28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 30,2011

‘ไทยรีเจียนัล’ลองของ ท้าบินโคราช-กทม.

‘แฮปปี้แอร์’ หยุดบิน อ้างปรับปรุงเส้นทาง-นักบินขาดแคลน ล่าสุด ‘ไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์’ ทุ่ม ๓๐๐ ล้าน พร้อมเปิดเส้นทางการบินแทน เริ่มบินไปกลับโคราช-สุวรรณภูมิ ๒ กันยายนนี้ ใช้เครื่องบิน ๘ ที่นั่ง รองรับผู้โดยสาร ไม่ให้เสียเวลาเช็คอิน ถึงที่หมายรับสัมภาระได้ทันที ก่อนขยับไปสู่เส้นทางเชียงใหม่  

ภายหลังสายการบินแฮปปี้แอร์ ของบริษัท แฮปปี้ แอร์ ทราเวิล เลอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นสายการบินระดับพรีเมี่ยม ที่เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนในจังหวัดภูเก็ต ปิดบริการสายการบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร ในเส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพมหานคร, นครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลากว่า ๔ เดือน จากที่มีพิธีเปิดเที่ยวบินอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ล่าสุดมีสายการบินใหม่ คือ “Thai Regional Airlines” ของบริษัท Thai Regional Aviation จำกัด เตรียมเข้ามาเปิดบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา ในวันที่ ๒ กันยายนที่จะถึงนี้

‘แฮปปี้แอร์’หยุดบิน

เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า เนื่องจากสายการบินแฮปปี้แอร์ชะลอการปรับปรุงเส้นทางการบิน และขาดแคลนนักบิน จึงปิดบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศมาประมาณ ๔-๕ เดือนแล้ว ภายหลังจากเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, นครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-หัวหิน ตนจึงประสานไปยังสายการบินใหม่ของคนไทย คือ Thai Regional Airlines ซึ่งเป็นสายการบินพรีเมี่ยมที่ขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ โดยทำการบินสู่จังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ได้มีโอกาสโดยสารเครื่องบินอย่างทั่วถึง เป็นการเติมเต็มช่องว่างของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ขณะนี้ได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนเรียบร้อยแล้ว ในเส้นทางการบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-เชียงใหม่ โดยเริ่มทดลองบินเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเป็นเที่ยวแรก ในวันที่ ๒ กันยายนนี้ ใช้เวลาตรวจสัมภาระสิ่งของภายใน ๑๕ นาที เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางของผู้โดยสาร  ซึ่งเบื้องต้นทางท่าอากาศยานนครราชสีมาจะงดเก็บค่าธรรมเนียมการบินขึ้นลงเป็นเวลา ๑ ปี 

‘หนองเต็ง’ไกล ไม่ใช่สาเหตุ

นายประวัติ ชี้ให้เห็นว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการลงทุนที่ ๒-๓ สายการบินที่หยุดให้บริการ ไม่เกี่ยวกับปัญหาความห่างไกลของท่าอากาศยานนครราชสีมา เพราะเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่สนามบินต้องตั้งห่างจากเขตเมือง ซึ่งด้วยระยะทางใช้เวลาเดินทางเพียง ๑๕ นาทีเท่านั้น ถ้าดูจากข้อมูลจริงจะทราบว่า ผู้ประกอบการไม่ได้หยุดบริการเฉพาะที่ท่าอากาศแห่งนี้ แต่หยุดบริการทุกสนามบินภายในประเทศ และจากสถิติผู้โดยสารขึ้นลง ท่าอากาศยานนครราชสีมามีผู้โดยสารมาใช้บริการมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ จากสถิติเมื่อปี ๒๕๔๐ มีจำนวนผู้โดยสาร ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่หลังจากผู้ประกอบการหยุดให้บริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศเป็นเวลาหลายปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องด้านการให้บริการ ความน่าเชื่อถือจึงลดลงไปด้วย กระทั่งเสียโอกาสที่จะก้าวเป็นสายการบินภูมิภาคหรือนานาชาติ จึงเชื่อมั่นว่าหากเปิดบริการการบินขนส่งผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง เช่นการนำ Thai Regional Airlines มาบริการ จะทำให้ความน่าเชื่อถือของท่าอากาศยานแห่งนี้กลับคืนมา

