19thApril

19thApril

19thApril

 

September 16,2017

พ่อเมืองถกด่วนน้ำท่วมซ้ำซาก นักวิชาการเสนอแก้ปัญหาง่ายๆ

          ที่ราบสูงโคราช ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก พ่อเมืองทนไม่ไหว เรียกผู้เกี่ยวข้องถกด่วน สั่งเร่งพร่องน้ำแก้มลิง เตรียมรับมวลน้ำฝนใหม่เป็นระยะ ด้าน “ผศ.ดร.นิคม” นักวิชาการด้านผังเมืองชี้เหตุเพราะการพัฒนาของเมือง ปูคอนกรีตไปทั่ว น้ำซึมไม่ได้ ก่อให้เกิดน้ำท่วมขัง เสนอแก้ปัญหาง่ายๆ โดยร่วมกันสร้างพื้นที่หน่วงน้ำ

          เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๑๒ กันยายน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้เรียกนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายสมบัติ กาญจนวัฒนา ประธานสภาอบจ.นครราชสีมา และนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพบที่ห้องทำงานในศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา เช่น หน้าทางเข้าค่ายสุรนารี, หน้าจวนผู้ว่าฯ, ตลาดนัดเซฟวัน, หน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ (ปภ.เขต ๕), ตลาดหนองไผ่ล้อม, ทางแยกไอที, ทางแยกหัวทะเล, หน้าโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ และบ้านภูเขาลาด หมู่ ๕ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เกิดขึ้นทุกครั้งหากมีฝนตกหนัก   

            นายสุเทพ รื่นถวิล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนัก โดยวัดปริมาณน้ำฝนได้ ๘๐ มิลลิเมตร ทำให้มวลน้ำฝนจากพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ตั้งอยู่ด้านทิศใต้และตะวันตก ซึ่งมีลักษณะกายภาพพื้นที่สูงกว่าหลายสิบเมตร น้ำฝนได้เอ่อล้นจากท่อระบายน้ำไหลท่วมตามถนนและบ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางระบายน้ำลงลำตะคอง รวมทั้งสิ้น ๒๐ จุด สร้างปัญหาในการดำรงชีพของประชาชน แม้สถานการณ์โดยรวมได้คลี่คลายภายในเวลาไม่ถึง ๒ ชั่วโมง แต่พื้นที่เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางระบายน้ำลงลำปรุ คลองน้ำธรรมชาติ น้ำได้ผุดออกมาจากท่อระบายน้ำเอ่อท่วมถนนมุขมนตรี เป็นระยะทางยาวกว่า ๗๐๐ เมตร ระดับน้ำสูงประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร และไหลเข้าท่วมโรงเรียนบ้านภูเขาลาด ต้องประกาศปิดเรียนกะทันหัน และยังทำให้นักศึกษาวิทยาลัยนครราชสีมา ต้องขับรถจักรยานยนต์ลุยน้ำไปเรียนอย่างทุลักทุเล ส่วนประชาชนต้องไปกรอกทรายใส่กระสอบที่เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ซึ่งจัดบริการให้ฟรี โดยขนมาวางตั้งเป็นแนวป้องกันน้ำมิให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนตัวเอง

     

           “ส่วนการป้องกันเบื้องต้น ปภ.จังหวัดนคร ราชสีมา โครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมาและช่างสุขาภิบาล เทศบาลนครนครราชสีมา ได้เดินเครื่องสูบน้ำออกจากสวนน้ำบุ่งตาหลั่วฯ โครงการแก้มลิงของกองทัพภาคที่ ๒ เพื่อพร่องน้ำดิบพร้อมกำจัดวัชพืชและเศษขยะมูลฝอยออกจากทางช่องระบายน้ำล้น ซึ่งสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว รับน้ำมาจากพื้นที่ในกองบิน ๑ และค่ายสุรนารี รวมทั้งกองบัญชาการช่วยรบที่ ๒ มีปริมาณน้ำดิบเต็มพื้นที่ความจุประมาณ ๑.๕ ล้าน ลบ.เมตร กำหนดระบายน้ำวันละ ๒ หมื่น ลบ.เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝนที่ตกลงมาเกือบทุกวันและป้องกันอุทกภัยในเขตเมือง” ปภ.จังหวัดนครราชสีมา กล่าว

