20thApril

20thApril

20thApril

 

September 19,2017

ซื้อพันธบัตร ๒๐ กว่าล้าน คนขายทรยศ-ตร.ไล่ล่า ฟ้องกลับ! ‘ลงโทษน้อย’

                เสี่ยใหญ่โดนข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ์ และลักทรัพย์หรือรับของโจร จากการซื้อพันธบัตร ๒๐ กว่าล้านบาท ศาลตัดสินยกฟ้อง หลังจากนั้นนำหลักฐานแจ้งความกลับคู่ความ ศาลตัดสินคู่ความมีความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม แต่ได้รับโทษน้อย เตรียมยื่นอุทธรณ์ 

                จากคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ. ๕๕๒๒/๒๕๕๙ คดีแดงเลขที่ อ.๕๗๔๑/๒๕๖๐ ศาลแขวงพระนครเหนือวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ระหว่าง นายชาญ กาญจนนพวงศ์ โจทก์ กับนางสาวบงกช เลี่ยมทอง จำเลย เรื่อง ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม โดยนายชาญ ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลาใดไม่ปรากฏชัด นางสาวบงกช แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับนายครรชิต เสาเวียง และบุคคลที่ร่วมกระทำความผิด ในความผิดตามที่พนักงานสอบสวนพบ ทั้งแจ้งว่า “...จำเลยได้ตรวจสอบพันธบัตรรัฐบาลมีเงินจำนวน ๒๕ ล้านบาท ซึ่งเป็นชื่อของนางสาวญานินี เลี่ยมทอง พี่สาวของจำเลย ไปยังบัญชีของโจทก์ ซึ่งจำเลย จำได้ว่า โจทก์เป็นเพื่อนของนายครรชิต เสาเวียง โดยที่จำเลยไม่ทราบว่า เงินดังกล่าวโอนไปได้อย่างไร จำเลยเชื่อว่า เรื่องทั้งหมด นายครรชิต เสาเวียง ต้องร่วมมือกับบุคคลภายนอกทำการปลอมเอกสาร จากนั้นได้ลักทรัพย์สินไปอย่างแน่นอน” ทั้งๆ ที่ความจริงนางสาวบงกชรู้ดีว่า นายชาญ ไม่ได้เป็นเพื่อนกับนายครรชิต เสาเวียง และนายชาญไม่ได้ทำการปลอมเอกสารและไม่มีเงินโอนจากบัญชีของนางสาวญานินี ไปยังบัญชีนายชาญ และนายชาญ ไม่ได้ลักเอาพันธบัตรรัฐบาลมีเงิน จำนวน ๒๕ ล้านบาท ซึ่งเป็นชื่อของนางสาวญานินี เลี่ยมทอง ไปเป็นของนายชาญ เพราะนายชาญได้ซื้อพันธบัตรดังกล่าว จากนางสาวบงกช โดยนางสาวบงกชได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ส่วนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์นายชาญ และได้ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนแล้ว

                ต่อมา นายชาญได้รับแจ้งข้อกล่าวหาว่า ได้ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมเอาไปเป็นของตน และร่วมกันแจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร การกระทำของนางสาวบงกช ทำให้นายชาญเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๗๒ และ ๑๗๓

แจ้งความอันเป็นเท็จ

                เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูลให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา แต่นางสาวบงกชให้การปฏิเสธ เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของนายชาญ และนางสาวบงกชแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นางสาวญานินี เลี่ยมทอง เป็นพี่สาวของนางสาวบงกช ศาลมีคำสั่งให้นางสาวญานินี เป็นบุคคลไร้ความสามารถ และตั้งนางสาวบงกชเป็นผู้อนุบาล นายชาญเป็นผู้รับโอนพันธบัตรรัฐบาลที่มีชื่อนางสาวญานินี โดยนางสาวบงกชเป็นผู้อนุบาล ตามสำเนาพันธบัตรรัฐบาล เอกสารหมาย จ.๒๖ และ จ.๒๗ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ นางสาวบงกช ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการ ๑ กองบังคับการตำรวจปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับนายครรชิต เสาเวียง ผู้ต้องหา และบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ต้องหา ต่อมาเรื่องราวร้องทุกข์ถูกโอนไปอยู่ในอำนาจสถานีตำรวจนครบาลเทียนทะเล ทางตำรวจได้สรุปพฤติการณ์ไว้ว่า นางสาวบงกชจำได้ว่า นายชาญเป็นเพื่อนของนายครรชิตตามบันทึกข้อความ เอกสารหมาย จ.๑๑ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ นางสาวบงกชได้ไปแจ้งว่า พฤติการณ์คือนายครรชิต ผู้ต้องหาไปทำการโอนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ฆฌ ๕๘๔๘ กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน ญล ๔๕๗๑ กรุงเทพมหานคร จากชื่อนางสาวบงกชไปเป็นของนายครรชิต โดยนางสาวบงกช ไม่ทราบเรื่อง และตรวจระบบพบว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎป ๙๕๗๓ กรุงเทพมหานคร โอนไปเป็นชื่อของนางพรทิพย์ สีระดา โดยนางสาวบงกชไม่ทราบเรื่องเช่นกัน จากนั้นได้ไปตรวจสอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า พันธบัตรรัฐบาลชื่อของนางสาวญานินี ถูกโอนไปเป็นชื่อของนายชาญ โดยนางสาวบงกชไม่ทราบเรื่องเช่นกัน จึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายครรชิตกับพวกจนถึงที่สุดตามกฎหมาย ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.๒๔

