24thApril

24thApril

24thApril

 

November 17,2017

‘บู๊วังเณร’ดื้อสุดใจ ผู้ว่าฯบ่น‘เจ้าปัญหา’ แปลงลำตะคองเป็นตปท.

                ผู้ว่าฯ รุดประชุมจัดระเบียบลำตะคองช่วงวังเณร หาแนวทางบริหารจัดการ หลังนายอำเภอรายงานว่าผู้ประกอบการร้านค้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างครบ ๑๐๐% ทั้งที่บางส่วนยังเก็บไม่หมด สั่งห้ามตั้งโต๊ะ เก้าอี้ บริการนักท่องเที่ยว ให้ปูเสื่อเท่านั้น ด้าน “บู๊วังเณร” ขอต่อรองอ้างช่วงนี้นักท่องเที่ยวหาย ขาดรายได้ แต่ “วิเชียร” หนักแน่น ซ้ำบ่นดื้อและสร้างปัญหา ย้ำต้องจัดการให้เด็ดขาด หวั่นปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก

                เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ แก่งวังเณร หมู่ ๒ ตำบลมะเกลือเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมการบริหารจัดการพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์ลำตะคอง (แก่งวังเณร) โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายณัชวันก์ (โน่) อัลภาชน์ เตชะเสน นายอำเภอสูงเนิน ร้อยเอกเดชชัย ตราษี หัวหน้าชุดรักษาความสงบเรียบร้อย จุดอำเภอสูงเนิน มณฑลทหารบกที่ ๒๑ (มทบ.๒๑) ค่ายสุรนารี, นายพงศ์เทพ ชินสรนันท์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสูงเนิน, นายวินัย นิลสูงเนิน รองนายกอบต.มะเกลือเก่า, ว่าที่ร้อยตรีชวลิต ปรีดาสา ปลัดอบต.มะเกลือเก่า, นายจักริน ไชยสูงเนิน กำนันตำบลมะเกลือเก่า, นายกิตติพงษ์ ภิญโญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๒ ตำบลมะเกลือเก่า และผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมทั้งผู้ให้เช่าประกอบการร้านอาหาร อาทิ นายบู๊ เลิศครบุรี เจ้าของร้านเฮียบู๊วังเณรผู้เช่าที่ดิน ๒ แปลงจากนายปรีชา ไพรัมย์ และอีก ๑ แปลงจากนางธนิสรณ์ เจริญวิวัฒน์พงษ์, นางอาภรณ์ รัตนชัย ร้านครัวบ้านวังเณร, นายโสภณ โกเศยโยธิน ร้านครัวแม่ติ๋ม และนายตี๋ บิดานายปรีดา เวบสูงเนิน ผู้ให้เช่าที่ดิน ๒ แปลงของร้านน้องแนนวังเณร และร้านน้องโบว์วังเณร

เดินตรวจสอบความเรียบร้อย

                ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มประชุม นายวิเชียร จันทรโณทัย ได้นำคณะเดินตรวจสอบตั้งแต่ “ร้านเฮียบู๊ วังเณร ๑” ไปถึง “ร้านเฮียบู๊ วังเณร ๒” แล้วนำคณะกลับมานั่งประชุมในวาระที่ ๑ โดยกล่าวว่า “ขอบคุณผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำไปในลำน้ำลำตะคอง” จากนั้นเข้าสู่วาระที่ ๒ เรื่อง “นายอำเภอรายงานสถานการณ์ปัจจุบันให้ประธานฯ ทราบ พร้อมมีเอกสารประกอบสรุปผลดำเนินการสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ของเจ้าของที่ดินและผู้ประกอบการร้านค้าบริเวณวังเณร (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐) ซึ่งรายงานถึงประเด็นการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีผู้ครอบครองที่ดิน ๗ ราย

                “รายที่ ๑ นายปรีชา ไพรัมย์ ผู้ให้นายบู๊    เลิศครบุรี เช่าที่ดินจำนวน ๒ แปลงเพื่อประกอบการร้านอาหารเฮียบู๊วังเณร ๑ ซึ่งคณะกรรมการรวมทั้งนายอำเภอได้ดูทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของแปลงแรกนี้ ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำเข้ามาในที่สาธารณประโยชน์วังเณรอีกแล้ว, รายที่ ๒ คุณบู๊เป็นผู้เช่าที่ดินแปลงของคุณธนิสรณ์ เจริญวิวัฒน์พงษ์ เดิมมีสิ่งที่รุกล้ำเข้ามา แต่ปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกทุบรื้อถอนเก็บออกไปออกจากแปลงนี้ไปหมดครบถ้วน ๑๐๐% แล้ว, รายที่ ๓ ที่สาธารณประโยชน์ อบต.มะเกลือเก่า (บริเวณทางเข้าร้านเฮียบู๊) เดิมบริเวณนี้จะมีห้องน้ำ ๘ ห้องรุกล้ำเข้ามาเป็นกำแพงร้านเป็นรั้วกั้นที่จอดรถ เป็นหลังคาห้องน้ำ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทุบ รื้อถอนออกไปแล้วครบถ้วน ๑๐๐%, รายที่ ๔ ร้านครัวแม่ติ๋ม ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามร้านเฮียบู๊ มีนายโสภณ โกเศยโยธิน เป็นเจ้าของ ซึ่งขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกรื้อออกไป เหลือเพียงบันไดคอนกรีตที่เป็นทางเดินลงน้ำ ทางคุณโสภณรับรู้รับทราบพร้อมที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยพลัน, รายที่ ๕ นายปรีดา เวบสูงเนิน เป็นผู้ให้เช่าที่ดิน ๒ แปลง ประกอบกิจการร้านอาหารในชื่อ ครัวร้านน้องแนนวังเณร และน้องโบว์วังเณร ทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกทุบรื้อถอนออกไปครบถ้วน ๑๐๐% แล้ว, รายที่ ๖ ร้านบ้านวังเณร มีการรื้อถอนครบถ้วน ๑๐๐% ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณประโยชน์ และรายที่ ๗ คือบ้านของคุณสุนทร จันทร์รังสี เป็นบ้านพักอาศัย ไม่ได้ประกอบกิจการร้านอาหาร ได้ดำเนินการรื้อ ขยับร่น ถอยรั้วของบ้าน ซึ่งเดิมรุกล้ำเข้ามา มีห้องเก็บของที่รุกล้ำเข้ามา เก็บออกไปร่นออกไปเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อบันได ชายคาหลังคา อิฐบล็อก และแนวรั้วที่รื้อร่นถอยเข้าไปนั้นก็ยังคงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณประโยชน์ประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ณ วันนี้ ในสถานการณ์การบุกรุก” นายอำเภอสูงเนิน กล่าว