ไม่ทิ้งร้างต่างชาติจ่อลงทุน

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานนครราชสีมาในปัจจุบันว่า ท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่เคยทิ้งร้าง แม้ที่ผ่านมาจะขาดความต่อเนื่องบริการการบินขนส่งผู้โดยสารก็ตาม ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการอยู่เป็นประจำ โดยขณะนี้บริษัท บางกอกดิวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันสอบการบินแห่งหนึ่งของประเทศไทย มาใช้สนามบินเพื่อฝึกบินพาณิชย์ รวมทั้งมีเครื่องบินเช่าเหมาลำขึ้นลงบ่อยๆ และยังให้การสนับสนุนการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศของโรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา และสวัสดิการทางการแพทย์ของชาวต่างชาติระหว่างโรงพยาบาลเอกชน

ส่วนกรณีบริษัท สแกนดิเนเวียน แอร์คราฟท์ เมนเทนแนนซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากประเทศนอร์เวย์ ที่มีประสบการณ์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานในกลุ่มสแกนดิเนเวีย จะเข้ามาลงทุนในโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยาน และเครื่องใช้ในอากาศยาน ภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา ด้วยเงินลงทุน ๔๐๐ ล้านบาทนั้น ผอ.ท่าอากาศยานนครราชสีมา กล่าวว่า “ได้รับอนุมัติจากบีโอไอในการขอบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว รวมทั้งผ่านความเห็นชอบจากกรมการบินพลเรือน ผู้ว่าราชการจังหวัด อบต.ท่าช้าง และอบต.หนองยางแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินประมาณ ๓๐๐ ไร่ จากกรมป่าไม้ ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ เพราะพื้นที่ของท่าอากาศยานนครราชสีมาทั้งหมด ๔,๖๒๕ ไร่นั้น อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์”

‘ไทยรีเจียนัล’เติมเต็มการบิน

นายประอังคาร ปัญธิยา ประธานกรรมการ บริษัท Thai Regional Aviation จำกัด เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เกี่ยวกับรายละเอียดของ Thai Regional Airlines ที่จะเปิดเส้นทางการบินจากจังหวัดนครราชสีมาว่า ตนอายุ ๓๓ ปี เป็นนักบินพาณิชย์ ๑๕ ปี  มีชั่วโมงการบินมาแล้ว ๖,๐๐๐ ชั่วโมง ทั้งเครื่องบินใบพัด และเครื่องบินเจ็ท สำหรับ Thai Regional Airlines เป็นสายการบินระดับพรีเมี่ยมของคนไทย ได้รับใบอนุญาตการบินภายในประเทศจากกรมการบินพลเรือน เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากศึกษาเส้นทางและดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เพื่อขนส่งผู้โดยสารทางอากาศสู่จังหวัดต่างๆ ทำให้ผู้โดยสารที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ได้มีโอกาสโดยสารเครื่องบินอย่างทั่วถึง เป็นการเติมเต็มช่องว่างของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย จากการศึกษาตลาดประชาชนในจังหวัดนครราชสีมายังมีความต้องการใช้บริการโดยสารทางอากาศเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ที่ผ่านมาสายการบินต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะใช้เครื่องบินลำใหญ่ ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลา Check in

บินลำเล็กส่วนตัวไม่เสียเวลา

นายประอังคาร กล่าวต่อไปว่า Thai Regional Airlines จึงเลือกใช้เครื่องบินรุ่น Piper Navajo Chieftain ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ได้รับความนิยมสูง และมีความปลอดภัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา Piper Navajo เป็นเครื่องบิน Multi Engine ๒ เครื่องยนต์ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าเครื่องบินชนิด ๑ เครื่องยนต์ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความรู้สึกเหมือนนั่งเครื่องบินส่วนตัว ทางสายการบินได้ลดจำนวนที่นั่งบนเครื่อง เพื่อให้มีที่ว่างมากพอในการจัดที่นั่งเดี่ยว ด้วยเบาะหนังแท้จำนวน ๘ ที่นั่ง ซึ่งนั่งสะดวกสบายกว่า กว้างขวางกว่าเครื่องบินทั่วไป เพราะเราคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นหลัก ด้วยจำนวนผู้โดยสารที่ไม่มาก ทำให้ทางสายการบินสามารถบริหารการใช้เวลาในการ Check in และ Boarding ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะในขณะเวลาที่ผู้โดยสารต้องต่อแถวยาวเพื่อรอขึ้นเครื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นที่มีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมาก แต่ทางสายการบินสามารถบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วกว่าในระยะเวลาอันสั้น และเมื่อผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทาง ก็สามารถรับกระเป๋าของตนเองไปได้ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน โดยไม่ต้องเสียเวลาไปรอรับกระเป๋าที่ถูกลำเลียง(Load) มาตามสายพาน       

