19thApril

19thApril

19thApril

 

November 17,2017

เปิดแล้วหมู่บ้านช้างขุนไชยทอง นักท่องเที่ยวจองโฮมสเตย์เต็ม

                เปิดแล้วหมู่บ้านช้าง “บ้านขุนไชยทอง” นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติร่วมงานเพียบ พร้อมจองเข้าพักและร่วมกิจกรรมจำนวนมาก หวังร่วมแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนในหมู่บ้าน และให้เรียนรู้การบริหารจัดการด้วยตัวเอง

                เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่โรงเรียนบ้านขุนไชยทอง ต.หนองเรือ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ นายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ขึ้นบ้านใหม่ช้างขุนไชยทอง” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งใน “โครงการพาช้างกลับบ้านนำควาญคืนถิ่น”ของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม โดยมีนางแสงเดือน ชัยเลิศ เป็นประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ให้การสนับสนุนและดำเนินงานโครงการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาชีวิตของช้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้ช้างได้อยู่กับธรรมชาติ และสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนขุนไชยทอง ช้างและคนเลี้ยงช้างจะได้มีโอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคงและหวนคืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันมีอาสาสมัครจากทั่วโลกเข้ามาเป็นส่วนร่วมกับโครงการฯ และชุมชนขุนไชยทอง ได้มอบพื้นที่ให้ช้าง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สระอาบน้ำ บ่อโคลนสำหรับช้าง เพื่อให้ช้างได้อยู่อาศัยอย่างเสรี โดยที่นี่จะไม่ให้นักท่องเที่ยวนั่งบนหลังช้าง แต่จะให้นักท่องเที่ยวพาช้างเดินร่วมกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านแทน

                โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก เริ่มจากมีขบวนแห่ดนตรีพื้นบ้านกลองยาว พร้อมขบวนฟ้อนรำ “เรือมตำแร็ยขุนไชยทอง” นับร้อยคน นำขบวนโดยมาสคอตช้าง ที่มีชาวต่างชาติร่วมใส่ชุดมาสคอตช้างเดินแห่ ร่วมกับขบวนช้าง ๒๕ เชือก ขบวนอาสาสมัครนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากทั่วโลกหลายสิบคน พร้อมป้ายรณรงค์ร่วมอนุรักษ์ช้าง ไม่ทำทารุณกรรมช้าง ขบวนดารานักร้อง ขบวนวิถีชีวิตชุมชน อาทิ แห่เทียนพรรษา ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ของเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ การไถนา หว่านแห และนวดข้าวแบบโบราณ ซึ่งชาวบ้านร่วมแต่งตัวและแสดงวิถีชีวิตต่างๆ ได้อย่างสมจริงสมจัง สามารถสร้างสีสันให้กับงานได้เป็นอย่างดี

                ซึ่งขบวนแห่เริ่มจากปากทางเข้าหมู่บ้านแห่ไปตามท้องถนนผ่านหมู่บ้านเข้าไปยังพื้นที่จัดงานที่โรงเรียนบ้านขุนไชยทอง โดยมีดารานักร้อง อาทิ อู๊ด เป็นต่อ, โบว์-เบญจศิริ วัฒนา, น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์, เกรซ-พัชร์สิตา อธิอนันตศักดิ์, เอฟ-ธัญนพ ตระกูลโชคดี, โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ, เอ็ม-อดุลยรัศมิ์ สุวรรณจักรา, กิ่งเดอะสตาร์-เหมือนแพร พานะบุตร, ได-ไดสุเกะ สุกี้คาวา, ตอง-พชรพล ศุข อร่าม, ตูน-พิมพ์ปวีร์ โคกระบินทร์, บอส-ชนกันต์ พูนศิริวงศ์, ปาย-สิตางศุ์, ปุณภพ, มีน AF-กาญจน์ คะนึง เนตรศรีทอง และบอส-คงณัฐ เชยสุวรรณ ร่วมขบวนแห่ และกิจกรรมบนเวทีสร้างความบันเทิงก่อนเปิดงานอย่างเป็นทางการ

                สำหรับโครงการ “พาช้างกลับบ้าน นำควาญคืนถิ่น” บ้านขุนไชยทอง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ มีช้างร่วมโครงการประมาณ ๓๐ เชือก โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๙ เป็นการสร้างโมเดลโฮมสเตย์ช้างเป็นที่แห่งแรกของประเทศไทย โดยความร่มมือและสนับสนุนจากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และอำเภอชุมพลบุรี ร่วมจัดงาน “งานขึ้นบ้านใหม่ช้าง” ขึ้น ณ บ้านขุนไชยทอง ต.หนองเรือ อ.ชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นการเปิดบ้านขุนไชยทองต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนบ้านพักโฮมสเตย์ อีกทั้งยังเผยแพร่วิถีชีวิตท้องถิ่นของชุมชนให้รู้จักอย่างแพร่หลายอีกด้วย