ตรวจสอบผลดำเนินการจากทุกฝ่าย

                นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “ถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจของผู้ประกอบการและเจ้าของบ้านที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งทางราชการมีหน้าที่ทำตามกฎหมาย เนื่องจากมีพี่น้องประชาชนและส่วนราชการ เรียกร้องขอสภาพเดิมคืนมาของวังเณร และทราบว่าวังเณรแห่งนี้มีปัญหาค้างคามานานมาก ดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลายแล้ว ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมา ณ โอกาสนี้ ผมขอตรวจสอบผลการดำเนินงานตามที่นายอำเภอได้รายงานกับผู้นำท้องถิ่น ที่ดิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เริ่มจากกรณีที่ ๑ การเช่าที่ดิน ๒ แปลงจากนายปรีชา ไพรัมย์ ที่บอกว่ามีการรื้อครบถ้วน ๑๐๐% แล้ว ทางเจ้าพนักงานที่ดิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เห็นด้วยและมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง แปลงที่ ๑ ถึงแปลงที่ ๖”

                เจ้าพนักงานที่ดินฯ กล่าวว่า เท่าที่เดินตรวจสอบก็ถือว่าไม่มีการรุกล้ำ แต่ในรายของคุณโสภณและคุณปรีดา ยังไม่ได้ไปตรวจสอบ แต่ทำการรังวัดไปแล้ว ๒ แปลงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนของคุณสุนทรยังเหลือการรุกล้ำอยู่ประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ซึ่งแนวรั้วนี้ถ้าขยับเข้าไปให้ตรงกับหลักเขต จะไปกระทบในส่วนของบันได(หลังบ้าน) จึงยังไม่ได้ขยับ

                นายกิตติพงษ์ ภิญโญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ แสดงความคิดเห็นว่า ในบริเวณนี้มีที่สาธารณะซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ ๒ งาน แต่ในส่วนของแปลงแรก (ร้านเฮียบู๊วังเณร) ตรงนี้ยังมีเพียงโต๊ะญี่ปุ่น เก้าอี้ แพ และห่วงยาง ที่ทางผู้ประกอบการยังไม่ได้เก็บเข้าไปในพื้นที่ ส่วนการรื้อถอนนั้นได้ทำตามระเบียบแล้ว ส่วนแปลงที่ ๒ ได้มีการรื้อถอนเรียบร้อยแล้ว มีการขยับสิ่งของขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ของคุณธนิสรณ์เรียบร้อยแล้ว แปลงที่ ๓ จะเกี่ยวข้องกับแปลงที่ ๑ เพราะว่าพื้นที่ติดกัน ยังมีเพียงสิ่งของบางส่วนที่ยังไม่ได้ขนย้ายเข้าไปในพื้นที่ แปลงที่ ๔ อยู่ฝั่งตรงข้ามของคุณโสภณก็ได้เก็บและย้ายสิ่งของขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว แปลงที่ ๕ มีการเก็บย้ายสิ่งของ โต๊ะ แพ เก้าอี้ และบันได มีการรื้อถอนเรียบร้อยแล้ว แปลงที่ ๖ คุณอาภรณ์ที่เรานั่งประชุมกันอยู่นี้ มีการรื้อถอน เก็บสิ่งของออกจากพื้นที่สาธารณะเรียบร้อยแล้ว แปลงที่ ๗ ดังที่เจ้าพนักงานที่ดินฯ ได้เรียนให้ทราบคือ ยังมีแนวรั้ว พื้นที่ชายคาที่ยังอยู่ในแนวที่รุกล้ำอยู่ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร

ยืนยันไม่ทิ้งอิฐปูนลงน้ำ

                ทางด้านนายวินัย นิลสูงเนิน รองนายกอบต.มะเกลือเก่า กล่าวว่า ตามที่ทางผู้ใหญ่บ้านนำเรียนตามเอกสาร ส่วนแปลงของคุณสุนทร คือ แผ่นดินกระดาษ เหลือตามที่ผู้ใหญ่บ้านรายงานคือประมาณ ๕๐ ซม. ถ้าย้ายไปตามหลักหมุด บันไดก็ต้องรื้อ หลังคาก็ต้องตัด จึงขอนำเรียนปรึกษาที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไร

                ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ถามความเห็นที่ประชุมอีกว่า “ในส่วนของแปลงอื่นๆ เห็นด้วยกับเอกสารที่สรุปมาเสนอต่อที่ประชุมหรือไม่ และในส่วนของการรื้อของแปลงต่างๆ มีการนำเศษอิฐเศษปูนไปทิ้งในน้ำหรือไม่ หรือว่าขนไปทิ้งที่อื่น” ซึ่งในประเด็นนี้ รองนายกอบต.มะเกลือเก่า ตอบว่า “ส่วนมากที่ผมมาดู จะใช้รถขนไปทิ้งในที่ตัวเอง” 

                นอกจากนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวถึงกรณีของนายสุนทรว่า “สำหรับในรายที่ ๗ ของคุณสุนทร จันทร์รังสี ทางเจ้าพนักงานที่ดินฯ ได้แจ้งเจ้าของที่ดินทราบแล้วใช่หรือไม่ แล้วมีการโต้แย้งอะไรหรือไม่?” ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินตอบว่า “แจ้งให้ทราบแล้ว และไม่มีการโต้แย้ง” ผู้ว่าฯ วิเชียร จึงกล่าวต่อไปว่า “หากไม่มีการโต้แย้ง จากนี้ไปจะต้องดำเนินการอย่างไร ตามกฎหมาย เขาจะสามารถแย้งได้หรือไม่ว่า รังวัดไม่ถูก รังวัดคลาดเคลื่อนหรือไม่?”

                เจ้าพนักงานที่ดินฯ กล่าวว่า คุณสุนทรเคยยื่นของตรวจสอบเขตที่ดินของตนเองไว้ แต่เมื่อถึงวันนัดทำรังวัดแล้วท่านไม่ได้ไปวางเงินมัดจำรังวัด เท่ากับว่าท่านไม่ประสงค์จะดำเนินการแล้ว เพราะว่าแปลงข้างเคียงมีการรังวัดแล้ว ท่านจึงแจ้งว่าจะไม่ทำรังวัดแล้ว” อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ นายวิเชียรขอให้สำนักงานที่ดินฯ ติดต่อกับนายสุนทรอีก เพื่อเป็นการให้โอกาส ซึ่งอาจจะเห็นว่าการรังวัดที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ถูกต้องตามแนวเขตที่ดินจริง

                ในส่วนของ “โคราชคนอีสาน” กล่าวว่า ทราบมาว่า นายสุนทรเคยยื่นขอทำการรังวัดที่ดินแปลงนี้ไปแล้ว แต่ภายหลังมีหนังสือแจ้งว่าการขอรังวัดขัดข้อง หลังจากนั้นก็ไม่ทราบความเคลื่อนไหว ซึ่งในเรื่องนี้ นายพงศ์เทพ เจ้าพนักงานที่ดินฯ อธิบายว่า “ตามหลักแล้ว เมื่อท่านไปยื่นรังวัดแล้ว ทางผมก็จะนัดวันว่า จะออกไปรังวัดในวันที่เท่าไหร่ ซึ่งในใบนัดก็จะต้องวางเงินมัดจำภายในวันที่เท่าไหร่ เมื่อถึงวันนัดรังวัด ทางที่ดินก็จะไม่มีหนังสือแจ้งไปอีกแล้ว ซึ่งบังเอิญว่า วันนัดรังวัด มีที่ดินข้างเคียงนัดด้วย ผมเห็นว่า ที่ดินอยู่ติดกัน เจ้าหน้าที่จึงไปรังวัดที่ดินข้างๆ กัน แต่คุณสุนทรไม่ได้วางเงินมัดจำรังวัดจึงไม่ได้ทำการรังวัด ซึ่งที่คุณสุนทรมาวันนั้นก็มาในฐานะเป็นที่ดินข้างเคียง ท่านก็ไม่ได้ลงนามรับรอง แค่มาสังเกตการณ์เท่านั้น” โดยในเรื่องนี้ นายวิเชียรสรุปว่า “ในเมื่อเจ้าของที่ดินเคยมีเจตนาที่จะทำการรังวัดแล้ว และอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงขอให้เริ่มกระบวนการรังวัดใหม่อีกครั้ง เพื่อเป็นการให้โอกาสเจ้าของที่ดิน” โดยในประเด็นนี้เจ้าพนักงานที่ดินฯ จะมีหนังสือแจ้งมายังนายสุนทรต่อไป

                จากนั้น นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือของพี่น้อง ไม่ใช่ผลงานของท่านใดท่านหนึ่ง ถือว่าเป็นความสำเร็จของพี่น้องที่อยู่ตรงนี้ทุกคน ต้องขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

