28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 07,2017

ครูแต่งกลอนหมอลำภาษาอังกฤษ เทิดทูนพระกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ ๙

           อดีตครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนลือคำหาญ วัย ๖๗ ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเพื่อนและลูกศิษย์บันทึกเสียงการแสดงหมอลำศิลปะพื้นบ้านเป็นภาษอังกฤษ หวังเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและชาวโลก ให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย นางวาสนา แท่งทอง ผู้เขียนประพันธ์กลอนหมอลำครั้งนี้เล่าว่า ในวันที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ตนนอนไม่หลับทั้งคืน เพราะรู้สึกสูญเสียพระผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวงของปวงชนชาวไทย จึงได้นั่งสมาธิ เดินจงกลมแผ่เมตตาเป็นเวลา ๗ วัน

           หลังจากนั้น ได้เริ่มเขียนบทประพันธ์เป็นกลอนหมอลำเล่าเรื่องราวตลอดรัชสมัยที่พระองค์ทรงมีเมตตาทำให้กับคนไทยและชาวโลกเป็นภาษาอังกฤษเป็นระยะ หวังใช้กลอนหมอลำที่ได้รับสืบทอดมาจากบิดาสื่อถึงชาวต่างชาติ เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวทำไมคนไทยถึงรักพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้

           กระทั่งเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ได้แต่งกลอนลำขึ้นชุดสุดท้าย โดยเป็นกลอนลำทางยาวเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นกลอนลำทำนองเศร้า และเป็นกลอนลำที่ร้องยากกว่าปกติ ศิลปินผู้ร้องต้องมีสมาธิไปกับเนื้อหาที่นำมาร้อง ไม่เหมือนกลอนลำเต้ยทั่วไป แต่เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และต่อพระองค์ท่าน จึงได้พยายามเขียน และใช้เวลาเขียนนานร่วม ๑ เดือนเพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แต่คนไทยเท่านั้นที่นำมาปฏิบัติแล้วได้ประโยชน์ ขณะนี้กว่า ๓๐ ประเทศทั่วโลกได้ยึดนำไปปฏิบัติ ทำให้ความยากจนไม่ใช่อุปสรรค และแนวคิดนี้ ไปตรงกับทฤษฎีของชาวต่างชาติด้วยที่ “เงินไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต” แต่ความพอเพียงต่างหากที่ทำให้ทุกชีวิตบนโลกนี้ดำเนินไปได้ ซึ่งหากชาวต่างชาติฟังกลอนลำชุดนี้จบ ก็จะเข้าใจจิตสำนึกของคนไทยที่มีต่อพระองค์ท่านเป็นอย่างดี “เพราะมรดกที่พระองค์ทิ้งไว้ให้คนไทยและคนในโลกนอกจากแนวคิดอยู่อย่างพอเพียงแล้ว ยังให้ป่าไม้ แหล่งน้ำ และดินที่อุดมสมบูรณ์” ซึ่งมีค่ามากๆ สำหรับคนในโลกนี้

           นางวาสนา เล่าต่อว่า เหตุที่ได้เขียนบทประพันธ์เพลงหมอลำและร้องได้เป็นอย่างดี เพราะขณะที่เป็นครูสอนภาษามากว่า ๓๐ ปี ได้แต่งกลอนหมอลำเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษผสมผสานกัน เพื่อใช้สอนนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศต่างๆ ให้เข้าใจวัฒนธรรมการร้องลำของคนอีสาน และการเรียนด้วยการใช้การร้อง ทำให้เด็กสนุกสนานและเข้าใจภาษาได้อย่างลึกซึ้งกว่าการสอนปกติ จึงได้ยึดถือทำมาจนวันขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดเมื่อปี ๒๕๔๗ ซึ่งขณะนั้นป่วยหนัก

           แต่เมื่อออกมารักษาตัวจนหายเป็นปกติ ก็ยังรับเป็นครูสอนพิเศษให้กับโรงเรียนมัธยมและกับชมรมผู้สูงอายุในจังหวัด เพื่อเผยแพร่กลอนหมอลำเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีลูกศิษย์ที่ผ่านการสอนนำศิลปะแขนงนี้ ไปใช้ประกอบอาชีพแสดงตามจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำบทกลอนหมอลำชุดนี้ออกมาน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เพื่อเป็นการส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย

           ด้านนางสาวปัญญัชลิตา ศรีวรรณ หรือตู่ เจ้าของสถานเสริมความงามแฮร์ดีไซน์ ลูกศิษย์คนแรกที่นำกลอนลำภาษาอังกฤษเข้าร่วมแสดงในงานวันภาษาไทยเมื่อครั้งยังเป็นลูกศิษย์เรียนกับอาจารย์วาสนาที่โรงเรียนลือคำหาญ อำเภอวารินชำราบ เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนเล่าว่า ปกติตนเองเป็นคนชอบร้องรำมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่กับอาจารย์ และอาจารย์ได้แต่งกลอนรำเป็นภาษาไทยผสมภาษาอังกฤษให้นำไปแสดง ซึ่งก็ทำได้ดีหลังเรียนจบและเข้าทำงาน ก็ได้แต่งกลอนร้องหมอลำออกมาบันทึกเสียงไว้จำนวน ๒ ชุด การทำครั้งนั้น ก็เพราะต้องการตอบโจทย์ให้กับตัวเอง กระทั่งอาจารย์มาบอกต้องการทำกลอนหมอลำเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือในทุกทาง เพื่อแสดงความจงรักภักดีและร่วมถวายความอาลัยต่อพระองค์ท่านด้วย

 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๑ วันศุกร์ที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


692 1347