19thApril

19thApril

19thApril

 

October 03,2017

ผจก.ประชารัฐท้าเดี่ยว สงสัยในจรรยาบรรณ ฉุน‘สื่อ’ซักงบประมาณ

          ขอทราบรายละเอียด ๖ โครงการของบริษัทประชารัฐฯ แต่ “ผู้จัดการ” ฉุนขาด ถามหาจรรยาบรรณ ท้าพบตัวต่อตัว ด้านอดีตประธานบริษัทฯ เผยเหตุลาออกเพราะติดขัดระบบราชการ ไม่คล่องตัวเหมือนเอกชน ซ้ำยังน่าจะดำเนินการผิดแนวทาง ทั้งที่ควรจะเน้นตั้งแต่ควบคุมการผลิต แต่กลับนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาส่งเสริมและทำการตลาดเท่านั้น 

          ตามที่มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ นครชัยบุรินทร์ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ กันยายน ๒๕๖๐ ณ เดอะมอลล์นครราชสีมา ซึ่งหลังจบงาน “โคราชคนอีสาน” ได้สอบถามรายละเอียดโครงการและงบประมาณจากดร.โสภณ ผลประพฤติ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ซึ่งเปิดเผยว่า “งบประมาณในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ จำนวน ๔.๗ ล้านบาท เป็นงบพัฒนากลุ่มจังหวัด ปี ๒๕๖๐ (เพิ่มเติม) โดยเทศกาลภาพยนตร์ฯ เกิดจากความร่วมมือของมทร.อีสาน และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด แต่ผู้ดำเนินการทั้งหมดคือ มทร.อีสาน ขณะที่บริษัทประชารัฐฯ เป็นเพียงผู้ทำงานร่วมเท่านั้น ซึ่งรายจ่ายโครงการมี ๓ ส่วน ได้แก่ ๑. ค่าใช้จ่ายด้านการอบรมเยาวชนหนังสั้นเพื่อพัฒนาหนังใน ๔ จังหวัดๆ ละ ๓ เรื่อง มีนักศึกษาอย่างน้อย ๕๐ คน ค่าใช้จ่าย ๕๐,๐๐๐ บาทต่อเรื่อง โดยกำหนดว่าต้องเป็นหนังสั้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของจังหวัดนั้นๆ ๒. ค่าใช้จ่ายด้านผู้กำกับภาพยนตร์ที่ต้องนำดารานักแสดงของตนเองและทีมงานถ่ายทำ ๔ เรื่อง กำกับคนละ ๑ เรื่อง รวมเป็นเงิน ๑.๔๕ ล้านบาท และ ๓. ค่าใช้จ่ายในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินครชัยบุรินทร์ ที่เดอะมอลล์ ๒ วัน เป็นเงิน ๑.๙๕ ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วยอดคร่าวๆ อยู่ที่ ๔.๗ ล้านบาท”   

          หลังจากนั้น “โคราชคนอีสาน” สอบถามไปยังนายมนตรี จงวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ถึงความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งเปิดเผยว่า “การจัดโครงการเทศกาลภาพยนตร์ฯ นี้ บริษัทประชารัฐฯ เข้าไปมีบทบาทในด้านการจัดเตรียมงานให้ตรงกับจุดประสงค์ของโครงการ คือส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการให้นักศึกษาของแต่ละจังหวัดในเขตนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) สร้างภาพยนตร์ที่กล่าวถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตนเอง เล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวละครในภาพยนตร์   หรือภาพสถานที่ต่างๆ สินค้า OTOP ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดของตน สำหรับงบประมาณจัดงาน ทาง มทร.อีสาน เป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด” 

          “โคราชคนอีสาน” ถามอีกว่า “โครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ นครชัยบุรินทร์ เป็นหนึ่งใน ๖ โครงการที่บริษัทประชารัฐฯ ได้รับงบประมาณหรือไม่” นายมนตรี ตอบว่า “โครงการนี้เป็นส่วนของงบประมาณเขตจังหวัดนครชัยบุรินทร์ แต่ ๖ โครงการที่บริษัท ประชารัฐฯ ได้งบประมาณในการดำเนินการนั้น เป็นส่วนของจังหวัดนครราชสีมา และจะมีอีกหลายโครงการตามมา” เมื่อถามถึงรายละเอียดของทั้ง ๖ โครงการว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่? นายมนตรี ตอบว่า “ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในขณะนี้” ซึ่งรายละเอียดต่างๆ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวไปในฉบับวันที่ ๒๖-๓๐ กันยายน ๒๕๖๐ แล้วนั้น

          ต่อมาในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อไปยังนายมนตรี จงวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ เพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ ๖ โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ประชารัฐฯ แต่นายมนตรีตอบอย่างฉุนเฉียวว่า “คุณมีอะไรกับผมให้มาเจอกันตัวต่อได้ คุณโทรศัพท์มาถามข่าวกับผมแบบนี้ คุณมีจรรยาบรรณของนักข่าวเปล่า ถ้าจะโทรมาถามข่าวอย่างนี้ ให้คุณสุนทร โทรมาหาผมเลย หรือจะมาเจอกันตัวต่อตัวก็ได้”