จัดระเบียบใช้ที่ดินสาธารณะ

                ต่อมาเข้าสู่วาระที่ ๓ ความคืบหน้าการดำเนินงานจัดระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณ ประโยชน์แก่งวังเณร ซึ่งทางอำเภอและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการประชุมเพื่อเตรียมการจัดระเบียบการใช้พื้นที่แก่งวังเณร พร้อมทั้งมีการนำเสนอร่างการจัดระเบียบฯ  และเตรียมดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ข้อ โดยในข้อ ๔ นายอำเภอย้ำว่า ไม่ให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการร้านอาหารนำโต๊ะ เก้าอี้ เสื่อสาด ไปวางและรุกล้ำหรือผูกขาดการใช้พื้นที่เพียงเจ้าเดียว ส่วนการปรับภูมิทัศน์นั้นมีการนำเสนองบประมาณและภาพตัวอย่างในต่างประเทศมานำเสนอต่อที่ประชุม พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า “วังเณรในวันข้างหน้าจะสวยสดงดงามแบบนี้ (เสนอภาพที่นำแบบมาจากต่างประเทศ) ซึ่งในวันนี้จะกราบขอความเมตตาจากผู้ว่าราชการจังหวัดได้โปรดพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย ส่วนการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์มีการอนุมัติงบประมาณมาแล้ว และในด้านความร่วมมือในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นห้วงเวลา และไม่ขายให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี และเด็กที่ใส่ชุดนักเรียน นี่เป็นร่างคร่าวๆ ที่จะมีการลงนามร่วมกัน”นายอำเภอสูงเนิน กล่าว

                นายวิเชียร กล่าวว่า เรื่องที่นายอำเภอนำเสนอนั้น เป็นการพูดคุยของอำเภอ กับอบต. และผู้ประกอบการแล้ว โดยในข้อ ๑ ตนเห็นดีด้วย ส่วนข้อ ๒ เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบและมีกำหนดเวลาว่า ระบบน้ำเสียจะไหลไปทางไหน จะต้องบำบัดก่อนลงน้ำลำตะคองหรือไม่ เพราะน้ำในลำตะคองเป็นน้ำที่ใช้ในการผลิตประปาอีกหลายหมู่บ้าน จึงต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมให้ชัดเจน ส่วนข้อ ๓ อบต.จะมาจัดเก็บขยะมูลฝอย ในปัจจุบันมีช่วงเวลาในการจัดเก็บอย่างไร ซึ่งต้องคุยให้ชัดเจน” โดยในเรื่องเก็บขยะนั้น ปกติอบต.จะมาเก็บทุกวันอังคารและวันศุกร์ แต่ผู้ประกอบการขอให้เพิ่มการเก็บในวันจันทร์ด้วย รวมทั้งในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อหลายวันก็ให้เพิ่มการจัดเก็บ 

                ส่วนในข้อ ๔ เป็นมาตรการในการบริหารจัดการการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ซึ่งนายวิเชียรกล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นหัวใจของการมาจัดระเบียบที่นี่ จะมีแนวความคิดในการดำเนินการอย่างไร ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกคน แต่ในอนาคตอยากให้ผู้ประกอบการตั้งตัวแทนขึ้นมา ซึ่งในกรณีที่ ๑ ให้มีการกันเขตตลอดริมน้ำลำตะคอง (แก่งวังเณร) ให้ลองออกแบบแนวเขตให้ชัดเจนมากกว่านี้ แล้วทำโครงการเสนอผ่านนายอำเภอ แล้วผมจะหางบประมาณมาสนับสนุน อาจจะปักหมุดไปใกล้ๆ ให้มองเห็นชัดเจนว่าเป็นแนวเขตที่สาธารณะ วันหลังจะได้ไม่ต้องมาขัดแย้งกันอีก และในเรื่องที่ระบุในเอกสารว่า กำหนดจุดผ่อนผันให้ผู้ค้าขายสามารถใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะอย่างเป็นธรรม ส่วนนี้หมายความว่าอย่างไรนายอำเภอ?”ซึ่งนายอำเภอสูงเนิน ตอบว่า “หมายความถึงพ่อค้าอื่นๆ เช่น พ่อค้าขี่รถขายหมึกย่าง ควรจะอยู่ตรงไหนของวังเณร” ผู้ว่าฯ ถามต่อว่า “แล้วจะกำหนดไว้ตรงไหน  ถ้าไปให้อยู่ในจุดที่รื้อย้ายออกไป ก็จะเป็นปัญหาอีก เพราะยึดพื้นที่สาธารณะคืนมาแล้ว”

                นายกิตติพงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๒ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่จะเป็นจุดผ่อนผันพ่อค้าเร่และชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีสินค้าจะมาขาย จะมีตลาดประชารัฐซึ่งเราสร้างไว้บนที่ดินสาธารณะ ริมรั้วที่ดินคุณอาภรณ์ พื้นที่รวมกับที่อบต. ๒ งาน ก็ได้รับงบประชารัฐมาจัดทำรั้วเพื่อกั้นขอบเขตและปรับภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะมีการจัดล็อกให้กับพ่อค้าหาบเร่ที่เข้ามาค้าขาย จะได้ไม่กระทบกับที่สาธารณะและผู้ประกอบการ

ควรกำหนดเขตให้ชัดเจน

                นายพงศ์เทพ ชินสรนันท์ เจ้าพนักงานที่ดินฯ กล่าวว่า ที่ดินที่ผู้ใหญ่บ้านอ้างถึงนั้น ไม่ใช่ที่สาธารณะของวังเณร แต่เป็นโฉนดของอบต. แต่ในความเข้าใจของผมตามข้อตกลงที่จัดทำขึ้นมานั้น หมายถึงที่ริมน้ำที่กันไว้ ตรงนี้ผู้ประกอบการก็อยากใช้ประโยชน์ อยากวางโต๊ะเก้าอี้ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว แต่เราให้ไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ถ้าอนุญาตให้ผู้ประกอบการอย่างเดียว ชาวบ้านมาใช้ไม่ได้ ก็ถือว่าผิดกฎหมาย จึงเห็นว่า ควรจะกำหนดแนวเขตบางส่วนที่ผู้ประกอบการใช้ได้ กับแนวเขตที่ประชาชนใช้ร่วมกันได้ นอกจากประชาชนที่มาเที่ยวปูเสื่อนั่งได้ตามสบายแล้ว โดยไม่มีการกีดกันจากผู้ประกอบการก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ก็จะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เข้ามาใช้ได้ อาจจะทำโซนนิ่งขึ้นมา แต่ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาเป็นการถาวร ห้ามกางเต็นท์ เหมือนกับว่าการให้ขายของบนทางเท้า เมื่อถึงเวลาปิดร้านก็ต้องเก็บสิ่งของกลับบ้าน

