20thApril

20thApril

20thApril

 

September 18,2017

กระทรวงอุตฯจับมือ ๓ บริษัทใหญ่ ตั้งนิคมอุตฯ อาหารครบวงจร ไทยเบฟเลือกปากช่องผุดฟู้ดวัลเล่ย์

          กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือ ๓ บริษัทใหญ่ “สิงห์-น้ำตาลราชบุรี-ไทยเบฟ” ผุดนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร เชื่อรายใหญ่ดันเอสเอ็มอีติดปีก ในขณะที่ “ไทยเบฟ” เลือกพื้นที่อำเภอปากช่องตั้ง Food Valley ด้านผู้บริหารกระทรวงฯ เตรียมชง ครม.พิจารณาแพ็คเกจสิทธิพิเศษภายในกันยายน-ตุลาคมนี้

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในรูปแบบประชารัฐ หรือจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร (World Food Valley Thailand) ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศโดยร่วมมือกับเอกชนรายใหญ่ ว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้ลงนามกับบริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหาร ไปแล้ว ๑ แห่งที่ จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ ๑.๓ พันไร่ และมีแผนที่จะลงนามเร็วๆ นี้ ร่วมกับบริษัท น้ำตาลราชบุรี จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ต่อยอดมาจากอ้อย และร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งฟู้ดวัลเลย์ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

          “การพัฒนาเอสเอ็มอีให้เติบโตขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้ โมเดลนี้จะเริ่มจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร โดยผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในโครงการ World Food Valley Thailand จะได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากมาตรการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และจะมีสิทธิพิเศษอื่นๆอีก ซึ่งแพคเกจต่างๆ เหล่านี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราที่เหมาะสม คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนกันยายน–ตุลาคมนี้” นายสมชาย กล่าว 

          ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารประมาณ ๑.๑ แสนราย ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีถึงร้อยละ ๙๙.๕ ขณะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพียง ร้อยละ ๐.๕ หรือประมาณ ๖๐๐ ราย มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตคิดเป็นร้อยละ ๖๕ ของทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เราต้องเพิ่มการแปรรูปวัตถุดิบการเกษตรให้มากขึ้น และคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น การแปรรูปข้าวจากเดิมที่ส่งออกเป็นข้าวสารทั้งหมด ตั้งเป้าเพิ่มการแปรรูปข้าวอย่างน้อย ร้อยละ ๓๐ 

          สำหรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหาร แผนงานหลักๆ จะเป็นการเพิ่มนักรบพันธุ์ใหม่ หรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่ที่มีความเข้มแข็งและมีเทคโนโลยีให้ได้ ๓.๕ หมื่นรายภายใน ๒๐ ปี หรือเพิ่มปีละ ๑,๗๕๐ ราย และยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลาง เพื่อขยายฐานการผลิตให้กว้างขึ้น

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๗ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


691 1342