29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

April 23,2018

มีหวัง‘บางกอกแอร์เวย์’? บินโคราชอาจเป็นปีหน้า

             ยังไม่แน่ “บางกอกแอร์เวย์” บินให้โคราช รอสรุปสิ้นเดือนนี้ รองผู้ว่าฯ เผยเส้นทางการบินอาจเปลี่ยนเป็นโคราช-ดอนเมือง เพื่อรองรับปัญหาด้านน้ำมัน เนื่องจากโคราชไร้แท็งก์ฟาร์ม ส่งผลการบินระยะไกล โคราช-เชียงใหม่ต้องลดจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้เครื่องบินได้ขนน้ำมันเผื่อบินไป-กลับแทน คาดได้บินเร็วสุดเมษายนปีหน้า เปรยหาก “นิวเจน แอร์เวย์ส” กลับมาคุยใหม่อาจได้บินต่อเลย
           เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ อาคารสำนักงานใหญ่บางกอกแอร์เวย์ นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายมนตรี ปิยากูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครราชสีมา เข้าพบรองผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เพื่อร่วมหารือเรื่องการเปิดเส้นทางการบินท่าอากาศยานนครราชสีมา 
           นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ทางบางกอกแอร์เวย์มีข้อมูลที่ได้ศึกษาแล้วเมื่อปี ๒๕๕๙ แต่คนละบริบทกันกับปี ๒๕๖๑ เพราะฉะนั้นพื้นฐานก็มีเปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้โคราชกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องมีสนามบินเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง และหากทางบางกอกแอร์เวย์จะมาลงทุนก็ต้องดูความเป็นไปได้ ประเด็นสำคัญคือเรื่องน้ำมัน ที่เป็นตัวกำหนดการบินในแต่ละเที่ยว ซึ่งทำให้เราเห็นใจสายการบินนิวเจนฯ ว่า ต้องแบกรับภาระในเรื่องนี้มาตลอด โดยที่จำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามสัดส่วนของค่าน้ำมัน แต่เขาพยายามบริหารให้ดีที่สุด ในขณะที่ราคาน้ำมันก็ขยับขึ้น”


           “ทั้งนี้ เรามองว่า หากมีการนำเครื่อง ATR ขนาดไม่เกิน ๑๐๐ ที่นั่งมาบิน แม้จะมีความคุ้มค่า แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการขนน้ำมันไปด้วย หาก ATR มีการบินระหว่างดอนเมือง-โคราช ก็จะเติมน้ำมันที่ดอนเมืองเพียงครั้งเดียว เนื่องจากระยะทางใกล้ แต่หากบินระหว่างโคราช-เชียงใหม่ การขนน้ำมันต้องเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าต้องลดจำนวนผู้โดยสารลง เพื่อที่จะบรรทุกน้ำมันทั้งขาไป-กลับแทน เนื่องจากโคราชไม่มีแท็งก์ฟาร์มสำหรับสายการบินพาณิชย์เลย ดังนั้นเราจึงต้องมีแท็งก์ฟาร์มสำหรับเติมน้ำมันให้กับทางสายการบิน รวมถึงเครื่องบินพาณิชย์ก็สามารถใช้ได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ การบินระหว่างเส้นทางโคราช-ดอนเมือง เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ใช้ระยะเวลาถึง ๒ ปี การเดินทางโดยรถยนต์ก็อาจล่าช้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้คนหันมาใช้บริการเครื่องบินที่มีความรวดเร็วกว่ามาก ประกอบกับท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นจุดศูนย์กลางในการต่อเครื่องเพื่อไปที่ต่างๆ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต ทุกเส้นทาง  โดยที่ประชุมก็ได้เห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะเปิดเส้นทางการบินดอนเมือง-โคราช เพื่อช่วยลดภาระด้านน้ำมันให้กับสายการบิน โดยที่เราไม่ต้องมีแท็งก์ฟาร์มอีกด้วย แต่ยังมีปัญหาอยู่ที่ทางบางกอกแอร์เวย์คาดว่า อาจจะเปิดให้บินได้เร็วที่สุดคือช่วงเดือนเมษายนปีหน้า เนื่องจากปีนี้ทางสายการบินได้วางแผนการบินไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรามองว่า หากบินปีหน้าอาจจะล่าช้าเกินไป” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมากล่าวเพิ่มเติม


