20thApril

20thApril

20thApril

 

December 16,2017

สามล้อคันแรกของไทย (๑)

ย้อนไปเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักนายเลื่อน พงษ์โสภณ หรือนายเลื่อนกระดูกเหล็ก และรถไต่ถัง กันดี 
นายเลื่อน เป็นคนกรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบด้านช่างยนต์จากต่างประเทศแล้วกลับมารับราชการที่กองทัพอากาศ  เป็นคนแรกที่ก่อตั้งโรงเรียนอาชีวะ (โรงเรียนช่างกล) และประดิษฐ์รถมอเตอร์ไซด์ไต่ถัง คนเหาะ ชิงช้าสวรรค์ รถไฟเล็ก ม้าหมุน ไปแสดงในที่ต่างๆ 
ท่านรู้ไหมว่า สามล้อคันแรกของเมืองไทยเกิดขึ้นที่ใด
นายเลื่อน ลาออกจากกองทัพอากาศแล้วมาทำงานที่บริษัทเดินอากาศ และถูกย้ายให้ไปประจำที่จังหวัดนครราชสีมา ในวันพักผ่อนวันหนึ่ง นายเลื่อนพลันเกิดความคิดหรือไอเดียสร้างสรรค์แวบหนึ่งขึ้น ด้วยเห็นว่า รถเจ๊กหรือรถลากเป็นการทรมานคนลากโดยเฉพาะคนแก่ๆ และไม่รวดเร็ว ความเร็วของรถเจ๊กก็เท่ากับความเร็วของคนวิ่งช้าๆ ในลักษณะวิ่งเหยาะๆ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ๒๕๖๐) จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะประดิษฐ์รถสักคันแทนรถเจ๊ก รถคันใหม่ควรจะมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น กล่าวคือ นอกจากจะให้คนนั่งได้แล้วยังต้องสามารถบรรทุกสิ่งของได้ด้วย ซึ่งปรากฏในบันทึกของนายเลื่อน (ทวีไทยบริบูรณ์ ๒๕๔๒ ; WE HELLO 2560)  


สามล้อในโคราช


“...ข้าพเจ้าได้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมาว่า ข้าพเจ้าจะต้องทำสามล้อ คือ มีล้อหน้า ๑ ล้อและล้อหลัง ๒ ล้อ มีคนขับข้างหน้า ๑ คนนั่งข้างหลัง ๒ คน มันคงจะดีแน่ๆ…”
จึงทดลองประดิษฐ์รถสามล้อขึ้น โดยอาศัยโครงสร้างของรถจักรยาน ดัดแปลงผสมผสานกับรถเจ๊กหรือรถลาก และหาทางเพิ่มอีกล้อหนึ่งให้มีสามล้อ เพื่อรองรับผู้โดยสารและการบรรทุกสิ่งของ ในการสร้างสามล้อนายเลื่อนได้ใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความพยายามเป็นอันมาก จะเห็นได้จากบันทึกของนายเลื่อน 
“...การทำคราวแรกสัดส่วนมันไม่ได้ความเลย ข้าพเจ้าพยายามแก้ไขเรื่อยๆ มันก็ทยอยดีขึ้นมาทีละเล็กน้อย แต่ในขณะนั้นยังไม่เคยเอารถออกแล่น ต่อมาเมื่อเห็นรถพอใช้ได้แล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าแก้ไม่ตกนั้นก็คือ เมื่อถึงเวลาที่ข้าพเจ้าจะเลี้ยวรถไปทางซ้ายหรือทางขวา ซี่ล้อที่ติดอยู่กับล้อนั้นถ้าเลี้ยวซ้ายซี่ล้อทางซ้ายจะหักทันที ถ้าเลี้ยวขวาซี่ล้อทางขวาก็จะหักทันทีไม่ใช่แค่เพียงซี่เดียว แต่หักหลายๆ ซี่เสียด้วย ตอนนี้ทำให้ข้าพเจ้าหมดปัญญา...”
“..ในขั้นต้นข้าพเจ้าทำเป็นรถข้างหน้า ๒ ล้อและมีรถพ่วงท้ายอีก ๒ ล้อ ทำแบบอินโดจีนไปจดทะเบียนเขาไม่ให้ จึงเริ่มทำใหม่อีก ๑ คัน คือข้างหน้าเป็น ๒ ล้อ ข้างหลังล้อเดียว ไปขอจดทะเบียนเขาก็ไม่ให้อีก ต่อมาจึงทำเป็นรถ ๓ ล้อ คือข้างหน้าล้อเดียว และข้างหลัง ๒ ล้อ ไปขอจดทะเบียนเขาก็กลับบอกว่า ให้ไปขอกับหลวงอดุลเดชจรัส ถ้าเขาให้ก็มาจดทะเบียนได้...”
จะเห็นว่านายเลื่อนได้ทดลองทำสามล้อถึง ๓ รูปแบบ คือแบบแรกมี ๔ ล้อ ถีบข้างหน้า ๒ ล้อ และมีรถพ่วงท้ายอีก ๒ ล้อ ทำคล้ายๆ แบบรถของอินโดจีน แบบที่สอง คือ รถสามล้อข้างหน้า ๒ ล้อ ข้างหลัง ๑ ล้อ แบบที่สาม เป็นรูปทรงสุดท้าย นายเลื่อนได้ดัดแปลงให้รถเป็นข้างหน้า ๑ ล้อ และข้างหลัง ๒ ล้อ 
นายเลื่อนได้ใช้เวลาอยู่ประมาณ ๑ ปี ก็สามารถประดิษฐ์รถสามล้อสำเร็จในพ.ศ. ๒๔๗๖ และได้ทดลองขับขี่ที่โคราชจนมั่นใจในผลงาน จากนั้นก็ได้นำเข้ามาจดทะเบียนที่กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย โดยนายเลื่อนเป็นผู้ขับขี่ด้วยตนเอง ในครั้งนั้น นายพัน ตำรวจตรีหลวงพิชิตธุระการ (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้นั่งทดลองคนแรกให้เจ้าหน้าที่และนายทะเบียนดู 
“...คุณหลวงก็ลงมาบอกกับข้าพเจ้า ได้แล้วอนุญาตให้ ๕๐ คัน ให้มาจดทะเบียนที่กองทะเบียนได้ ข้าพเจ้าดีใจเป็นที่สุด…”


