24thApril

24thApril

24thApril

 

June 22,2018

สสว.พบเอสเอ็มอีสุรินทร์ ส่งเสริมพัฒนายกระดับ

           สสว. ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ประกอบการ SME กลุ่มเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถและการแข่งขันแบบก้าวกระโดด ตามโครงการปั้นดาว
           เมื่อระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะทำงานการพัฒนาโครงการ ปั้นดาว ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ สำนักงานเสริมเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินทางลงพื้นที่พบผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ทัพไทย อำเภอปราสาท ชุมชนทอผ้ายกทองจันทร์โสมา หมู่บ้านท่าสว่าง และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพญาราม อำเภอเมืองสุรินทร์ เพื่อรับทราบและเก็บข้อมูล รวมทั้งให้คำปรึกษาเบื้องต้นให้กับกลุ่มเป้าหมาย ในการที่จะชี้เป้าโอกาสการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
           โครงการปั้นดาว เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ สสว. ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสู่สุดยอด SME (SME Provincial Champions) ในการก้าวสู่ Thailand 4.0 โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start up) และโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong/Regular Level) มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างโอกาสให้วิสาหกิจตั้งแต่ระดับฐานราก (ธุรกิจชุมชน) วิสาหกิจรายย่อย (Micro) ไปถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้รับการพัฒนาในทุกมิติ โดย สสว. ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดึงความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน เข้ามาช่วยพัฒนาหรือส่งเสริมผู้ประกอบการในหลากหลายมิติ เพื่อให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น จึงถือเป็นต้นแบบการพัฒนาส่งเสริมแบบบูรณาการแบบครบวงจร อันจะเป็นตัวเร่งให้ให้วิสาหกิจเหล่านั้นมีศักยภาพ มีขีดความสามารถ ในการแข่งขัน และมีโอกาสในการขยายตัวได้อย่างรวดเร็วจนถึงเติบโตแบบก้าวกระโดด
           สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกวิสาหกิจเป้าหมายแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม โดยกลุ่มแรก เป็นวิสาหกิจที่มีศักยภาพในมิติเชิงพื้นที่ เช่นเป็นผู้ผลิตสินค้าและหรือบริการ ที่มีการใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตร ปศุสัตว์ หรือประมงในพื้นที่เป็นหลัก หรือเป็นวิสาหกิจที่มีการผลิตสินค้า และหรือ บริการที่มีความโดดเด่น เช่นสินค้าของท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง สินค้า GI สินค้าที่ใช้ภูมิปัญญาจากบรรพชนที่มีคุณค่าและยากที่จะมีการลอกเลียนแบบ และกลุ่มที่สอง จะเป็นวิสาหกิจที่มีการผลิตสินค้าหรือบริการกลุ่มเป้าหมายในมิติเชิงนโยบายพัฒนาประเทศไทยแลนด์ ๔.๐ เช่น เป็นสินค้าที่มีโอกาสสูงในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศเป้าหมาย หรือมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ หรือสินค้ากลุ่มประเภท S-Curve หรือกลุ่ม Startup รวมถึงกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสสูงในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ


นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


704 1342