ซื้อขายพันธบัตรถูกต้อง

                ต่อมาศาลอาญาธนบุรี ได้อนุมัติออกหมายจับนายชาญ กาญจนนพวงศ์ ในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม ร่วมกันลักทรัพย์ ตามสำเนาหมายจับเอกสารหมาย จ.๑๐ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนทำความเห็นสั่งฟ้องนายชาญ แต่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า นางสาวบงกช มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญา และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า มีความผิดอาญาเกิดขึ้นตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวนายชาญกับนางลักษมี พุ่มชุมพล เบิกความไปในแนวทางเดียวกันว่า เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม  ๒๕๕๕ นางลักษมี บุตรนายชาญ ทำงานอยู่ ธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาสามแยกปักธงชัย มาบอกนายชาญว่า นายปรีชา แสงรุ่งนภาพรรณ และนางเปรมฤทัย เปรมปิยะมนตรี ผู้จัดการธนาคารและพนักงานธนาคารเดียวกันกับนางลักษมี ได้ชักชวนให้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลของลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร นายชาญมีความสนใจ แต่ยังขาดเงินอีกประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท จึงให้นางลักษมีไปตรวจสอบพันธบัตรและเงื่อนไขการโอน รวมทั้งต่อรองราคา หลังจากนั้น ได้รับแจ้งจากนางลักษมีว่า นางสาวบงกช ตกลงขายพันธบัตรดังกล่าวในราคา ๑๙,๙๓๓,๖๐๐ บาท โดยให้นายชาญชำระเงินในวันโอนพันธบัตร จำนวน ๑๙,๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน ๘๓๓,๖๐๐ บาท ให้นายชาญชำระภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ และได้มีการตกลงวันซื้อขายกันคือ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ เวลา ๙ นาฬิกา ในวันที่๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ นายชาญ นางสมพร กาญจนนพวงศ์ นางลักษมี และพันตำรวจเอกพงศ์ชิต พุ่มชุมพล สามีนางลักษมี เดินทางมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พบนายปรีชาและนางเปรมฤทัย ที่ได้แนะนำให้รู้จักกับนางสาวบงกช เป็นครั้งแรก นางสาวบงกชเดินทางมาพร้อมกับนายครรชิต เสาเวียง หลังจากได้พูดคุยถึงเรื่องพันธบัตรกัน นางสาวบงกชเป็นผู้นำสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากของนายชาญไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อโอนกรรมสิทธิ์พันธบัตรตามเอกสารหมาย จ.๒๘ และ จ.๒๙ จากนั้นนายชาญและนางสาวบงกช ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือขอโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร ตามเอกสารหมาย จ.๓๑ และ จ.๓๒ เมื่อเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า โอนสำเร็จแล้ว นายชาญขอแยกพันธบัตรจากพันธบัตรเอกสารหมาย จ.๒๗ ออกเป็น ฉบับละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสำเนาพันธบัตร เอกสารหมาย จ.๓๓ ถึง จ.๓๖