          “โคราชคนอีสาน” จึงถามอีกว่า “จะให้เข้าพบวันไหน”  นายมนตรี ตอบว่า “ถ้าว่างเมื่อไหร่จะโทรบอก” จากนั้นนายมนตรีก็วางสายโทรศัพท์ไป 

          นายมนตรี จงวิเศษ ผู้นี้เคยได้รับแต่งตั้งจากนายอัสนี เชิดชัย เมื่อประมาณ ๕ ปี ที่แล้วให้มีตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ร่วมคณะกับนายสุรวุฒิ เชิดชัย แต่แล้วเพียง ๑ สัปดาห์ นายมนตรีก็หลุดจากตำแหน่ง

          สำหรับ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ด้วยทุนจดทะเบียน ๔ ล้านบาท มีนายกฤช หิรัญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครราชสีมา และอดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๖) เป็นประธานคณะกรรมการ แต่ปัจจุบันนายกฤชลาออกจากการเป็นคณะกรรมการบริษัทนี้แล้ว 

          และเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ “โคราชคนอีสาน” สอบถามนายกฤช หิรัญกิจ ถึงสาเหตุที่ลาออกจากบริษัทแห่งนี้ ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า “ติดปัญหาหลายอย่าง เพราะบริษัทนี้มีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเหมือนว่า ข้าราชการต้องมาคอยควบคุมดูแลการทำงานด้วย ไม่เหมือนกับการบริหารธุรกิจของเอกชน แต่นี่กลับมีขั้นตอนเยอะ จึงคิดว่าไม่เหมาะกับตัวเอง จึงลาออกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วงที่เป็นประธานประมาณ ๖ เดือน ผมสนับสนุนข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ ไม่ได้ใช้งบประมาณ กลับเป็นว่าช่วยหางบประมาณมาด้วยซ้ำ เป็นการช่วยขาย ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีโครงการซื้อข้าวจากชาวนาและขายข้าวช่วยชาวนา ผมต้องการโปรโมตข้าวทุ่งสัมฤทธิ์ของโคราชให้เป็นที่รู้จัก เพราะคนทั่วไปไม่รู้จักข้าวทุ่งสัมฤทธิ์ แต่พากันไปซื้อข้าวหอมมะลิสุรินทร์หรือข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งที่ของดีของเราก็มีที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ผมจึงหยิบข้าวทุ่งสัมฤทธิ์ขึ้นมาโปรโมตเพื่อเป็นการช่วยชาวนา มีการทำ packaging ให้สวยงาม และนำออกมาจำหน่าย ช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็นำออกมาจัดกระเช้าปีใหม่เป็นข้าวประชารัฐ มีผ้าไหมปักธงชัย ใส่โปรดักส์ของเราเข้าไปในกระเช้าของขวัญ ช่วงนั้นก็ดำเนินการไปได้ด้วยดี แต่ผมติดขัดในเรื่องของระบบราชการ เพราะถ้าเป็นงานของเอกชนจะทำแบบประชารัฐฯ ไม่ได้” 

          “โคราชคนอีสาน” ถามว่า ได้ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท ประชารัฐฯ หรือไม่? นายกฤช กล่าวว่า “ผมว่าบริษัท ประชารัฐฯ ยังไปไม่ถูกทาง ซึ่งผมไม่รู้ว่าการส่งเสริมในเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่ผมมองว่า ไม่ได้เข้าไปส่งเสริมผู้ผลิตจริงๆ ให้มีคุณภาพ จัด packaging ให้สวยหรู แต่เป็นการนำของที่มีคุณภาพอยู่แล้วหรือของที่มีการผลิตอยู่แล้วมาดำเนินการ รวมทั้งการจัดโรดโชว์ต่างๆ ก็เป็นการนำของที่มีอยู่แล้วไปจัดแสดง หากจะดำเนินการให้ถูกทางก็ต้องมีการส่งเสริมชนบทหรือชุมชน เข้าไปส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้ผลิตให้ได้คุณภาพ ต้องช่วยกันทำตรงนั้น แล้วมานำเสนอหรือทำเรื่องการตลาด หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน นั่นคือหน้าที่ของบริษัทประชารัฐฯ แต่ขณะนี้ เหมือนแค่เข้าไปทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วเพียงอย่างเดียว ส่วนในเรื่องการผลิตนั้นกลับไม่ได้เข้าไปดูแลหรือเข้าไปส่งเสริมเลย เพราะหากผลิตภัณฑ์ไม่ดีก็จะเข้าไปส่งเสริมเรื่องการตลาดไม่ได้ ขณะนี้จึงเป็นแค่ว่า การนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วมาส่งเสริมเรื่องการตลาดแค่นั้น”