                ผวจ.นครราชสีมา กล่าวสอบถามความคิดเห็นในที่ประชุม ซึ่งเรื่องนี้ นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า “ให้ไปขายในพื้นที่ของอบต.ที่จัดไว้ ส่วนแปลงที่เคยบุกรุกและรื้อถอนออกไป ห้ามให้ใครเข้ามายุ่ง ห้ามวางสินค้า แต่จะเป็นที่ที่ประชาชนสามารถเข้ามาได้ ส่วนพวกพ่อค้าหาบเร่ก็ไปขายในแปลงของอบต.” นายวิเชียรกล่าวว่า “ผมอยากถามว่าในที่ประชุมมีความคิดเห็นว่าอย่างไร แต่ในใจผมเห็นด้วย เพราะเห็นว่าอุตส่าห์ช่วยกันรื้อถอนออกแล้ว ถ้ามีที่สาธารณะของอบต.แล้วก็เห็นด้วยกับผู้ใหญ่บ้านที่จะให้คนมาค้าขายในจุดนั้น แต่แปลงที่รื้อถอนก็ปล่อยให้เป็นที่ของประชาชนทั้งหมด ถ้าเราจัดพื้นที่ให้คนค้าขายขาจรเข้ามา กลุ่มผู้ประกอบการก็จะบอกว่า ทำไมไม่จัดให้คนในพื้นที่ก่อน ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาพื้นที่ที่รื้อถอนออกและได้ที่สาธารณะคืนมา ก็ต้องปล่อยให้เป็นพื้นที่สาธารณะทั้งหมด เรื่องนี้นายอำเภอจะว่าอย่างไร?”             

                นายอำเภอโน่ กล่าวว่า พ่อค้าแม่ขายทุกคนเข้าใจตรงกัน ซึ่งได้คุยกันและฝากผมมาเรียนผู้ว่าฯ เรียบร้อยแล้วว่า สิ่งที่ทุกคนตั้งใจทำความดีครั้งนี้ คืนพื้นที่ทั้งหมดที่เป็นของแผ่นดินคืนกลับสู่ประชาชนทั้งหมด ทุกคนยินดียินงามที่จะไม่ยึดถือครอบครองโดยการนำโต๊ะเก้าอี้ที่นั่งลงไปวางอีก เพียงแต่ว่าในห้วงนี้ ที่พื้นดินยังเป็นดินแฉะๆ บ้าง เวลาฝนตกบ้าง หรือลมพัด หากลูกค้ามาในบางครั้งบางโอกาสก็จะร้องขอเอาโต๊ะมาวางบ้าง เพื่อไม่ให้ฝุ่นโดนอาหาร เหมือนการปูเสื่อ แต่เมื่อท่านผู้ว่าฯ กรุณาเมตตาพวกเรา ได้มีการปรับภูมิทัศน์ทำสิ่งดีดีงามๆ ทุกคนจะไม่มีใครเลยที่จะเอาโต๊ะเก้าอี้ลงมาวางอีก ทุกคนพร้อมที่จะนั่งอยู่เฉยๆ อยู่ที่ร้าน มีชาวบ้านหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเดินมา ไม่จำเป็นต้องมาสั่งอาหารที่ร้าน มีเสื่อมาเองก็ปูวางได้เลย ไม่มีเสื่อมาแต่มาสั่งอาหารที่ร้าน ก็เอาเสื่อมาวางให้ตรงจุดไหนจุดหนึ่ง จะไม่มีใครยึดถือครอบครอง นี่เป็นแนวคิดของทุกคนที่พร้อมจะส่งคืนพื้นที่ให้กับทางภาครัฐ

พื้นที่ยึดคืนต้องเป็นของส่วนกลาง

                นายวิเชียร กล่าวว่า พื้นที่ที่จะจัดให้พ่อค้าเร่ ก็ให้อยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ ส่วนพื้นที่ที่ยึดคืนมาก็ให้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง แต่ประเด็นที่จะมีการปรับภูมิทัศน์นั้น งบประมาณไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญคือต้องได้รับความเห็นชอบจากหลายๆ คน ไม่ใช่เฉพาะในที่ประชุมนี้ เพราะการปรับภูมิทัศน์มีหลายรูปแบบ บางคนอยากให้คงสภาพเดิม บางคนอยากให้สวยงาม บางคนบอกว่าไม่ต้องปรับปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ว่าช่วงที่รอการปรับภูมิทัศน์ ทำอย่างไรจะไม่โดนข้อครหาว่า วันนี้เอาแล้วที่ขอพื้นที่คืน ผู้ประกอบการเจ้าเดิมกลับมายึดเหมือนเดิมแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมกังวล และผู้ประกอบการจะบอกผมหรือให้คำมั่นอย่างไรว่า พอผมเผลอจะไม่มีโต๊ะเก้าอี้มาตั้งอีก พี่น้องประชาชนก็ลำบากเหมือนเดิม ทำไมผมจะมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการจะไม่ทำหมือนเดิม อย่าอ้างว่า คนมาสั่งอาหารแล้วเขาขอเอาเสื่อไปปูตรงนั้นเพราะเขาอยากนั่ง พอตั้งไปตั้งมาก็ไม่มีใครกล้าไปไล่ แล้วท่านก็จะบอกว่าเป็นอาณาเขตร้านท่าน เขาสั่งอาหารไปนั่งกิน สั่งอาหารร้านอื่นไปตั้งกินไม่ได้ หากมีประชาชนร้องเรียนมาจะแก้ปัญหาอย่างไร ผู้ประกอบการจะให้ความมั่นใจอย่างไร?   