          ด้านนายสามารถ ขอพึ่งกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านภูเขาลาด กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคมที่ผ่านมา สถานศึกษาถูกน้ำท่วมขังเต็มพื้นที่ จึงได้ประกาศปิดเรียนรวม ๓ วัน ล่าสุดเมื่อช่วงกลางดึกน้ำท่วมเป็นครั้งที่ ๒ จึงต้องประกาศปิดเรียนอีกครั้ง การแก้ปัญหาทำได้แต่เพียงขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำออก ซึ่งต้องใช้เวลา ๒ วัน จากนั้นครูและประชาชนได้ช่วยกันล้างทำความสะอาด ซึ่งตนต้องเตรียมจัดตารางเรียนชดเชยให้กับนักเรียน ๑๖๘ คน มิเช่นนั้นจะส่งผลให้มีปัญหาในการเรียนการสอน เนื่องจากใกล้ถึงช่วงสอบปลายภาค

          ต่อมาในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่สถานีสูบน้ำที่ ๑ เทศบาลนครนครราชสีมา บริเวณทางแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือสี่แยกไอทีโคราช นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายสุเทพ รื่นถวิล นครราชสีมา และนายสุรวุฒิ เชิดชัย เดินทางมาตรวจสอบการทำงานของระบบสูบน้ำเสีย เพื่อวางแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่เมืองด้านทิศเหนือ  

          นายสุรวุฒิ เชิดชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพภูมิประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญเติบโตของชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ทิศทางน้ำเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อเกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง แม้สถานการณ์คลี่คลายได้ค่อนข้างเร็ว แต่เทศบาลนครฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา เบื้องต้นได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำจากถนนราชดำเนิน บริเวณหน้าทางเข้าค่ายสุรนารีและถนนสุรนารี ช่วงหน้าทางเข้าสถานีขนส่งนครราชสีมา แห่งที่ ๑ ให้น้ำฝนไหลลงลำตะคอง ด้านประตูอัษฎางค์เร็วที่สุด ส่วนระยะยาวได้เตรียมวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่บริเวณใต้ถนนมิตรภาพ ช่วงทางแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อเชื่อมทางระบายน้ำลงสู่ลำตะคองโดยตรง ล่าสุดแขวงการทางนครราชสีมาที่ ๒ ได้อนุญาตให้ดำเนินการโดยมีแผนก่อสร้างภายในปีนี้

          นายสุเทพ รื่นถวัล กล่าวถึงสาเหตุหลักของน้ำท่วมเกิดจากมวลน้ำฝนจากพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ตั้งอยู่ด้านทิศใต้และตะวันตก ซึ่งมีระดับพื้นที่สูงกว่าหลายสิบเมตร รวมกับฝนที่ตกในพื้นที่ ทำให้น้ำฝนเอ่อล้นจากท่อระบายน้ำไหลท่วมตามถนนและบ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางระบายน้ำลงลำตะคอง และที่ลุ่มต่ำรวมทั้งสิ้น ๒๐ จุด สร้างปัญหาในการดำรงชีพของประชาชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว โครงการแก้มลิงของกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี เพื่อพร่องน้ำดิบออกจากทางช่องระบายน้ำล้น ซึ่งสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว รับน้ำมาจากพื้นที่ในกองบิน ๑ และค่ายสุรนารี รวมทั้งกองบัญชาการช่วยรบที่ ๒ มีปริมาณน้ำดิบเต็มพื้นที่ความจุประมาณ ๑.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร กำหนดให้ระบายน้ำออก ๒ แสนลูกบาศก์เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำฝน นอกจากนี้ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บ้านภูเขาลาด หมู่ ๕ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง เพื่อระบายน้ำฝนลงลำปรุ คลองน้ำธรรมชาติสาขาลำตะคอง  

          ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง และเจ้าของเฟซบุ๊ก “Nikhom Boonyanusith” ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๒.๕๓ น. ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า “เรื่องง่ายๆ ที่เราไม่เคยคิดจะทำ ได้แต่พร่ำบ่นไปว่าทำอย่างไร น้ำจะไม่ท่วมโคราช ..ลักษณะน้ำท่วมในพื้นที่เมืองโคราชนั้น เป็นลักษณะของน้ำผิวดินที่มากเกินกว่าระบบระบายน้ำของเมืองจะรับได้ในช่วงเวลาวิกฤติ เราจึงได้เห็นว่าเมื่อฝนตกกระหน่ำเมื่อไร หลายพื้นที่ในโคราชก็น้ำท่วมในทันที แล้วในเวลาอีกสามสี่ชั่วโมงก็กลับสู่สภาพปกติ เป็นเพราะการพัฒนาเมืองของเราเองที่ไปเพิ่มน้ำผิวดินให้เป็นภาระของเมือง เนื่องจากการเปลี่ยนพื้นที่น้ำซึมผ่านได้แบบดั้งเดิมเช่นที่เคยเป็นสวน เป็นลานดินมาก่อน เราก็ไปทำเป็นถนนเป็นที่จอดรถ เป็นผิวคอนกรีตขนาดใหญ่ (ตลาดเซฟวันเป็นตัวอย่าง) แต่เราไม่เคยสร้างพื้นที่ที่เป็นลานให้น้ำซึมผ่านหรือเพิ่มต้นไม้ในเมืองเลย (ใครเคยไปเซฟวันช่วยนึกหน่อยว่ามีไม้ยืนต้นอยู่ในบริเวณถึงสิบต้นไหม)”

