19thApril

19thApril

19thApril

 

September 18,2017

รมช.ปลื้มใจเกษตรกรโคราช เชื่อมโยงตลาดข้าวเห็นผล ชาวนาอินทรีย์ตัวจริงยืนยัน

          “รัฐมนตรีชุติมา” เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จับคู่ผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก

          นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะรับซื้อข้าวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาด นาอินทรีย์ ๑ ล้านไร่ ณ อำเภอด่านขุนทด และอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยการพูดคุยได้ข้อสรุป ดังนี้ ผู้ประกอบการยินดีรับซื้อข้าวอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยก่อนที่จะมีโครงการนี้ ทางผู้ประกอบการต้องหาซื้อข้าวจากจังหวัดข้างเคียง ดังนั้นจึงมองว่าโครงการนี้มีประโยชน์อย่างมากที่ช่วยให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอย่างแท้จริง โดยในการรับซื้อนั้น ทางผู้ประกอบการยินดีที่จะรับซื้อทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร ในกรณีข้าวเปลือก กลุ่มเกษตรกรสามารถหารือกับโรงสีได้ว่าจะส่งเป็นข้าวสดหรือข้าวแห้ง โดยโรงสีพร้อมที่จะเปิดจุดรับซื้อในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับแปลงนาเกษตรกร แต่หากเกษตรกรต้องการแปรรูปก่อนเพื่อขายเป็นข้าวสาร ผู้ประกอบการก็ยินดีให้คำแนะนำในการยกระดับคุณภาพโรงสีชุมชนของกลุ่มเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน เพื่อพร้อมที่จะสีข้าวอินทรีย์ต่อไป

          สำหรับราคา ทางผู้ประกอบการยินดีจ่ายเพิ่มให้ในราคาตันละ ๕๐๐ บาท สำหรับข้าวในระยะ ๒ ปีแรกที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อมและปรับเปลี่ยนเป็นข้าวอินทรีย์ และในปีที่สาม จะจ่ายเพิ่ม ๒,๐๐๐ บาท สำหรับข้าวที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand 

          “เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้วางแผนว่า จะแบ่งผลผลิตเผื่อไว้บริโภค ทำพันธุ์ และขายให้กับผู้ประกอบการค้าข้าว โดยกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมหารือยินดีที่สามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นและมีผู้รับซื้อแน่นอน ส่วนผู้ประกอบการก็รู้สึกพอใจที่รัฐมีโครงการเชื่อมโยงผลผลิตข้าวคุณภาพผ่านการรับรองของรัฐเข้าสู่โรงสี โดยไม่ต้องออกแรงไปหาเอง นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรยังได้ซักถามคำถามเกี่ยวกับการผลิตข้าวอินทรีย์ในหลายประเด็น อาทิ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การแก้ไขปัญหาดินเค็ม เป็นต้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ประสานงานร่วมกันในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มเกษตรกรต่อไป” นางสาวชุติมา กล่าว

          ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำนาอินทรีย์ยังได้เชิญชวนให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ หันมาปลูกข้าวอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นโดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำนาอินทรีย์ซึ่งถ่ายทอดมาจากประสบการณ์จริงในการทำอินทรีย์ เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลวัวหรือมูลไก่ที่เลี้ยงเองแบบอินทรีย์ ทำให้มั่นใจได้ว่า ปุ๋ยที่ได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างแท้จริงและยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย ถึงแม้ปริมาณผลผลิตที่ได้ อาจจะลดลงในระยะแรกหลังปรับเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ แต่ปริมาณจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โรคและแมลงก็ไม่มาก เนื่องจากหลังทำนาอินทรีย์ ระบบนิเวศน์จะฟื้นคืนกลับมา ธรรมชาติจะเกื้อกูลและดูแลกันเอง ต้นข้าวจะแข็งแรง นอกจากนี้ ถึงปริมาณข้าวจะลดลง แต่จะได้ข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ข้าวจะนุ่มและมีความหอมมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศจึงสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป 

          นอกจากนี้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ณ จังหวัดนครราชสีมา ที่สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด อำเภอพิมาย ว่า ปัจจุบันความต้องการของประชากรของโลกและของไทยหันมาให้ความสนใจในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่มีความปลอดภัย ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ที่ผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับการบริโภคข้าวที่จะตอบสนองต่อการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป้าหมายอยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจดี ประชาชนมีความต้องการซื้อสูง เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรได้รับจะสูงกว่าราคาข้าวเปลือกทั่วไป จึงเป็นโอกาสและช่องทางอันดีของเกษตรกรไทยที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าวที่มีการปฏิบัติตามระบบการเกษตรที่ดี (GAP) ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อการแข่งขัน

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเร่งผลักดันการเชื่อมโยงตลาด โดยจับคู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ และจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายผลผลิตข้าวจากโครงการฯ โดยจัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของจังหวัดนครราชสีมา (เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงตลาดรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์) โดยนำกลุ่มเกษตรกรมาพบปะกับผู้ประกอบการที่แจ้งว่ามีความต้องการซื้อข้าวในโครงการ โดยจะให้ราคาที่สูงขึ้นตามคุณภาพ และจะเพิ่มให้ตันละ ๓๐๐ – ๕๐๐ บาท แล้วแต่ชนิดข้าว
นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการค้าข้าวที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ สามารถขอให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ ๓ ต่อปี โดยมีระยะเวลาได้รับการชดเชยดอกเบี้ย คือ ๑) ผู้ประกอบการค้าข้าวอินทรีย์ ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา ๓ ปี และ ๒) ผู้ประกอบการค้าข้าว GAP ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา ๑ ปี

          “โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จะสามารถแก้ปัญหาราคาข้าวได้อย่างยั่งยืน สามารถวางแผนการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้การเกษตรของไทยได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการเชื่อมโยงตลาดอีกด้วย” นางสาวชุติมา กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๗ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


690 1342