25thApril

25thApril

25thApril

 

October 03,2017

‘อาคม’ลุยตรวจคมนาคมอีสาน ขยายท่าอากาศยานอุดรธานี เชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค

             “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ลงพื้นที่ตรวจระบบคมนาคมขนส่งในภาคอีสาน พร้อมตรวจติดตามการดำเนินงานท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ ของแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน อุดรฯ-ขอนแก่น และตรวจโครงข่ายคมนาคมทางบก

             นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจการดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคภายใต้การบริหารของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๐ พร้อมด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท โดยมี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายมารุต ยิ่งคงดี รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุดรธานี ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

             นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยาน ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม ยกระดับการคมนาคมขนส่งทางอากาศของประเทศ จึงได้จัดทำแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง เกิดการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยยกระดับการให้บริการและมาตรการความปลอดภัยให้เทียบเท่าระดับสากล รวมถึงการตรวจสอบการให้บริการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เตรียมความพร้อมในการเตรียมรับการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme : USAP) โดยท่าอากาศยานในสังกัดของ ทย. ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานด้านการรักษาความปลอดภัยจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แล้ว ๓ แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานอุดรธานี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าท่าอากาศยานทั้ง ๓ แห่งได้มีการนำมาตรการรักษาความปลอดภัยไปปฏิบัติตามแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ (NCASP) กำหนด ท่าอากาศยานอุดรธานี (ทอด.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ดังนี้

๑. งานปรับปรุงระบบไฟทางวิ่ง ทางขับ Threshold/End Light Taxi Guidance Sign, PAPI,Simple Approach Light พร้อม Duct Bank วงเงิน ๑๒๒,๔๔๐,๑๔๗.๖๒ บาท สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐

๒. งานจัดหาพร้อมติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ EDS พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระ ห้องควบคุม และอุปกรณ์ วงเงิน ๑๔๐,๐๖๓,๐๐๐ บาท สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ 

๓. งานก่อสร้างต่อเติมลานจอดเครื่องบิน ลานจอดรถยนต์ วงเงิน ๑๕๙,๘๗๐,๐๐๐ บาท สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๑ บริษัท ไทยวัฒน์วิศวการทาง จำกัด

             นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้มอบให้ท่าอากาศยานอุดรธานี เร่งรัดการดำเนินงานขยายลานจอดเครื่องบิน ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติให้ใช้พื้นที่จากกองทัพอากาศ รวมทั้งให้พิจารณาปรับลดค่าบริการจอดรถหรือขยายระยะเวลาจอดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ

             นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ติดตามความก้าวหน้าโครงการบูรณะทางหลวงหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ ช่วงอุดรธานี-ขอนแก่น เส้นทางคู่ขนานสามแยก อำเภอกุมภวาปี ณ บริเวณแยกกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมกำหนดยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งภายในประเทศและพัฒนาจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับระบบโลจิสติกส์ภาคการขนส่ง และพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ โดยปรับปรุงโครงข่ายถนนระหว่างเมืองหลักให้เป็น ๔ ช่องจราจร สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงสายหลักเชื่อมโยงส่วนกลางกับพื้นที่ภูมิภาค เพื่อรองรับการเดินทาง การขนส่ง และการท่องเที่ยว

             สำหรับโครงการบูรณะทางหลวงหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ ช่วงอุดรธานี-ขอนแก่น ระหว่าง กม.๔๑๗+๘๐๔ - ๔๑๘+๓๗๕ และ ๔๑๗+๙๐๕ - ๔๑๙+๕๔๘ (ช่องทางขนาน) ระยะทาง ๒.๒๑๔ กิโลเมตร เกิดความชำรุดเสียหาย เนื่องจากผู้รับจ้างผิดสัญญาไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยงานที่ทำค้างไว้ คือ งานปรับปรุงคุณภาพชั้นพื้นทางและงานไพร์มโค้ท ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน เมื่อทิ้งไว้นานทำให้ผิวทางหลุดร่อนมากขึ้นและเกิดหลุมบ่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ปัจจุบันกรมทางหลวงได้บอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างรายเดิม และอยู่ระหว่างการหาผู้รับจ้างรายใหม่ โดยแขวงทางหลวงอุดรธานีที่ ๑ ได้ดำเนินการดูแลบำรุงรักษาเส้นทาง และซ่อมแซมผิวทางเบื้องต้น เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

             นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเดินทางไปตรวจความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างถนน สายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๐๒๒-บ้านเตาไห พร้อมด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท โดยมี นายสิธิชัย จินดาหลวง       รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทให้การต้อนรับ ณ วัดป่านฤนารถรอยพระพุทธบาท ตำบลเตาไห อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

             นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค โดยยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท ก่อสร้างทางเชื่อม ทางเลี่ยง ทางลัด เพื่อสนับสนุนการคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว การพัฒนาการเมืองอย่างบูรณการและยั่งยืน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการจราจร สำหรับโครงการก่อสร้างถนน สายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๐๒๒ - บ้านเตาไห อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระยะทาง ๒.๑๐๐ กิโลเมตร งบประมาณ ๗,๗๔๘,๐๐๐ บาท ลักษณะโครงการ ผิวทางกว้าง ๖.๐๐ เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ ๐.๕๐ - ๑.๐๐ เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๐ และเปิดให้สัญจรแล้ว 

             วันเดียวกันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเดินทางไปตรวจโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย ขก.๑๐๒๗ แยก ทล.๒ - บ้านโคกท่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน

             นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางรองรับโครงการรถไฟทางคู่ โดยกำหนดเป็นกิจกรรมด้านการอำนวยความปลอดภัย การแก้ไขปัญหาจุดอันตรายบริเวณจุดตัดระหว่างถนนของ ทช. กับทางรถไฟ เพื่อให้การเดินทางผ่านจุดตัดทางรถไฟมีความปลอดภัย ลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการสัญจรผ่านทางรถไฟ

             ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟจุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย ขก.๑๐๒๗ แยกทางหลวงหมายเลข ๒ - บ้านโคกท่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ระยะทาง ๒.๑๒๕ กิโลเมตรงบประมาณ ๔๑๑ ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้สัญจรแล้ว มีรายละเอียดโครงการ ดังนี้ ก่อสร้างถนนเชื่อมกับถนนเดิมรองรับการจราจร ๒ ช่องจราจร ไป-กลับ อุโมงค์ทางลอด ยาว ๘๑๐ เมตร กว้าง ๑๑ เมตร มีแผงกั้นคอนกรีตตรงกลาง (Concrete Median) สำหรับเบี่ยงทิศทางการจราจร แผงกั้นเหล็กมีล้อเลื่อน จำนวน ๑ แห่ง สำหรับเบี่ยงการจราจรในกรณีฉุกเฉิน โครงสร้างของอุโมงค์เป็นแบบโครงสร้างผนังพืด (Diaphragm Wall) ด้านบนเป็นเกาะกลางสำหรับกลับรถและก่อสร้างอาคารควบคุม

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๐ วันอาทิตย์ที่ ๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


701 1344