                ปัจจุบัน โครงการ Elephant Lover Home หมู่บ้านขุนไชยทอง หรือ “ขุนไชยทองโมเดล” นับเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ช้าง แห่งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือและสนับสนุนจากนางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และอำเภอชุมพลบุรี เปิดบ้านขุนไชยทองโฮมสเตย์ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติ โลกของช้าง ที่ถูกปลดโซ่ตรวน พันธนาการ เข้าถึงธรรมชาติและวิถีชีวิตของช้าง และชาวบ้านในชุมชนได้อย่างแท้จริง บวกกับอัธยาศัยไมตรีและความเป็นมิตรที่ดี พร้อมกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเองจากเจ้าบ้าน จึงทำให้โครงการ Elephant Lover Home หมู่บ้านขุนไชยทอง แห่งนี้ยิ่งมีเสน่ห์น่าไปสัมผัส ในบรรยากาศแบบบ้านๆ

                นางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์ช้างเร่ร่อน เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับช้างในปัจจุบันโดยเฉพาะช้างเอเชีย เป็นเวลายาวนาน ปัญหาช้างเร่ร่อนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนในประเทศไทย นั่นคือคนเลี้ยงช้างนำช้างออกจากบ้านไปตามท้องถนน เพื่อหารายได้เพิ่ม เพื่อครอบครัวและช้างของพวกเขา โดยให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ซื้อผลไม้เพื่อป้อนอาหารให้ช้าง แสดงโชว์ช้าง หรือช้างวาดภาพ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจของช้าง และคนเลี้ยงช้าง บนถนนคอนกรีตไม่ใช่ที่สำหรับช้าง ฝุ่นจากท่อไอเสียของรถส่งผลกระทบต่องวงช้าง อวัยวะหลักของช้างเทียบได้กับมือ จมูกและปากของคน มลภาวะเสียงจากจราจรและยานพาหนะหรือคนส่งผลต่อการรับเสียงของช้าง (ได้ยินไกล ๒.๕-๖ กิโลเมตร) อีกทั้งความร้อนจากพื้นถนนส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการน้ำ (๑๐๐-๑๕๐ ลิตรต่อวัน) และยังส่งผลกระทบอื่นๆ อีกมากมายต่อช้าง

                นางแสงเดือน กล่าวว่า ต้นเหตุของปัญหามีหลายปัจจัย แต่สาเหตุหลักคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและแหล่งอาหารของช้าง หน่วยงานราชการหลายสมัยพยายามแก้ไขปัญหา โดยออกมาตรการต่างๆ เพื่อต่อต้านการกระทำเหล่านี้  และพยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก แต่ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขช้างเร่ร่อนได้อย่างยั่งยืน ทางมูลนิธิฯ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์นี้เช่นกัน ซึ่งได้ใช้เวลาศึกษาและพยายามเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนและคนเลี้ยงช้าง เพื่อหาทางออกที่ดีขึ้นที่เป็นรูปธรรมให้พวกเขาอยู่ได้ มีอาชีพที่มั่นคง โดยยึดหลัก ช้างก็มีความสุข ถ้าคนมีความสุข

                “มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อดูแลและช่วยเหลือช้าง โดยใช้วิธีการหลายด้านที่เกี่ยวกับการเข้าถึงชุมชนท้องถิ่น สร้างสรรค์โครงการ กิจกรรม และการฟื้นฟูสมรรถภาพ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขยายการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืนด้วยตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น และสามารถสร้างเครือข่ายข้ามวัฒนธรรมระหว่างชุมชนและทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยการสร้างโครงการ กิจกรรม และการฝึกอบรมการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เป็นประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์” นางแสงเดือน กล่าว

                นางแสงเดือน ชัยเลิศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การส่งเสริมหมู่บ้านโฮมสเตย์ หมู่บ้านขุนไชยทองขณะนี้เราเตรียมบ้านมา ๑ ปีเต็ม เพื่อที่จะมาเรียนรู้และสอนวิธีการเลี้ยงช้าง แล้วนำนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่กับหมู่บ้าน ๑ ปีเต็มๆ ลองผิดลองถูก ชาวบ้านก็ยังใหม่อยู่ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านพร้อมแล้ว นักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มจองลงมาเที่ยวเต็มตารางแล้วในห้วงนี้ เรามีการแชร์ให้แต่ละบ้านว่า จะรับนักท่องเที่ยวได้กี่คน เสร็จแล้วเราก็จะมีการอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อบรรยายเรื่องช้างในหมู่บ้านให้กับนักท่องเที่ยว เราต้องการให้การทำงานทั้งหมดเป็นคนในหมู่บ้านขุนไชยทอง บริหารจัดการเรื่องการทำงานเลี้ยงช้างของพวกเขาเอง ให้เกิดความภาคภูมิในสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่า หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านขุนไชยทองพร้อมเต็มที่ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว วันจันทร์หน้านี้ก็มีนักท่องเที่ยวจองเข้ามาเต็มแล้ว ที่จะเข้ามาพักที่หมู่บ้านขุนไชยทอง โดยนักท่องเที่ยว ๘๐% จะเป็นชาวต่างชาติ อีก ๒๐% จะเป็นคนไทย