คณะจากจังหวัดนครราชสีมา นำโดยดร.มุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผวจ.นครราชสีมา เดินทางไปหารือกับผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เพื่อเสนอเปิดเส้นทางบินที่โคราช
ขอขอบคุณภาพจาก FB : Montree Piakuly


           นอกจากนี้ นายมุรธาธีร์ ยังกล่าวอีกว่า “เราเข้าใจนิวเจนฯ แล้วว่า สาเหตุที่เขาต้องใช้เครื่องบินลำใหญ่เนื่องจากต้องขนน้ำมันจำนวนมาก จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเติมน้ำมัน คือขนทีเดียวไปเลย แต่การคิดภาษีน้ำมันจะคิดราคา ณ ที่เติม และเปรียบเสมือนเป็นการขนน้ำมันมาโคราชเปล่าๆ ซึ่งเราไม่เคยทราบเรื่องนี้จากนิวเจนฯ มาก่อนเลยว่า เขาต้องช่วยเหลือตัวเองมาตลอด ซึ่งเขาควรจะมาปรึกษาเราบ้าง แต่เขาก็กัดฟันสู้ด้วยตัวเอง ก็ต้องขอขอบคุณเขาด้วย ทั้งนี้ หากเป็นสายการบินอื่น ไม่ว่าใครก็ตามที่จะเช้ามาบิน ก็ต้องเริ่มปีหน้าทั้งนั้น แต่ ณ วันนี้ในอีก ๑ ปีหน้าเราก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพราะถึงขณะนั้นมอเตอร์เวย์ก็ใกล้จะเสร็จแล้วด้วย แต่โคราชต้องมีสายการบิน เพราะต่างประเทศที่เขาจะเข้ามาลงทุนต่างๆ เขาจะไม่เจรจาเลย หากเราไม่มีสายการบินรองรับ และเราได้มองถึงการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ไว้ด้วย”
          “ส่วนตัวผมก็ยังแอบหวังว่า ถ้าเราช่วยกันให้นิวเจนฯ บินได้เที่ยวละ ๑๒๐ ที่นั่งได้ เขาก็จะน่าที่จะกลับมาบินใหม่ได้โดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เราได้บินอย่างเร็วที่สุด แต่ก็ยังมีในเรื่องของตารางบินที่ยังไม่ตรงกับความต้องการของคนโคราชนัก ซึ่งหากจะมีการเจรจากันใหม่อีกครั้งก็ยินดี เพื่อช่วยกันหาทางออกให้ลงตัวมากขึ้น อีกอย่างเขามีการจองเส้นทางและมีข้อมูลเรียบร้อยหมดแล้ว ทั้งนี้ เราก็ไม่ทราบว่าคิดเขาเห็นคิดอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๓๐ เมษายนนี้ ได้นัดกับทางบางกอกแอร์เวย์เพื่อหารืออีกครั้ง และคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ อยากให้ภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมเสนอข้อคิดเห็นร่วมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ด้วย เพราะถึงอย่างไรโคราชก็จำเป็นต้องมีสายการบิน ไม่ว่าจะเป็นสายการบินใดก็ตาม เพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงไปยังระบบธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย อย่างจังหวัดอื่นก็เปิดบริการสายการบินได้แล้ว แต่เราเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน ทำไมยังเปิดไม่ได้ โอกาสกำลังมาหาเรา เพราะขณะนี้ทางบริษัท อาลีบาบาฯ ก็เข้ามาจับมือกับรัฐบาลไทยแล้ว และการลงทุน ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท เข้ามาตรงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การที่เขาจะเชื่อมโยงธุรกิจกับโคราชเราก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่นในอีสานทั้งหมด เนื่องจากอยู่ปากประตู EEC เพราะฉะนั้นโคราชเหมาะสมมาก เราจึงต้องมีสายการบินให้ได้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว โคราชก็ยังเป็นจังหวัดที่มีห้างสรรพสินค้าชั้นนำอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น เดอะมอลล์ เซ็นทรัล เทอร์มินอล๒๑ ดังนั้น หากเราแสดงศักยภาพด้านอื่นๆ เราก็จะมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเซ็นทรัลและเทอร์มินอล ๒๑ ยังสนับสนุนบริการสำหรับผู้โดยสารสายการบินนิวเจนฯ ให้มานั่งที่เล้าจ์ฟรี และยังมีบริการรถรับ-ส่งผู้โดยสารไปยังสนามฟรีอีกด้วย ในครั้งแรกที่มีการเรียกร้องอยากให้สนามบินไปอยู่ที่กองบิน ๑ เนื่องจากกลัวผู้โดยสารตกหล่น แต่ตอนนี้ทุอย่างมันเชื่อมกันหมดแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องเหล่านี้แล้ว” นายมุรธาธีร์ กล่าว
