20thApril

20thApril

20thApril

 

June 23,2018

เอไอเอส’เปิดแห่งแรกในโคราช ศูนย์คอลล์เซ็นเตอร์ผู้พิการตา ยกระดับคุณภาพชีวิตยั่งยืน

          เดินหน้า “เอไอเอสสร้างอาชีพ คอลล์เซ็นเตอร์แด่ผู้พิการ” ต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ แห่งที่ ๑๓ ศูนย์แรกในโคราช สร้างอาชีพที่มั่นคงแก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ภายในมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดฯ จังหวัดนครราชสีมา

          เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. เอไอเอสเปิดศูนย์ปฏิบัติการ AIS Call Center แด่ผู้พิการทางสายตา จ.นครราชสีมา เป็นแห่งที่ ๑๓ และเป็นแห่งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ณ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนางวิไล เคียงประดู่ หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นางใจพร ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ คอนแท็คเซ็นเตอร์ จำกัด นายอุดมศักดิ์ โสมคำ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการส่วนงานปฏิบัติการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอไอเอส นายโกศล สมจินดา รองประธานกรรมการดำเนินงานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดฯ และนายวินิจ มูลวิชา รองผู้อำนวยการมูลนิธิ ฝ่ายกิจการพิเศษ รวมทั้งผู้มีเกียรติอื่นๆ โดยก่อนที่จะมีพิธีเปิด ภายในงานได้มีการแสดงต้อนรับจากกลุ่มนักเรียนผู้พิการทางสายตาในชุด “สร้างฝัน ปันรัก” ซึ่งเป็นการเล่นกีตาร์ในบทเพลงที่ไพเราะ สร้างสีสันภายในงานได้ไม่น้อย และยังได้รับการชื่นชมจากแขกผู้ร่วมงานในครั้งนี้

          นางวิไล เคียงประดู่ หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงนโยบายการจัดทำโครงการเพื่อสังคมของเอไอเอส ว่า “เอไอเอสให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) รวมถึงการสร้างคุณค่าและประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและสังคม หรือ CSV (Creating Shared Value) เพื่อสร้างมูลค่าและการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน โดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศไทย ให้มีคุณภาพและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวและสังคมไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” ซึ่งในสังคมจะประกอบไปด้วยครอบครัวและประชาชนหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือผู้พิการที่เอไอเอสให้ความสำคัญและดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเอไอเอสเชื่อว่าผู้พิการก็มีศักยภาพไม่ต่างจากคนปกติ และมีความมุ่งมั่นในการทำงาน กระทั่งสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เอไอเอสจึงจัดโครงการ “เอไอเอส สร้างอาชีพ คอลล์ เซ็นเตอร์แด่ผู้พิการ” ขึ้น โดยเริ่มจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์แด่ผู้พิการ” แห่งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีศูนย์ปฏิบัติการฯ แล้วจำนวน ๑๓ แห่ง โดยศูนย์ล่าสุดอยู่ที่มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครราชสีมาแห่งนี้”

นางใจพร ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ คอนแท็คเซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “เอไอเอสเล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้พิการที่มีผลการทำงานในระดับที่ดีเยี่ยม มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากคนปกติ ทั้งในแง่ของการให้บริการและความพึงพอใจของลูกค้า เอไอเอสจึงเดินหน้าขยายศูนย์ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบโอกาสในการสร้างอาชีพแก่ผู้พิการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์ฯ ที่เปิดให้บริการแห่งนี้มีพนักงานผู้พิการทางสายตาปฏิบัติงานอยู่จำนวน ๑๐ คน ซึ่งนับว่าเป็นแห่งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ ผู้พิการจากศูนย์ปฏิบัติการที่เปิดให้บริการแล้วรวมทั้งสิ้น ๑๒๓ คน โดยเอไอเอสออกแบบงานให้คนกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม เพื่อการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับความสามารถ อาทิ ผู้พิการทางสายตาและพิการทางร่างกาย จะมีหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อสอบถามความคิดเห็นของลูกค้า เกี่ยวกับการใช้งานหรือการบริการต่างๆ ของเอไอเอส ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะให้บริการด้วยภาษามือผ่านทาง Web Cam เป็นต้น นอกจากนี้ เอไอเอสยังนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน อาทิ ติดตั้งโครงข่ายออนไลน์, นำเทคโนโลยีดักจับความเคลื่อนไหวที่คีย์บอร์ด หรือสิ่งที่แสดงผลบนหน้าจอ และเปลี่ยนเป็นเสียงพูด ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับโปรแกรมตาทิพย์จากสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อวิจัยและพัฒนา เป็นต้น”

