27thApril

27thApril

27thApril

 

September 18,2017

‘คนเลี้ยงหมู’ลุกฮือ ค้านนำเข้าเนื้อสหรัฐฯ ทำลายเศรษฐกิจไทย

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยื่นหนังสือคัดค้านนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ เกรงส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ ทั้งกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รวมถึงเกษตรกรที่มีอาชีพเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ในประเทศ นายกสมาคมฯ เรียกร้องรัฐบาลทบทวนและยกเลิกนำเข้าเนื้อสุกร เตรียมฟ้องผู้อนุญาตนำเข้า    

          เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา นายวรพจน์ สัจจาวัฒนา นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา และสมาชิกผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครราชสีมา รวมกว่า ๒๐ คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอคัดค้านการ  นำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกา ต่อนายธวัชชัย เหล่าพิรุฬห์ พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา
 

สหรัฐฯ กีดกันสินค้า 

          โดยนายวรพจน์ สัจจาวัฒนา เป็นตัวแทนสมาชิกผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครราชสีมา อ่านแถลงการณ์หนังสือขอคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ ความว่า “จากความพยายามแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างช้านาน เฉลี่ยปีละ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ถึงขั้นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปตรวจสอบ และเข้าแก้ปัญหาเป็นรายประเทศและรายอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาภายในประเทศของสหรัฐฯ โดยมีความพยายามผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีความเข้มแข็งกว่าประเทศอื่นๆ ขยายตลาดให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่า มีการอุดหนุนในหลายรูปแบบที่นานาประเทศไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบ แต่ในทางกลับกันสหรัฐฯ ได้เข้าตรวจสอบประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในหลายช่องทาง พร้อมทั้งกำหนดเกณฑ์ในการกีดกันสินค้าจากประเทศอื่นๆ”

ภาคเกษตรเสี่ยงล่มสลาย

          “ที่ผ่านมากลุ่มผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ ได้ทำการคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ มาตลอด โดยผ่านการยื่นหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ และกระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่การยื่นหนังสือโดยตรงถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะทราบดีว่าทุกรัฐบาลของสหรัฐฯ ได้มีการสร้างแรงกดดันรัฐบาลไทยในเรื่องดังกล่าวเสมอมา แม้ข้อมูลปริมาณการผลิตเนื้อสุกรของไทยที่มีการชี้แจงมาโดยตลอดว่า ยังคงล้นตลาดภายในประเทศ เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่สร้างปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ในรอบ ๑๐ ปี ภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ กระทั่งรัฐบาลไทยต้องผลักดันโครงการไทยแลนด์ ๔.๐ เพื่อให้ประเทศก้าวข้ามการมีรายได้ระดับกลางของประชากร ซึ่งในความเป็นจริงภาคเกษตรของไทยจากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังอยู่ในระดับ ๑.๔-๑.๗ เท่านั้น ในขณะที่ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนรวมของประเทศที่สูงขึ้นในทุกปี ปัจจุบันเฉลี่ย ๑๕๐,๐๐๐ บาทต่อประชากร ซึ่งขัดกับการขยายตัวของ GDP ของประเทศ ที่น่าจะเป็นไปในเชิงการลดลงของหนี้สินภาคครัวเรือน หรือเพิ่มจำนวนการออมของประชากร แต่สภาพความเป็นจริงประชากรประมาณ ๘๐% มีเงินออมในระบบธนาคารไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งการเข้าถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เข้าข่ายการกระจุกตัวของประชากรไม่ถึง ๑๐% ตัวเลขดังกล่าว เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศที่ไม่มีการเข้ามาวิเคราะห์หาระดับการเข้าถึง และระดับความสามารถในการประกอบอาชีพ  การตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลต้องอยู่บนพื้นฐานที่ต้องหารือกับประชากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มิใช่จะตัดสินใจใดๆ โดยไม่มีการพิจารณาที่รอบด้าน ซึ่งจะเป็นการทำลายโครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ โครงสร้างการประกอบอาชีพของสังคมที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง  สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความล่มสลายของภาคเกษตรที่เป็นห่วงโซ่ทั้งหมด จนเกินกว่าการแก้ไขเยียวยา”

          แถลงการณ์ดังกล่าวระบุอีกว่า “สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศราว ๒๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน ขอยืนกรานคัดค้านการเปิดนำเข้าดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่า จะสร้างปัญหาและผลกระทบต่อประเทศไทย ในการนี้สมาคมฯ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ จึงเรียนมาเพื่อขอคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ อย่างถึงที่สุด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวทำลายโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ” 