   

ผู้ว่าฯ ไม่ยอมให้โดนตำหนิ

                นายบู๊ เลิศครบุรี ผู้ยึดครองที่ดินสาธารณะทั้งหมดริมลำตะคอง(วังเณร) ทั้งที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองเลย มีเพียงเช่าจากผู้อื่นเพื่อทำการค้าขายเท่านั้น กล่าวร้องขอว่า ตอนนี้เราอยากขอตั้งโต๊ะเก้าอี้ไปก่อน หากมีงบมาดำเนินการปรับปรุง ก็จะรื้อถอนออกทันที แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ขณะนี้มีคนคอยดูคอยตามการทำงานของพวกเราเยอะ ถ้ากลับไปเหมือนเดิม ก็จะมีคนบอกว่า พอเผลอทางอำเภอและผู้ว่าฯ ก็เอาที่ดินไปให้ผู้ประกอบการทำเหมือนเดิม ซึ่งทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ถึงแม้จะยังไม่มีงบในการปรับปรุงก็ตาม ก็ต้องเป็นพื้นที่ว่างให้เห็นก่อน แต่ผมจะทำอย่างไรจึงจะมั่นใจได้ในประเด็นนี้ว่า จะไม่กลับไปทำแบบเดิม หากทำแบบเดิม ผมกับนายอำเภอต้องโดนตำหนิว่า ทำงานไม่เสร็จ วันนี้ถ้าจะขอว่า ไม่ให้มีการตั้งวัตถุสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะญี่ปุ่นหรือการปูเสื่อของร้านค้าลงไปเลย ขอเลยว่าต้องไม่มี ขอว่าไม่ต้องมีการค้าขายในพื้นที่ที่ขอคืนมาได้ไหม?”

ค้าขายในพื้นที่ของตนเอง

                นายกิตติพงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๒ กล่าวว่า “ผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีพื้นที่ของตัวเองอยู่แล้ว ให้ค้าขายในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนที่สาธารณะก็ให้ชาวบ้านหรือคนมาท่องเที่ยวได้พักผ่อนตามอัธยาศัย อยากให้นั่งรับประทานอาหารและค้าขายในที่ดินของตัวเอง เพื่อป้องกันอันตราย ทั้งจากเศษแก้ว และเศษอาหารที่จะตกลงไปในลำน้ำ ซึ่งจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย” ซึ่งในประเด็นนี้ นายวิเชียรก็สนับสนุนว่าเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งในวันนี้เห็นตรงกันว่า จะทำให้เป็นพื้นที่ว่าง

                ทางด้านนายจักริน ไชยสูงเนิน กำนันตำบลมะเกลือเก่า กล่าวว่า ในการค้าขายก็อยากให้ดำเนินการในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนการปรับแต่งพื้นที่อย่างไรนั้นก็ให้รองบประมาณ แต่ผมเคยนำเสนอแนวคิดในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ในการกั้นแนวเขตระหว่างผู้ประกอบการกับที่สาธารณประโยชน์คือการทำรั้ว ซึ่งตามรีสอร์ตต่างๆ ก็มีการทำรั้วคอกม้า เพื่อให้มองเห็นเขตให้ชัดเจน ถ้าจะฝังหมุดก็จะมีคนเดินเหยียบ การทำรั้วทำให้มองเห็นแนวได้ยาว มองเห็นเขตชัดเจน” โดยนายวิเชียรให้ทำเรื่องเสนอนายอำเภอและตนจะหางบสนับสนุน แต่นายวิเชียรก็กล่าวย้ำอีกว่า “สิ่งที่ผมต้องการแก้ปัญหาคือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหาเดิม ในเมื่อจัดระเบียบแล้ว”         

                กำนันตำบลมะเกลือเก่า กล่าวว่า “ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการได้สร้างอาคารในที่สาธารณะ เสร็จแล้วก็ไม่มีที่ในการวางสิ่งของค้าขาย ลองสังเกตดูร้านค้าในตลาดทั่วไป เขาไม่เคยมีการกำหนดว่า ห้ามมาขายสิ่งของข้างกัน ในวันนี้การแก้ไขปัญหาวังเณรไม่ได้รับรู้แค่ในสูงเนิน แต่เผยแพร่ทุกสื่อในโซเชียล วันนี้ท่านผู้ว่าฯ มาก็มีความเรียบร้อย ออกข่าวไปว่า วันนี้แก้ปัญหา    วังเณร ๑๐๐% แล้ว แต่วันหยุดมีนักท่องเที่ยว มานั่งเต็มพื้นที่ที่กำหนดไว้ หรือไปนั่งดื่มสุราในคลอง ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการแก้ปัญหาของส่วนราชการต่างๆ จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เพราะเป็นผู้สร้างปัญหา มีการสร้างอาคารติดกับที่สาธารณะ จึงไม่มีที่ที่จะวางขาย”

