25thApril

25thApril

25thApril

 

June 23,2018

หัสดิน’รับบัญชา‘วิเชียร’ โคราชต้องมี‘ท่าเรือบก’ หวั่นจังหวัดอื่นตัดหน้า

 

         ประธานสภาอุตฯ คนใหม่แถลงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจโคราช เตรียมส่งเสริมให้ความรู้ผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญภาคอุตสาหกรรม รับภารกิจจากผู้ว่าฯ ลุยผลักดันท่าเรือบก หลังครม.สัญจรเห็นชอบ ปัญหาคือสถานที่ก่อสร้างยังฟันธงไม่ได้ เนื่องจากมีหลายจุดที่เหมาะสม ทั้งสูงเนินและสีคิ้ว หวั่นจังหวัดอื่นชิงตัดหน้า ย้ำโคราชเหมาะที่สุด 

         เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๓ สำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ถนนพลแสน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับนโยบายการทำงานในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ บทบาทหน้าที่ รวมถึงผลักดันโครงการ และนโยบายต่างๆ ตลอดทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนางสาวอุบลรัตน์ บุญประสาทสุข รองประธานสภาฯ ร่วมรับฟังด้วย

         นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เข้ามารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จากการได้รับเลือกในที่ประชุมใหญ่สามัญของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา โดยหลังจากที่รับตำแหน่ง ได้วางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละที่ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กนั้น จะมีการส่งเสริมเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งเรื่องสัมมนา อบรม ให้ความรู้ในด้านการผลิต ด้านภาษี ด้านการจัดซื้อ จัดหา ให้คำปรึกษาเรื่องการขยายตลาด โดยเฉพาะในเรื่องการขอบาร์โค้ดเพื่อให้สินค้าของโรงงานรายย่อยสามารถขยายตลาดเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าได้ โดยผู้ประกอบการสามารถสมัครใช้บาร์โค้ดได้ที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาโดยตรง

         ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง จะส่งเสริมในเรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถแข่งขันในตลาด โดยการจัดสัมมนา และศึกษาดูงาน รวมทั้งกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และคอนเน็คชั่นเพิ่มขึ้น เพื่อให้สินค้าไปสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งส่งเสริมในเรื่องของการประหยัดพลังงาน โดยมีโครงการ Energy Points ซึ่งจะเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางลดต้นทุนเรื่องของการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่สภาอุตสาหกรรมฯ ทำมาตลอด ในส่วนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เน้นในเรื่องเทคโนโลยี โดยจะส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI/Robot หรือในเรื่องของ IoT (Internet of Things) ที่ปัจจุบันเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพื่อจะก้าวให้ทันโลกยุคอุตสาหกรรม ๔.๐”

         “สภาอุตสาหกรรมยังได้ให้บริการเรื่องการทำบัตรวีซ่าเอเปค หรือ APEC Business Travel Card (ABTC) หรือบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค ซึ่งสามารถใช้ควบคู่กับหนังสือเดินทาง เพื่อเดินทางเข้าดินแดนของสมาชิกเอเปคที่ร่วมโครงการนี้ ในการติดต่อธุรกิจระยะสั้นโดยไม่ต้องขอวีซ่า ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองโดยสามารถใช้ช่องทางพิเศษสำหรับสมาชิกเอเปค (APEC Lane) ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติของสมาชิกเอเปค จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการเดินทาง ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอวีซ่าและขั้นตอนในการเข้าเมือง ปัจจุบันมีสมาชิกเอเปค จำนวน ๑๙ เขตเศรษฐกิจ เข้าร่วมโครงการบัตรเดินทางฯ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ ไทย ไต้หวัน เวียดนาม เม็กซิโก และรัสเซีย ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมโครงการ ABTC แล้ว โดยเป็นสมาชิกชั่วคราว กล่าวคือ ไทยและสหรัฐฯ จะยังไม่มีการให้ pre-clearance แก่นักธุรกิจของกันและกัน อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือบัตร ABTC ของไทยประสงค์จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ จะต้องได้รับวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ก่อน แต่สามารถใช้ช่อง ABTC lane ในท่าอากาศยานนานาชาติของสหรัฐฯ เพื่อรับอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง แต่มิใช่การยกเว้นวีซ่าเข้าสหรัฐฯ กรณีของประเทศแคนาดานั้น ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา แคนาดาเริ่มให้ผู้ที่ถือบัตร ABTC สามารถเดินทางเข้าประเทศแคนาดา โดยใช้บริการของเคาน์เตอร์พิเศษ ณ สนามบินนานาชาติ ๘ แห่ง คือ Vancouver International Airport, Toronto Pearson International Airport (Terminal 1 and 2), Ottawa Macdonald-Cartier International Airport, Montreal-Pierre Elliot Trudeau International Airport, Halifax Robert L. Stanfield International Airport, Calgary International Airport, Winning James Armstrong Richardson International Airport, และ Edmonton International Airport” นายหัสดิน กล่าว และแถลงต่อไปว่า 

         นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ยังส่งเสริมและผลักดันในด้านเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นนโยบายของรัฐบาล เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งท่าเรือบกหรือ ICD (Inland Container Depot) รองรับการขนส่งสินค้าระบบราง โดยจะผลักดันให้มีระบบ CY หรือ Container Yard ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ๓ จุด 

         ส่วนเรื่องมอเตอร์เวย์ สภาอุตสาหกรรมฯ จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าไปใช้ประโยชน์ในเรื่องจุดขายสินค้าตามจุดต่างๆ ของมอเตอร์เวย์ ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงจะพยายามผลักดันให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้สอดรับรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินการทางด้านนโยบายต่างๆ ที่จะมีการหารือเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการสภาฯ ประจำทุกเดือน 