‘โคราช-กทม.’โดยสาร ๑,๘๙๐ บ.

สำหรับเส้นทางการบินนครราชสีมา-กรุงเทพฯ นายประอังคาร กล่าวว่า เป็นเส้นทางที่ ๓ หลังจากเปิดเส้นทางแรก บุรีรัมย์-กรุงเทพฯ และเส้นทางที่ ๒ สุรินทร์-กรุงเทพฯ โดยจะเริ่มเปิดบริการบินขนส่งผู้โดยสารไป-กลับ ในวันที่ ๒ กันยายนนี้ ตามแผนตารางการบินช่วงแรกที่เปิดบริการไป-กลับวันละ ๑ เที่ยวบิน คือ วันจันทร์ และวันพุธ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา ๐๘.๐๐ ถึงนครราชสีมา เวลา ๐๘.๔๐ น. และจากนครราชสีมา เวลา ๐๙.๐๐ ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา ๐๙.๔๐ น. ส่วนวันศุกร์ และวันอาทิตย์ ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา ๑๖.๓๐ น. ถึงนครราชสีมา เวลา ๑๗.๑๐ น. และออกจากนครราชสีมา เวลา ๑๗.๓๐ น. ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา ๑๘.๑๐ น. ด้วยอัตราค่าโดยสาร ๑,๘๙๐ บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับช่วงโปรโมชั่นตั้งแต่วันที่ ๒ กันยายน ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ สามารถโทรศัพท์ซื้อตั๋วโดยสารผ่านทาง Call Center และเดอะมอลล์ นครราชสีมา ขณะนี้มีผู้โดยสารจองเที่ยวบินนครราชสีมา-กรุงเทพฯ แล้วประมาณ ๘๐ ที่นั่ง จากที่เพิ่งเปิดตลาดได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ทำให้วันที่ ๗-๙ กันยายนนี้ ต้องเพิ่มวันละ ๔ เที่ยวบิน หากได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องวันละ ๓๒ คน ตั้งใจจะเพิ่มเที่ยวบิน-ไปกลับทุกวันๆ ละ ๔ เที่ยวบิน ให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

๓๐๐ ล.จากโคราชถึงเพื่อนบ้าน

นายประอังคาร กล่าวอีกว่า เป้าหมายทางการตลาดสำหรับเส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ ด้วยขนาดเครื่องบินดังกล่าว ที่นำเข้ามาแล้ว ๑ ลำ เหลืออีก ๔ ลำ จะมารองรับผู้โดยสารกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจชาวต่างชาติ และประชาชนทั่วไปที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วด้วยการเดินทางอากาศยาน ซึ่งแผนการตลาดหลังจากเปิดเส้นทางนี้แล้ว ในเดือนตุลาคมนี้จะเปิดเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ เป็นลำดับต่อไป จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จะนำเข้าเครื่องบินเจ็ท FAIR CHILD จากประเทศเยอรมนี ขนาด ๓๐-๓๔ ที่นั่ง มาอีกประมาณ ๖ ลำ เพื่อมา รองรับการเปิดเส้นทางการบินนครราชสีมา-ภูเก็ต รวมทั้งต่างประเทศในเส้นทางนครราชสีมา-สิงคโปร์, นครราชสีมา-โฮจิมินห์-ฮานอย, นครราชสีมา-มาเลเซีย และนครราชสีมา-เสียมเรียบ-พนมเปญ เพื่อให้ท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นสนามบินขนส่งผู้โดยสารนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งบริษัทฯ จะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น ๓๐๐ ล้านบาท สำหรับเปิดเส้นทางการบินนครราชสีมา