ปรากฏว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ประชาชนคนไทยก็โจษขานกันเซ็งแซ่ไปทั้งเมืองด้วยเห็นเป็นของแปลก
หลังจากสามล้อคันแรกได้รับการจดทะเบียนแล้ว นายเลื่อนได้ประกาศให้ผู้ที่สนใจในกรุงเทพฯ เช่าเพื่อไปรับจ้างขนส่งผู้โดยสาร  แต่ปรากฏว่าในช่วงแรก ผู้คนไม่คุ้นเคยกับรถสามล้อถีบ ทำให้ไม่มีใครมาเช่าและไม่มีใครกล้านั่งรถสามล้อ แต่นายเลื่อนไม่ลดละความพยายาม ครุ่นคิดว่า ทำอย่างไรจะให้คนสนใจและมานั่งรถสามล้อกัน จึงขับขี่ให้ดูและออกกุศโลบายโดยจ้างเด็กๆ คนละ ๕ สตางค์ มานั่งรถสามล้อถีบขับไปรอบตลาดบางลำพู ซึ่งทำอยู่หลายวัน อยู่มาวันหนึ่งเป็นความบังเอิญที่นายเลื่อนได้เจอกับคุณลุงขี้เมาคนหนึ่ง ลุงแกบอกว่าได้ยินเรื่องรถสามล้อเพิ่งมาเจอวันนี้  นายเลื่อนจึงขี่ให้คนเมานั่ง ปรากฏว่าตาลุงคนนี้เกิดชอบใจในของใหม่จึงขอลองปั่นดู จากนั้นก็เที่ยวโพนทะนาบอกใครต่อใครว่า รถสามล้อถีบของนายเลื่อน ดีต่างๆ นานา เช่น ใช้แรงน้อยกว่ารถเจ๊ก ทำเวลาได้เร็วกว่ารถเจ๊กแถมผู้โดยสารนั่งสะดวกสบายและสามารถขนสัมภาระต่างๆ ได้ด้วย ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจรถสามล้อถีบ (WE HELLO.2560).  
เมื่อมีผู้คนเริ่มสนใจใช้บริการรถสามล้อ กอปรกับกระแสความนิยมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นต่อมาอีก ๑ เดือน นายเลื่อนก็ผลิตรถสามล้อออกได้ถึง ๕๐ คัน ทำให้สามล้อเริ่มแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง แต่ปรากฏว่าได้มีผู้ประกอบการคนอื่นๆ ลอกแบบเอาอย่างไปทำกันเป็นอันมาก นายเลื่อนไม่สามารถจะไปห้ามได้ เพราะขณะนั้นไม่มีกฎหมายคุ้มครอง รถสามล้อจึงมีจำนวนมากขึ้นราวกับดอกเห็ดแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ๒๕๖๐) เป็นผลให้ใน พ.ศ. ๒๔๗๙  กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎหมายควบคุม โดยตรา พ.ร.บ.ล้อเลื่อนขึ้น เพื่อให้รถสามล้อถีบมีมาตรฐานเหมือนๆ กัน ทุกคัน (WE HELLO.(2560).รถสามล้อจึงเป็นยวดยานเข้ามาแทนรถเจ๊กตั้งแต่นั้นมา ทำให้รถเจ๊กลดบทบาทลง จนในที่สุดได้หายไปเหลือไว้แต่ความทรงจำและเป็นเรื่องเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง 
รถสามล้อถีบรุ่นแรกๆ ไม่มีประทุนกันแดดกันฝนเหมือนปัจจุบัน แต่คนถีบสามล้อต้องเตรียมร่มไว้บริการหรือไม่ก็ผู้โดยสารต้องหาร่มมาเอง (ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ และ รุ่งโรจน์ เทพลิบ ม.ป.ป. : ๒๙) สามล้อถีบของไทยได้พัฒนามาจนเป็นสามล้อในปัจจุบัน และได้แพร่หลายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกไกล เช่น มาเลเซีย ปีนัง สิงคโปร์ กัมพูชา ซึ่งสามล้อของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้นำรูปแบบสามล้อไทยไปดัดแปลงและมีลักษณะแตกต่างกันไป (ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ  และ รุ่งโรจน์ เทพลิบ ม.ป.ป. : ๒๙) เช่น สามล้อเมืองจีน(ซาเล้ง) สองล้ออยู่ข้างหน้าอีกล้ออยู่ข้างหลัง คนถีบอยู่ข้างหลังคนนั่งอยู่หน้า (ถ้าเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารได้รับก่อนคนถีบ) สามล้อแถบพม่าหรืออินเดียหรือมาเลเซีย  ด้านซ้ายมีหนึ่งล้อพ่วงกับรถจักรยานอยู่ด้านขวา คนนั่งโดยสารกับคนถีบอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่วนสามล้อไทยสองล้อขนานกันอยู่ข้างหลังอีกล้อหนึ่งอยู่ตรงกลางข้างหน้าในลักษณะพ่วงหลัง คือคนถีบอยู่หน้าคนนั่งอยู่หลัง(ถ้าเกิดอุบัติเหตุคนถีบได้รับก่อนผู้โดยสาร)
เมื่อการจราจรในกรุงเทพฯ เริ่มคับคั่งจนมีสภาพรถติดกันเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งมาจากรถยนต์ได้แพร่เข้ามามากขึ้น กอปรกับสามล้อถีบซึ่งเชื่องช้าไปตามแรงคนถีบ อีกทั้งการหักเลี้ยวไม่คล่องตัว จึงกีดขวางการจราจร ในพ.ศ. ๒๕๐๓ เริ่มมีการนำสามล้อเครื่องยนต์หรือที่เรียกกันว่า รถตุ๊ก-ตุ๊ก ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกสามล้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี ๒๕๐๓ นั่นเอง และให้คนอีสานที่มาถีบสามล้อเป็นจำนวนมากกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามเดิม (WE HELLO. 2560).    
(อ่านต่อฉบับหน้า) 