                “ส่วนที่จะเพิ่มเติมเข้ามาในขณะนี้ก็คือ เรื่องของรายได้ โดยจะไม่ให้รายได้กระจุกอยู่กับคนเลี้ยงช้างอย่างเดียว แต่จะให้กระจายไปทุกๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมนวดแผนโบราณ การทำของที่ระลึกขาย รวมถึงการนำนักท่องเที่ยวเข้าชมในจุดต่างๆ จะเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของช้าง ทุกคนในหมู่บ้านจะมีส่วนร่วมทั้งหมด อยากจะฝากถึงนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทย ทุกคนเคยเห็นช้างในถนนและเร่ร่อน เป็นภาพสะเทือนใจ บางเชือกก็ประสบเหตุตาย แต่วันนี้เรานำเขากลับมาบ้านแล้ว เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะเข้าช่วยเหลือคนช้างว่าเขาจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน การเข้ามาพักโฮมสเตย์แห่งนี้สะดวกสบายมาก มาเรียนรู้กับชาวบ้าน โฮมสเตย์ไม่แพง ทำอาหารเลี้ยงเราเป็นอาหารวัฒนธรรมอีสานแบบท้องถิ่นด้วย ซึ่งเราได้มีการอบรมชาวบ้าน หากมาที่โฮมสเตย์แห่งนี้ก็จะได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตมากมาย” นางแสงเดือน กล่าว

                ทางด้านนายสุรชัย ปานเพชร อายุ ๑๙ ปี ควาญช้าง กล่าวว่า หลังจากมีโครงการช้างคืนบ้านควาญคืนถิ่นเกิดขึ้นในบ้านขุนไชยทอง ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเลี้ยงช้าง ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องพาช้างเร่ร่อน ปลดโซ่ตรวน คืนช้างสู่วิถีธรรมชาติ สภาพชีวิตช้าง และควาญ มีกว่าอดีตที่ผ่านมา วันนี้ขึ้นบ้านใหม่ช้างดีใจมากๆ ดีใจที่ได้อยู่บ้าน ไม่ต้องพาช้างออกตระเวนเร่ร่อนอีกแล้ว

                สำหรับนางแสงเดือน ชัยเลิศ หรือ “เล็ก” เป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งที่ผ่านมาได้รับรางวัลสาขาอนุรักษ์จำนวนมาก กระทั่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิของช้างเอเชีย โดยช่วยเหลือช้างตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๓ ได้สนับสนุนสิทธิและสวัสดิภาพของช้าง ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูช้างและสิทธิสัตว์อื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติและสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ปฏิบัติตามแนวทางของนางแสงเดือน รวมทั้งช่วยให้เกิดทางเลือกที่ยั่งยืนแก่ชุมชนท้องถิ่น และยังเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานเพื่อสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์ที่มีฐานอยู่ทั่วโลก ได้แก่ National Geographic, Discovery Channel และ Animal Planet เป็นต้น ปัจจุบันนางแสงเดือนยังเป็นแนวหน้าในการเรียกร้องสิทธิของสัตว์ ได้สร้างโครงการเพื่อสังคมและสัตว์ ในกัมพูชา พม่า และไทยอีกด้วย

                ทั้งนี้ หมู่บ้านขุนไชยทอง เป็นหมู่บ้านที่ประชาชนพร้อมใจกันมอบพื้นที่ให้ช้างได้อยู่อาศัย และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับช้าง เช่น สระอาบน้ำช้าง บ่อโคลนสำหรับช้าง เพื่อให้ช้างได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ โดยมีอาสาสมัครจากทั่วโลกเข้าพักหมู่บ้านโฮมสเตย์ และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ปลูกหญ้าให้ช้าง พาช้างไปอาบน้ำ เกี่ยวข้าว และกิจกรรมอื่นๆ ของท้องถิ่น เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวทางมูลนิธิฯ มั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับคืนถิ่นอย่างยั่งยืน และเชิญชวนเจ้าของช้างเข้าร่วมโครงการนี้ และได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถต่อสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่คุณกูลชวาล โพธากาศ เบอร์โทร ๐๘๘-๒๕๒-๒๒๒๙

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๘ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ - วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


715 1354