          “การมีพื้นที่น้ำซึมผ่านเหล่านี้ จะเป็นการช่วยชะลอน้ำผิวดินเมื่อเวลาที่ฝนตกหนัก ทำให้ลดปริมาณการรวมตัวกันของน้ำผิวดินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง(เรียกง่ายๆ ว่าเป็น “พื้นที่หน่วงน้ำ”) น้ำก็จะไหลเข้าระบบในปริมาณที่ระบบระบายน้ำของเมืองรองรับได้(หรือไม่มากจนล้นกลายเป็นน้ำรอระบาย) บรรดาที่จอดรถทั้งหลายในพื้นที่เมืองโคราชนี้หากหันมาทำตามภาพตัวอย่างที่เห็นนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม้ยืนต้นที่ปลูกคั่นระหว่างที่จอดทั้งหลายก็จะเป็นตัวช่วยสร้างร่มเงาและเป็นเหมือนฟองน้ำดูดซับน้ำฝนไว้ได้ระดับหนึ่ง”

 

          นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า “เรื่องง่าย ๆ ไม่คิด ไปวิ่งดูแต่ฝาปิดท่อระบายน้ำ หรือดูรางน้ำกันทำไม นั่นมันเป็นงานประจำของผู้ปฏิบัติที่เค้าจะต้องทำตามวาระอยู่เสมอ หน้าที่ของผู้บริหารเมืองคือติดตามให้เขาเหล่านั้นทำงานได้ก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดลงไปสร้างภาพทำเองก็ได้ มาผลักดันให้ที่จอดรถในเมืองโคราชรูปร่างแบบนี้ดีไหมครับ?”

          นอกจากนี้เฟซบุ๊ก Nikhom Boonyanusith ยังโพสต์อีกในเวลา ๒๐.๑๙ น. ว่า “ความเป็นเมืองที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของเมืองที่กระจายออกไปเป็นวงกว้างโดยรอบพื้นที่เมืองเดิม ราคาที่ดินในเมืองที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณถนนที่เพิ่มขึ้นมา แต่ว่าลานดิน เดิ่นบ้าน และพื้นที่รับน้ำที่สูญหายไปจากเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองที่กำลังเต็มไปด้วยลานคอนกรีต การถมทับทางน้ำเดิม การรุกล้ำพื้นที่รับน้ำเดิม ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มจำนวนน้ำผิวดินที่เป็นภาระต่อระบบระบายน้ำของเมือง เมืองโคราช เมืองที่มีห้างใหญ่รวมกันสามห้างเบ้อเริ่มเทิ่ม แต่มองไปทางไหนก็ไม่สามารถเห็นพื้นที่หน่วงน้ำที่จะช่วยชะลอน้ำผิวดินในภาวะที่ฝนตกหนัก มีแต่ลานคอนกรีต พื้นที่ดาดแข็งไปทั่วทั้งเมือง ดังนั้นเพียงแค่ฝนตกหนักสักห้านาที...โคราชก็กลายเป็นเมืองบาดาลได้ในทันที เพื่อลดภาระในการรับน้ำผิวดินของระบบระบายน้ำของเมือง เราจึงควรที่จะต้องร่วมกันสร้างพื้นที่หน่วงน้ำอย่างภาพประกอบที่นำมาให้ดูในอัลบั้มนี้ นอกจากประโยชน์ในเรื่องของการลดน้ำท่วมแล้ว การมีพื้นที่หน่วงน้ำเหล่านี้กระจายตัวไปทั่วเมืองยังช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินให้กับเมืองได้ด้วย(มีน้ำซึมลงดินกระจายตัวกันไป ทำให้น้ำใต้ดินไม่สูญไป แต่หากมีแต่ลานคอนกรีตความชื้นในดินในพื้นที่นั้นก็จะหมดไป กลายเป็นการลดน้ำใต้ดินไปด้วย) ไม่เฉพาะแต่การช่วยลดผลกระทบของน้ำท่วมฉับพลัน ช่วยสร้างความชื้นใต้ดินเพื่อรักษาระด้บน้ำใต้ดินแล้ว...พื้นที่หน่วงน้ำเหล่านี้ยังทำให้เมืองมีความร่มรืน น่าเดิน น่าดู มากยิ่งขึ้น รออะไรล่ะครับ ลงมือทำสิ”

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๗ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


695 1343