          “เอไอเอสพร้อมที่จะนำเทคโนโลยี ทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งศักยภาพขององค์กรมาช่วยเหลือสังคม และสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้แก่คนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการ ซึ่งถือเป็นสมาชิกของครอบครัวในสังคมไทยได้เป็นจำนวนมาก เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเอง ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกคนแข็งแรง ส่งผลให้ครอบครัวไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง อย่างยั่งยืน ต่อไป” นางวิไล กล่าวสรุป

          ต่อมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวเปิดงานศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์แด่ผู้พิการทางสายตา ว่า “ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แก้ไขได้ยากก็คือ สมรรถภาพทางร่างกาย หรือความเหลื่อมล้ำทางความพิการต่างๆ เท่าที่ผ่านมาทางราชการก็คิดเพียงแค่ว่า จะทำอย่างไรให้ผู้พิการมีชีวิตได้ตามมาตรฐานเท่ากับคนปกติ ให้อยู่ในสภาพเเวดล้อมได้อย่างสมกับความเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ แล้วลดความเหลื่อมล้ำที่เราทำให้ผู้พิการเหล่านี้ คือ รายได้ในการยังชีพในรูปแบบของเบี้ยผู้พิการ ซึ่งเป็นเบี้ยตอบแทนเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่อมาสังคมไทยได้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทางราชการกำลังมองหาอาชีพให้ผู้พิการผู้ด้อยโอกาสที่มีความสามารถ ให้เหมาะสมต่อสภาพร่างกายของแต่ละคน ในครั้งนี้ทางเอไอเอสได้ทำในสิ่งที่เราคิดว่า การเป็นคอลล์ เซ็นเตอร์จะต้องใช้สายตาในการทำงานเป็นอย่างมาก แต่ทางเอไอเอส ได้แสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว เนื่องจากการเป็นคอลล์เซ็นเตอร์สามารถใช้ผู้พิการทางสายตาเข้ามาทำงานในส่วนนี้ได้ เพื่อผู้พิการเหล่านี้จะมีอาชีพที่มั่นคง ไม่เป็นภาระของครอบครัว ทำให้ครอบครัวคิดว่าบุคคลที่พิการเหล่านี้ไม่เป็นภาระอีกต่อไป และเป็นบุคคลที่สามารถสร้างความภาคภูมิให้กับตนเองและคนรอบข้างได้”

          หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราช สีมา, ผู้บริหารเอไอเอส และผู้บริหารมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันตัดริบบิ้นเพื่อเปิดศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการทางสายตา อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเข้าเยี่ยมชมการทำงานของพนักงาน AIS Call Center ผู้พิการทางสายตา ในห้องปฏิบัติงานจริง

          ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ ๑๓ แห่ง ประกอบด้วย ๑. มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพฯ ๒. อาคารพหลโยธินเพลส กรุงเทพฯ ๓. โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ ๔. มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ จ.ชลบุรี ๕. วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ จ.หนองคาย ๖. มูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง จ.ลำปาง ๗. โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ๘. โรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา จ.แพร่ ๙. มูลนิธิผู้พิการไทยเพื่อสังคม กรุงเทพฯ ๑๐. มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ขอนแก่น ๑๑. มูลนิธิธิดาเมตตาธรรม สาขาเลย ๑๒. มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดสงขลา และ ๑๓. มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครราชสีมา 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


706 1342