         นายหัสดิน กล่าวอีกว่า “ถ้ามี ICD การจัดส่งสินค้าของผู้ประกอบการ รวมทั้งโรงงานต่างๆ จะสะดวกขึ้น ส่งผลให้ด้านการส่งออกในอนาคตก็จะสะดวกสบายตามไปด้วย สภาอุตสาหรรมจะผลักดันเรื่อง ICD ให้ได้ นี่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของเรา นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ยังมอบหมายให้ผมรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ทั้งนี้ หลายจังหวัดในภาคอีสาน ก็ต้องการมีสถานีขนส่งสินค้าและ ICD ซึ่งวันนี้โคราชเราได้เปรียบ แต่ว่าเราก็ไม่มีแผนชัดเจนและเด็ดขาด เนื่องจากยังไม่สามารถฟันธงว่า ICD จะตั้งไปอยู่ที่ไหน แต่อย่างไรก็ตามต้องฟันธงเรื่องสถานที่ให้เร็วที่สุด เพราะเราขอผ่านครม. แล้ว ซึ่งมติ ครม.ก็เห็นชอบพร้อมสนับสนุนให้เกิด ICD ขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา เพราะฉะนั้นเราต้องให้คำตอบต่อ ครม.ให้ได้เร็วที่สุด ก่อนที่จังหวัดอื่นจะได้ไป เนื่องจากมีบางจังหวัดที่เสนอไปเช่นกัน ซึ่งนโยบายที่เขาเสนอไปนั้นค่อนข้างนิ่งมาหลายปีแล้ว และยืนยันจะสร้างเพียงจุดเดียว แต่ของโคราชหลายจุด เพราะฉะนั้นจึงต้องฟันธงให้ได้ก่อนว่าจะสร้างที่ไหน จะเลือกที่ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน หรือว่าที่อำเภอสีคิ้ว เพราะรถไฟความเร็วสูง ผมคิดว่ามีความก้าวหน้ารวดเร็วมากขึ้น เพราะฉะนั้นจังหวัดนครราชสีมาต้องมีความชัดเจนรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่มาแน่นอนแล้ว ดังนั้นจะเกิดภาพของการพัฒนาจังหวัดอย่างชัดเจน สถานีขนส่งสินค้าเกิดแน่ๆ แต่เกิดตรงไหนเราพยายามผลักดันให้เร็วที่สุด สถานีขนส่งคนและรับคนอยู่ตรงไหนต้องชัดเจนเพื่อมีการพัฒนาระบบขนส่งคนจากจุดนั้นไปยังจุดอื่นๆ แผนของจังหวัด ณ วันนี้ผมคิดว่าน่าจะต้องทำให้เรียบร้อย เพราะเวลาเข้าออกจะได้ไม่ต้องมีปัญหาเหมือนรถไฟทางคู่ ที่เกิดความล่าช้าไป ๑ ปี ต้องออกแบบใหม่ สิ้นเปลืองงบประมาณ วันนี้เรารู้ว่ารถไฟทางคู่มาแน่นอนแล้ว จึงต้องมีแผนรองรับชัดเจน”

         “ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาส่งสินค้าออกไปแหลมฉบัง ๒ วิธีคือ ส่งไปที่ลาดกระบังก่อน จากลาดกระบังใช้รถไฟวันละ ๒๒ ขบวน จากลาดกระบังไปที่แหลมฉบัง แต่บางส่วนจากจังหวัดนครราชสีมาขนส่งจากรถบรรทุกสิบล้อไปยังแหลมฉบังเลย ซึ่งเกิดความแออัดมาก เนื่องจากมีสภาพเป็นคอขวด จึงต้องมี ICD เพื่อทำศุลกากรในภูมิภาค โคราชเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่สุด มีบางคนบอกว่า อยากให้ไปเปิดที่ขอนแก่น คำถามของผมคือว่า คอนเทนเนอร์ยักษ์ ๓ แห่งในโคราช หากเรานำคอนเทนเนอร์วางใส่รถไฟแล้ว จะย้อนขึ้นไปที่ขอนแก่นเพื่อทำวิธีศุลกากร และย้อนกลับมาที่สถานีจิระ จากนั้นกลับคืนไปที่มาบกะเบาไปที่คลอง ๑๔, ๑๕, ๑๖ ลงไปที่แหลมฉบังเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่า CY มีเต็มโคราชแล้ว บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีมีอยู่ที่จังหวัดละ ๑ จุด ทั้ง ๔ จุด หากใส่คอนเทนเนอร์แล้ว มาถึงจิระแล้วไปผ่านระบบศุลกากรที่ขอนแก่น และวิ่งย้อนลง ๕๐๐ กิโลเมตร ในส่วนของต้นทุนใครเป็นคนรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นถ้า ICD เกิดที่โคราช หลังผ่านจุดศุลกากรแล้วไปที่แหลมฉบัง แล้วขนขึ้นเรือได้เลย ก็จะทำให้ปัญหาคอขวดในพื้นที่ต่างๆ ลดน้อยลง เรายืนยันว่า ปริมาณสินค้าในจังหวัดนครราชสีมามีมากเพียงพอที่จะทำ ICD การผลักดันนี้จะทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมตามมาด้วย เพราะความสะดวกสาธารณูปโภคนำมาซึ่งการลงทุน” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวเพิ่มเติม

         ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราช สีมามีแผนจะส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกข้าว/มันสำปะหลัง และอ้อย โดยจะหารือกับคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ แนวโน้มการตลาด รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร โดยจะร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิกสภาฯ แถลงข่าวทุกไตรมาส เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่เป็นผู้ประกอบการโดยตรง

 

698 1344