการดำเนินโครงการ และด้วยเหตุผลอะไร เป็นการชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าสาเหตุที่เลือกระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เกิดจากเหตุใด และแสดงเหตุผลถึงการเลือกเส้นทางเดินรถตามแผนเพราะเหตุใด

พาดหัวข่าวบิดเบือน

                เภสัชกรจักริน กล่าวย้อนไปว่า เหตุที่ ระบบนี้เป็นระบบที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก และที่สำคัญระบบรางสามารถเข้ามาในเขตเมืองได้ ซึ่งขณะนี้โจทย์ของเราคือการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของเขตเมืองชั้นใน เนื่องจากเศรษฐกิจในเขตเมืองชั้นในมีลักษณะแย่หรือกำลังจะล่มสลายไป หากมีระบบขนส่งสาธารณะนี้เกิดขึ้น จะทำให้ระบบเศรษฐกิจในเขตเมืองฟื้นคืนกลับมาได้บางส่วน และที่สำคัญคือการเลือกเส้นทางเดินรถนั้น จะสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ขณะนี้มี ๓ เส้นทาง แต่เส้นทางที่โครงการจะเริ่มดำเนินการก่อน คือเส้นทางสายสีเขียวและสายสีส้มที่จะผ่านมาในเขตเมือง โดยมีเหตุผลที่ว่าสายสีเขียวมีการเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงที่สถานีหัวรถไฟ ซึ่งตรงนี้เส้นทางมีความสำคัญต้องผ่านถนนมุขมนตรีและเชื่อมต่อมาลานย่าโม และลานย่าโมจะเป็นศูนย์กลางจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียวกับสายสีส้ม โดยสายสีเขียวจะมีการวิ่งผ่านเมืองเชื่อมต่อไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ ๒ (บขส.๒) การที่มีจุดเชื่อมต่อเส้นทางหลักจากสถานีรถไฟความเร็วสูงไปถึงสถานีขนส่งแห่งที่ ๑ (บขส.๑) และ บขส.๒ ได้ ผู้โดยสารจะสามารถเดินทาง  ต่อไปสถานที่อื่นได้นอกจากในเมือง ส่วนสายสีส้มนั้น จะเข้ามาเส้นในเมืองและวิ่งวนอยู่ในเขตเมือง ระยะที่สอง คือสายสีม่วงที่จะวิ่งมาตามถนนสายมิตรภาพ ผ่านเดอะมอลล์ อ้อมไปเทอร์มินอล และไปอ้อมเซ็นทรัลพลาซาใหม่ จากนั้นจะมาบรรจบที่บ้านเกาะ และจะมาเชื่อมต่อกับทุกสายที่เป็นส่วนขยายในระยะสุดท้าย

                “ในวันที่มีการปัจฉิมนิเทศนั้น พี่น้องบางส่วนมาร่วมด้วยความตื่นตระหนกและกลัวว่าจะหาที่จอดรถไม่ได้ เพราะมีผู้บริหารบางคนรวมทั้งสื่อบางสำนักไปให้ข้อมูลผิดๆ ว่า ระบบรางเบาจะไม่สามารถจอดรถได้ทั้งสองฝั่งถนน ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดของโครงการ จึงทำให้ประชาชนมีความตื่นตระหนกถึงขั้นออกมาบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีระบบใดๆ ในเขตเมืองซึ่งมีบางคนเท่านั้นที่มีความเข้าใจผิด เพราะได้รับข้อมูลที่ผิดๆ มา โดยนายกเทศมนตรี (นายสุรวุฒิ เชิดชัย) ก็เสนอให้ทดลองวิ่งก่อนว่าจะมีผลกระทบเช่นไรกับประชาชน เช่น ควรจะมีการนำรถบัสที่มีอยู่ มาวิ่งในเส้นทางที่กำหนดไว้เป็นเส้นทางรถรางก่อนว่าจะมีผลเป็นอย่างไร มีน้อยคนมากที่บอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้หรือหาระบบอื่นมาทดแทนเพียงแต่มีการบิดเบือนข่าวจากบางสำนักข่าวที่พาดหัวข่าวว่า ‘ชาวโคราช จัดหนัก!! คนโคราชไม่เอารถไฟฟ้ารางเบาผ่าเมือง’ เท่านั้น ที่ทำให้ประชาชนเห็นผิดว่าชาวโคราชไม่เอาระบบนี้ ทั้งที่มีประชาชนเพียงบางคนเท่านั้นถูกจัดตั้งมา ให้ถือป้ายเข้ามาในงาน แต่ไม่ถึงขั้นประท้วงแต่อย่างใด” ภก.จักริน กล่าว

