20thApril

20thApril

20thApril

 

September 30,2017

พี.ซี.เอส. เพิ่มกำลังผลิต ๓๒๒ ตัน รอผ่าน EIA เน้นแรงงานท้องถิ่น ( มีคลิป)

           ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ในเครือ “พี.ซี.เอส.” เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนหาแนวทางประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังมีโครงการขยายการผลิตโรงงานหลอมและฉีดขึ้นรูปอะลูมิเนียมสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ ครั้งที่ ๒ สนับนุนคนในพื้นที่เข้ามาทำงาน สนับสนุนการออกแบบ เปิดเส้นทางลำลอง แก้อุบัติเหตุและจราจร

           เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ อาคารเอนกประสงค์ เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา บริษัท พี.ซี.เอส. ได คาสติ้ง จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการของ บริษัท พี.ซี.เอส. เป็นโรงงานหลอมและฉีดขึ้นรูปอะลูมิเนียมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมี นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายหัสพงศ์ วาริพันธ์วรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท พี.ซี.เอส. ได คาสติ้ง จำกัด, นางสาวรุ่งเรือง กาญจนวัฒนา นายกเทศมนตรีตำบลเมืองใหม่โคกกรวด, นางทิพรัตน์ ทัศนาการไพศาล ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด, นายสมบูรณ์ ชัยศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงชนบท, นายสมพงษ์ แสงศิริ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน, ตัวแทนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ และประชาชนจาก เทศบาลโคกกรวด ทต.เมืองใหม่โคกกรวด องค์การบริหารส่วนตำบลขามทะเลสอ อ.บ.ต.โป่งแดง อ.บ.ต.นากลาง อ.บ.ต.กุดจิก อ.บ.ต.โค้งยาง รวมกว่า ๕๐๐ คน

 แจงผลการศึกษา

           นายหัสพงศ์ วาริพันธ์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ซี.เอส. ได คาสติ้ง จำกัด กล่าวรายงานว่า “บ. ซี.พี.เอส.ฯ ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรม พี.ซี.เอส. เอสเตท ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา พื้นที่รวมประมาณ ๒๕ ไร่ ๒ งาน ๕๗ ตารางวา มีแผนดำเนินการขยายการผลิตสำหรับรองรับการขยายตัวของตลาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยได้วางแผนติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม ทำให้ต้องขยายกำลังการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการหลอมอะลูนิเนียม รวมประมาณ ๓๒๒.๐๒ ตัน / วัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เข้าข่ายที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการ โดยได้จัดการประชุมและประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการ และรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมครั้งที่ ๑ แล้ว เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ รวมถึงการสัมภาษณ์ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนรายครัวเรือน ซึ่งได้รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อกังวลต่างๆ มาเป็นแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการ การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อชี้แจงผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

เน้นย้ำด้านสิ่งแวดล้อม

           จากนั้น นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการประชุมว่า “ตามที่ตัวแทนบริษัทได้นำเสนอ และกล่าวรายงานไปแล้วนั้น เราก็ทราบแล้วว่า การดำเนินงานของบริษัทได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้วหนึ่งครั้ง เมื่อวันที่ ๗ มิ.ย. ๖๐ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่สอง ที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาประชุมในครั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ มีความห่วงใยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของ จ.นครราชสีมา นับได้ว่า เป็นโอกาสอันดีแล้วที่จะได้ฝากข้อสังเกตุให้กับทางบริษัท ได้ดูแลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและผลกระทบ เรื่องแรกที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ ห่วงใย เป็นเรื่องของมลพิษทางอากาศ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของโรงงาน เรื่องนี้ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่า จะมีผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพอนามัย เรื่องของชีวิตของพนักงานของโรงงาน หรือแม้กระทั่งประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ข้อที่สอง คือเรื่องของระบบบำบัดน้ำเสีย อยากจะให้ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานที่มีการขยายเพิ่มขึ้น สามารถรองรับน้ำเสียที่ออกจากโรงงานให้ได้ทั้งหมด ข้อที่สามที่อยากจะฝากไว้ คือเรื่องของอัคคีภัย ที่อาจจะเกิดขึ้นในบริเวณโรงงาน ก็ขอให้โรงงานได้มีมาตรการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และข้อสุดท้ายที่อาจจะมองเห็นเป็นเรื่องเล็ก แต่บางทีก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน นั่นก็คือ เรื่องขยะมูลฝอยที่จะเกิดขึ้นภายในโรงงาน ของแต่ละวัน ก็ขอให้มีการบริหารจัดการให้ดี สิ่งที่ฝากเป็นข้อห่วงใยก็อยากขอให้ทางบริษัท ช่วยดูแล และบริหารจัดการ ต่อไป”