แคชเชียร์เช็คซื้อพันธบัตร ๒๐ ล้าน

                จากนั้น นายชาญได้มอบแคชเชียร์เช็คให้แก่นางสาวบงกช ต่อหน้านายปรีชา นางเปรมฤทัย นางสมพร และนางลักษมี นางสาวบงกช ได้ส่งให้นายครรชิต แล้วแจ้งกับนายชาญว่า เงินค่าพันธบัตรที่เหลืออีกจำนวน ๘๓๓,๖๐๐ บาท ให้นายชาญโอนพร้อมดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล งวดวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ จำนวน ๕๐๑,๕๐๐ บาท เข้าบัญชีนายครรชิต ต่อมาพบว่า ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่นางสาวบงกช ถือครองอยู่นั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้โอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวบงกชแล้ว นายชาญจึงได้โอนเงินจำนวน ๘๓๓,๖๐๐ บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนายครรชิต ตามความประสงค์ของนางสาวบงกช ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ นายชาญและนางลักษมี ไม่เคยรู้จักนางสาวบงกช และนายครรชิตมาก่อนเลย มีนายปรีชากับนางเปรมฤทัยมาเบิกความไปในแนวทางเดียวกันว่า รู้จักกับนายชาญในฐานะที่เป็นลูกค้าของธนาคารและเป็นบิดาของนางลักษมี ซึ่งทำงานอยู่ธนาคารแห่งเดียวกัน รู้จักกับนางสาวบงกช จากการที่นางสาวบงกช เป็นลูกค้าธนาคาร แต่เดิมนั้นนางญานินีเป็นลูกค้าธนาคารก่อน หลังจากล้มป่วยลง นางสาวบงกช มาดูอาการที่จังหวัดนครราชสีมาบ่อยขึ้น ในช่วงดังกล่าว นางสาวบงกชจะเดินทางมาที่ธนาคารเป็นประจำทุกเดือนพร้อมกับนายครรชิต ต่อมานางสาวบงกชได้มาแจ้งความประสงค์ให้นายปรีชาและนางเปรมฤทัยแนะนำ ผู้ต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ารวม ๒๐ ล้านบาท เพื่อนำเงินไปรักษานางสาวญานินี หลังจากนั้นเมื่อนางลักษมีทราบเรื่องดังกล่าว จึงได้แนะนำให้นายชาญทราบและนายชาญได้ตกลงที่จะซื้อพันธบัตรดังกล่าว ส่วนจะตกลงราคากันเท่าใดนั้น เป็นเรื่องระหว่างนายชาญกับนางสาวบงกช ทางธนาคารต้องการยอดเงินฝากในวันที่มีการโอนพันธบัตรรัฐบาลกันเท่านั้น นายปรีชาและนางเปรมฤทัยจึงได้เดินทางไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในวันโอน และจัดทำแคชเชียร์เช็คชำระค่าพันธบัตรดังกล่าว ตามสำเนาแคชเชียร์เช็ค เอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๔ ซึ่งเมื่อจำเลยได้รับแคชเชียร์เช็คดังกล่าวแล้ว ได้นำมามอบให้นายปรีชาและนางเปรมฤทัย เพื่อนำเงินเข้าบัญชีฝากของนางสาวบงกช และมีนางสุรีย์พร เรืองพีระศิริ เบิกความว่า เป็นเจ้าหน้าที่การเงินอาวุโสอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐบาล เอกสารหมาย จ.๒๖ และ จ.๒๗ นั้น นางสาวบงกชในฐานะผู้อนุบาลมีสิทธิโอนขายพันธบัตรได้ ตามระเบียบการโอนเจ้าของพันธบัตรรัฐบาลจะต้องมาโอนด้วยตนเอง พร้อมพันธบัตรรัฐบาลตัวจริง บัตรประจำตัวประชาชนของผู้โอนและผู้รับโอน หนังสือโอนกรรมสิทธิ์ เอกสารหมาย จ.๓๑ และ จ.๓๒ เป็นเอกสารเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ จะออกได้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบครบ ตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว

ตรวจพิสูจน์เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

                ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของนายชาญมีผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาสามแยกปักธงชัย มาเบิกความได้อย่างสอดคล้องต้องกัน ตั้งแต่เรื่องที่นางสาวบงกช มาพบให้ช่วยหาผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า ๒๐ ล้านบาท เพื่อนำเงินไปรักษานางสาวญานินี จัดทำแคชเชียร์เช็คมอบให้นายชาญ แล้วรับจากนางสาวบงกช ในวันนัดโอนพันธบัตรรัฐบาล จนกระทั่งนำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวขึ้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวบงกช โดยพยานทั้งสองปากไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับนางสาวบงกช มาก่อน ไม่มีเหตุที่จะต้องเบิกความเพื่อปรักปรำนางสาวบงกช ให้ต้องรับโทษแต่อย่างใด เมื่อประกอบกับพยานนายชาญเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อธิบายระเบียบในการโอนพันธบัตรรัฐบาลว่า จะต้องตรวจสอบผู้โอนและผู้รับโอนกับบัตรประจำตัวประชาชนและลายมือชื่อของผู้โอนจึงจะดำเนินการโอนให้ เมื่อไม่ปรากฏว่า การโอนพันธบัตร ตามเอกสารหมาย จ.๒๖ และ จ.๒๗ นั้น มีการมอบอำนาจให้โอน ทั้งไม่ปรากฏในการนำสืบว่า มีบุคคลที่สามารถปลอมตัวเป็นนางสาวบงกช เพื่อให้เหมือนกับภาพถ่ายตามบัตรประจำตัวประชาชนของนางสาวบงกชได้ เชื่อว่า ในขณะโอนนั้น นางสาวบงกช ได้ไปดำเนินการด้วยตนเอง แม้นางสาวบงกชจะยืนยันว่า ไม่ทราบเรื่องการโอนประกอบกับรายงานการตรวจพิสูจน์ เอกสารหมาย ล.๕ ที่ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันก็ตาม แต่รายงานการตรวจพิสูจน์ก็เป็นเพียงความเห็นและข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือให้การยืนยันหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว โดยไม่มีพิรุธก็ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้ยิ่งกว่า

กฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า

                อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความที่บัญญัติไว้ใหม่แทน ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีวาระโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ดังนี้ จึงถือว่า กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด และกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่นางสาวบงกช ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓

                ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นางสาวบงกช เป็นเพศหญิงชรา ไม่ปรากฏว่า เคยต้องโทษคดีอาญาใดๆ มาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการกำหนดโทษไว้ กำหนด ๑ ปี คงให้ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐

                ล่าสุดนายชาญ กาญจนนพวงศ์ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “หลังจากที่ศาลตัดสินยกฟ้อง ผมนำหลักฐานที่มีไปฟ้องกลับเขาทันที แต่คำตัดสินที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับผม โดยนางสาวบงกช เลี่ยมทอง ได้รับโทษ จำคุก ๑ ปี ปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อน ส่วนกรณีเงินในบัญชีของป้าบงกชที่หายไปนั้น บุคคลอื่นนอกจากเจ้าของบัญชีแล้ว จะไม่สามารถเบิกเงินได้ เพราะบัญชีเป็นชื่อของป้าบงกช ดังนั้น ป้าบงกชเพียงคนเดียวที่จะสามารถเบิกเงินจากบัญชีนี้ได้ เมื่อผมอธิบายแบบนี้ให้ตำรวจฟัง ภายหลังตำรวจจึงบอกว่า “จริง” แต่ตำรวจยังย้อนมาถามผมอีกว่า คุณรู้ไหมว่า เงินของป้าบงกชหายไปไหนหมด ผมเลยงงกับตำรวจ”

                นายชาญกล่าวต่อว่า “ผมถามผู้จัดการธนาคารว่า ถ้าป้าบงกชไม่มาเซ็นชื่อเพื่อจะถอนเงินด้วยตนเอง คนอื่นจะสามารถมาถอนเงินของป้าบงกชได้ไหม ผู้จัดการธนาคารบอกว่า “ไม่มีทางที่จะทำได้” ยิ่งเป็นการถอนเงินธนาคารต่างสาขา คนอื่นจะถอนไม่ได้นอกจากป้าบงกชคนเดียว เพราะหลักฐานที่จะต้องไปถอนเงินต่างสาขานั้น เจ้าตัวต้องไปเซ็นชื่อเอง ต้องมีสำเนาบัตรประชาชน ถึงจะถอนได้ แล้วถามว่า เงินหายไปไหน ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า ป้าบงกชเป็นคนถอนเงินเอง”

                นายชาญกล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากจะเตือนภัยเรื่องนี้ ขนาดผมไปโอนถึงแบงก์ชาติ เงินก็จ่ายหลักฐานมีครบ พยานในการทำเรื่องเราก็มี เป็นถึงผู้จัดการธนาคารและยังมีพนักงานธนาคารอีก วันดีคืนดีเรากลับโดนฟ้องว่า ร่วมกันขโมยพันธบัตรรัฐบาล และร่วมกันปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์ ผมรู้สึกว่า คำตัดสินไม่เหมาะสมสำหรับผม ผมรับไม่ได้หลักฐานเรามีครบขนาดนี้ คำตัดสินแค่นี้เรารู้สึกว่ายังน้อยไปกับสิ่งที่เราต้องเจอและต้องสูญเสียไปเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ผมจึงจะขอยื่นอุทธรณ์ในวันที่ ๓ ตุลาคมนี้”

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๗ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


714 1348