ประชุมใหญ่คัดค้าน ๒๙ กันยายน 

          หลังจากทำการมอบหนังสือแล้ว นายวรพจน์ สัจจาวัฒนา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ภาพรวมของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด วันนี้เป็นการยื่นหนังสือร้องเรียนให้พาณิชย์จังหวัดพร้อมกันในเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ส่วนในระดับประเทศนั้น มีการยื่นหนังสือไปที่กระทรวงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ จากนั้นจะนัดประชุมเพื่อชี้แจงอีกครั้ง เพราะว่า ขณะนี้ราคาเนื้อสุกรมีราคาที่ตกต่ำ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงประสบปัญหาขาดทุน หากมีชิ้นส่วนหรือเนื้อสุกรจากต่างประเทศเข้ามา จะทำให้ราคาเนื้อสุกรในไทยตกต่ำมากกว่านี้ ซึ่งกรณีแบบนี้มีปรากฏแล้วที่ประเทศเวียดนาม ราคาเนื้อสุกรตกต่ำเหลืออยู่แค่กิโลกรัมละ ๓๕ บาท เกษตรกรขาดทุนย่อยยับ เพราะมีการนำเข้าชิ้นส่วนและเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะถ้าการเลี้ยงสุกรมีปัญหา เกษตรตัวอื่นก็มีปัญหาไปด้วย เพราะสุกรจะกินรำ กินปลายข้าว ข้าวโพด ทำให้สินค้าพวกนี้จะกระทบกันไปหมด โดยในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะจัดประชุมใหญ่ และจะระดมคนเพื่อคัดค้านเรื่องนี้ต่อไป”
 

บุรีรัมย์หวั่นกระทบเป็นห่วงโซ่ 

          ในวันเดียวกันนั้น นายชูศักดิ์ รัตนวณิชย์โรจน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั้ง ๒๐ จังหวัดภาคอีสาน ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือผ่านนายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์  ถึงกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล เพื่อคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนของสุกรจากประเทศสหรัฐฯ เพราะเกรงว่า จะส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ ทั้งกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รวมถึงเกษตรกรที่มีอาชีพเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ในประเทศด้วย เพราะส่วนมาก กว่าร้อยละ ๗๐ อาหารสัตว์ที่นำมาเลี้ยงสุกรจะมาจากผลผลิตข้าวโพด รำข้าว ปลายข้าว ดังนั้น หากมีการนำเนื้อหรือชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐฯ เข้ามาในประเทศ ก็จะส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศตกต่ำลงอีก ซึ่งปัจจุบันหมูเป็นก็มีราคาเพียงกิโลกรัมละ ๕๔-๕๖ บาท ซึ่งถือว่าตกต่ำทั้งที่จริงราคาควรจะอยู่ที่กิโลกรัมละ ๕๙ – ๖๒ บาท ขณะที่พืชผลการเกษตรหลายชนิดก็ประสบปัญหาราคาต่ำเช่นเดียวกัน จากกรณีดังกล่าว จึงอยากให้รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ทบทวนและยกเลิกการอนุญาตนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรเป็นวงกว้าง จากข้อมูลพบว่า เฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยมากกว่า ๕๐,๐๐๐ ครัวเรือน

ตั้งกองทุนฟ้องร้อง

          นายชูศักดิ์ รัตนวณิชย์โรจน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หลังจากมีกระแสข่าวว่าไทยจะนำเนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐฯ เข้ามาในประเทศ ในฐานะสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในภาคอีสาน จึงได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือ เพื่อคัดค้านการนำเข้าทั้งเนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐฯ โดยเด็ดขาด เพราะจะส่งผลกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และผู้มีอาชีพปลูกพืชอาหารสัตว์ทั้งประเทศ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทบทวนและยกเลิกการอนุญาตนำเข้าเนื้อสุกร แต่หากมีบุคคลใดอนุญาตหรือนำเข้า ก็จะมีการต่อสู้เพื่อปกป้องอาชีพของเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้มีการตั้งกองทุนโดยจะรวบรวมเงินกันคนละ ๑๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนในการยื่นฟ้องร้องกับผู้ที่อนุญาตหรือนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ

 

          ด้านนายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ภายหลังรับหนังสือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคอีสานจะได้นำหนังสือดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล ตามขั้นตอนต่อไป

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๗ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


695 1346