           นอกจากนี้ “โคราชคนอีสาน” ได้ถามว่า “สายการบินระหว่างโคราช-ดอนเมือง ถือว่าเป็นระยะที่ค่อนข้างใกล้ หากใช้รถยนต์ไม่ดีกว่าหรือ?” รอง ผวจ.นครราชสีมา ตอบว่า “การใช้รถยนต์ต้องใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ในช่วงที่ยังไม่มีมอเตอร์เวย์ ต้องมีเครื่องบินก่อน โดยเฉพาะภายใน ๒ ปีนี้ นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลอย่าง สงกรานต์ ปีใหม่ การจราจรบนท้องถนนก็ติดขัดมาก รวมทั้งกรณีที่ต่างประเทศเข้ามาเจรจาธุรกิจกับเรา หรือการเดินทางมาจากต่างประเทศ เขาไม่ได้พูดถึงการเดินทางโดยรถยนต์เลย เพราะที่ไหนก็มีได้ แต่เขาจะพูดถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินเท่านั้น และหากเปรียบเทียบค่าน้ำมันกับการเสียเวลาบนถนน สำหรับเครื่องบินเราสามารถจองล่วงหน้าผ่านสมาร์ทโฟนได้ ส่วนระยะเวลาในการบินระหว่างโคราชไปดอนเมืองใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น รวมไปถึงบุคลากรด้านการศึกษาที่มีความสามารถ ก็ไม่ค่อยได้เข้ามาสอนที่โคราช เนื่องจากไม่มีเครื่องบินมาลงก็เกิดความไม่สะดวก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อหลายด้าน”
           ด้าน นายมนตรี ปิยากูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เช่นกันว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันเบื้องต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เดิมทีในปี ๒๕๕๙ ทางบางกอกแอร์เวย์ได้เคยศึกษาเส้นทางการบินมาแล้ว แต่ในครั้งนั้นเป็นการใช้สนามบินในกองบิน ๑ แต่เราก็ได้ให้ข้อมูลใหม่กับเขาในเรื่องของพฤติกรรมหรือความคิดเห็นของชาวโคราช ได้บอกข้อมูลให้กับทางบางแอร์เวย์ทราบว่า จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางไปเชียงใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ ๙๒ คนต่อวัน แต่นิวเจนฯ รับได้ไม่ต่ำกว่า ๑๘๐ คน ทั้งนี้ตนมองว่า พฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวกับจำนวนของผู้ที่จะเดินทาง จะต้องเป็นตัวเลขที่ชัดเจน อย่างภาคโรงแรม ภาคธุรกิจ เราจะต้องทำข้อมูลให้เป็นเชิงประจักษ์ และให้ความมั่นใจเขาให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา เพราะเราก็อยากให้เขามา แต่จะคุ้มกับเขาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เขาต้องตัดสินใจ ซึ่งเขาก็ต้องมองเรื่องมิติของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ การค้า การลงทุนที่มีการเคลื่อนย้ายคนเพื่อไปจุดต่างๆ ด้วย
           “นอกจากนี้ในวันที่ ๓๐ เมษายนนี้ทางบางกอกแอร์เวย์จะเข้ามาพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะคุยรายละเอียดในเรื่องของกรณีศึกษา เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาเบื้องต้นร่วมกันเพื่อทำแผนการตลาด โดยทางสายการบินนี้จะมีการทำแผนการตลาดรอบ ๑ ปี โดยจะวางแผนการตลาดเป็นฤดูกาล ซึ่งทางเขาก็จะกลับไปทำการบ้านในเบื้องต้นมาก่อน และนำเสนอในวันที่ ๓๐ เมษายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” นายมนตรี กล่าว
            หากมีความคืบหน้าทาง “โคราชคนอีสาน”จะนำเสนอต่อไป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๘ วันเสาร์ที่  ๒๑  -  วันพุธที่  ๒๕  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๑


694 1338