หวังปลุกสนามบินร้างมีชีวิต

“หลังจากเปิดเส้นทางการบินที่จังหวัดนครราช สีมาแล้ว จะมีแผนเปิดเส้นทางการบินภายในประเทศ สัปดาห์ละ ๑ เส้นทาง คือ เพชรบูรณ์-กรุงเทพฯ, ตาก- กรุงเทพฯ, แม่สอด-กรุงเทพฯ, ลำปาง-กรุงเทพฯ, แพร่-กรุงเทพฯ, น่าน-กรุงเทพฯ และเลย-กรุงเทพฯ เนื่องจากเล็งเห็นว่าสนามบินภายในประเทศไทยมีเกือบทุกจังหวัด เช่นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ไม่ได้รับการใช้บริการการขนส่งโดยสารอย่างจริงจัง จึงเชื่อว่าการใช้ความแตกต่างของเครื่องบินด้วยขนาดที่เหมาะสมมาให้บริการผู้โดยสาร จะทำให้ท่าอากาศยานนครราชสีมากลับมีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งจากประสบการณ์ของนักบิน Thai Regional Airlines ทั้งหมด ๓๐ คนด้วยชั่วโมงการบินคนละมากกว่า ๖,๐๐๐ ชั่วโมง ที่ไม่ใช่ระดับกัปตันแต่เป็นครูฝึกบิน จะนำพาผู้โดยสารถึงที่หมายโดยปลอดภัย” ประธานกรรมการ Thai Regional Aviation กล่าวในท้ายสุด

หลายสายการบินเข้า-ออก

อนึ่ง ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งเดียวของจังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๗ สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บนพื้นที่ ๔,๖๒๕ ไร่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยงบประมาณก่อสร้าง ๔๗๖.๙๕ ล้านบาท มีทางวิ่ง(Runway) ขนาดกว้าง ๔๕ เมตร ยาว ๒,๑๐๐ เมตร รองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง ๗๓๗ ขนาด ๑๕๐ ที่นั่ง มีที่พักผู้โดยสารรองรับ ๒ ห้องๆ ละ ๑๕๐ คน และยังมีศักยภาพสามารถรองรับเครื่องบินระหว่างประเทศได้ โดยมีระบบศุลกากรที่ไม่ต้องผ่านท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

โดยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เปิดทำการบินเป็นครั้งแรก ในเส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ มีสายการบินพาณิชย์ คือ การบินไทย, แอร์อันดามัน, สหกลแอร์ และแอร์เอเชีย ผลัดเปลี่ยนมาเปิดให้บริการ แต่ด้วยระยะทางของสนามบินแห่งนี้ซึ่งห่างจากอำเภอเมืองนครราชสีมา ๒๖ กิโลเมตร ประกอบกับเส้นทางการคมนาคมทางบก ระหว่างนครราชสีมาไปถึงกรุงเทพฯ มีความสะดวกและรวดเร็ว จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของผู้มาใช้บริการ สายการบินดังกล่าวจึงไม่คุ้มทุนในการเปิดให้บริการต้องยกเลิกการบินไปโดยปริยาย กลายเป็นสนามบินที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ก่อนหน้านี้ “แอร์ฟีนิคซ์” วางแผนเปิดบริการการบิน ในเส้นทางระหว่าง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ, นครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-เชียงราย ช่วงเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๑ แต่หลังจากเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๑ ต่อมาผู้บริหารของสายการบินนี้จึงแถลงข่าว โดยระบุว่าไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินตามที่วางแผนไว้ได้ เนื่องจากขณะนั้นน้ำมันปรับขึ้นราคาสูงมาก จึงทนแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว 

ต่อมาบริษัท แฮปปี้ แอร์ ทราเวิล เลอร์ส จำกัด หรือสายการบินแฮปปี้แอร์ ซึ่งเป็นสายการบินระดับพรีเมี่ยม ที่เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนในจังหวัดภูเก็ต มาดำเนินการเปิดบริการสายการบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-เชียงใหม่ดังกล่าว โดยเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ ก่อนที่จะชะลอการปรับปรุงเส้นทางและปิดให้บริการ กระทั่งล่าสุด “Thai Regional Airlines” เข้ามาเปิดบริการแทนที่ดังกล่าว
 

ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๒๐๓๕ วันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม - วันอาทิตย์ที่ ๔  เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๔


747 1385