ข้อกำหนดกระทรวงทรัพยากรฯ

           ต่อมา เป็นการนำเสนอรายละเอียดโครงการ ต่อร่างรายงานและมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมี นายหัสพงศ์ วาริพันธ์วรกุล กรรมการผู้จัดการฯ และนางทิพรัตน์ ทัศนาการไพศาล ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมฯ เป็นผู้นำเสนอ

           นางทิพรัตน์ กล่าวว่า “เนื่องจากว่า ทางโรงงานมีความต้องการที่จะขยายการผลิตในการหลอมอะลูมิเนียม เพิ่มขึ้น จาก ๔๖.๔ ตันต่อวัน เป็น ๓๒๒ ตันต่อวัน เมื่อมีการขยายการผลิต ก็จะเข้าข่ายการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากว่าเป็นโครงการหลอมอะลูมิเนียม ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า ๕๐ ตันต่อวัน กระทรวงทรัพยากรฯ ได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้ว่า ถ้าเป็นโรงงานประเภทหลอมและมีกำลังการผลิตเกินกว่า ๕๐ ตันต่อวัน ต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องให้ชุมชนรับทราบข้อมูล ซึ่งทาง บริษัทฯ ยินดีให้ข้อมูลอย่างยิ่ง และซึ่งหลังจากนั้น เมื่อทางชุมชนให้ข้อมูลเพิ่มเติม แสดงข้อกังวลแล้ว บริษัทฯ ถึงจะส่งรายงานไปที่กระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อพิจารณา เมื่อกระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาแล้ว บริษัทฯ จะส่งเข้าอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อพิจารณาก่อตั้ง และดำเนินการ ณ วันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และเรายังไม่มีการดำเนินงานด้วย”

            “ในส่วนของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะเป็นการนำข้อมูลทางวิศวะกรรม และข้อมูลการคาดการณ์การผลิต การคาดการณ์จำนวนพนักงานที่โรงงานจะรับเพิ่มขึ้น เอามาประเมินผลกระทบว่า จะมีผลกระทบในด้านใดบ้าง และกำหนดเป็นมาตรการ เพื่อป้องกันและจัดการก่อนที่จะมีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ซึ่งข้อมูลทั้งหลายจะได้มาจากทางโครงการเอง ข้อมูลเรื่องผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ชุมชน แล้วมาประเมินร่วมกัน และที่สำคัญขาดไม่ได้ก็คือ ข้อมูลจากทางชุมชนที่ บริษัทฯ เรียนเชิญมาให้ความคิดเห็นในวันนี้”

รับฟังความคิดเห็น

           จากนั้น เข้าสู่ช่วงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ นายชอบ ขุนพิมาย กำนัน ต.ขามทะเลสอ ถามว่า “ ความร้อนที่ปล่อยออกมาจากปล่องระบายความร้อนของโรงงาน จะทำให้ฤดูกาลทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมทั้งมีความกังวลในเรื่องของมลพิษที่ปล่อยออกไป และเรื่องของการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากโรงงาน จึงอยากจะให้ทางโรงงานช่วยตอบในเรื่องนี้ด้วย”  

           นางทิพรัตน์ ตอบว่า “เรื่องของความร้อนที่ปล่อยออกมาจากปล่องระบายนั้น ทางโครงการเองได้มีการตรวจวัดความร้อน ซึ่งความร้อนจะมีได้ไม่เกิน ๑๒๐ องศา และระยะทางจากจุดระบายไอร้อน จากตัวเตาหลอมไปถึงปล่องระบายจะใช้ระยะเวลาพอสมควร นอกจากนี้ทางโครงการก็จะมีการเติมปูนขาว ซึ่งตัวปูนขาวจะช่วยลดอุณภูมิของตัวอากาศร้อนลงได้ และระยะทางจากเตาหลอมไปถึงปล่องระบายก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยลดอุณภูมิความร้อนได้ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะลดอุณหภูมิความร้อนไม่ให้เป็นอันตรายต่อถุงกรอง และอันตรายต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมด้วย ผลการตรวจวัดอุณภูมิที่ไปปล่องระบาย จะอยู่ที่ ๖๐ – ๗๐ องศา ซึ่งอุณภูมิขนาดนี้เมื่อปะทะกับลมก็จะจางไป”