                ผู้ว่าฯ วิเชียร กล่าวว่า “ขอยืนยันว่า ตั้งแต่นี้ไปก็จะไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการวางโต๊ะ เก้าอี้ และปูเสื่อแน่นอน แต่กำลังพิจารณาว่า ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาต้องทำอย่างไร”

                นายวินัย รองนายกอบต.มะเกลือเก่า กล่าวว่า คนมาเที่ยววังเณรก็อยากดูน้ำ อยากกินข้าวริมน้ำ แต่ทางผู้ประกอบการก็มีที่จำกัด ส่วนการห้ามไม่ให้นำเสื่อไปปูนั่งนั้นก็จะดูแลยาก และแยกลำบาก แต่หากเมื่อใดที่มีการปรับปรุงจัดโซนเรียบร้อยน่าจะมีการอนุโลมให้ผู้ประกอบการปูเสื่อเพื่อให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหาร ส่วนโต๊ะขอห้ามไม่ให้นำมาตั้ง เพราะทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม”

                ในขณะที่เรื่องนี้ ผู้ว่าฯ ถามความเห็นจากนายอำเภอสูงเนิน ซึ่งนายอำเภอกล่าวว่า “ผมมองในแง่ของการปฏิบัติได้จริง และน่าจะปฏิบัติได้จริงที่สุด คือ ทุกเจ้าห้ามเอาโต๊ะลงมาทั้งหมด เสื่อก็ห้ามเอามาปูรอคนมา แต่ตราบใดที่มีคนเดินเข้ามาเพื่อท่องเที่ยว เขาต้องการจะสั่งอาหาร มีเสื่อมาเอง หรือมาขอเสื่อจากร้านค้า โดยข้อเท็จจริงห้ามไม่ได้จริงๆ เรามองกันได้ไม่หมด ขนาดผู้ว่าฯ มาสักครู่ ก็มีเสื่อมาเอง อีกส่วนมาเอาเสื่อร้านเฮียบู๊ หิ้วปิ่นโตมาเอง การบริหารจัดการพื้นที่ให้ดีที่สุดคือ ทุกคนห้ามตั้งโต๊ะและเสื่อรอ แต่เมื่อใดที่ทุกคนมาถึงแล้วสั่งอาหารและเมื่อทานเสร็จก็ให้เก็บ น่าจะเป็นวิธีการที่ทำได้จริงที่สุด”

ต้องไม่มีโต๊ะมาตั้ง

                นายวิเชียร สรุปว่า “ต้องไม่มีการตั้งโต๊ะ และเป็นไปตามที่นายอำเภอว่า คือจะปูเสื่อนั่งได้ก็ต่อเมื่อมีการมาสั่งอาหาร แต่ห้ามปูเสื่อรอ รวมทั้งห้ามตั้งร่มและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ถ้าฝนตกก็ห้ามไปบริการ แต่ร้านค้าจะบริการได้แค่เสื่อ ซึ่งผมให้ทำป้ายติดให้ถี่ว่าพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่สาธารณะ ห้ามใครยึดครอง เพื่อเป็นการควบคุมผู้ประกอบการ และให้ติดเบอร์โทรศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฯ ไว้ เมื่อมีคนโทรไปเมื่อไหร่ก็แสดงว่าร้านค้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ต้องดำเนินการกฎหมาย ลองดู ไม่มีทางที่ดีไปกว่านี้แล้ว เพราะว่าจะห้ามเที่ยวก็ไม่ได้ ถ้ามีปัญหาก็โทรไปร้องเรียนได้ ขอให้ตกลงกันตามนึ้”

เสนอแบบตปท.มาปรับลำตะคอง

                “สำหรับแบบที่เสนอมานั้นก็ดูสวยดี รู้สึกว่าจะเป็นที่นิวซีแลนด์ แต่เกรงว่าปัญหาจะมีตามมา และต้องพิจารณาให้ดี ซึ่งหากทำแบบนี้กลุ่มอนุรักษ์อาจต่อว่า หากทำแบบนี้ก็ไม่ใช่ลำตะคอง เป็นลักษณะสวนสาธารณะ ต้องไปถามในหลายๆ กลุ่ม ซึ่งให้นายอำเภอไปหารือกันอีกที และไม่ต้องไปพูดถึงวงเงิน อาจจะระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสภาพภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว(แก่งวังเณร) ให้สวยงามและป้องกันการเซาะตลิ่ง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และรองรับนักท่องเที่ยว” นายวิเชียร กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า ให้ผู้ประกอบการที่มีห้องพักดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผู้ว่าฯ ถามถึงการขออนุญาตจัดตั้งธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีเพียงพลอยน้ำข้างที่ขออนุญาตถูกต้อง ส่วนนายบู๊บอกว่าอยู่ในระหว่างยื่นขออนุญาต โดยผู้ว่าฯ ให้เร่งดำเนินการและกำชับให้พิจารณาตามข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ใครที่ยังไม่ยื่นขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยด่วน พร้อมทั้งย้ำอีกว่า “สิ่งที่ประชุมกันในวันนี้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามเลย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาง่ายขึ้น อยากให้อบต.และผู้ใหญ่บ้านหมุนเวียนมาตรวจบ่อยๆ”