                ภก.จักริน เปิดเผยอีกว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ตนคิดว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดีที่สุดและตนก็สนับสนุนระบบนี้มาตั้งแต่ต้น หลังผ่านการปัจฉิมนิเทศครั้งนี้ไปแล้ว สนข.จะเปลี่ยนให้ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) เข้ามาทำการออกแบบและก่อสร้างแทน เรียกว่า ‘ดีเทล ดีไซน์’ ซึ่งตนได้เสนอแนวความคิดไปว่า จะต้องถามชาวโคราชทุกกลุ่มก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และเพื่อให้ชาวโคราชเห็นประโยชน์ร่วมกันในการกำหนดเส้นทางรวมทั้งรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง แต่รูปแบบที่สรุปแล้ว คือรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา

ไม่เอา Smart เอา Strong

                ด้านนายพีรพล หล้าวงษา อาชีพทนายความ ซึ่งเข้าร่วมเวทีปัจฉิมนิเทศด้วยนั้น แสดงความคิดเห็นว่า ตนเป็นคนโคราชตั้งแต่เกิดได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดมาโดยตลอด สมัยก่อนเราเคยใช้จักรยาน รถสามล้อปั่น เคยใช้บริการรถเมล์ เป็นวิวัฒนาการที่มีการเปลี่ยนแปลงมาถึงทุกวันนี้ โดยเป็นการดำเนินชีวิตของประชาชนที่อยู่ในเมืองการค้าขายในอดีตนั้นจะค้าขายกันข้างถนน ตลอดระยะการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านเข้ามาระบบการค้าขายข้างถนนถูกกระทบและเป็นการกระทบที่รุนแรงมาก จากห้างใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้วิถีชีวิตการค้าของเมืองโคราชเปลี่ยนไป ผู้ค้าขายข้างถนนต่อสู้กับทุกอย่าง ดังนั้น เราต้องกลับมามองดูถึงสิ่งที่เราจะพัฒนานั้นว่า ส่งเสริมวิถีชีวิตของเราให้ดีขึ้นเพียงใด มีผลกระทบไหม ถึงตอนนี้เราต้องเปลี่ยนตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ Strong ให้ได้ เราจะไม่เอา Smart แต่เราจะเอา Strong จากตรงนี้ที่มองดู ตนไม่ปฏิเสธระบบขนส่งมวลชนแต่การที่ประชาชนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ารางเบาที่เป็นบริการสาธารณะรูปแบบใหม่นั้น ประชาชนจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ตนจึงอยากสอบถามว่าผู้รับผิดชอบโครงการจะสามารถตอบโจทย์ด้านภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของประชาชนได้หรือไม่ และถ้าเป็นไปได้จะสามารถปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้ารางเบาให้เท่ากับค่ารถโดยสารสองแถวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่

                “ตนไม่ได้ปฏิเสธระบบรถไฟฟ้ารางเบา ไม่ว่าจะอยู่ลอยฟ้า บนดิน หรือแม้แต่ใต้ดิน ตนคิดว่าผู้ศึกษาโครงการน่าจะกลับไปคิดใหม่ว่าเมืองโคราชน่าจะเหมาะสมกับระบบไหนที่ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และต้องส่งเสริมระบบการค้าให้มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ด้วยตนเอง เมืองโคราชต้องเป็น Strong City” ทนายพีรพล กล่าว


ผศ.ดร.รัฐพล ภู่บุบผาพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร มทส.

พลิกพื้นเมืองให้น่าอยู่

                นอกจากนี้ “โคราชคนอีสาน” ยังสัมภาษณ์ ผศ.ดร.รัฐพล ภู่บุบผาพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร มทส. หนึ่งในคณะผู้ศึกษาฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาเดียวกัน หากมองในอีกมุม โครงการนี้ไม่ได้มองแค่การลดปัญหาการจราจรเท่านั้น แต่ในภาพรวมเราต้องการปรับปรุงเมือง เป็นการใช้โอกาสตรงนี้นำระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาพลิกฟื้นเมืองให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น และทำให้เมืองเก่าที่มีแต่ความซบเซา มีสิ่งดึงดูดเหมือนกับเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนเข้ามาใช้ และคนก็สามารถเดินจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจในเมืองพลิกฟื้นกลับคืนมาได้ สำหรับประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับจากระบบขนส่งสาธารณะนี้คือ คุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมืองที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการลดปัญหาการจราจรได้หากเราสามารถส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกในการเดินทาง และมีการสร้างโครงข่ายให้ทั่วถึง ตรงนี้ตนมองว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองโคราชก็จะดีขึ้นหากมองในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนที่อยู่ในบริเวณที่รถรางผ่านจะได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมาก

ระบบขนส่งสาธารณะแบบบูรณาการ

                สำหรับประเด็นที่ว่า โครงข่ายรถไฟฟ้ารางเบายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงนั้น ผศ.ดร.รัฐพล ยอมรับว่า “มูลค่าการลงทุนของโครงการนี้มีมูลค่าสูง เราต้องแยกเป็น ๒ ระบบ คือระบบหลักกับระบบรอง ระบบหลักที่เราสร้างไว้ จะทำหน้าที่เป็นเสมือนโครงข่ายที่ขนคนจำนวนมาก แน่นอนจะต้องมีระบบรองมาเชื่อมต่อกับเส้นหลัก เช่น รถสองแถวที่วิ่งอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะต้องปรับบทบาทหน้าที่ของตัวเองเป็นตัวรองรับ หรือประเภทรถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ จะเข้ามาเติมจากเส้นหลักของเรา ซึ่งระบบรถขนส่งรถสองแถว ในแผนแม่บทเสนอให้ต้องมีการปรับเส้นทาง ทำหน้าที่รับส่งคนจากชุมชน จากในพื้นที่ตรอกซอกซอยเพื่อเชื่อมเข้าหาระบบราง ซึ่งถ้ามองเฉพาะระบบหลักอย่างเดียวย่อมที่จะไม่สามารถเข้าไปถึงทั่วทุกพื้นที่ได้แน่นอนทั้งนี้ถ้ามีการมองโดยภาพรวมทั้งระบบหลักและระบบรองว่าต้องมีการปรับไปพร้อมกันด้วย ตรงนี้ก็จะสามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ได้มากขึ้น”

เคาะประตูบ้านพูดคุย

                “ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนนั้น ควรที่จะมีการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ตามแนวเส้นทางรถรางผ่าน เพราะเท่าที่รับฟังมาประชาชนมีความกังวลมากที่สุดคือผู้ที่อยู่ตามแนวเส้นทางเดินรถ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่บริเวณในเมืองตามแนวถนนโพธิ์กลาง ถนนมุขมนตรี โดยทีมงานชุดใหม่ต้องลงพื้นที่เคาะประตูบ้านประชาชนบริเวณนั้น เพื่อนัดประชุมทำความเข้าใจกัน พูดคุยถึงข้อกังวลของประชาชนที่มีต่อโครงการ มีการชี้แจงข้อมูล และจัดการสัมมนาให้กับคนที่อยู่ตามแนวเส้นทางเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อรวบรวมข้อมูลและมีการจัดการรายละเอียดของความต้องการตรงนั้นว่าเป็นอย่างไรซึ่งตรงนี้จะเป็นกลยุทธ์ที่จะมีการดำเนินงานในอนาคต” ผศ.ดร.รัฐพล กล่าว

ต่อต้านเยอะอาจพับโครงการ

                ผศ.ดร.รัฐพล กล่าวอีกว่า หากโครงการนี้ไม่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก พอทราบว่ามีคนต่อต้านเยอะ และบอกว่าไม่เอา ก็เป็นไปได้ที่ สนข. กระทรวงคมนาคม อาจจะพับโครงการนี้ไป เช่นเดียวกันกับโครงการอุโมงค์ทางลอด ถ้ามีงบประมาณให้ และพร้อมที่จะเสนอเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แต่ประชาชนไม่เอา ไม่เห็นด้วยมีการคัดค้านอย่างเดียว ก็อาจเป็นไปได้ที่เขาจะต้องโยกงบประมาณไปที่อื่นหรือไปทำโครงการที่จังหวัดอื่นแทน

                เมื่อ “โคราชคนอีสาน” ถามว่า หากจะใช้ระบบรถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) มาทดแทน สนข.จะสามารถพิจารณางบประมาณได้หรือไม่? ผศ.ดร.รัฐพล ตอบว่า ถ้ามีการออกแบบรายละะเอียดอีกครั้ง ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีการปรับรายละเอียด แต่จากผลการวิเคราะห์และการศึกษาของเราพบว่า ระบบ BRT อาจจะมีมูลค่าการลงทุนน้อยในระยะสั้น แต่ถ้าเปรียบเทียบในระยะยาวแล้ว ระบบ LRT จะมีมูลค่าการดำเนินการที่ถูกกว่า ทั้งนี้ หากถามว่าจะนำระบบ BRT มาใช้จะเป็นไปได้ไหม ตนคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ สำหรับการทบทวนโครงการใหม่ของ สนข. และหากประชาชนในพื้นที่มองว่า ระบบรางจะเป็นการจำกัดพื้นที่เกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้ข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการจอดรถเกิดขึ้น เราก็อาจจะมีการวางระบบใหม่คือ บริเวณชานเมืองอาจใช้ระบบรางในการวิ่งรับผู้โดยสาร สำหรับในเขตเมืองอาจจะใช้ระบบ BRT ในการวิ่ง เพื่อเป็นการยืดหยุ่นระบบพื้นที่การจราจรก็อาจเป็นได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบด้านความปลอดภัยแล้ว ระบบ BRT ความปลอดภัยจะขึ้นอยู่กับคนขับ แต่ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) จะมีความปลอดภัยที่สูงกว่า เพราะมีระบบรางเป็นตัวควบคุม

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๐ วันศุกร์ที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


723 1348