           นายหัสพงศ์ วาริพันธ์วรกุล กรรมการผู้จัดการฯ ตอบเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการสนับสนุนกิจกรรมกับชุมชนที่ห่างจากโรงงานว่า “เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่โครงการมีการถามกับทีมงานว่า ปีนี้เราจะไปทำกิจกรรมที่ไหนดี ซึ่งส่วนใหญ่เราก็จะดูชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ กับรัศมีที่โรงงานเราอยู่เป็นหลัก ประมาณ ๕ – ๑๐ กิโลเมตร ว่า มีชุมชนไหนบ้างที่เราจะเข้าไปร่วมกิจกรรม ฉะนั้น เมื่อได้รับข้อมูลอย่างนี้แล้ว หากชุมชนไหนต้องการให้เราไปร่วมกิจกรรมหรือจะให้กิจกรรมเราไปทำที่ไหนบ้าง รบกวนให้ติดต่อทางทีมงานเราได้เลย เราจะได้นำเข้าไปในแผนงานด้านกิจกรรม ส่วนการสนับนุนคนในพื้นที่ในการเข้ามาทำงานกับเรา เรามีนโยบายรับคนในพื้นที่เข้ามาทำงานเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว”

           ด้านนายสมบูรณ์ ชัยศิรินิรันดร์ ผอ.สำนักทางหลวงชนบท แสดงความคิดเห็นว่า “การเดินทางออกจากโรงงานของพนักงาน ที่จะใช้เส้นทางกลับรถ กลับเข้ามาในเมือง ซึ่งจุดกลับรถตรงนี้มีความอันตรายเป็นอย่างมาก เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย อยากให้โรงงานสนับสนุนการออกแบบเส้นทางลำลอง เพื่อเชื่อมโยงเข้ามาสู่เส้นทางด้านหลังของโรงงาน เพื่อลดอุบัติเหตุจากการขับรถย้อยศรเพื่อกลับรถของพนักงาน โดย สำนักทางหลวงชนบท จะเป็นผู้ออกแบบ โดยให้ทางโรงงานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ได้หรือไม่”

นายหัสพงศ์ ตอบว่า “สำหรับเรื่องนี้ทางโรงงานยินดีที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน”

สรุปผลการประชุม

           ภายหลังรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ จากประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงานแล้ว  นายหัสพงศ์ วาริพันธ์วรกุล กรรมการผู้จัดการฯ ได้สรุปผลการจัดประชุม และกล่าวปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้บริษัทฯ ได้รับทราบประเด็นปัญหา ข้อกังวลและข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งทางบริษัทจะนำไปเป็นแนวทางในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการต่อไป ส่วนประเด็นข้อซักถามต่างๆ บริษัทฯ และบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจะนำไปจัดทำรายงานสรุปผลการประชุม โดยจะมีการชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ซักถามในวันนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมหรือผู้ที่สนใจรับทราบ และนำประเด็นดังกล่าว มาปรับปรุงร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้ครอบคลุมและรอบด้าน ต่อไป”

ความเป็นมาโครงการ

           บริษัท พี.ซี.เอส. ได คาสติ้ง จำกัด ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรม พี.ซี.เอส. เอสเตท จำกัด ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา พื้นที่รวมประมาณ ๒๕ ไร่ ๒ งาน ๕๗ ตารางวา ได้วางแผนขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ “โรงงานหลอมและฉีดขึ้นรูปอะลูมิเนียมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์” โดยได้วางแผนติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม ได้แก่ เตาหลอมอะลูมิเนียม ขนาด ๑,๐๐๐ กิโลกรัม จำนวน ๙ เตา ขนาด ๕๐๐ กิโลกรัม จำนวน ๓ เตา ขนาด ๓๕๐ กิโลกรัม จำนวน ๖ เตา และขนาด ๕๐ กิโลกรัม จำนวน ๒ เตา และเครื่องฉีดขึ้นรูปอะลูมิเนียม จำนวน ๕ เครื่อง ทำให้ภายหลังขยายกำลังการผลิตจะมีความสามารถในการหลอมรวมประมาณ ๓๒๒.๐๒ ตัน / วัน 

 


721 1345