เอกสารอ้างอิง
ณัฐนันท์ รจนกร.(๒๕๖๐). ‘สามล้อ’ ยานพาหนะท้องถิ่นในประเทศอาเซียน. สืบค้นเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐. จาก http://www. aseanthai. net/ewt_news.php?nid=3985&filename=aseanknowledge. 
ทวีไทยบริบูรณ์. (๒๔๕๒). จักรยานโบราณ.  กรุงเทพฯ : ไทยเทอรา เซรามิค จำกัด, หน้า ๗๘-๗๙.
เทพชู ทับทอง. (๒๕๔๕). “นายเลื่อนกระดูกเหล็ก บิดาแห่งนักบิด” ใน นิตยสาร FORMULA.ฉบับเดือนสิงหาคม ปี สืบค้นจาก ๒๕๔๕. https://www.autoinfo.co.th/article/51340/.
ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ  และ รุ่งโรจน์ เทพลิบ. (ม.ป.ป.). เรื่องเมืองไทย. กทม. : เทพพิทักษ์การพิมพ์.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (๒๕๖๐). เลื่อน พงษ์โสภณ. สืบค้นเมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ 
ศูนย์การบินทหารบก. (๒๕๖๐). นางสาวสยาม. สืบค้นจากhttp://aavnc.com/ Link/sayam.htm.
 เมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐. 
Facebook. (2560). โคราชในอดีต. สืบค้นเมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐. จากhttps://www.facebook.com/ korat.in.the. past/photos/a.1.
WE HELLO. (2560).  สามล้อถีบ คนไทยไม่พูดถึง. สืบค้นเมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐. จาก  https://minimore.com/b/DbSNa/1. 

ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๗๔ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


744 1351