          นายกฤช หิรัญกิจ กล่าวอีกว่า “กรรมการ บริษัทฯ ก็มาจากหลายฝ่าย ไม่เหมือนบริษัทเอกชนที่เราตั้งบริษัทขึ้นมา เราจะไล่ใครออกหรือตั้งทีมใหม่ก็จะง่าย แต่นี่ทำแบบเอกชนไม่ได้ ซึ่งมุมมองของราชการกับเอกชนจะไม่เหมือนกัน ส่วนงบประมาณที่ดำเนินการและมีการระดมทุนมาได้มีประมาณ ๖ ล้านบาท ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ก็ช่วย โดยที่จังหวัดนครราชสีมามี ๓๒ อำเภอก็ให้ช่วยกันระดมทุนมาเป็นการขายหุ้นๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งผมมี ๕๐ หุ้น (๕๐,๐๐๐ บาท) ถึงขณะนี้ก็ยังมีหุ้นอยู่” 

          “โคราชคนอีสาน” ถามว่า ใครเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุด? นายกฤชตอบว่า “น่าจะเป็นนายมนตรี (จงวิเศษ) ซึ่งมีประมาณ ๖๐ หุ้น เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท”

          อนึ่ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ด้วยทุนจดทะเบียน ๔ ล้านบาท มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๑๙/๔ ถนนเดชอุดม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยมีการแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานแถลงข่าว โดยเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล “สานพลังประชารัฐ” เพื่อ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐของจังหวัดนครราชสีมา มีนายกฤช หิรัญกิจ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งการจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เป็นไปตามคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๒๓๓๕/๒๕๕๙ เพื่อร่วมหาแนวทางสร้างรายได้ ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน โดยการทำงานในรูปแบบสานพลังประชารัฐ ประกอบด้วย ๕ ส่วน คือ ๑. ภาครัฐ สนับสนุนช่วยเหลือนโยบาย และเงินทุนผ่านสถาบันการเงิน ๒. ภาคเอกชน ขับเคลื่อนในเรื่องความรู้ด้านการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงตลาด การทำแผนธุรกิจ และสนับสนุนเงินทุนผ่านสถาบันการเงิน และโครงการพี่ช่วยน้อง ๓. ภาควิชาการ ให้องค์ความรู้ ช่วยค้นคว้าวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีการผลิต และวิชาการด้านการเกษตรและแปรรูป ๔. ภาคประชาสังคม สร้างความ เข้มแข็ง ช่วยสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงระหว่างชุมชน และ ๕. ภาคประชาชน/ธุรกิจชุมชน ต้องลงมือทำ เรียนรู้ เข้าใจ เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เป็นผู้ผลิต ให้บริการและดำเนินธุรกิจ ซึ่ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนา ๓ ด้าน คือ ๑. ด้านการเกษตร ๒. ด้านการแปรรูป และ ๓. ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน นอกจากนี้ยังมีอีก ๕ กระบวนการพัฒนา ประกอบด้วย ๑. ต้องเข้าถึงปัจจัยการผลิต ๒. การสร้างองค์ความรู้ ๓. การตลาด ๔. การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน และ ๕. การบริหารจัดการ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ

          บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น ๔,๐๐๐ หุ้น ประกอบด้วย ภาครัฐ ๔๐๐ หุ้น, ภาคเอกชน ๒,๐๐๐ หุ้น, ภาควิชาการ ๘๐๐ หุ้น, ภาคประชาสังคม ๖๐๐ หุ้น และภาคประชาชน ๒๐๐ หุ้น สำหรับคณะกรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วย ประกอบด้วย ๑. นายกฤช หิรัญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครราชสีมา และอดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๖) เป็นประธานคณะกรรมการ ๒. นางนรินทิพย์ กาญจนศิริ รองประธานฯ ฝ่ายบริหารภายใน ๓. นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท ส.อบจ.นครราชสีมา เป็นรองประธานฯ ฝ่ายการตลาด ๔. นายสันทนา ธรรมสโรจน์ จากภาคประชาสังคม เป็นรองประธานฯ ฝ่ายธุรกิจชุมชน ๕. นายมนตรี จงวิเศษ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา (๗ วัน) ซึ่งมีประสบการณ์เป็นมัคคุเทศก์ และประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ (ฮ่องกง) เป็นกรรมการผู้จัดการ ๖. นางสมควร งูพิมาย เป็นผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจชุมชน ๗. นางกานต์พิชชา เตรนาวิทย์ อดีต ส.ท. เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารภายใน ๘. นายพงษ์ศักดิ์ พิศิษฐ์วานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ๙. นางปิยาภรณ์ คงศักดิ์ตระกูล ส.ท.นครนครราชสีมา เขต ๑ เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ และ ๑๐. นางกฤษณา ขวางรัมย์ รองประธานกรรมการ บริษัท ดิจิตอล เทเลวิชั่น เน็ทเวิร์ค จำกัด (DNTV) เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์

          ปัจจุบัน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีกรรมการบริษัทฯ ตามที่ปรากฏในข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบด้วย ๑. นางนรินทิพย์  กาญจนศิริ ๒. นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท ๓. นางกฤษณา ขวางรัมย์ ๔. นายมนตรี จงวิเศษ ๕. นางกานต์พิชชา เตรนาวิทย์ ๖. นายสันทนา ธรรมสโรจน์ และ ๗. นางสมควร งูพิมาย

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๐ วันอาทิตย์ที่ ๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


715 1347