                ส่วนในวาระที่ ๔ เรื่องแผนการของบประมาณดำเนินการปรับภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวแก่งวังเณรนั้น ขอให้ผ่านไปก่อน ส่วนวาระที่ ๕ เรื่องอื่นๆ นั้น “โคราชคนอีสาน” ถามว่า จากการสังเกตแล้วยังพบว่า การรุกล้ำยังมีอยู่ในบางพื้นที่ ไม่ได้ดำเนินการรื้อถอน ๑๐๐% อย่างที่รายงานในเอกสาร เช่นบริเวณที่นั่งประชุมอยู่นี้ก็ดูเหมือนพื้นที่บางส่วนยังดูรุกล้ำไม่เป็นไปตามหลักหมุดที่ดิน รวมทั้งในส่วนของบริเวณลานกว้าง (ติดกับร้านเฮียบู๊ ๒) ซึ่งผู้ว่าฯ เคยมาเดินตรวจเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ และมีการเทปูนซิเมนต์ พร้อมทั้งห้ามมีการตั้งโต๊ะเก้าอี้นั่งรับประทานอาหาร แต่เท่าที่ทราบก็ยังมีให้เห็นอยู่ และในวันนี้ก็มีตาข่ายกางบังแดด (Slan) อยู่เหมือนเดิม เรื่องนี้จะมีการจัดการอย่างไร?

                นายวิเชียร กล่าวว่า “ผมจึงไม่เชื่อ และไม่วางใจในเรื่องนี้ ก็จะเข้าลักษณะแมวจับหนู ต้องติดตามกันตลอด แต่ ณ วันนี้ต้องขึ้นป้ายให้ชัดเจนว่า ห้ามวางโต๊ะ เก้าอี้ ถ้ามีข้อเสนอที่ดีผมก็ยินดีทำตาม นี่เราถกหาวิธีการแล้ว เพราะถ้าห้ามก็ต้องห้ามทั้งหมด ประชาชนที่มาเที่ยวก็จะลำบาก จะห้ามไม่ให้กินให้เที่ยวไม่ได้ คนจะด่าว่าแล้วจะมีไปทำไม ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องปฏิบัติตามด้วย คนที่มาเที่ยวเมื่อมาเห็นความรกรุงรังเขาก็มาต่อว่าเช่นกัน ทำให้คนไม่อยากมาเที่ยว แต่ถ้าทำให้สวยงาม น่าอยู่ ทุกคนเป็นเจ้าของ ทำให้ขายของได้มากขึ้น จึงขอให้ปูเสื่อเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่ใช่ยึดถือเป็นสมบัติของร้านใดร้านหนึ่ง” 

นายบู๊ต่อรอง

                ทางด้านนายบู๊ เลิศครบุรี ยังกล่าวต่อรองกับนายวิเชียรอีกว่า “ช่วงนี้อยากขอท่านผู้ว่าฯ สักนิด เพราะลูกค้าหายไปหมด อยากปูเสื่อตั้งโต๊ะนิดหน่อย พอถึงช่วงที่มีการปรับภูมิทัศน์แล้วเราจะย้ายให้” แต่นายวิเชียร กล่าวว่า “ความดื้อของท่านนี่แหละที่เป็นปัญหามาตลอด วันก่อนก็มีคนแจ้งเรื่องเสียงดัง ผมก็ให้ตำรวจรีบมาค้น จะมาเอาท่านไปด้วยซ้ำ จะหาวิธีจับท่านไป เพราะความดื้อของท่าน จึงขอความร่วมมือด้วย เพราะคนเขามองอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ตามที่ขอมา การผ่อนผันให้ปูเสื่อก็เพียงพอแล้ว”

                ทางด้านนายตี๋ เวบสูงเนิน (เฮียตี๋) กล่าวว่า ในส่วนของคนที่มาเล่นน้ำไม่มีที่ลงเล่นน้ำ เพราะไม่มีบันไดขึ้นลงน้ำ เนื่องจากรื้อถอนออกไปแล้ว โดยในเรื่องนี้ นายวิเชียร กล่าวว่า “ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ ขอให้ทางอบต.พิจารณาและทำเรื่องขออนุญาตให้ถูกต้อง และต้องขอความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายด้วยว่ามีความจำเป็นที่จะสร้างบันได เพื่อบริการท่องเที่ยว ซึ่งต้องขออนุญาตจากเจ้าท่า และโครงการบำรุงรักษาลำตะคองด้วย”

                “วันนี้ต้องยึดตามกฎหมายก่อน ในอนาคตอาจจะสร้างได้ ต้องมีกฎหมายที่ทำได้ หากจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผมขอเรียนว่า อย่าดื้อ ต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาก็จะยากขึ้น ทุกวันนี้เราก็เห็นใจ อยากให้ขายได้ อยากให้มีกำไร อยากให้มีรายได้ที่ดี แต่ท่านก็ต้องเข้าใจในส่วนราชการด้วย เมื่อมีผู้ร้องเรียนก็ต้องเข้ามาจัดการ และมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัญหานี้มีมากว่า ๑๐ ปีแล้ว” นายวิเชียร กล่าวย้ำและปิดประชุม

                ข่าวความคืบหน้าจะติดตามนำเสนอในฉบับต่อไป

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๖๘ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ - วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


712 1356